กระตุ้นให้เกิดปัญหา ท้าให้ลองทำ ในการปรับพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ม.๔


ช่วงวันที่ ๒๗ เมษายน ถึง ๑ พฤษภาคม เป็นช่วงการเรียนปรับพื้นฐานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ครูนกได้มีโอกาสสอนฐานวิทยาศาสตร์ทั่วไปของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ สิ่งที่ประสงค์จะให้เกิดกับนักเรียนในการเรียนฐานวิทยาศาสตร์ทั่วไปในเวลา ๙๐ นาทีคือ การใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์พื้นฐานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการทดลอง

ด้วยประสบการณ์ในการสอนเคมีระดับม.ปลายพบว่า นักเรียนยังคลาดเคลื่อนในความเข้าใจและการปฏิบัติหลายๆ ประเด็นเช่น
- ของเหลวสีใส ซึ่งต้องปรับความเข้าใจกันใหม่ให้ตรงกันว่า อะไรคือสี อะไรคือความใส จนเกิดคำว่า ใส ไม่มีสี
- การใช้แท่งแก้วคน ซึ่งเด็กมักจะใช้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งต้องบอกว่า ใช้ได้ทั้งสองด้านแต่ต้องเหมาะกับงาน
- การดมกลิ่นสารเคมี ซึ่งต้องมีท่าทางจำเพาะเจาะจง
- ขนาดของบีกเกอร์กับการใช้งาน
- การเลือกใช้เครื่องมือวัดปริมาตรอย่างเหมาะสม ได้แก่ บีกเกอร์ กระบอกตวง ตลอดจนปิเปตต์
ดังนั้นกระบวนการสอนครูนกเลยเลือกกระตุ้นให้เกิดปัญหา แล้วท้าให้เด็กๆ พิสูจน์ จากนั้นก็ช่วยกันสรุป โดยเริ่มจากแนะนำการใช้อุปกรณ์เครื่องแก้วพื้นฐานจากนั้นให้นักเรียนสังเกตสาร A กับ สาร B โดยมีคำถามว่า สาร A กับสาร B เป็นสารชนิดเดียวกันหรือไม่ จากนั้นให้นักเรียนสังเกตลักษณะทางกายภาพพื้นฐาน โดยแทรกทักษะการออกแบบตารางบันทึกผลการทดลอง จากนั้นเน้นย้ำให้เห็นว่าหลักฐานเพียงหนึ่งชิ้นหรือหนึ่งอย่างไม่เพียงพอต่อการสรุป จึงให้นักเรียนทดลองหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งได้เชื่อมโยงไปสู่การวัดความเป็นกรด-เบส โดยใช้กระดาษยูนิเวอร์แซลอินดิเคเตอร์ ซึ่งนักเรียนจะได้ฝึกการใช้กระจกนาฬิกา การเตรียมกระดาษยูนิเวอร์แซล ตลอดกันการเทียบสี
เมื่อนักเรียนสรุปเกี่ยวสาร A และสาร B ได้ว่าเป็นสารต่างชนิดกันโดยสาร A เป็นกรดอ่อน และสาร B เป็นเบสแก่ ครูนกนำนักเรียนไปสู่การศึกษาสมบัติของอินดิเคเตอร์ซึ่งชื่อว่า Phenopthalein ก็สอนให้นักเรียนทำบีกเกอร์ Stockเพื่อเก็บไว้ใช้ทดลองได้อย่างเพียงพอ รู้จักการแบ่งสารมาใช้ในหลอดทดลองเพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับสารที่ต้องการทดสอบ จนกระทั่งนักเรียนสรุปคุณสมบัติของอินดิเคเตอร์ชนิดนี้ได้ว่า เมื่อทดสอบกับกรดจะได้ผลคือ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสี คงเป็นสารละลายใส ไม่มีสี แต่หากทดสอบกับเบสจะเกิดสารละลายสีชมพู

ครูนกก็เลยแกล้งแหย่ๆ ด้วยคำถามว่า อะไรรอบตัวเราบ้างเป็นเบส น่าจะนำมาทดสอบกับฟีนอล์ฟธาลีนเพื่อยืนยันว่า ข้อสรุปข้างตนใช่หรือไม่ใช่ ปรากฏว่า เด็กบางคนบอกว่า น้ำลาย บางก็บอกว่า น้ำสบู่ ผงซักฟอก ครูนกก็เลยชวนพิสูจน์ด้วยการลองทำค่ะ
เด็กๆก็สนุกสนานกับการลองทำ มีบางคนอยากจะมีฟีนอล์ฟธาลีนไว้ใช้ที่บ้านเอาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยตนเอง
ภายในเวลา ๙๐ นาทีบรรลุเป้าหมาย แต่ครูนกบอกเด็กๆว่า ทักษะการสังเกต ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และทักษะการสรุป เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน ไม่ใช่พรสวรรค์แต่เป็นพรแสวง

สอนแบบนี้เหนื่อยค่ะ ครูนกหมดพลังทุกวันเลยค่ะ แต่ยังมีพลังใจเต็มเปี่ยมค่ะด้วยคำพูดของเด็กๆ "ครูสอนเหรอครับ งั้นผมนั่งหน้า" ว่าแล้วเจ้าตัวก็ย้ายมานั่งโต๊ะหน้าสุดตรงหน้าครูนกเลยค่ะ



หมายเลขบันทึก: 589641เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2015 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2015 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบกิจกรรมแบบนี้ครับพี่นก

นักเรียนได้ทำ

แล้วนักเรียนจะจำไปอีกนาน

ขอบคุณมากๆครับ


มาทัททายด้วยความคิดถึง

วันก่อน ลงไปภูเก็ต ตั้งใจว่าขากลับ

จะแวะพัทลุง ตรัง และหาดใหญ่

จะมาทักทายครูนกด้วย

แต่เกิดการผิดพลาดทางเทคนิค

จึงต้องกลับเมืองสามอ่าวเลยจ้ะ

โอกาสหน้าจะไม่พลาดจ้าาา

เด็กๆสนใจการทดลองมากนะคะ

ชอบการเรียนรู้ที่ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ

คุณครูนกก็ใจดีค่ะ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท