สศพ. _ ๐๑ : รูปแบบการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม (๑)


โรงเรียนใดมีบริบทดังต่อไปนี้ วิธีขับเคลื่อนของโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม น่าจะเหมาะสมก็ได้นะครับ เชิญพิจารณา

โรงเรียนเชียงขวัญมีครูประมาณ ๓๐ มีนักเรียนประมาณ ๕๐๐ คน เป็นไปตามกรอบเกณฑ์ (๑:๒๐) ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตำบล "ในเมือง" มีปัญหาเรื่องนักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์ และจำเป็นต้องรับนักเรียน "เหลือเลือก" หรือ "เหลือไล่" จากโรงเรียนชื่อใหญ่ๆ ในเมือง (เคย)มีปัญหาเรื่องบุหรี่ สุรา ยาเสพติด ขาดทักษะการคิด ทักษะชีวิตด้านสังคม และการทะเลาะวิวาท หลังการน้อมนำหลักปรัชญาฯ มาใช้อย่างต่อเนื่อง ๓ ปี โดยใช้วิธีการ “ถอดบทเรียน" เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการคิดเพื่อสร้างความเข้าใจในหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ ทั้งก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำกิจกรรมทุกอย่างในโรงเรียน เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ทั้งด้านพฤติกรรมนักเรียน ปัญหาข้างต้นค่อยๆ หมดไป ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู และผู้บริหารที่ใช้การตั้งคำถามและอำนวยการให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้นๆ จนกลายเป็น "โรงเรียนสอนคิด" มุ่งปลูกฝังทักษะชีวิตและอุปนิสัย "พอเพียง" (เป็น ๑ ใน ๑๓ โรงเรียนแรกที่ได้รับการยืนยันให้เป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) สรุปคือ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นทั้ง "หลักปฏิบัติในการคิด" และเป็น"หลักคิดของการปฏิบัติ"

จุดเริ่มต้น

การขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนเชียงขวัญฯ เป็นแบบ "ระเบิดจากภายในคน" จุดเริ่มต้นอยู่ที่ผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.ระวี ขุณิกากรณ์) ที่มีศรัทธาในหลักปรัชญาฯ จากการน้อมนำมาใช้จนเห็นผลกับตนเอง ท่านค่อยๆ สร้างการเรียนรู้หลักปรัชญาฯ บน "ฐานการปฏิบัติ" ปล่อยให้ครูและนักเรียนผ่านการลองผิดลองถูก อย่างเป็นธรรม ค่อยๆปลูกฝังโดยใช้การตั้งคำถาม-พูดคุยสนทนา หรือท่านเรียกกระบวนการทั้งหมดนั้นว่า "การถอดบทเรียน" แล้วค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจ "หลักทฤษฎี"

ช่วงแรกๆ ของการพัฒนามุ่งไปที่ครู ท่านเปิดให้ทุกคนได้เรียนรู้ตามความสมัครใจส่งไปฝึกอบรมตามโครงการที่มูลนิสยามกัมมาจลจัดขึ้น แล้วตรวจสอบความสนใจจากความต่อเนื่องและใส่ใจในการนำมาใช้ เบื้องต้นนี้ท่านได้คนที่จะเป็นครูแกนนำขับเคลื่อนฯ ๑ คน คือ ครูฉลาด ปาโส ศิษย์เก่าที่เคยอยู่ในร่วมเงาของท่านนั่นเอง และทั้งสองท่านก็ใช้วิธี "เป็นเงา" หรือ "เป็นคู่" ในการสร้างการเรียนรู้ในโรงเรียน และขยายขับเคลื่อนฯ สู่โรงเรียนอื่นๆ ในเวลาต่อมา

หากจะขับเคลื่อนฯ แบบโรงเรียนเชียงขวัญฯ ที่เน้นการ "ถอดบทเรียน" จะต้องมี "นักตั้งคำถาม-อำนวยการเรียนรู้" แบบครูฉลาด มีผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ที่ใช้วิธีสนทนาแลกเปลี่ยน และบริหารจัดการการศึกษาด้วยกระบวนการเชิงราบแบบ ผอ.ระวี

ผอ. ระวี กับวิธีสร้างความเข้าใจให้นักเรียน

ในการประชุมครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ผอ.ระวี เปิดโอกาสให้ครูระดมสมองหาวิธีที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อน ปศพพ. ครูพิจารณาว่า โรงเรียนมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของผู้ปกครองและทักษะของนักเรียนในพื้นที่ กอปรกับ ผอ.ระวี ก็มีฐานการปฏิบัติตนด้านเกษตรจนครูทุกคนให้ความศรัทธา จึงมีมติว่า จะเริ่มกระบวนการขับเคลื่อนด้วยโครงการ "๑ ห้อง ๑ สวน" ไม่จำกัดว่าจะปลูกพืชผักอะไร

แล้วแต่ความเห็นชอบของนักเรียนและครูที่ปรึกษาแต่ละห้อง โดยโรงเรียนสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในเรื่องน้ำ มีการวางระบบเดินท่อน้ำและนำถังขนาด ๒๐๐ ลิตรวางไว้เป็นจุดๆ ล้อมรั้วโดยใช้ไม้ไผ่ตีกรอบเป็นแผงยาว จัดแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเรียงตามลำดับชั้นเรียนและตกลงร่วมกันว่าจะจัดให้มีชั่วโมงของกิจกรรมนี้ (ชั่วโมง ปศพพ.) ในบ่ายวันพุธ ๒ ชั่วโมงต่อกัน ให้ชั่วโมงแรกปฏิบัติกิจกรรมการเกษตร ชั่วโมงที่สองให้สรุปผลและ “ถอดบทเรียน" กิจกรรมของแต่ละห้อง



ในช่วงแรกๆ การถอดบทเรียนทำให้นักเรียนทุกคนจดจำ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติได้ขึ้นใจ แต่ยังเข้าใจว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของการเกษตร มีทั้งนักเรียนที่ชอบและไม่ชอบ ดังที่ ผอ.ระวี เล่าไว้ในตอนหนึ่งว่า

"มีนักเรียนชั้น ม.ปลาย ขอเข้าพบ ผอ.ช่วงพักกลางวัน แล้วถามว่าคาบเศรษฐกิจพอเพียงมีเพื่ออะไร แม้แต่ครูเขาก็ไม่อยากลงไป ผอ.ถามกลับว่าแล้วนักเรียนทำแปลงผักอะไร แล้วคิดเห็นอย่างไร นักเรียนตอบว่าปลูกมะนาว เพราะคิดว่ามะนาวเป็นพืชเศรษฐกิจ ลูกหนึ่งขายได้หลายบาท ผอ.ถามต่อว่าแปลงปลูกเป็นลักษณะแบบไหน และได้วิธีการปลูกมาจากวิชาไหน นักเรียนก็ช่วยกันตอบว่า ปลูกระหว่างต้น ระหว่างแถว นำวิธีมาจากวิชาเกษตร แล้ว ผอ. ก็ยังถามอีกว่าแล้วการปลูกมะนาวเกี่ยวข้องกับวิชาอื่นอีกหรือไม่ นักเรียนช่วยกันคิดก่อนตอบ วิชาวิทยาศาสตร์เคยสอนว่ามะนาวมีรากแก้วรากฝอย คณิตศาสตร์ การคำนวณหาพื้นที่ระหว่างต้น ผอ.ตอบกลับไปว่านั่นแหละคือการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องของการปลูกพืช แต่มีผลในการเอาหลักวิชาอื่นๆ มาใช้ได้ตั้งหลายวิชา สิ่งที่พวกเธอทำในตอนนี้ ทั้งเรียนรู้เรื่องการปลูก การดูแลรักษา การแบ่งเวรกันทำงาน ต้องมีคุณธรรม มีวินัยในตนเอง และหากนักเรียนมีต้นมะนาวที่บ้านจะได้นำวิชาความรู้ในชั่วโมงแปลงผักกลับไปใช้ที่บ้าน ซึ่งเป็นการนำความรู้จากโรงเรียนไปสู่บ้านนั่นเอง"

วิธีการตั้งคำถามและสนทนาแบบนี้ ผอ.ระวี เรียกว่า “การถอดบทเรียน" เมื่อนำมาใช้ทั้งก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ทั้งครูและนักเรียนเข้าใจมากขึ้นๆ

อ. ฉลาด ปาโส กับโมเดล "เคลียร์คอนเซ็ป"


อ.ฉลาด ปาโส ย้ำเสนอเสมอๆ ในเวทีการขับเคลื่อนฯ ว่า ก่อนเริ่มต้นนำไปใช้ ต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า มักมีครูคณิตศาสตร์หรือครูฟิสิกส์ มาถามถึงการน้อมนำหลักปรัชญาฯ มาบูรณาการใช้กับการสอนของตนได้อย่างไร แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักการน้อมนำหลักปรัชญาฯ มาใช้เป็นหลักคิดในการจัดการเรียนการสอน เมื่อเจอกรณีแบบนี้ท่านจะใช้วิธี "เคลียร์คอนเซ็ป" (Clear Concept) ดังนี้

ขั้นตอนการ "เคลียร์คอนเซ็ป" แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน คืด พาคิด ->ชวนคิด -> ฝึกคิด -> เชื่อมโยงการนำไปใช้

ช่วงพาคิด

แจกเอกสารดังรูปด้านล่าง หรือให้เขียนรูปลงในกระดาษ A4 แล้วพาครู/นักเรียนคิดและเขียนเติมลงไปเป็นขั้นตอน ดังนี้


  • เขียนเติมกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ตนเองทำเพราะชอบ ทำแล้วสำเร็จ ทำแล้วมีความสุข ทำแล้วภูมิใจ ทำแล้วอยากบอกต่อ ลงในรูปหัวใจตรงกลาง
  • เขียนขัั้นตอนและวิธีการทำสิ่งนั้น ทำอย่างไร ไว้ในวงกลมด้านบน
  • เขียนความรู้ที่จำเป็นต้องมี ต้องมีความรู้และทักษะอะไรบ้างถึงจะทำสิ่งนั้นได้ดีและสำเร็จ ลงในวงกลมด้านซ้ายของรูปหัวใจ
  • เขียนคุณธรรม หรือคุณสมบัติใด ที่จะทำให้การทำกิจกรรมนั้นสำเร็จได้


ช่วงชวนคิด

หลังจากที่ทุกคนเขียนเสร็จแล้ว ขั้นตอนไปคือ ชวนคิดเชื่อมโยงกับ ปศพพ. คำถามคือ "ท่านคิดว่ากิจกรรมที่เราเพิ่งทำร่วมกันนี้

เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่อย่างไร" โดยสรุปตอนท้ายการอภิปราย ดังนี้

  • สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ทำแล้วอยากบอกต่อ สิ่งที่ทำแล้วภูมิใจ ทำแล้วไม่เกิดผลเสียต่อตัวเอง นั่นคือ สิ่งที่เรา "พอใจ" ซึ่งย่อมต้องเกิดมาจาก "ความพอเพียง" พอดี พอมี พอได้ อยู่ในกิจกรรมนั้นๆ แล้ว.....และถ้าถามว่า ทำไมถึงทำกิจกรรมนั้น ทุกคนย่อมมี "เหตุผล" ในการทำสิ่งนั้นเสมอ นี่คือ ห่วงเหตุผลใน ๓ห่วง๒เงื่อนไข
  • สิ่งที่เขียนในวงกลมด้านบนของรูปหัวใจ ที่บอกวิธีและขั้นตอนในการทำกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งทำได้สำเร็จก็เพราะมีความ "พอประมาณ" กับตนเองนั่นเอง วิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมนี่เองที่หมายถึงความพอประมาณในการทำสิ่งใดๆ นี่คือห่วงพอประมาณ
  • วงกลมด้านล่างซ้ายที่เขียนเกี่ยวกับความรู้ ก็คือ เงื่อนไขความรู้
  • วงกลมด้านขวา ที่เขียนเกี่ยวกับคุณธรรมและปัจจัยที่ทำให้สำเร็จ ซึ่งต้องมีการวางแผนและตรวจสอบประเมินพัฒนา และป้องกันความผิดพลาดไว้ ก็คือ เงื่อนไขคุณธรรม และห่วงภูมิคุ้มกัน นั่นเอง

หากครูทุกคนนำกิจกรรมนี้ไปใช้กับนักเรียนติดต่อกันอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง ทุกอาทิตย์ ติดต่อกัน ๓ เดือน นักเรียนจะเข้าใจ การนำ ปศพพ. ไปใช้ในชีวิตประจำวันแน่นอน

ช่วงฝึกคิด

เมื่อจำกรอบคิดของหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้แล้ว อาจารย์ฉลาดจะให้ครู/นักเรียนหยิบเอาขั้นตอนหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เขียนไว้ในวงกลมเหนือรูปหัวใจ มาวิเคราะห์ตีความลงในตาราง ๖ ช่อง (ด้านล่าง) วิธีนี้จะทำให้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างกิจกรรมนำให้ได้ "ฝึกคิด"

กิจกรรม

เงื่อนไขความรู้

ความพอประมาณ

มีเหตุผล

มีภูมิคุ้มกัน

เงื่อนไขคุณธรรม


















ช่วงคิดเชื่อมโยงการนำไปใช้

ขั้นสุดท้ายของการ "เคลียร์คอนเซ็ป" คือการพิจารณาถึงผลกระทบจากการกระทำนั้นๆ ทั้งในทางดีที่เป็นประโยชน์และในทางที่เป็นโทษหรือไม่ดี โดยคำนึงถึงใน ๒ ระดับ คือ ตนเองและสังคม และมองใน ๔ มิติเป็นกรอบคิด ได้แก่ สังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ดังตาราง

ประโยชน์/

ผลกระทบ

ต่อตนเอง

สังคม

เศรษฐกิจ

วัฒนธรรม

สิ่งแวดล้อม



















กระบวนการทั้ง ๔ ขั้นตอนนี้ อาจารย์ฉลาด เรียกว่า “ถอดบทเรียน" ท่านจะใช้วิธีการนี้เป็นเครื่องมือสำคัญอันดับแรกในการขับเคลื่อนฯ ทั้งสู่เพื่อนครูให้ไปทำกับนักเรียน

วิธีนี้มีประสิทธิภาพมากในการทำให้จำ “๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ" ได้ เข้าใจ และสามารถตีความ กิจกรรมหรือการกระทำต่างๆ ว่า สอดคล้องกับหลักปรัชญาฯ อย่างไร ถือเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการ น้อมนำไปใช้กับตนเองในการดำเนินชีวิตจริง

ผู้อ่านสามารถดูคลิปวิดีโอของ อ.ฉลาด ปาโส ที่บรรยายเรื่องนี้เมื่อครั้งไปขับเคลื่อน โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ดได้ที่นี่

วันนี้ขอกล่าวไว้ในมุมมอง “ปัจจัย" “เงื่อนไข" และ “เครื่องมือ" แบบที่กล่าวมานี้ครับ พรุ่งนี้จะมาว่าเรื่อง รูปแบบการขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนเชียงขวัญในภาพรวมทั้งหมดครับ

หมายเลขบันทึก: 588026เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2015 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2015 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท