เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๖. e-Learning กับ Transformative Learning



บันทึกชุด "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ตอนที่ ๖ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 5 Facilitating Transformative Learning : Engaging Emotions in an Online Context เขียนโดย John M. Dirkk (ศาสตราจารย์ด้านอุดมศึกษา การศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษาตลอดชีวิต และเป็นผู้อำนวยการของ Michigan Center for Education and Work มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท), และ Regina O. Smith (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาต่อเนื่อง และอุดมศึกษา มหาวิทยาลยวิสคอนซิน ณ มิลวอคี)

สรุปได้ว่า ผู้เขียนได้เล่าเรื่องความสำเร็จในรายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาด้านอุดมศึกษาและ การศึกษาผู้ใหญ่ ที่เรียนแบบ online e-Learning ใช้วิธีเรียนแบบ ใช้ปัญหาเป็นฐาน และเรียนเป็นทีม เน้น interactive, collaborative และ reflective learning โดยจงใจใช้บรรยากาศที่มีอารมณ์ เป็นตัวช่วยกระตุ้น ความสำเร็จนี้เลยจาาก transformative learning โดยทั่วไป ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับจิตไร้สำนึก

ตอนนี้ว่าด้วยการเรียนรู้แบบ online e-learning และเน้นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงที่ลึก ลงไปถึงระดับจิตใต้สำนึก คือลึกยิ่งกว่าการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) โดยทั่วไป โดยใช้การเรียนรู้แบบ interactive, collaborative และ reflective ผ่านพื้นที่เสมือน คือ online


บริบทของการเรียนรู้

เป็นรายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาด้านอุดมศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ มีเป้าหมายเพื่อให้เข้าใจเนื้อหา อย่างลึก และเชื่อมโยงเข้าสู่ปัญหายากๆ ในชีวิตจริงของนักศึกษา และในปฏิสัมพันธ์กับสังคมวงกว้าง

ใช้การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ภาคเรียนละ ๓ - ๕ ปัญหา เวลาเรียนปัญหาละ ๑ - ๓ สัปดาห์ มีนักศึกษา ๒๐ - ๒๕ คน จากหลากหลายพื้นฐานสาขาวิชา แม้ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่เป็นคนขาว แต่ก็มีนักศึกษาผิวสี และนักศึกษาต่างชาติจำนวนมาก

จัดนักศึกษาเป็นทีมคละ ๓ - ๔ คน พยายามให้มีความแตกต่างกัน ในด้านความสนใจ สาขาวิชาที่จะรับปริญญา ประสบการณ์เดิม สไตล์การเรียนรู้ เชื้อชาติ เพศ และภูมิศาสตร์ของภูมิลำเนา นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์กันได้หลายทาง : discussion forum ทั้งชั้น, discussion forum ในทีม, chatroom (อยู่พร้อมหน้ากัน), อี-เมล์ และโทรศัพท์


รูปแบบการเรียนรู้

จัดเพื่อเอื้อให้เกิดการทำงานด้วยตนเอง และเกิดการเรียนรู้อย่างลึก เน้นที่ประสบการณ์เชิงอารมณ์ และเชิงสัญลักษณ์ของนักศึกษา มุ่งไปที่จิตวิทยาที่ลึกกว่าการเปลี่ยนโลกทัศน์ในระดับรู้สึกตัว ไปสู่ระดับจิตไร้สำนึก (unconscious) ซึ่งเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งจะช่วยป้องกันพฤติกรรมที่เป็นปฏิกริยาต่ออารมณ์

เป้าหมายของ TL ในระดับจิตวิทยาระดับลึก ก็เพื่อฝึกสานเสวนาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับจิตไร้สำนึก ของตนเอง ให้เชื่อมโยงกับจิตสำนึกได้ โดยฝึกกับภาพ ความสัมพัธ์ หรือพฤติกรรมที่เร้าอารมณ์

การเรียนรู้หรือทำงานร่วมกัน มักจะเกิดเหตุการณ์เร้าอารมณ์ระหว่างกัน ยิ่งสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความไม่ชัดเจน ต้องจินตนาการเอาเอง จะยิ่งเปิดโอกาสให้เกิดความเข้าใจผิด

มีการออกแบบการเรียนรู้โดยจงใจที่จะสร้างอารมณ์ในกลุ่มผู้เรียน ได้แก่ (๑) ใช้ปัญหาที่ไม่ระบุชัดเจนนัก และเปิดช่องให้ทดลอง (๒) การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ และร่วมมือกัน (๓) ใช้ทีมเขียนรายงานที่จะต้องทำความตกลงกัน (๔) มีการทบทวนส่วนบุคคล และเป็นทีม (๕) กิจกรรมใคร่ครวญสะท้อนคิด (๖) เขียนบันทึก

โจทย์การเรียนรู้ด้วยปัญหา เป็นข้อเขียนที่ไม่ชัดเจน บอกเรื่องราวในชีวิตที่ผู้เรียนมีโอกาสเผชิญ ในอนาคต

การเรียนรู้เริ่มจากการทำความเข้าใจปัญหา และปัจจัยต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุ เสนอแนวทางแก้ปัญหา วิธีดำเนินการ และความท้าทายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนของการดำเนินการแก้ปัญหา โดยที่ในแต่ละขั้นตอน ต้องมีการตัดสินใจร่วมกันของทีม โดยต้องเป็นฉันทามติ

ทีมงานประชุมกันผ่าน team discussion forum หรือ chatroom เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ถกเถียง และร่วมกันค้นคว้า จนในที่สุดบรรลุข้อตกลงกันได้ ทีละเปลาะๆ

นอกจากการเรียนรู้เชิงเนื้อหาแล้ว ทีมอาจารย์เน้นว่า ต้องเอาใจใส่กระบวนการปฏิสัมพันธ์ภายในทีม ให้เกิดความสัมพันธ์เชิงร่วมมือกัน (collaborative relationship) โดยมีเป้าหมายให้ปฏิสัมพันธ์นี้เป็นตัวกระตุ้น ให้เข้าใจเนื้อหาวิชาลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของสมาชิกในทีมแต่ละคน

การเรียนรู้โดยการร่วมมือกันเช่นนี้ จะมีพลังมาก ต่อเมื่อสมาชิกในทีมมีความแตกต่างหลากหลาย ในด้านประสบการณ์การทำงาน การศึกษา ความสนใจ อายุ เชื้อชาติ เพศ และภูมิลำเนา

อาจารย์ทำหน้าที่ facilitator ของการเรียนรู้ ถึงแม้นักศึกษาจะเข้าถึงอาจารย์ได้โดยหลากหลายช่องทาง ของการสื่อสาร แต่กระบวนการเรียนรู้ส่วนใหญ่ดำเนินไปโดยกิจกรรมของทีมนักศึกษาเอง

หัวใจของ PBL คือการเรียนรู้จากกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่ใช่มุ่งแค่การทำโจทย์ให้เสร็จ เครื่องมือเพื่อการนี้คือ การเขียนเชิงสะท้อนคิด (reflective writing), การเขียนบันทึก (journaling), และการทบทวนกิจกรรม (debriefing) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการเหล่านั้น และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มใน team discussion forum

การเขียนบันทึก อาจเขียนตามข้อกำหนดหรือโจทย์ของอาจารย์ ที่กำหนดให้เขียนระบายอารมณ์ ที่เกิดขึ้น ในแต่ละขั้นตอนกระบวนการของการเรียนรู้ หรือกระบวนการกลุ่ม เพื่อเชื่อมโยงด้านใน คืออารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนออกมาสู่ปฏิสัมพันธ์ในทีม การเรียนรู้ และการสร้างสรรค์

อาจมีช่วงที่ทีมงาน (และอาจารย์) นัดเวลา "เขียนอิสระ" (free write) บอกความรู้สึก ๕ - ๑๐ นาที แล้วสะท้อนความรู้สึกออกมาเป็นถ้อยคำบอกเพื่อนในทีม และสะท้อนความรู้สึกที่ได้อ่านข้อเขียนและ ฟังความรู้สึกของเพื่อนร่วมทีม

การเขียนบันทึก แต่ละคนเขียนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง อาจารย์เท่านั้นที่เข้าไปอ่าน และให้ความเห็น ต่อข้อเขียนของนักศึกษาแต่ละคนได้

การทบทวนกิจกรรม (debriefing) ทำตอนท้ายของแต่ละตอนของ problem unit โดยแต่ละทีมประเมิน คุณภาพผลงานของตน และบอกว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง ตามที่กำหนดไว้ หรือไม่ได้กำหนดใน เป้าหมายผลลัพธ์ การเรียนรู้


ยุทธศาสตร์การประยุกต์รูปแบบการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ผ่านการเรียนรู้ online

การใช้ PBL ช่วยให้การเรียนรู้มีบริบท เชื่อมโยงกับชีวิตจริง

ใช้กิจกรรมใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective activity) หลากหลายรูปแบบ เป็นเครื่องมือเชื่อมโยง PBL เข้ากับสาระหรือเนื้อหาที่เป็นเป้าหมาย ของการเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ ในชีวิตจริง เชื่อมโยงกับงานอ่าน และงานวิจัยของตนเอง ทั้งในส่วนที่สอดคล้อง และไม่ตรงกัน ซึ่งตรงนี้ความชำนาญ ของอาจารย์มีความสำคัญมาก อาจารย์สามารถกระตุ้นให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนคิดเชื่อมโยงออกไปได้กว้างขวางมาก โดยที่อาจารย์ไม่เข้าไปบอกเนื้อหาสาระ แต่เน้นเข้าไปตั้งคำถาม

อาจารย์มีหน้าที่คอยดูแลให้ทีมงานทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลงาน และได้กระบวนการ เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด มีความราบรื่นในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และให้ความเคารพต่อกัน แม้จะมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยเข้าใจร่วมกันว่า การเกิดอารมณ์ หรือเกิดความขัดแย้ง เป็นส่วนหนึ่ง ของการเรียนรู้ นำเอาเหตุการณ์และบริบทที่เกิดอารมณ์หรือความขัดแย้งมาใคร่ครวญทำความเข้าใจ ในมิติที่ลึก

การเขียนบันทึก เป็นวิธีนำเอาเรื่องราวของการเกิดอารมณ์ความรู้สึก มาสู่การเรียนรู้ ยิ่งใน การเขียนอิสระ ยิ่งเป็นโอกาสนำเอาประสบการณ์ที่ไม่คาดคิดมาเปิดเผย นำไปสู่การเรียนรู้ในมิติที่ลึก

กิจกรรม debriefing ทั้งส่วนบุคคล และของทีม เป็นอีกโอกาสหนึ่งของการเรียนรู้จากการใคร่ครวญ สะท้อนคิด เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ได้เรียน และสิ่งที่กำหนดเป้าหมายไว้ แต่ไม่ได้เรียนรู้ อาจารย์ต้องหาทางกระตุ้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงกิจกรรม อารมณ์ และความคิดเข้ากับความเข้าใจเรื่อง จิตสำนึกและจิตไร้สำนึก


การไตร่ตรองสะท้อนคิด

ผู้เขียนมีความเห็นว่า แนวคิดเรื่อง Transformative Learning เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย ไม่ชัดเจน ไม่แน่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ยืนยันว่าวิธีที่ใช้ คือการจัดให้เกิดการเรียนรู้ระดับลึก โดยผู้เรียนเข้ากระบวนการทำงานด้วยตนเอง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

วิธีที่ใช้คือกระตุ้นให้เกิดประสบการณ์เชิงอารมณ์ เพื่อให้เป็นกระบวนการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

กระบวนการเชิงอารมณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเปิดชั้นเรียน ในอี-เมล์ฉบับแรกที่นักศึกษาเขียนมา ไปจนถึงอี-เมล์ในการประเมินผลเมื่อจบรายวิชา

ในตอนต้นอารมณ์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความกลัวต่อการทำงานเป็นทีม เพราะผู้เรียนมีมุมมองเดิมๆ ต่อเรื่องนี้ ผู้เรียนกลุ่มหนึ่งเป็นนักสู้ บอกว่าจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ บางคนใจไม่สู้ หรือบางคนยกเลิกเรียน ไปเลย บรรยากาศนี้เอง เป็นตัวช่วยให้อาจารย์แสดงบทบาทเป็นผู้กอบกู้สถานการณ์

แต่ในท่ามกลางอารมณ์ที่แสดงความไม่มั่นใจเช่นนี้ อาจารย์ทำงานยากมาก สิ่งที่อาจารย์ทำได้ คือหาทางทำให้ผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ ให้เกิดการเติบโต โดยผู้เขียนเชื่อว่าโอกาสเกิด transformative learning ฝังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ที่ทรงพลังนั่นเอง และเชื่อว่าการเรียนรู้จะ transformative หรือไม่ ขึ้นกับตัวนักศึกษาเอง ไม่ได้ขึ้นกับอาจารย์ ซึ่งตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมมีความเห็นว่า ทักษะในการทำ หน้าที่ facilitator โดยการตั้งคำถามที่เหมาะสม ในจังหวะที่ถูกต้อง จะช่วยเอื้อต่อการใคร่ครวญสะท้อนคิด ของนักศึกษา นำไปสู่ transformation

ผู้เขียนมีความเห็นจากประสบการณ์ตรงนี้ว่า transformative learning มีมิติด้านสร้างสรรค์และศิลปะ มากว่ามิติด้านเหตุผล ถ้อยคำ และวิทยาศาสตร์



วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 589159เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2015 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2015 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท