ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๓๓ : โรงเรียนเทศบาลโพธิ์ศรี สู่โรงเรียนวิถีพุทธ


วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘ ผมไปเป็นวิทยากรขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ณ โรงเรียนเทศบาลโพธิ์ศรี ตามคำเชิญของ ผอ.ดารณี ท่านกำลังขับเคลื่อนฯ โรงเรียนสู่ โรงเรียนวิถีพุทธ ผมเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่นาน ก็มั่นใจที่จะทำงานนี้ได้ เหมือนกับที่ ผอ. ท่านให้โอกาส ผมตีความว่าสิ่งที่ผมขับเคลื่อนฯ ผ่านมานั้นมีรากฐานเดียวกัน...

จากการอ่านและตีคววาม ผมสรุปว่า โรงเรียนวิถีพุทธคือโรงเรียนใดๆ ที่นำเอาหลักพุทธธรรม โดยเฉพาะไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) มาใช้ในทุกๆ ด้านในโรงเรียนทั้งบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน

หลักธรรมสำคัญที่ผู้บริหารและครูทุกคนต้องรู้คือ

  • สัปปายะ ๗ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อ
  • ปัญญาวุฒิธรรม ๔ เพื่อสร้างกัลยาณมิตร ฝึกคิดอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) และ ปฏิบัติธรรม
  • ภาวนา ๔ เพื่อเป็นแนววิถีในการ "พาเด็กทำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น"
  • ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

จากการสนทนาและศึกษาข้อมูลฑุติยภูมิ ดูเหมือนว่าบุคลากรด้านการศึกษาในโรงเรียน จะชินกับการกระบวนทัศน์การขับเคลื่อนด้วยวิธี "สร้างเกณฑ์" และ "ประเมินตามเกณฑ์" ของ สพฐ. สังเกตจากแนวทางการขับเคลื่อนฯ ที่เริ่มต้นจากการเอา "เกณฑ์" ๒๙ ตัวชี้วัด มาจัดแบ่งมอบหมายเป็นหน้าที่และวิถีในการปฏิบัติ .... ผมตีความว่าวิธีการขับเคลื่อนแบบนี้ ก็ไม่เสียหายใดๆ หากแต่ต้องทำให้ผู้บริหารและครูทุกคนเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงและความเชื่อมโยงของเกณฑ์แต่ละข้อกับชีวิต "วิถีพุทธ" จริงๆ ... ผมตีความว่า นี่คือหน้าที่ของผมในการเป็น "วิทยากร" ในวันนั้น

เกณฑ์ ๒๙ ตัวชี้วัด สู่โรงเรียนวิถีพุทธ

เกณฑ์ทั้งหมด ๒๙ ตัวชี้วัด แบ่งเป็น ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านพฤติกรรมครูและนักเรียน ด้านการเรียนการสอน ด้านกิจกรรมวันพระ และด้านกิจกรรมเสริมวิถีพุทธ แต่ละด้านมีเกณฑ์ย่อยๆ แตกออกไป ดังแผนผังด้านล่าง ซึ่งคัดลอกจากผลการสังเคราะห์จากโรงเรียนวิถีพุทธ ๑๐๐ แห่ง ที่ทางโครงการฯ นำออกเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโรงเรียนวิถีพุทธ (คลิก ที่นี่)




หากมองใหม่ ในแว่นของ "เหตุ" และ "ผล" ผมตีความว่าสมมติฐานของการขับเคลื่อนฯ ที่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้สำคัญๆ ที่ถือเป็น "เหตุ" ที่จะทำให้ "ผล" เป็นคนดี น่าจะมี ๕ ประการดังนี้

  • การมีความรู้เรื่องธรรมะ มีผลต่อการเป็นคนดี (มีความรู้ทางธรรม -> สอบนักธรรมตรี)
  • สิ่งแวดล้อมดีมีส่วนในการปลูกฝังให้นักเรียนเป็นคนดี (สิ่งแวดล้อมดี)
  • ผู้บริหารและครูดีมีส่วนทำให้นักเรียนเป็นคนดี (อยู่ใกล้คนดี)
  • ถ้านักเรียนมีกิจวัตร และได้ปฏิบัติกิจกรรมที่ดี จะทำให้นักเรียนเป็นคนดี (ทำดี, กินอยู่ดูฟังดี)
  • หากนักเรียนได้ระลึกและสะท้อนถึงผลของการทำความดีบ่อยๆ นักเรียนจะเป็นคนดี (ระลึกดี คิดดี)
  • หากมีผู้ปฏิบัติดีปฎิบัติชอบ (พระ) มาสอนและตอบข้อสงสัย จะทำให้นักเรียนเป็นคนดี

คำว่า "คนดี" ในที่นี้คือคนที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีศีล ๕
  • มารยาทงาม -> ไหว้สวย กราบงาม รับประทานอาหารไม่ดัง ไม่หก ไม่เหลือ
  • ประหยัด มัธยัสถ์ -> ประหยัด ออม ถนอมใช้เงินและสิ่งของ
  • มีน้ำใจ -> ยิ้มง่าย ไม่ดุด่า
  • มีนิสัยใฝ่เรียนรู้




ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของโรงเรียนวิถีพุทธ



การศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ขอโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ (คลิก ที่นี่) ผมพบว่า ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธนั้น มีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งกว่า "เกณฑ์ ๒๙ ตัวชี้วัด" ที่กล่าวมาพอสมควร ดังจะขอตีความเป็นข้อๆ ตามหลักการขับเคลื่อนของโครงการ ต่อไปนี้

ผลลัพธ์ที่แท้จริงของโครงการฯ คือ การปลูกฝังบ่มเพาะให้นักเรียนเป็น "คนดี" ในที่นี้คือคนดีวิถีพุทธ นั่นคือ คนที่มี "ศีล สมาธิ และปัญญา" ซึ่งทางผู้บุกเบิกนำเสนอไว้ที่ www.vitheebuddha.com/files/download/vitheebud.ppt ดังนี้




ผมพิจาณาว่า "เกณฑ์ ๒๙ ข้อ" ส่งเสริมให้เกิดเพียง "ศีล" และประเมินได้เฉพาะบางมิติของ "ศีล" และ "สมาธิ" เท่านั้น ในด้าน "ปัญญา" การขับเคลื่อนฯ ตามเกณฑ์ธรรมดา หรือที่รู้กันอยู่ว่า "ขับเคลื่อนเพื่อประเมิน" นั้น ไม่สามารถจะทำให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นได้ครบถ้วน

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า เกณ์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ สำหรับการปลูกฝังและบ่มเพาะลูกหลานให้สั่งสมบุญซึ่งจะเป็นทุนให้พวกเขาค่อยเข้าใจว่า พระพทธศาสนาสอนอะไร การเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องทำตนหรือฝึกฝนให้เป็นคนอย่างไร...ขอบูชาและอนุโมทนาบุญกับท่านที่บุกเบิกและทำโครงการนี้ครับ ...

การขับเคลื่อนโรงเรียนวิถีพุทธที่ถูกวิธี


ต่อไปนี้เป็นเพียงความเห็นความคิด จากประสบการณ์ชีวิตของผมเท่านั้นนะครับ ผมเสนอว่า การขับเคลื่อนควรจะคำนึงถึงจุดเริ่มต้นหรือปัจจัยที่จำเป็นต่อไปนี้

  • ผู้บริหารและครู รู้และเข้าใจ นำไปปฏิบัติ ชัดเจนอธิบายได้ และขยายผลโดยทำตนเป็นแบบอย่าง
  • สร้างกิจวัตรและข้อปฏิบัติที่ดีอย่างมีความหมาย เน้นว่าอย่างมีความหมาาย คือ อย่างเข้าใจความหมาย
  • เน้นการ "ถอดบทเรียน" หรือ "สะท้อนการเรียนรู้ เพราะปัญญาจะเกิดขึ้นจากการฝึกคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ครูเน้นการ "ตั้งคำถาม"
  • บ่อยซ้ำ ย้ำทวน ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ยาวนาน .... เพราะสิ่งนี้เกิดจากการ "ปลูกฝัง" ไม่ใช่การถ่ายทอด จำเป็นต้อง "บ่มเพาะ" เพราะเป็นเรื่อง "กรรมและผลของกรรม"

ในการฝึกอบรมครั้งนี้ ผมใช้วิธีชวนคุย และอภิปรายกันในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ผู้บริหารและครูรู้และเข้าใจ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา (อันหลังวิเคราะห์ตามตำรา) สลับกับการเล่าเรื่องชาดกเพื่อยกตัวอย่างต่างๆ จากที่ได้เคยฟังมาจากเทปธรรมะของพ่อแม่ครูอาจารย์ต่างๆ เช่น

  • ศีลคือเจตนาที่จะงดเว้น เช่น เด็กชาย ก. ข. และ ค. เดินเข้าไปในสวนมะม่วงของคนอื่น ทั้งสองมองเห็นมะม่วงสุก เกิดอยากกิน อยากได้มะม่วง นาย ก. ห้ามใจตนเองไม่เอามะม่วงนั้น เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี นาย ข. ไม่เอามะม่วงเหมือนกัน แต่เพราะคิดกลัวจะถูกจ้บได้และถูกลงโทษ นาย ค. หยิบมะม่วงนั้นทันที กรณีแบบนี้ ก่อนเด็กชายทั้งสามจะเจอมะม่วง ครูจะยังแยกไม่ได้ว่าใครมีศีล หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น ครูจะแยกได้ทันทีว่า นาย ค. ไม่มีศีล แต่จะยังไม่สามารถแยกได้ว่า นาย ก. หรือ ข. มีศีลหรือไม่ จนกว่าจะสอบถาม สัมภาษณ์ หรือสะท้อนเหตุผลของแต่ละคนออกมา
  • เผลอไปฆ่าสัตว์โดยไม่เจตนา บาปไหม? -> บาป แต่บาปมากน้อยแตกต่างไป
  • สมาธิแบ่งได้เป็น ๒ แบบ (สรุปจากการฟังธรรมะที่แสดงโดยหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช) ได้แก่ สมาธิธรรมดา เหมือนสมาธิที่แมวใช้จับหนู หรือครูใช้สอนหนังสือ และ "สมาธิตั้งมั่น" หรือสัมมาสมาธิ รู้กาย รู้ใจ ซึ่งจะทำให้เกิด "ผู้รู้" ซึ่งเป็นทางนำไปสู่ "ปัญญา" ... ขอแนะนำให้ผู้บริหารและครูทุกคนลองฟังธรรมะที่นี่เว็บไซต์ http://www.dhamma.com/ จะเข้าใจเรื่องนี้
  • ฯลฯ

ขอจบฮ้วนๆ เท่านี้นะครับ





ดูรูปทั้งหมด ที่นี่



หมายเลขบันทึก: 589648เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2015 05:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บันทึกดีมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ ที่นำมาแบ่งปัน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท