ธนาคารกลางโลกกับแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกได้ประกาศดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินถึง 3 แห่ง ภายในวันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ รวมไปถึงธนาคารกลางจีน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ และเพิ่ม ความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อย่างไรก็ดี ผลที่ออกมา ดูจะไม่ได้รับการตอบสนองจากนักลงทุนในทางบวกเท่าใดนัก เนื่องจากการที่ธนาคารกลางต่างๆได้พร้อมใจกันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงนี้ ในแง่มุมหนึ่ง สามารถมองในด้านดีได้ว่า ธนาคารกลางต่างๆได้พยายามอย่างเต็มที่ ในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อช่วยพยุงและประคับประคองเศรษฐกิจให้ยังคงมีเสถียรภาพและขยายตัวได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ก็สามารถมองได้เช่นเดียวกันว่า เศรษฐกิจโลกคงกำลังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ ธนาคารกลางต่างๆจึงได้พร้อมใจกันดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ และก็เป็นมุมมองที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองเช่นเดียวกัน จึงส่งผลให้ตลาดการเงินยังคงไม่ตอบรับในด้านบวกต่อนโยบายของธนาคารกลางเหล่านี้เริ่มที่ธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งมีการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.50% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องมา ถึงปีที่ 3 แล้ว รวมถึงได้มีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3 (หรือเรียกว่า QE3) เพื่ออัดฉีดเงินปอนด์เข้าระบบอีกกว่า 5 หมื่นล้านภาวะไม่มีการขยายตัว (อัตราการเติบโตของ GDP = 0) เกือบตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ หลังการประกาศอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ตลาดหุ้นอังกฤษไม่ได้ตอบสนองในทางบวกแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษก็ได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วถึง 2 รอบ (QE 1 และ QE2) เป็นเม็ดเงินรวมกว่า 3.25 แสนล้านปอนด์ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ ดังนั้น เม็ดเงินรอบใหม่ซึ่งน้อยกว่าที่เคยอัดฉีดไปแล้วถึง 6 เท่า จึงไม่น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวได้มากนัก

ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป ก่อนหน้าการประชุม ตลาดต่างก็คาดการณ์กันว่าน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง พร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และแก้ไขปัญหาหนี้ในภูมิภาค แต่ผลการประชุมที่ออกมา ปรากฏว่า ธนาคารกลางยุโรปได้มีการปรับลดดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารลงมาจริง 0.25% อยู่ที่ระดับ 0.75% ตามที่ตลาดคาด พร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืนลงมาระดับ 0% โดยหวังว่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป นำเงินไปปล่อยกู้ระหว่างกันต่อ แทนที่จะมาฝากที่ธนาคารกลาง แต่ กลับไม่ได้มีการ ประกาศมาตรการเพิ่มเติมในการอัดฉีด หรือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้นักลงทุนยังคงไม่มีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ ทั้งๆที่ในสัปดาห์ก่อนหน้าจากการประชุม EU Summit ได้เริ่มมีแนวทางออกมาให้เห็นแล้วแต่ก็ยังขาดแผนปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งกลไกลการเงินเพื่อเสถียรภาพแห่งยุโรป (European StabilityMechanism- ESM) และองค์กรเพื่อกำกับดูแลสถาบันการเงินในยุโรป ที่ยังไม่สามารถจัดตั้งได้สำเร็จ ดังนั้น ผลจากการประชุมของธนาคารกลางยุโรปเอง จึงไม่ได้ส่งผลบวกต่อตลาดการเงินแต่อย่างใด

ในฝั่งเอเชีย ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือนอีก 0.31% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง อีก 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบที่ไม่ได้มีการคาดคิดมาก่อนแต่ ตลาดหุ้นจีนกลับไม่ตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ดัชนีตลาดหุ้นจีนกลับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปี ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ตลาดต่างก็คาดหวังกันว่า หากรัฐบาลจีนมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงมา (เช่น การปรับลดดอกเบี้ย) น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจจีนให้มีการขยายตัวได้ แต่เมื่อมีการปรับลดลงมาจริง และยังเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันในรอบ 1 เดือน ตลาดกลับไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องนี้แต่อย่างใด เนื่องจากปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีน้ำหนักมากกว่า อาทิ ตัวเลขดัชนีอัตราการขยายตัวภาคการผลิต (PMI Manufacturing) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน ในขณะที่ตัวเลขดุลการค้าของจีนในเดือนมิถุนายน แม้จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม จะเห็นว่า ตัวเลขการนำเข้า ทั้งการบริโภคในประเทศและการนำเข้าเพื่อผลิตและส่งออก ก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางในภาคอุปสงค์ของการบริโภค และการผลิตในประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงอย่างเดียว จึงไม่น่าจะเพียงพอต่อการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่า แม้ ธนาคารกลางที่สำคัญของโลกทั้ง 3 แห่งจะมีการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และตลาดการเงินให้กลับมามีเสถียรภาพได้ เพราะตลาดยังมองว่า มาตรการดังกล่าวที่ออกมา ยังไม่เพียงพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่ธนาคารกลางต่างๆจะต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถคงเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เชื่อว่าทุกสายตาของนักลงทุน ต่างก็จับจ้องไปยังธนาคารกลางอีกแห่งหนึ่ง ว่าจะมีมาตรการในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างไร เพราะน่าจะเป็นตัวจักรสำคัญ และเป็นมาตรการที่ทั่วโลกต่างก็รอคอย คือ มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลาง สหรัฐฯ (Fed) รอบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า QE3 ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เชื่อกันว่า "แรง" พอที่จะดึงเศรษฐกิจให้กลับฟื้นตัวได้

ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มาตรการในการซื้อพันธบัตรระยะยาว และขายพันธบัตรระยะสั้น เพื่อกดดันอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมให้ปรับตัวลดลง หรือที่เรียกกันว่า Operation Twist ของ Fed ได้ถูกต่ออายุออกไป หลังจากสิ้นสุดมาตรการ Operation Twist รอบแรกลงในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ หากจะเปรียบเทียบกับการรับประทานยา Operation Twist เปรียบเสมือนยาอ่อน ที่ให้ผลในทางอ้อม เพราะการทำ Operation Twist จะ ไม่ได้ทำให้เม็ดเงินในระบบเพิ่มขึ้น เพียงแต่จะเป็นการทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวลดลง เพื่อกระตุ้นให้คนนำเงินออกมาใช้จ่ายโดยเฉพาะในภาคอสังหาริม ทรัพย์ ซึ่งตลาดก็มองว่า นโยบายดังกล่าว ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่การว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง และการขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ตรงกันข้ามกับมาตรการ QE3 หรือหากจะเปรียบเทียบกับยา ก็เหมือนกับยาแรง หรือการฉีดยา เพื่อกระตุ้นอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่าย และส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่า ดังนั้น เมื่อ Fed ตัดสินใจต่ออายุ Operation Twist ออกไปแทนที่จะใช้ QE3 ก็ทำให้ตลาดผิดหวัง และทำให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวนในช่วงดังกล่าว

อย่างไรก็ดี จากผลการประชุม Fed ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีการประกาศมาตรการ QE3 ออกมา แต่เสียงจากสมาชิก ใน Fed ก็เริ่มมีเสียงแตกออกมา โดยเริ่มมีเสียงที่เห็นด้วยที่จะให้มี QE3 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเอง ยังไม่แสดงสัญญาณฟื้น ตัวอย่างชัดเจนออกมา ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องกระตุ้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงโมเมนตัมในการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางเลือกในการดำเนินมาตรการ QE3 ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ ขึ้นกับ Fed ว่าจะตัดสินใจดำเนินมาตรการดังกล่าวเมื่อไร ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกต่างก็จับตามองตลอดทุกครั้งที่มีการประชุม Fed เกิดขึ้น

นอกเหนือจากธนาคารกลางสหรัฐฯแล้ว เชื่อว่าธนาคารกลางอื่นๆ ก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางเช่นเดียวกัน และน่าจะเห็นธนาคารกลางต่างๆค่อยๆทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลง มากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารเกาหลีใต้ ที่เพิ่งจะประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% หรือธนาคารกลางบราซิล ที่เพิ่งจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% (12 ก.ค.55) เป็นต้น ซึ่งแม้จะยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาด แต่ก็เป็นการช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในระยะยาวได้ในระดับหนึ่ง

จากที่กล่าวข้างต้น จึงเชื่อว่า Fed น่าจะออกมาตรการ QE3 มาภายในปีนี้ เพื่อช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวม ถึงสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินโลก โดยหากมีมาตรการ QE3 ขึ้นมาจริง จะมีสินทรัพย์ 2 สินทรัพย์หลักๆที่น่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว คือหุ้น และทองคำ โดยในส่วนของหุ้น เมื่อมีการออกมาตรการ QE3 ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงสามารถขยาย ตัวได้ดีจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการการอัดฉีดเงินเข้าระบบ และจะส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นให้สามารถปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะยาว ในขณะที่ราคาทองคำระยะยาวก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นเพราะค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่จะอ่อนค่าลงจากปริมาณเงินที่มากขึ้นในระบบ
ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอความชัดเจนในมาตรการดังกล่าว นักลงทุนคงจะต้องระมัดระวังกับความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะหลายครั้งที่จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปรอรับข่าวดีจากการมีมาตรการ QE3 แต่เมื่อผลออกมาว่า Fed ยังไม่ประกาศ QE3 ออก มา ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลดลง และค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็แข็งค่าขึ้นซึ่งจะส่งผลลบต่อราคาทองคำด้วยเช่นกัน สำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถยอมรับความผันผวนได้ จึงควรจะรอดูสถานการณ์ความชัดเจนในการประกาศมาตรการดังกล่าว หรือเน้นลงทุนในระยะยาวน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

หมายเลขบันทึก: 587873เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2015 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2015 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท