บทวิเคราะห์แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของซาร์ตร์


ปรากฏการณ์วิทยา

บทวิเคราะห์

แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของซาร์ตร์

[Jean-Paul Sartre, ๑๙๐๕-๑๙๘๐]

๑. เกริ่นนำ


ซาร์ตร์เป็นนักเขียนชาวฝรั่งเศส เขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร และปรัชญาซาร์ตร์ เผยแพร่ลัทธินี้ด้วยวรรณกรรม จึงได้เป็นที่รู้จักและมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวาง ยิ่งในช่วงที่ซาร์ตร์ปฏิเสธรางวัลโนเบลในปี ๑๙๖๔ ด้วยความสมัครใจด้วยแล้ว วรรณกรรมของซาร์ตร์ก็มีบทบาทมากขึ้น


ซาร์ตร์ได้เรียนปรัชญาจากไฮเดกเกอร์และชอบอ่านปรัชญาของคีร์เกอการ์ด เห็นชอบด้วยกับการใช้วิธีปรากฏการณ์เพื่อเข้าถึงอัตถิภาวะ แต่ไม่เห็นด้วยที่ว่าวิธีปรากฏการณ์เปิดเผยให้รู้ภวันต์โดยตรง และจากภวันต์จึงรู้อภวันต์และอัตถิภาวะในที่สุด ซาร์ตร์เห็นว่าสิ่งที่วิธีปรากฏการณ์เปิดเผยให้รู้โดยตรงก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด คือ สำนึก (Consciousness) ผลของปรากฏการณ์วิทยามิได้เปิดเผย ภวันต์โดยตรง แต่เปิดเผยความสำนึกในลักษณะต่อไปนี้ ๑.ความสำนึกคือสุญตา ๒.ความสำนึกคือความสำนึกถึงตนเอง ๓.ความสำนึกคืออัตถิภาวะอันไร้สารัตถะ ๔.ความสำนึกคือเสรีภาพ


๒. แนวคิดของซาร์ตร์เกี่ยวกับสัต (being)

แนวคิดของซาร์ตร์เกี่ยวกับสัต ๒ ประการที่สำคัญกล่าวคือ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์วิทยาที่สำคัญของซาร์ตร์ที่นำไปสู่การสร้างแนวคิดอัตถิภาวนิยมของซาร์ตร์คือ


. สัตในตัวเอง (Being-in-itself) หมายถึง ปรากฏการณ์แห่งวัตถุที่มี ความสมบูรณ์ในตัว เป็นสิ่งที่แน่นทึบ ขาดความสำนึกรู้ (Non Consciousness) เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการเปลี่ยนแปลงและอยู่เหนือความจริงของมนุษย์ ดังที่ว่า "มันเป็นสิ่งที่มันเป็นเท่านั้น และอยู่นอกความจริงของมนุษย์ (Human Reality)


. สัตเพื่อตัวเอง (Being for itself) หมายถึง "สัตที่เป็นสิ่งที่ตัวมันเองไม่เป็น และไม่เป็นสิ่งที่ตัวมันเองเป็น" ซึ่งได้แก่มนุษย์ที่มีจิตสำนึกรู้ (Consciousness)และมีความสามารถในการตัดสินใจเลือกตามความรู้สึกอันเป็นธาตุแท้ของตนด้วยการปฏิเสธสัตในตัวเอง (Being in itself) และมีอิสรภาพในการแสวงหาอัตถิภาวะใหม่ (New Existence) ตามธาตุแท้ของตนอย่างต่อเนื่องเมื่อมนุษย์มีการสำนึกตัวเอง (Self Consciousness) "เป็นตัวของตัวเองในการสร้างแผนการ (Project) ของการกระทำขึ้นมา แผนการของการกระทำจะต้องมี จุดหมายเป็นตัวของตัวเอง" ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า "เมื่อมีการสำนึก มีการมุ่งหรือพูดให้ถูกกว่านั้นว่าเป็นการมุ่งจึงไม่ทึบ ไม่แข็งแกร่ง ไม่เป็นตัวเองเพียงอย่างเดียว" แต่ซาร์ตร์ เชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตประเภทเดียวที่มีอิสระแห่งการสำนึกรู้ตามความปรารถนาของตน โดยมีการเลือกยอมรับหรือปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่มันเป็น ในรูปแบบของตนเองมากกว่าที่จะมีหรือเป็นไปตามกรอบหรือกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว เพราะสิ่งที่มนุษย์รับรู้ได้ดีที่สุดในเวลานี้ก็คือเสรีภาพที่มีความรับผิดชอบตามธาตุแท้ของตนว่า สิ่งนี้ใช่ธาตุแท้ของตนเองหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ควรจะทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่อยู่ภายใต้การสำนึกรู้อย่างมีอิสระ และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา "ดังนั้น สัตเพื่อตัวเองจึงได้แก่กระจกเงา ซึ่งเป็นวัตถุสะท้อนภาพตนเองอยู่บนกระจกเงา แต่กระนั้นกระจกเงาก็ไม่มีอะไรในตัวเอง มีแต่เพียงการสะท้อนวัตถุในตัวเอง กระจกจึงแยกต่างหาก และไม่เคยรวมกับวัตถุ"


อย่างไรก็ตาม วัตถุที่สะท้อนตัวเองแก่เราในขณะหนึ่งๆ นั้นเป็นเพียง ความจริงทางปรากฏการณ์ (Real of Phenomena) ตามที่มันเป็น จึงกล่าวได้ว่า เสรีภาพของมนุษย์คือการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะสิ่งใดมีเสรีภาพ สิ่งนั้นย่อมมีการเปลี่ยนแปลง มนุษย์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการสำนึกรู้ในเสรีภาพของตนอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์มีความสามารถในการปฏิเสธและยอมรับสิ่งใด สิ่งหนึ่งได้เป็นช่วงๆ แต่ไม่อาจเป็นสิ่งดังกล่าวได้อย่างถาวร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเสรีภาพแห่งการเปลี่ยนแปลงในท่ามกลางปรากฏการณ์ เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์ คือ "ไม่เป็นสิ่งที่ตัวเองเป็น และเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่เป็น"


แนวคิดของซาร์ตร์ เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในด้านต่างๆ เมื่อเกิดเป็นปรัชญาสำนักอัตถิภาวนิยมขึ้นมานี้ ส่วนใหญ่เพราะแนวคิดของซาร์ตร์ที่ส่งผลต่อเป็นอย่างมากจึงกล่าวได้ว่าเป็นรากฐานคือที่มาที่สำคัญที่ซาร์ตร์ได้ให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกคนที่มีเสรีภาพในการตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่ว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร ซาร์ตร์มีความคิดปรัชญาในแนวอัตถิภาวนิยม แบบอเทวนิยม ซาร์ตร์ เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความว่างเปล่า คือไม่มี "แบบ" หรือ "ธรรมชาติ" ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ติดตัวมา ลักษณะต่างๆ เช่น "ดี" หรือ "ชั่ว" เป็นลักษณะที่สร้างขึ้นหลังจากมนุษย์เกิดขึ้นแล้วคนที่จะเป็นขี้ขลาดติดตัวมา แต่เป็นเพราะเขาตัดสินใจเลือกเป็นคนขลาด ในทำนองเดียวกันแม้ว่ามนุษย์จะมีความสามารถที่จะทำบาป แต่มนุษย์มิได้เป็นคนบาปดังที่ศาสนาสอน เพราะบาปนั้นมิใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด มนุษย์มากำหนดชะตาชีวิตของตนเองขึ้นภายหลังจากเกิด มนุษย์จึงเป็นผู้กำหนดตัวเอง และเป็นเรื่องที่ไร้สาระมากตามความคิดของซาร์ตร์ ถ้าหากจะกล่าวว่ามีชะตาลิขิตคอยบันดาลให้มนุษย์เป็นตามลิขิต เพราะมนุษย์มีความพร้อมที่จะทำสิ่งใดได้ตามที่ตนปรารถนา


ในทัศนะของซาร์ตร์ มนุษย์เป็นอยู่โดยการเลือกด้วยตนเอง ไม่มีสิ่งใดมาบังคับมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มาจากภายนอกหรือภายในตัวมนุษย์ มนุษย์มีสิทธิเต็มที่ที่จะปฏิเสธหรือยอมรับสิ่งต่างๆ วิธีการที่ซาร์ตร์ใช้เรียกว่า Phenomenological Description (การพรรณาปรากฏการณ์ทางจิต) ปรากฏการณ์ใด พฤติกรรมใด และความรู้สึกใดที่เกิดขึ้นในจิตใจให้มองตามความเป็นจริงโดยไม่มีข้อสมมุติฐาน (Presupposition) นั่นคือไม่เอาอคติหรือความรู้ลัทธิใดๆ เข้าไปสอดแทรกและตีความ ซาร์ตร์ใช้วิธีการพรรณนาปรากฏการณ์ทางจิต เพื่อศึกษาตัวเอง ซาร์ตร์ยืมวิธีการนี้มาจากฮุสเซิร์ล (Husserl) ซาร์ตร์แบ่งแยกสิ่งที่มีอยู่หรืออัตถิภาวะออกเป็นสองประเภท คือสัตในตัวเอง(being in itself) และสัตเพื่อตัวเอง (being for itself) สัตประเภทแรกมีลักษณะสำคัญคือ มีอัตถิภาวะ แต่สัตประเภทที่สอง ซึ่งก็คือมนุษย์นั้น มีทั้งอัตถิภาวะและการสำนึกรู้


ซาร์ตร์ชอบใจวิธีการนี้ และยึดเป็นวิธีการของตน แต่ซาร์ตร์นำมาใช้มิใช่เพื่อศึกษาหาสารัตถะใดทั้งสิ้น ซาร์ตร์นำวิธีปรากฏการณ์วิทยามาใช้เพื่อศึกษาอัตถิภาวะ ความแตกต่างระหว่างอุสเซิร์ล์กับซาร์ตร์จึงอยู่ที่จุดมุ่งหมายในการใช้ปรากฏการณ์ อย่างไรก็ตามซาร์ตร์ได้แสดงความรู้คุณต่อวิธีการของฮุสเซิร์ลอย่างออกหน้าออกตา โดยอ้างนามของเจ้าของวิธีอย่างเคารพไว้หลายต่อหลายครั้ง คือ "ความสำนึกย่อมเป็นความสำนึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง" ฮุสเซิร์ลได้พิสูจน์ไว้แล้ว ทั้งนี้หมายความว่า ไม่มีความสำนึกใดเลยไม่ปติฐ (Posit) วัตถุนอกตัวเอง หรือจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ตัวความสำนึกเองไม่มีเนื้อหา เราต้องเลิกคิดถึงมูลบทที่ไม่มีการพิสูจน์ ซึ่งตามความเห็นของระบบปรัชญาที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าจำเป็นต้องสมมุติให้มี ไม่ "ในโลกภายนอก" ก็ "ในใจ" แต่ตามวิธีปรากฏการณ์ โต๊ะมิได้อยู่ในความสำนึก ไม่อยู่แม้แต่ในจินตนาการ แต่ทว่า โต๊ะอยู่ในอวกาศใกล้ๆ กับหน้าต่างๆ ฯลฯ ความจริงการมีอยู่ของโต๊ะเป็นศูนย์กลางของความทึบสำหรับความสำนึก น่ากลัวว่าจะต้องดำเนินการอย่างไม่รู้จบเพื่อศึกษาเนื้อหาทั้งหมดของสิ่งใดสักสิ่งหนึ่ง เพื่อจะนำเอาความทึบนี้มาสู่ความสำนึกและเพื่อกำหนดความสัมพันธ์กับโลกขึ้นมาใหม่อย่างถูกต้อง จะได้รู้เสียที่ว่า ความสำนึกย่อมจะต้องเป็นความสำนึกที่ปติฐโลก นี้นับได้ว่าเป็นปรัชญาแบบหนึ่ง ความสำนึกทุกครั้งย่อมปติฐสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่า สำนึกก็ย่อมดับลง"


๓. วิเคราะห์แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของซาร์ตร์


ในแนวคิดของซาร์ตร์จึงให้ความสำคัญต่อวัตถุในการรับรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ไม่เพียงแต่ในมโนคติหรือจินตนาการที่มีต่อวัตถุเท่านั้น หากแต่มโนภาพนั้นต้องมีวัตถุเป็นเครื่องรองรับว่ามีอยู่จริง รู้ได้ว่ามีอยู่ไม่เพียงแต่การเชื่อว่ามีอยู่


แนวคิดของซาร์ตร์ในประเด็นเรื่องภวันต์ ที่เห็นว่าสิ่งที่วิธีปรากฏการณ์เปิดเผยให้รู้โดยตรงก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด คือ สำนึก (Consciousness) ผลของปรากฏการณ์วิทยามิได้เปิดเผย ภวันต์โดยตรง แต่เปิดเผยความสำนึกในลักษณะต่อไปนี้ ๑.ความสำนึกคือสุญตา ๒.ความสำนึกคือความสำนึกถึงตนเอง ๓.ความสำนึกคืออัตถิภาวะอันไร้สารัตถะ ๔.ความสำนึกคือเสรีภาพ ในแนวคิดของซาร์ตร์ จึงเห็นความสำคัญของมนุษย์ในฐานะที่เป็นประธานในการรับรู้และให้ความสำคัญกับตัวผู้ต่อสิ่งที่ถูกโดยไม่จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์ต่อระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการให้ความสำคัญกับตัวผู้รู้จากจนเกินไปโดยไม่เห็นถึงความสัมพันธ์กับวัตถุและย้อนกับมาที่ผู้อาจเป็นการทำให้ไม่ได้เข้าใจถึงสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งที่เป็นอยู่ และมีอยู่จริงได้อย่างไร อาจจะกลายเป็นการทึกทักเอาว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเป็นสิ่งที่ผู้รู้เห็นหรือเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้น แนวคิดของซาร์ตร์ในปรากฏการณ์วิทยาจึงกลายเป็นการให้เสรีภาพหรือเจตจำนงของผู้รู้ต่อวัตถุที่ถูกรู้ที่ดูเหมือนจะให้สิทธิในการจะเข้าใจอย่างไรก็ได้ เป็นการใช้เกณฑ์การตัดสินใจอัตโนมติส่วนตน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าอาจมีท่าที่กลายเป็นเหมือนแนวคิดของพวกโซฟิสต์ที่ยืนยันความจริงว่า "มนุษย์เป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง" ความจริงเป็นเรื่องอัตวิสัย ความเข้าใจส่วนตนที่มีต่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ผู้ใดหรือใครจะกล่าวอย่างไรก็ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งนั้น เพราะตัวมนุษย์เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ดังนั้นหากเป็นไปด้วยท่าทีดังกล่าวนี้ของซาร์ตร์ แม้จะมีการเพิ่มให้น้ำหนักแต่ตัวตนของมนุษย์ด้วยการมีเสรีภาพในการตัดสินใจ หากแต่มุ่งหมายเอาเพียงความมีอยู่ของสิ่งต่างๆ เพียงเพราะการมีอยู่ของมนุษย์ที่จะนิยามหรือให้ความหมายต่อสิ่งดังกล่าวนั้นเท่านั้นจะเป็นสิ่งที่สมควรแก่เหตุผลหรือไม่ ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า การมีอยู่ของมนุษย์ไม่ได้หมายเอาเพียงเพราะมนุษย์เป็นผู้เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งเท่านั้นที่จะเข้าใจตนเองได้ดีว่าเป็นเช่นไร อาจจะมีสิ่งอื่นนอกจากมนุษย์ก็ได้ที่รู้และเขาคงไม่อยากสื่อสารกับมนุษย์เท่านั้นว่าสิ่งที่เข้าใจกันอยู่นี้ล้วนไม่ถูกต้อง ข้อนี้เป็นเพียงการคิดเอา


แต่อย่างไรก็ตาม ในโลกนี้ล้วนมีสิ่งต่างๆ มากมายไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น ดังนั้นการที่มนุษย์จะเข้าใจโลกเพราะมนุษย์แต่ละคนเข้าใจว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเช่นนั้นหรือดังนั้นเพียงเพราะมนุษย์ได้สัมผัสรับรู้เท่านั้นคงไม่เพียงพอ หากมองตรงกันข้ามอาจเป็นเพราะสิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้จึงรู้และเข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วย เพราะมนุษย์หรือเราไปรับรู้ เช่นนี้จะเป็นการเข้าใจถูถูกต้องหรือไม่


ถ้าหากจะคิดคงเห็นได้ว่า บางสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดว่าไม่มีหรือสัมผัสได้แต่บางอย่างเราก็เชื่อว่ามันมีแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าไม่มี ก็ยังเชื่อว่ามี ได้เลย ดังนั้นเมื่อมนุษย์เป็นเพียงผู้รู้หากแต่มิได้หมายเอาเพียงว่ามนุษย์จะสามารถนิยามหรือให้ค่าแก่สิ่งอื่นๆ ได้ทั้งหมดว่าเป็นจริงได้ตามนั้น อาจเป็นเพียงการสมมุติหรือเพียงยอมรับกันได้ว่าเป็นไปตามนั้นเท่านั้น อาจจะชั่วคราวหรือชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น


อย่างไรก็ตามในแง่ที่ซาร์ตร์ที่เป็นปรากฏการณ์วิทยาความเป็นมนุษย์มาพร้อมกับการสำนึกรู้ดังกล่าวนั้นจะสามารถทำให้มนุษย์ไม่เป็นอัตวิสัยที่ปราศจากการสัมพันธ์กับโลกอย่างสมดุลได้หรือไม่ เพราะว่าเพียงแต่การที่มุ่งเพียงที่จะรู้สิ่งที่ให้เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ตัวเองจะสามารถทำให้อยู่ร่วมต่อกันได้อย่างปรกติสุขมากน้อยเพียงใด หากปัจเจกบุคคลแต่ละก็ล้วนเป็นไปตามพฤติกรรมที่ซาร์ตร์มุ่งเพียงเพื่อเข้าใจในภาวะความเป็นตัวตนของตนเองเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นเพียงพันธนาการ ดังนั้นเมื่อปัจเจกบุคคลต้องการให้เป็นไปทุกคนแล้วจะสามารถก่อให้เกิดสันติสุขในสังคมได้อย่างไร เมื่อทุกคนหากล้วนมุ่งการกระทำดังกล่าวที่เห็นว่าเห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของตน เกณฑ์ของสังคมไม่สำคัญ


ดังนั้นโดยสรุปแล้วซาร์ตร์ที่เป็นปรากฏการณ์วิทยาจึงเพียงการมุ่งจะรู้สิ่งที่เป็นภายนอกโดยไม่พยามยามจะข้ามพ้นไปถึงสิ่งที่เป็นเบื้องหลังในการถูกเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เพียงแต่มุ่งสิ่งที่รู้เท่านั้นดังที่กีรติ บุญเจือได้กล่าวไว้ว่า "ซาร์ตร์สนใจวิธีปรากฏการณ์วิทยาในทำนองเดียวกับไฮเดกเกอร์ คือเพื่อพบอัตถิภาวะหรือภาวะเฉพาะ และซาร์ตร์หยุดแค่นั้น ไม่ข้ามต่อไปถึงภาวะรวมอย่างไฮเดกเกอร์"


ตามแนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของซาร์ตร์ จึงหมายเอาเพียงปรากฏการณ์เฉพาะตรงหน้าที่ให้ผู้รู้ได้สำนึกรู้ที่ยังคงอาศัยทัศนะของตนที่ยังคงมีอคติที่แตกต่างกัน ซึ่งแนวคิดของไฮเดกเกอร์ต้องการมุ่งยังสิ่งที่ให้หลีกเลี่ยงอคติส่วนบุคคล เพื่อให้เห็นสิ่งที่เป็นจริงร่วมกันจิตของไฮเดกเกอร์จึงเป็นจิตที่แสวงหาวัตถุในการรับรู้เสมอ คือแสวงหาวัตถุไม่ใช่รอให้วัตถุเข้ามาสัมผัสแล้วจึงลงมือทำการ ความสำนึกแสวงหาเพื่อข้ามพ้นสภาวะเดิมของตนไปเรื่อยๆ ดังนั้นซาร์ตร์จึงแตกต่างกันปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นของไฮเดกเกอร์



.....................................................

อ้างอิง

๑. หนังสือ

กีรติ บุญเจือ. ปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๒.

เจษฎา ทองรุ่งโรจน์. พจนานุกรม ปรัชญาอังกฤษไทย. นนทบุรี: โรงพิมพ์ บริษัท ออฟซ็ทเพรส จำกัด, ๒๕๔๗

ศักดิ์ชัย นิรัญทวี. ปรัชญาเอ็กซิสเตนเชียลิสม์. กรุงเทพฯ: โอเอ็นจี การพิมพ์, ๒๕๔๓. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : ศยาม, ๒๕๔๔.

เนื่องน้อย บุญเนตร. จริยศาสตร์ตะวันตก ค้าน มิลล์ ฮอบส์ รอลส์ ซาร์ทร์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต). พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุบุคคลสำคัญของโลก.

กรุงเทพฯ: หจก.เอมี่ เทรดดิ้ง จำกัด, ๒๕๔๙.

๒. วิทยานิพนธ์

พระมหาดนัยพัชร์ คมฺภีรปญฺโญ (ยุนิรัมย์). การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการหลอกตัวเองในปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์. วิทยานิพนธ์พุทธศาตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๘.

หมายเลขบันทึก: 589698เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท