วิชาพัฒนานิสิต (๑๐) : นิสิตทำความดีเข้าใจวิถีคนชรา


กระทั่งนิสิตเองก็คงได้ทบทวนหน้าที่ตนเองที่มีต่อญาติมิตร รวมถึงการทบทวนตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นคนที่อาจตกต้องชะตากรรมเช่นนี้ด้วยก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าเร็วเท่านั้นเอง เพราะในความจริงความเดียวดายก็ไม่เคยจำกัด หรือบ่งชี้ด้วย "อายุ"

ในห้วงยุคสมัยที่สังคมกำลังเดินหน้าเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" โครงการ "นิสิตทำความดีเข้าใจวิถีคนชรา" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มุ่งให้นิสิตได้เข้าไป "เรียนรู้คู่บริการ" ผ่านระบบและกลไกการเรียนในหลักสูตรรายวิชาการพัฒนานิสิต หากแต่เป็นการเรียนรู้ที่บูรณาการระหว่าง "กิจกรรมในชั้นเรียน" ควบคู่ไปกับ "กิจกรรมนอกชั้นเรียน"


โครงการ "นิสิตทำความดีเข้าใจวิถีคนชรา" จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๘ ณ สถานสงเคราะห์คนชรามหาสารคาม ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนของนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาพัฒนานิสิต ประจำภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๘




โครงการดังกล่าวฯ ดำเนินการบนฐานคิดง่ายๆ คือการฝึกให้นิสิตได้นำองค์ความรู้ภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติจริงโดยใช้ "ชุมชนเป็นห้องเรียน" ซึ่งองค์ความรู้ที่ว่านั้นก็เป็นเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนานิสิต หรือกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสังคม

กิจกรรม/โครงการที่จัดขึ้นในรายวิชาพัฒนานิสิต เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งให้นิสิตได้ฝึกการทำงานอย่างเป็นทีม ฝึกการทำประโยชน์ต่อชุมชนบนฐานคิด "เรียนรู้คู่บริการ" อันเป็นการบ่มเพาะให้นิสิตเป็นผู้ที่มีจิตอาสา จิตสาธารณา หรือเยาวชนจิตอาสา ตามครรลองอันเป็นปลายทางแห่งการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมผ่านระบบและกลไกหลักของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ๓ ประเด็นหลักคือ

  • อัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)
  • เอกลักษณ์ (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน)
  • ปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)



การจัดกิจกรรมโดยการเลี้ยงอาหารผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในทุกกลุ่มวิชาชีพ ไม่เว้นกระทั่งนิสิตนักศึกษา เพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่สลับซับซ้อนซ่อนปมอะไรมาก หลักๆ มักหนีไม่พ้นการทำอาหาร การจัดกิจกรรมบันเทิงเพื่อการผ่อนคลายผ่านการร้องรำทำเพลง เกม-นันทนาการ ทำความสะอาดที่พักและบริเวณทั่วๆ ไป รวมถึงการช่วยดูแลสุขภาวะเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตัดเล็บ อาบน้ำ สระผม ฯลฯ

อย่างไรก็ดีในบางกิจกรรมที่กล่าวมา ก็หาใช่จะทำได้ด้วยตนเองเสียทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางกิจกรรมก็จำต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลระบบสุขภาวะของกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นผู้สูงอายุ –






พลิกผัน "ปรับแผน" แบบ "ด่วนดิบ"

โครงการ "นิสิตทำความดีเข้าใจวิถีคนชรา" ที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรมที่พลิกผันในแบบ "ด่วนดิบ" เนื่องจากเดิมวางแผนที่จะทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในละแวกมหาวิทยาลัยฯ แต่พอลงสำรวจพื้นที่กลับพบว่าชุมชนดำเนินการภารกิจเหล่านั้นเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้สมาชิกจึงจำต้องประชุมหารือกันใหม่อีกรอบ และภายใต้เงื่อนไขเวลาอันจำกัด จึงเห็นพ้องต้องกันว่าลองหันเหไปเรียนรู้คู่บริการในสถานที่พักคนชรา เพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อนอันใด อีกทั้งยังเป็นการทำกิจกรรมกับผู้คนโดยตรงไม่ใช่ทำกิจกรรมกับวัตถุสิ่งขอ ง น่าจะทำให้ทุกๆ คนได้สัมผัสกับ "ลมหายใจของความเป็นมนุษย์" ร่วมกันได้




การพลิกผันเปลี่ยนแปลงสถานที่ปฏิบัติงานเช่นนี้ เป็นกระบวนการสำคัญอย่างยิ่งยวดในทางการฝึกทักษะบริหารจัดการโครงการ เป็นการเผชิญสถานการณ์เฉพาะกิจ เป็นบททดสอบพลังความเป็นทีมในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างน่ายกย่อง อย่างน้อยนิสิตก็ได้เรียนรู้ที่จะสำรวจพื้นที่เป้าหมายโดยด่วน สำรวจตัวเองว่ามีความรู้/เครือข่ายการทำงานอย่างไร หรือกระทั่งการประสานงานอย่างเร่งด่วนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการต่อองค์กร หรือกลุ่มคนที่นิสิตจะร่วมทำกิจกรรม ซึ่งถือเป็นความท้าทายมิใช่ย่อยกับบรรดา "นักกิจกรรม" (มือใหม่หัดขับ)





เรียนรู้ (ล่วงหน้า) : กระแสหลักสังคมผู้สูงอายุและตัวตนของตนเองในอนาคต


จะว่าไปแล้วโครงการดังกล่าวฯ หากไม่ติดยึดเรื่องการฝึกทักษะการทำงานและบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าโครงการดังกล่าวนี้ได้สะกิดเตือนให้นิสิตได้มองไปสู่กระแสหลัก หรือสังคมในอนาคตที่กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" เสมือนการรับรู้กระแสหลักบนสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่ยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน

เช่นเดียวกับการเป็นเสมือนกลไกการเรียนรู้สภาวะของตนเองในอนาคตด้วยเช่นกันว่าสักวันหนึ่งนิสิตเองก็จะตกอยู่ในสภาวะของการเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะถูกละเลย เพิกเฉยจากเครือญาติเฉกเช่นกลุ่มคนที่อยู่ในบ้านพักคนชราหรือไม่เท่านั้นเอง

หรือในทำนองเดียวกันกิจกรรมดังกล่าวก็เป็นเสมือนการกระตุกเตือนให้นิสิตได้ทบทวนหน้าที่ตนเองที่มีต่อการดูแล "คนรัก" หรือ "ผู้มีพระคุณ" ของตนเอง ทั้งที่เป็นบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ลูกหลานเหลนโหลน ฯลฯ





เรียนรู้คู่บริการ : เรียนรู้หัวใจของความเป็นมนุษย์

กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมเพียงไม่กี่อย่าง เพราะทางองค์กรแจ้งว่าจะมีกลุ่มคนเข้าไปจัดกิจกรรมด้วยเหมือนกัน กิจกรรมที่ถูกออกแบบร่วมระหว่างนิสิตกับเจ้าหน้าที่จึงมีเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น นั่นก็คือเลี้ยงอาหาร กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ

แต่ถึงอย่างไรก็เถอะ ในกระบวนการเรียนรู้ที่ว่านี้ก็มิได้ละเลยที่จะกระตุ้นให้นิสิตได้เรียนรู้บริบทองค์กรอันเป็นหน่วยงานที่ดูแลสถานสงเคราะห์คนชรามหาสารคามไปพร้อมๆ กัน ทั้งในเรื่องของการก่อตั้ง สถานการณ์ปัจจุบันในมิติต่างๆ ทั้งแผนพัฒนา งบประมาณ จำนวนผู้คน ฯลฯ มิใช่มุ่งเน้นให้นิสิตทำกิจกรรมให้เสร็จๆ แล้วกลับมาประเมินผลโครงการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและตีค่าผลการเรียนรู้เป็นค่าคะแนน



กรณีดังกล่าวนี้ปรากฏชัดเจนในห้วงการกลั่นกรองโครงการฯ ซึ่ง ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต) ในฐานะผู้ประสานงานวิชาการพัฒนานิสิตได้ฝากเป็นข้อคิดแก่นิสิตกลุ่มนี้ ดังว่า

"...ไม่ใช่ไปแล้วเน้นบันเทิงอย่างเดียว ควรต้องศึกษาความเป็นมาของหน่วยงานและศึกษาความเป็นผู้สูงอายุโดยเฉพาะว่าเกิดอะไรจึงมีสถานแบบนี้...ไม่อยากให้มองที่ปลายเหตุ แต่อยากให้มองต้นเหตุของปัญหา (ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา : ผู้ประสานงานรายวิชาพัฒนานิสิต)





แน่นอนครับ-คำแนะนำข้างต้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมถือว่าสำคัญมาก การเรียนรู้บริบท-สถานการณ์จริงขององค์กร (ชุมชน) เป็นเรื่องหลักที่ละข้ามไม่ได้จริงๆ เป็นเรื่องหลักที่ผู้สอนวิชาการพัฒนานิสิตให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกที่นิสิตต้องคิดคำนึงหากต้องไปจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการกับชุมชน ส่วนนิสิตจะมีศาสตร์และศิลป์ในการสอบถาม –สัมภาษณ์แค่ไหน สิ่งนี้ก็เป็นโจทย์อีกประเด็นที่ผู้สอนและผู้เรียนต้องใส่ใจไปพร้อมๆ กัน เพราะเรื่องบางเรื่องก็ละเอียดอ่อน หากตั้งคำถามไม่ดีพอ แทนที่จะเป็นการเยียวยาเสริมพลัง อาจกลับกลายเป็นการโบยซ้ำแผลชีวิตก็เป็นได้

แต่ที่แน่ๆ การพลิกผันเปลี่ยนแปลงสถานที่และรูปแบบกิจกรรมภายใต้เวลาอันจำกัดเช่นนี้ ผมก็ถือว่านิสิตคงได้เรียนรู้อะไรๆ อย่างมากโขอยู่มิใช่ย่อย และการเลือกพื้นที่บ้านพักคนชราเช่นนี้ก็คงช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ว่า "หัวจิตหัวใจของมนุษย์" เป็นเช่นใด

หรือกระทั่งนิสิตเองก็คงได้ทบทวนหน้าที่ตนเองที่มีต่อญาติมิตร รวมถึงการทบทวนตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นคนที่อาจตกต้องชะตากรรมเช่นนี้ด้วยก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าเร็วเท่านั้นเอง เพราะในความจริงความเดียวดายก็ไม่เคยจำกัด หรือบ่งชี้ด้วย "อายุ"



เหนือสิ่งอื่นใด โครงการนิสิตทำความดีเข้าใจวิถีคนชรา อาจจะไม่ใช่โครงการที่นิสิตมี "อิสระ" ในการ "ออกแบบกิจกรรม" ด้วยตัวเองอย่างมากมาย เพราะบริบทขององค์ หรือสถานที่การจัดกิจกรรมมีรูปแบบที่แทบจะตายตัวอยู่แล้ว แต่นิสิตก็ได้เรียนรู้ระบบและกลไกการประสานงานกับส่วนราชการ และการเรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุอย่างละเอียดอ่อน เช่นเดียวกับเมื่อทำกิจกรรมแล้ว ก็เรียนรู้ว่าเกิดผลเปลี่ยนแปลงกับตัวเองอย่างไร

โดยส่วนตัวผมมองว่า หากนิสิตในรายวิชาพัฒนานิสิตจะยังคงมีกิจกรรมในทำนองนี้อีก ถ้าสามารถเชื่อมโยงไปยังนิสิตในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งที่เป็นแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ฯลฯ ก็น่าจะดี ด้วยการเชิญและชวนนิสิตเหล่านี้ไปร่วมกิจกรรมด้วย เพราะถือเป็นกิจกรรมวิชาชีพของพวกเขา

หรือกระทั่งผนึกเข้าไปจัดร่วมกับองค์กรอื่นๆ ที่มีแผนงานในลักษณะเดียวกัน ... ยิ่งน่าจะเกิดมรรคผลได้อย่างยิ่งยวดในมิติการเรียนรู้คู่บริการ ทั้งต่อนิสิตและชุมชน




เสียงจากนิสิต

"...ได้เรียนรู้ว่าการใช้ชีวิตในบ้านพักคนชราเป็นอย่างไร ได้รู้ถึงการที่เรามีชีวิตเหงาๆ เมื่อไม่มีญาติมาหา และได้คิดทบทวนว่าถ้าเราอายุ ๖๐ ปีจะมาเป็นแบบนี้ไหม (นายสมบูรณ์ ทิพย์บุปผา)


"... ความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรม รู้สึกมีความสุข เหมือนการทำบุญอีกแบบหนึ่ง ที่ได้ไปมอบความสุขให้กับคุณตาคุณยายได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะ ได้เรียนรู้เเละเข้าใจความสำคัญของการทำกิจกรรมให้แก่สังคม

... ได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมวางแผน คิดรูปแบบกิจกรรม กำหนดหน้าที่ของแต่ละคน เป็นการพัฒนาตัวเราเองด้วย ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น การกล้าแสดงออก กล้าที่จะคิดกล้าที่จะทำ เป็นประสบการณ์ที่เราต้องนำไปใช่ใช่ชีวิตจริงในอนาคตข้างหน้า (นายธนพล หลายวงค์ : สาขาการเกษตร คณะเทคโนโลยี)



หมายเหตุ : ภาพโดยนิสิตวิชาการพัฒนานิสิต



หมายเลขบันทึก: 589400เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2015 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กิจกรรมของนิสิตน่าสนใจมาก

นิสิตจะได้เรียนรู้เรื่อง Humanized Health Care กับผู้สูงอายุด้วย

กิจกรรมแบบนี้ถ้าทางสาธารณสุขเห็นรับรองได้ทุนทำโครงการต่อแน่ๆ

แต่เชื่อมั่นว่านิสิตได้เรียนรู้ตามวิถีของตนเองมากกว่าที่จะเรียนรู้ตามรางวัลครับ

ขอบคุณมากๆครับ


ลืมบอกว่า ส่งหนังสือเรื่องนี้

ไปให้คนเชียงใหม่มาครับ

https://www.gotoknow.org/posts/589318


สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

โครงการนี้ ไม่มีอะไรพิเศาครับ มุ่งให้เด็กได้คิดและได้ทำในสิ่งที่นิสิตคิดและปรารถนา เพียงแต่มีการตั้งคำถามชวนคิดในบางมุมเท่านั้นเอง อย่างน้อยก็ให้นิสิตได้รู้จักการเรียนรู้บริบทโครงสร้างของหน่วยงาน ฝึกการประสานงานกับส่วนราชการ/องค์กร ...

กิจกรรมนี้ ไม่ซับซ้อนอะไร เพราะกิจกรรมค่อนข้างถูกออกแบบไม่อย่างเสร็จสรรพจากองค์กรนั้นๆ โยส่วนตัวผมมองว่าอยากให้คุณตาคุณยายได้แสดงออกมากกว่าการเป็นผู้รับ...

รวมถึงโอกาสหน้า อยากให้ทำงานเชิงเครือข่ายสุขภาพให้เป็นรุปธรรม ชวนเพื่อในวิชาชีพไปช่วยกัน หรือไม่ก็ทำความร่วมมือกับคณะที่เกี่ยวข้องในสาขาเหล่านี้ไปเลย จะได้เรียนรู้และให้บริการได้อย่างคมชัดยิ่งขึ้น

ขอบพระคุณครับ

ยินดี และขอบพระคุณครับ อ. ขจิต ฝอยทอง ที่ช่วยให้หนังสือได้เดินทาง...

ความดี สมควรมีพื้นที่การเดินทาง ครับ

ขอบพระคุณมากๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท