ค่ายพรางเขียว : นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน (๒ วัน ๑ คืน)


มุ่งเรียนรู้คู่บริการบนฐานคิด "บวร : บ้าน-วัด-โรงเรียน" และ "ราชการ" โดยชุมชนเข้ามาเกื้อหนุนดูแลเรื่องข้าวปลาอาหาร แนะนำหลักการทำงาน รวมถึงการกำหนดให้นักเรียนได้ร่วมลงมือทำกิจกรรมกับนิสิต เพื่อปลูกฝังเรื่องจิตอาสา/สาธารณะของการใช้ประโยชน์และดูแลรักษาทรัพย์สมบัติของชุมชนด้วยตัวเอง

โครงการ "พรางเขียวอาสาพาสร้างนำซ่อม ครั้งที่ ๒" ที่จัดขึ้นโดย "ชมรมพรางเขียว" เมื่อวันที่ ๕-๖ เมษายน ๒๕๕๘ ณ โรงเรียนชุมชนบ้านผำ ต.บ้านผำ อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งค่ายอาสาพัฒนาที่สะท้อนภาพกระบวนการ "เรียนรู้คู่บริการ" นอกชั้นเรียน (นอกหลักสูตร) ซึ่งสัมพันธ์กับ "อัตลักษณ์" ความเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) อย่างไม่ต้องกังขา

อย่างน้อยนิสิตก็ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น หรือเรียนรู้เรื่องจิตสาธารณะผ่านการลงมือทำในลักษณะของ "กลุ่ม/ทีม"



โครงการดังกล่าวมีลักษณะการขับเคลื่อนที่ง่ายงาม ไม่สลับซับซ้อน เน้นหลักการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (active learning) ผ่านกิจกรรม/โครงงาน (Project based learning) ดังภาพรวมการดำเนินงานสำคัญๆ ดังนี้

๑.เน้นการเรียนรู้ในแบบสหทีม : ไม่ได้ดำเนินการแต่เฉพาะชมรมพรางเขียวที่ส่วนใหญ่คือนิสิตในกลุ่ม "นักศึกษาวิชาทหาร" เท่านั้น หากแต่บูรณาการในแบบสหทีม ผนึกเครือข่ายจิตอาสา หรือเยาวชนจิตอาสามาช่วยกัน เช่น พรรคมอน้ำชี ชมรมศิลป์อีสาน (วิทยาลัยดุริยางคศิลป์) นิสิตคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งในแต่ละเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรมจะถูกมอบหมายภารกิจตามสายงาน หรืออัตลักษณ์ของชมรมเป็นหัวใจหลัก เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมภายใต้เวลาอันจำกัดได้อย่างครอบคลุมและบรรลุเป้าประสงค์แห่งการเรียนรู้คู่บริการให้ได้มากที่สุด



๒.กิจกรรมด้านการบำเพ็ญประโยชน์และสิ่งแวดล้อม : ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ บนฐานความต้องการของชุมชน คือการซ่อมแซมอุปกรณ์/สนามเด็กเล่น ทาสีกำแพงโรงเรียน พัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ชุมชนและวัดควบคู่กันไป

๓.กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม : ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก เช่น เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านระบบและกลไกล "พ่อฮัก-แม่ฮัก" เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนผ่านการบรรยาย (บอกเล่า) ของแกนนำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน พิธีบายศรีสู่ขวัญและการเข้าร่วมทำบุญตักบาตร ด้วยการแต่งกายด้วยชุดสุภาพที่สอดคล้องกับวิถีความเป็นไทย และไม่แปลกแยกจากชุมชน



.กิจกรรมด้านนิสิตสัมพันธ์และวิชาการ : มีการให้ความรู้บนฐานคิดของการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ในเรื่องที่ชุมชนให้ความสนใจ เช่น ประชาธิปไตย เยาวชนจิตอาสา สมุนไพรกับการดูแลสุขภาพ โดยแกนนำของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ และพรรคมอน้ำชี


การบรรยาย โดยพรรคมอน้ำชีและนิสิตคณะแพทยศาสตร์


๕.กิจกรรมด้านกีฬาและนันทนาการ : ภายใต้เวลาอันจำกัด กิจกรรมกีฬาและนันทนาการในวิถีชาวค่ายอาจดูไม่โดดเด่นเป็นรูปธรรมเหมือนด้านอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ละเลยที่จะจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชน หรือการผ่อนคลายความเหนื่อยล้าผ่านกิจกรรม "พรางเขียวม่วนซื่น" เป็นระยะๆ โดยการรับผิดชอบหลักของชมรมพรางเขียวและชมรมศิลป์อีสาน




๖.เน้นหลักการมีส่วนร่วมแบบ "บวร" : มุ่งเรียนรู้คู่บริการบนฐานคิด "บวร : บ้าน-วัด-โรงเรียน" และ "ราชการ" โดยชุมชนเข้ามาเกื้อหนุนดูแลเรื่องข้าวปลาอาหาร แนะนำหลักการทำงาน รวมถึงการกำหนดให้นักเรียนได้ร่วมลงมือทำกิจกรรมกับนิสิต เพื่อปลูกฝังเรื่องจิตอาสา/สาธารณะของการใช้ประโยชน์และดูแลรักษาทรัพย์สมบัติของชุมชนด้วยตัวเอง เสมือนการบ่มเพาะเรื่อง "สำนึกรักบ้านเกิด" ในอีกช่องทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด (ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล) และส่วนราชการในท้องถิ่นเข้ามาร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด จึงนับเป็นปัจจัยความสำเร็จเล็กๆ ที่อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดความต่อเนื่องได้ในอนาคตผ่านการขับเคลื่อนของภาคส่วนราชการและเอกชนในท้องถิ่น หรือกระทั่งชุมชนเอง



๗.PDCA&KM : ขับเคลื่อนการทำงานบนฐานของระบบ PDCA และการจัดการความรู้ (KM) ควบคู่กันไป นับตั้งแต่การสำรวจค่าย คัดเลือกพื้นที่ค่าย วางแผนร่วมกับชุมชนและสมาชิกชาวค่าย มีการลงพื้นที่เตรียมงานล่วงหน้า ๔ วัน มีการสรุปผลการดำเนินงาน (AAR) ประจำในแต่ละวัน พร้อมๆ กับการมอบหมายภารกิจในแต่ละวัน เช่นเดียวกับการ "เปิดใจ" เรียนรู้จากสถานการณ์จริงตามครรลอง "ทำไป-เรียนรู้ไป"



ทั้งปวงที่ประมวลมาคือภาพรวมของการจัดกิจกรรมของนิสิตภายใต้เวลาอันน้อยนิดคือ "ค่าย ๒ วัน ๑ คืน" แต่ก็พอจะมองเห็นกระบวนการเรียนรู้คู่บริการที่เป็นรูปธรรมอยู่ไม่ใช่ย่อย- เห็นการทำงานบนโจทย์ร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชนและการเพียรพยายามที่จะดึงชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่ม "นักเรียน" ที่เป็นเป้าหมายหลักของการ "ใช้ประโยชน์"




เช่นเดียวกับการพอที่จะมองเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความพยายามที่จะผนึกกำลังการทำงานในรูปของ "เครือข่ายจิตอาสา" อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะการจับมือกันทำงานของสององค์กรหลัก คือชมรมพรางเขียวและพรรคมอน้ำชีนั้น ถือได้ว่าชัดเจนมาก ทั้งยังสามารถชักชวนองค์กรอื่นๆ เข้ามาเป็นทีมได้อย่างไม่มีพรมแดน เป็นการเปิดใจทำงานเพื่อส่วนร่วมอย่างน่ายกย่อง

ถึงแม้กิจกรรมจากองค์กรเครือข่ายจิตอาสาในบางประเด็นจะยังไม่ลึกซึ้งและมีพลังถึงขั้นเปลี่ยนแปลงเรื่องบางเรื่องได้ หากในอนาคตสามารถถึงภาคีเครือข่ายในระดับท้องถิ่นเข้ามาร่วมได้ น่าจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. โรงพยาบาลประจำอำเภอ สำนักงานสาธารณสุข สถานีตำรวจ เทศบาล/อบต. ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งมุ่งสู่การให้บริการด้านสุขภาพและทักษะชีวิตแก่นักเรียนและชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน




บทส่งท้าย : เสียงจากนิสิต

... เป็นชุมชนที่มีจุดแข็งทางวัฒนธรรม ชาวบ้านจะแต่งกายไปวัดในลักษณะเดียวกัน ออกโทนนุ่งขาวห่มขาว หรือนุ่งผ้าซิ่น และที่สำคัญคือช่วงการตักบาตร ชาวบ้านจะให้ผู้หลักผู้ใหญ่เป็นคนตักบาตร หรือใส่บาตรก่อน เหมือนเรียงลำดับจากความอาวุโส ให้ความเคารพต่อผู้อาวุโส

... ปัญหาเดิมๆ ที่พบก็หนีไม่พ้นเรื่องนิสิตไปค่ายไม่ค่อยเยอะ ทำให้ต้องแก้ปัญหาหน้างานด้วยการประสานชุมชนเข้ามาช่วยให้ได้มากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าถึงแม้นิสิตจะไปค่ายไม่มากนัก แต่ทุกคนก็ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ชุมชนก็ใส่ใจช่วยเหลืออย่างจริงจัง (นางสาวเบญจวรรณ จันทึก : ชมรมพรางเขียว)



...ผมชอบโครงการนี้ตรงที่เป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ องค์กร เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมขององค์กรแต่ละองค์กรไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ชุมชน มันช่วยให้เราสนิทสนมกันมากขึ้น เข้าใจแนวคิดการทำงานของแต่ละองค์กร จนนำไปสู่การเปิดใจที่จะปรับฐานความคิดเพื่อทำงานร่วมกันแบบไม่แยกองค์กร พอทำค่ายนี้โดยส่วนตัวผมก็เข้าใจชุมชนตัวเองมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา (นายนพพล แก่นภักดี : พรรคมอน้ำชี)



หมายเหตุ : ภาพโดย ชมรมพรางเขียว และ กลุ่มนิสิต (พรรค) มอน้ำชี



หมายเลขบันทึก: 589005เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2015 06:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2015 00:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"น้ำตา" นำพาเข้าไปสู่ "หัวใจ" ;)...

ชอบใจการทำงานในชุมชนของนิสิต

ชุมชนน่ารักมากเคารพผู้อาวุโส

ปกติไม่ค่อยพบที่ใด

ถ้านิสิตไม่ลงชุมชนคงไม่รู้เป็นการเรียนรู้ที่เป้นธรรมชาติมาก

ดีกว่าการเรียนแบบบรรยายมากเลย

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับ อ.วัส...Wasawat Deemarn


พูดซะบาดใจเลยครับ (น้ำตา" นำพาเข้าไปสู่ "หัวใจ)

ม่วนซื่นเฮาแซว...คร๊าฟฟฟฟ


ใช่ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ไม่ลงชุมชน จะไม่รู้วิถี/กระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ....
เห็นด้วยกับประโยคนี้มากๆ เลยทีเดียวครับ


การสรุปงานประจำวันร่วมกับชุมชน


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท