หาเงินสร้างเจดีย์<<ปรากฏการณ์อิ่มบุญ>>ทั้งผู้ให้และผู้รับ


หลังจากได้วางศิลาฤกษ์ ลงหลักปักฐานสร้างมหาวิทยะเจดีย์ ณ วัดโมกขธรรมารามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วง 10 เดือนแรก(ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 - เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557) เป็นช่วงของการเร่งหาปัจจัยเพื่อสร้างเจดีย์ เนื่องจากทุนทรัพย์ที่มีอยู่เดิมนั้นไม่มากพอ และจากการพูดคุยกันในกลุ่มกรรมการหลัก ๆ ที่มีเพียงไม่กี่คน ได้ข้อสรุปจากการทำงานบุญในครั้งนี้ว่า มีการรวบเงินทำบุญสร้างเจดีย์จาก 4 ช่องทางสำคัญ ที่คณะกรรมการได้คิดและร่วมมือกันดำเนินงาน

..

ภาพถ่าย : ใบอนุโมทนาบุญ ที่จัดทำขึ้น เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานตรวจสอบวงเงินที่ได้รับจากการเรี่ยไรบุญ เพื่อสร้างเจดีย์

..

ช่องทางที่ 1. การเก็บรวบรวมเงินจากคณะกรรมการหลัก เป็นรายเดือน (คณะกรรมการหลักที่ร่วมกันสร้างเจดีย์ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีรายได้จากการรับจ้างกรีดยาง ในสวนยางพารา และทุกเดือนที่พวกเขาได้รับเงินค่าจ้างจากการกรีดยาง พวกเขาจะลงขันร่วมกัน) การแบ่งเงินมาทำบุญนี้ผู้เขียนรู้สึกได้ว่า เป็นความเต็มใจอย่างยิ่งของพวกเขาเหล่านั้น และถึงแม้ตัวผู้เขียนเอง จะมิได้แบ่งเงินทำบุญเป็นรายเดือนเหมือนกับพวกเขาเหล่านั้น แต่ก็รู้สึกอิ่มเอิบใจกับเงินก้อนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในทุนทรัพย์สำหรับสร้างเจดีย์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

..

ช่องทางที่ 2 การออกรับเงินบริจาคตามแหล่งชุมชนของคนพม่าและคนมอญที่เข้ามาทำกิน ตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตามโรงงานใหญ่ ๆ อย่างเช่น โรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพารา โรงงานแปรรูปไม้ ชุมชนประมงริมฝั่งทะเล แหล่งที่พักอาศัยของชุมชนคนพม่าและคนมอญที่อาศัยอยู่ตามสวนยางพาราในแต่ละพิ้นที่ แหล่งก่อสร้างอาคารพานิชย์และตึกรามบ้านช่อง หรือแม้กระทั่งตามแหล่งชุมชนของจังหวัดในพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดชุมพร จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร เป็นต้น

การออกรับเงินบริจาคตามแหล่งชุมชนของคนพม่าและคนมอญนั้น จะประสานงานกันระหว่างเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องที่เข้ามาอาศัยทำกินกันตามอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัด จากการได้พูดคุยกันระหว่างผู้เขียนกับกรรมการกลุ่มนี้ พบว่า พวกเขาจะใช้วิธีการโทรศัพท์พูดคุยให้เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องและคนรู้จักของตนเอง ประสานงานบอกบุญระหว่างกัน เมื่อรับรู้เรื่องราวงานบุญงานกุศลที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ ต่างคนก็ต่างบอกสืบต่อกันไปเป็นทอด ๆ

จากการที่ได้พูดคุยกันกับกรรมการสร้างเจดีย์คนหนึ่ง เขาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในประเทศพม่านั้นการสร้างเจดีย์สักองค์หนึ่งขึ้นมาที่ประเทศของพวกเขานั้น คนอย่างพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักหรือประสานงานใดๆ ได้เลย เหตุเพราะพวกเขา มิใช่คนไม่มีฐานะทางสังคม พวกเขาไม่มีฐานะที่ร่ำรวย และการสร้างเจดีย์ในประเทศพม่านั้นส่วนใหญ่ คนที่จะคิดการใหญ่สร้างเจดีย์ได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีฐานะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมเท่านั้นที่จะทำได้ พวกเขาเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง จะทำได้แค่เพียงการร่วมบริจาคเงิน หรือทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ไม่มีโอกาส ที่จะไปยืนเสนอหน้าหรือแม้แต่ที่จะเดินเฉียดเข้าไปในงานพิธีเหล่านั้นได้เลย และการได้ยืนมองอยู่ห่าง ๆ ก็ถือเป็นบุญกุศลแล้วสำหรับพวกเขาในประเทศของเขาเอง

ซึ่งผิดกับในประเทศไทยที่พวกเขามาอาศัยทำกินนี้ พวกเขามองตัวเองเป็นคนมีค่า การได้เห็นและสัมผัสวัตถุสิ่งของที่เป็นสิ่งมงคลต่าง ๆ สำหรับใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ ถือเป็นบุญเป็นกุศลและเป็นวาสนาของพวกเขายิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็น พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ได้อันเชิญมาจากวัดพม่าในประเทศ อินเดีย ใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย ยอดฉัตรเจดีย์หรือพระพุทธรูปที่จะใช้ประดิษฐานบริเวณรอบองค์เจดีย์ รวมทั้งสิ่งของเป็นมงคลต่าง ๆ ที่ใช้ประดับบนยอดเจดีย์และโดยรอบเจดีย์ที่จะสร้างขึ้นมาเหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนรับรู้สิ่งเหล่านี้ ได้จากการได้พูดพูด การเฝ้าสังเกตุและติดตามเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอนั่นเอง

..


ภาพถ่าย : ยอดฉัตร สำหรับประดิษฐานบนมหาวิทยะเจดีย์ สิ่งมงคลที่มีค่าทางจิตใจที่สูงยิ่งของพุทธศาสนิกชนชาวพม่า ที่พวกเขามีโอกาสได้สัมผัส ก่อนที่จะนำไปประดิษฐานจริง

..

ภาพถ่าย : การบริจาคเงินสร้างกระดิ่ง และการรับมอบกระดิ่งเพื่อให้ผู้บริจาคได้ตั้งจิตอธิษฐาน ก่อนที่จะนำกระดิ่งดังกล่าวไปแขวนไว้บริเวณยอดฉัตรมหาวิทยะเจดีย์

..

ภาพที่นำเสนอข้างต้น คือภาพบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าการได้เห็นและได้สัมผัสวัตถุสิ่งของที่เป็นมงคลต่าง ๆสำหรับใช้ในการสร้างเจดีย์ ถือเป็นบุญเป็นกุศล เป็นบุญวาสนาของคนพม่า ตามความเชื่อของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง

การเดินทางออกไปรับเงินบริจาคที่ได้จากการบอกบุญระหว่างคนในชุมชนที่อยู่อาศัยร่วมกัน ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนพม่าคนมอญ พวกเขาได้รวบรวมเงินบริจาคร่วมกันไว้ เมื่่อรวมเงินบริจาคได้ก้อนหนึ่ง เหล่ากรรมการหลัก ๆ จะเป็นผู้เข้าไปรับเงินบริจาคเหล่านั้นด้วยตนเองในช่วงเวลาที่พวกเขาว่างเว้นจากภาระกิจงานประจำที่ทำอยู่ โดยวิธีการขับขี่มอเตอร์ไซด์ไปรับเงินถึงที่ และนำยอดเงินบริจาคที่รวบรวมได้ เก็บไว้กับกรรมการผู้ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเงินเพื่อสร้างเจดีย์ในครั้งนี้ต่อไป

..

ช่องทางที่ 3 การนำยอดฉัตรเจดีย์ ออกให้พุทธศาสนิกชน ชาวไทยและชาวพม่า ได้กราบไหว้ สักการะบูชา วิธีการนี้จะต้องมีการวางแผนและประสานงานร่วมกับเครือข่ายในชุมชน มากกว่าช่องทางที่ 2 เนื่องจากการนำสิ่งมีค่าทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจออกให้พุทธศาสนิกชนชาวพม่าและชาวไทยกราบไหว้สักการะนั้นนั้น ซึ่งบางทีอาจมีสิ่งไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการวางแผนประสานงานกับชุมชนที่ต้องการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆนั้น จะต้องมีทีมงานคอยเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านของอาคารสถานที่ที่จะนำยอดฉัตรเจดีย์ไปตั้งประดิษฐานเป็นการชั่วคราว รวมไปถึงการประสานงานกับผู้นำชุมชนหรือผู้นำท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ทั้งในด้านของความปลอดภัย แม้กระทั่งการขออนุญาตใช้เสียงประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ งานบุญงานกุศลในครั้งนี้ รวมถึงการประสานงานในเรื่องปลีกย่อยอื่น ๆ ที่ทีมงานหลงลืมไป

..

ภาพถ่าย : ขณะนำยอดฉัตรเจดีย์ เดินทางออกไปให้พุทธศาสนิกชน ชาวไทยและชาวพม่า ได้กราบไหว้ สักการะบูชา เพื่อหารวบเงินทำบุญสร้างมหาวิทยะเจดีย์ วันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2557

..

ผู้เขียนในฐานะกรรมการคนหนึ่ง ต้องรับบทบาทสำคัญในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือขออนุญาตจากพระคุณเจ้า พระราชไพศาลมุนี ซึ่งท่านอยู่ในฐานะประธานฝ่ายสงฆ์ผู้สร้างเจดีย์ เหตุที่ทำเช่นนี้ เพื่อให้ท่านได้รับทราบภาพรวมและกระบวนการต่างๆ ในการทำงานของคณะกรรมการ ซึ่งผู้เขียนถือว่าได้เป็นการเข้าไปกราบนมัสการเรียนชี้แจง ความคืบหน้าในการสร้างเจดีย์ให้ท่านทราบด้วยประการหนึ่ง

การนำยอดฉัตรเจดีย์ออกยังสถานที่ที่ได้ดำเนินการวางแผนและประสานงานระหว่างชุมชนเอาไว้นั้น ความพร้อมถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งและที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนได้มองเห็นศักยภาพในตัวคณะกรรมการสร้างเจดีย์ชุดนี้ว่า พวกเขามีความทุ่มเทและตั้งใจเพียงใด จากผลงานและความตั้งใจของพวกเขาเหล่านั้น

..


ภาพถ่าย : ส่วนหนึ่งของทีมงานที่เป็นกำลังสำคัญ ถ่ายรูปร่วมกันกับผู้เขียน ก่อนนำยอดฉัตรเจดีย์ เดินทางไปยังอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช จากซ้ายไปขวา คือ นายจอ ลุย , นายทุน ทุน นาย , ตัวผู้เขียน และนายวิ้น ทุ้น อู้

..

หลาย ๆ ที่ที่ได้นำยอดฉัตรเจดีย์เดินทางไปรับเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนสร้างเจดีย์นั้น มีหลายสถานที่ที่ผู้เขียนประทับใจ แต่ขอนำเหตุการณ์จากสถานที่หนึ่งที่ที่ทีมงานได้เดินทางออกไปรับเงินบริจาคมาเขียนบรรยายไว้ เพื่อให้เห็นภาพของเหตุการณ์จริงบางส่วนหเก็บไว้ในครั้งนี้ด้วย


อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่มีชุมชนคนพม่าอาศัยอยู่อย่างค่อนข้างหนาแน่น เนื่องจากเป็นอำเภอที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออก ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีประมงเสียเป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจประมงเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ขาดแคลนกำลังคนทำงาน นี่อาจคือหนึ่งเหตุผลที่มีแรงงานชาวพม่าเข้ามาทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก


ผู้เขียนและคณะกรรมการสร้างเจดีย์ เดินทางมาถึงยังบ้านพักของคนงานพม่าครอบครัวหนึ่งที่ขอร่วมอนุโมทนาบุญเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะกรรมการและใช้เป็นสถานที่ตั้งยอดฉัตรเจดีย์เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมในการเดินทางมาร่วมทำบุญของคนพม่าที่อาศัยอยู่ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

..

ภาพถ่าย : สามี-ภรรยาชาวพม่า ที่อาศัยอยู่ ณ อำเภอ ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมอนุโมทนาบุญมอบบ้านพักอาศัยให้เป็นที่ประดิษฐานยอดฉัตรเจดีย์ เพื่อใช้เป็นจุดศูนย์กลางการรับเงินบริจาค


ภาพถ่าย : ภาพส่วนหนึ่งของพุทธศาสนิกชนชาวพม่า ที่ขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกในการหาเงินสร้างเจดีย์ในครั้งนี้

..

ระหว่างทางที่เข้าสู่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เขียนต้องขอชื่นชมคนพม่าและคนไทยบางส่วนที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อเดินทางมาถึงได้มีการจัดเตรียมเต้นท์ผ้าใบ โต๊ะ-เก้าอี้ และอาหารสำหรับร่วมพิธีในงานบุญครั้งนี้ไว้ต้อนรับ หลังจากการพักผ่อนจากการเดินทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พิธีสงฆ์ของคนพม่าก็เริ่มขึ้น พุทธศาสนิกชนชาวพม่าได้เดินทางมาร่วมงานในที่นี้มากพอสมควร และเงินที่ได้รับจากการร่วมบริจาคทำบุญในครั้งนี้ มีการมอบถวายแด่พระสงฆ์ชาวพม่าที่คณะกรรมการนิมนต์ร่วมเดินทางมาในครั้งนี้

..

ภาพถ่าย : เหตุการณ์งานบุญบางส่วนหลังจากคณะกรรมการสร้างเจดีย์พร้อมด้วยยอดฉัตรเจดีย์เดินทางมาถึง ณ บ้านพักคนพม่าที่จัดเตรียมไว้ต้อนรับและร่วมทำบุญพร้อมกัน ในครั้งนี้

..


การเดินทางออกรับเงินบริจาคภายในตัวอำเภอขนอมเริ่มขึ้นประมาณช่่วงบ่าย โดยมีคนไทยผู้ทำงานเครือข่ายของชุมชนแห่งนี้ คอยประสานงานให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเป็นอย่างดี

..

ภาพถ่าย : คุณวันดี สุธทิช่วย (คนยืนตรงกลาง)ผู้ทำงานเครือข่ายในชุมชนแห่งหนึ่ง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือประสานงาน ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับทีมงานบางส่วนขณะที่กำลังออกรับเงินบริจาคเพื่อสร้างมหาวิทยะเจดีย์

..

จนเวลาล่วงเลยไปจนกระทั่งพลบค่ำ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นปรากฎการณ์งานบุญแบบหนึ่งที่ผู้เขียนเพิ่งได้เคยสัมผัส การรับเงินบริจาคในช่วงพลบคล่ำจนเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงประมาณ 21.00 น.ของวัน ผู้เขียนได้ความศรัทธาของคนพม่าที่ไม่เลือกเวลาและสถานที่

..

ภาพถ่าย : ท่าเรือแพปลา แห่งหนึ่งของอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงพลบค่ำที่ผู้เขียนและทีมงานเดินทางพร้อมด้วยยอดฉัตร มารับเงินบริจาค ณ ท่าเรือแห่งนี้

..

คนพม่าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้เขียนสังเกตุเห็นจากปฏิกิริยาการทำบุญ บางช่วงตอน เหตุที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนั้น เพราะ มีอยู่ภาพหนึ่งที่ผู้เขียนได้เห็นนั้นคือ ผู้ชายพม่าวัยกลางคน คนหนึ่งเขาได้หยิบกระเป๋าสตางค์ของเขาขึ้นมา เพื่อทำบุญ และสิ่งที่เขาได้ทำ นั้นคือ.. การเทเงินจากกระเป๋าสตางค์ที่เขามีอยู่ทั้งหมด ลงไปในขันรับเงินบริจาค ผู้เขียนไม่อาจตอบได้ว่า จำนวนเงินที่ทำบุญลงไปนั้นมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นนั้นคือ...ความทุ่มเทที่ชายพม่าคนนั้นมีต่อศาสนา และทำตามความเชื่อความศรัทธาของเขานั้นเอง

มีคนพม่าหลายสิบคนที่ร่วมอนุโมทนาบุญด้วยการขับรถติดตามขบวนและคอยร่วมรับเงินบริจาคจากประชาชนชาวพม่า และชาวไทยพุทธบางส่วนทั้งสองฝั่งถนนที่รถขับผ่าน

..

ภาพถ่าย : เหตุการณ์ช่วงค่ำ ณ ชุมชนพื้นที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่คณะกรรมการสร้างเจดีย์ออกรับเงินบริจาค

..

การเดินทางออกรับเงินบริจาค ในครั้งนี้ชาวไทยพุทธ และชาวพม่าที่เข้ามาทำกินอยู่นั้น ต่างก็ร่วมกันบริจาคเพื่องานบุญงานกุศลในครั้งนี้ ชาวไทยพุทธที่เข้ามาร่วมทำบุญ บางคนนั้นเข้ามาสอบถามผู้เขียน เนื่องจากว่า มีการใช้เสียงจากเครื่องขยายเสียง และเสียงประกาศส่วนใหญ่จะเป็นเสียงพูดภาษาพม่า พูดประกาศเชิญชวนทำบุญ คนไทยที่นี้ส่วนใหญ่ผู้เขียนคิดว่า เค้าคงฟังภาษาพม่าที่พูดออกไปนั้นไม่เข้าใจ แต่ตัวผู้เขียนเองกลับเชื่อว่า.. แม้นภาษาพูดคืออุปสรรค์ขวางกั้นความเข้าใจระหว่างกัน แต่ว่า...การสื่อสารทางภาษากายนั้นต่างหากละที่เป็นเครื่องเชื่อมความเข้าใจระหว่างกัน สะพานบุญที่เกอดขึ้นนี้ จึงดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มองแล้วมีความสุขอย่างประหลาด

..

ภาพถ่าย : การร่วมทำบุญของคนพม่า ณ สถานประกอบการประมงแห่งหนึ่ง ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช จากภาพถ่ายที่วงกลมไว้ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของคนพม่า ที่ส่วนใหญ่จะก้มลงกราบสิ่งเคารพสักการะของพวกเขา แม้นว่าบริเวณนั้นจะเป็นเพียงผืนดินก็ตาม

..

หนึ่งวันกับอีกหนึ่งคืน ที่คณะกรรมการออกรับเงินบริจาคสร้างเจดีย์ที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เขียนได้เห็นประเพณี ความเชื่อ และความศรัทธาของคนพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนาที่พวกเขานับถือ ซึ่งจะว่าไปแล้วสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้เห็นนี้ มิต่างอะไรกับความเชื่อ ความศรัทธาของคนไทยที่มีต่อพุทธศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือกันแต่อย่างใดไม่ อาจมีบ้างที่ต่างกันก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อของคนพม่าที่พวกเขาเหล่านั้นปฏิบัติสืบต่อกันมานั่นเอง

..

ภาพถ่าย : พุทธศาสนิกชนชาวพม่า ร่วมกันฟังธรรมหลังจากร่วมอนุโมทนาบุญเพื่อสร้างมหาวิทยะเจดีย์ เจดีย์ไทย-พม่า

..

าพถ่าย : รอยยิ้มที่อิ่มด้วยความสุขทางใจของหญิงชาวพม่าที่ยืนยิ้มให้ผู้เขียนถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกหลังร่วมทำบุญ

..

แต่สิ่งสำคัญที่สำคัญที่สุด...ของพระพุทธศาสนาหาใช่ตรงรายละเอียดปลีกย่อยในความเชื่อ ความศรัทธาของทั้งคนไทยและคนพม่าแต่อย่างใดไม่

..สิ่งสำคัญของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้ ต่างหากละ!!ว่า...เราจะสืบทอดและดำรงไว้ซึ่งพุทธศาสนาของเรานั้น ให้ดำรงคงอยู่สืบต่อไปได้ตราบนานเท่านานนั้นได้อย่างไร? .... ซึ่งผู้เขียนรู้สึกเช่นนั้น




ความเห็น (4)

ผู้เขียนเขียนเสร็จไปอีกตอน...หลังจากที่เขียนทิ้งค้างไว้เกือบเดือน

เป็นความศรัทธาจริงๆด้วยครับ

ทึ่่งในความศรัทธาครับ

ขออนุโมทนาสาธุด้วยครับ

มีคำถามว่า ทำไมผู้หญิงบางท่านมีเหมือนสายสะพายด้วยครับ

ขอบคุณครับ


เป็นชุดทำบุญของสาวพม่าครับอาจารย์

ผู้ชายก็เช่นกันครับ

ถ้าใส่ก็เป็นเช่นคนทางซ้ายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท