การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในช่วงวิกฤติ


นโยบายการเงินเป็นพันธกิจหลักของธนาคารกลาง โดยเป้าหมายของนโยบายการเงิน ก็คือการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ ซึ่งธนาคารกลางส่วนใหญ่ทำหน้าที่นี้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือ แต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 ไปถึงวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ชัดเจนว่ากลไกสำคัญที่นำไปสู่วิกฤติ ก็คือ การสร้างหนี้ที่เกินพอดี กระตุ้นโดยการไหลเข้าของเงินทุนระหว่างประเทศ ส่งผ่านไปสู่หน่วยธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ โดยการปล่อยสินเชื่อ (ที่ไม่รัดกุม) ของธนาคารพาณิชย์ นำมาสู่การสร้างความเสี่ยง การเกิดขึ้นของภาวะฟองสบู่ จนเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

เครื่องชี้ความเสี่ยงเชิงระบบด้านการเงินที่เราต้องดูมี 3 เรื่อง

  • 1.อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในประเทศเทียบเป็นอัตราส่วนกับ GDP หรือรายได้ประชาชาติ ตัวเลขนี้สำคัญเพราะสิ่งที่เรากำลังดู ก็คือ การเติบโตของเงิน (สินเชื่อ) เทียบกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ การขยายตัวของ GDP ถ้าอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาก ก็แสดงว่า ภาคการเงินกำลังเติบโตเร็วกว่าภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งจะนำมาสู่แรงกดดันต่อระดับราคาในประเทศที่จะสูงขึ้น ทั้งราคาสินค้า (เงินเฟ้อ) และราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้น พันธบัตร และราคาที่ดิน ซึ่งเป็นที่มาของภาวะฟองสบู่ ในการใช้ดัชนีนี้นักวิเคราะห์มักเปรียบเทียบความแตกต่างในอัตราการเติบโตของสินเชื่อและ GDP ในรูปของ Credit GAP และใช้ GAP นี้วัดความเสี่ยงของระบบการเงิน นอกจากนี้ก็มีการเปรียบเทียบอัตราส่วนดังกล่าวกับตัวเลขเฉลี่ยระยะยาว (Long-term average) เพื่อประเมินว่า ความเสี่ยงเชิงระบบมีมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็เป็นประโยชน์
  • 2.ก็คือดัชนีที่ชี้ Leverage หรือการกู้เงินมาทำธุรกิจว่ามากเกินไปหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินในอเมริกาและยุโรปมีปัญหาเมื่อปี 2008 เพราะกู้เงิน (ระยะสั้น) มาทำธุรกิจมากกว่าที่จะระดมเงินฝาก จนเกิดปัญหาเมื่อเงินกู้เหล่านี้ถูกเรียกคืน ตัวชี้วัด Leverage ที่ดีของระบบสถาบันการเงินก็คือ สัดส่วนของหุ้นทุนต่อสินทรัพย์ (Equity/Asset) สำหรับบริษัทธุรกิจ ตัววัดที่ดีก็คือ อัตราส่วนระหว่าง Debt/EBITDA ที่ประเมินความสามารถในการหารายได้จากปริมาณหนี้ที่บริษัทมี และสำหรับภาคครัวเรือนตัวเลขหนี้ต่อรายได้ ก็เป็นเครื่องชี้ที่ดีในการประเมินความเสี่ยงการชำระคืนหนี้ของครัวเรือน ดัชนีเหล่านี้ควรมีการติดตามตลอดเวลา เพื่อประเมินว่า ความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศขณะนี้เปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อจะได้ปรับนโยบาย หรือออกมาตรการใหม่ได้ทัน
  • 3.ก็คือ เครื่องชี้ความรู้สึกของตลาดเกี่ยวกับความเสี่ยงในการชำระหนี้ประเภท Risk premia ต่างๆ ที่ใช้กันเป็นปรกติในตลาดการเงิน ทั้ง Risk premia ด้านสินเชื่อ พันธบัตร และหุ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อประเมินว่า การตีมูลค่าของทรัพย์สินต่างๆ ที่มีในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน สูงเกินไปหรือไม่เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ถ้าสูงเกินไปก็หมายความว่า เรากำลังตีราคาหรือประเมินความเสี่ยงต่างๆ ต่ำเกินไป ซึ่งมักจะนำมาสู่การขยายตัวของสินเชื่อและการก่อหนี้ที่เกินพอดี

ข้อมูลเหล่านี้ ปัจจุบันมีบทบาทมากในการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ธนาคารกลางใช้ติดตามภาวะความเสี่ยงเชิงระบบในภาคการเงินควบคู่ไปกับการติดตามภาวะเศรษฐกิจ และถ้าจำเป็น ธนาคารกลางก็สามารถใช้เครื่องมือประเภท Macro Prudential เพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบ เช่น กำหนดอัตราส่วนระหว่างสินเชื่อ และมูลค่าสินทรัพย์ที่ธนาคารจะปล่อยกู้ (Loan to value ratio) หรือออกระเบียบควบคุมการปล่อยสินเชื่อไปเลย รวมถึงการปรับเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์

แหล่งที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/588119#s...

คำสำคัญ (Tags): #ความรู้
หมายเลขบันทึก: 587870เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2015 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2015 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท