ประชาธิปไตยในจีน


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนนตรีอังกฤษพร้อมด้วยนายโจเซ่ บาร์โรโซ่ประธานอียูได้เดินทางไปเยือนจีน ซึ่งเป็นการเดินทางไปเยือนกันตามปกติเพราะปีนี้อังกฤษเป็นประธานกลุ่มประเทศอียูตามวาระ ทว่ามีข่าวน่าสนใจอยู่ข่าวหนึ่งรายงานจากรอยเตอร์ว่า นายเวินเจียเป่านายกรัฐมนตรีจีนได้ถือโอกาสนี้บอกนายโทนี่ แบลร์ว่า จีนมีแผนจะขยายการเลือกตั้งจากในระดับหมู่บ้านออกไปเป็นระดับตำบลหรือเมืองที่เล็กกว่าอำเภอ

รอยเตอร์สำนักข่าวของอังกฤษรายงานข่าวนี้เมื่อวันที่ 5 กันยายน ว่า นายเวินเจียเป่าแถลงเรื่องนี้กับผู้สื่อข่าวก่อนจะเข้าประชุมสุดยอดกับผู้แทนของอียูว่า

"จีนจะผลักดันการพัฒนาการเมืองประชาธิปไตยให้คืบหน้าต่อไป ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะสร้างโครงสร้าง (ประชาธิปไตย) รวมทั้งการเลือกตั้งโดยตรง"

และยังบอกอีกว่า

"ถ้าประชาชนจีนสามารถดูแลจัดการหมู่บ้านได้ ผมก็เชื่อว่าภายในไม่กี่ปี พวกเขาก็จะดูแลจัดการตำบลได้ ระบบนี้จะค่อยๆคืบหน้าต่อไป"

และที่บังเอิญคือ ในวันเดียวกันนั่นเอง ก่อนเปิดการประชุมกฏหมายโลกครั้งที่ 22 นายหูจิ่เทาประธานาธิบดีและเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ออกมาพูดเรื่องประชาธิปไตยกับผู้แทนที่มาร่วมประชุมว่า จีน "จะพัฒนาการเมืองประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมต่อไป สร้างระบอบประชาธิปไตยให้แข็งแรง และในหลากหลายรูปแบบ ประกันให้พลเมืองจีนได้เลือกตั้ง กำหนดนโยบบาย ดูแลจัดการ และตรวจสอบกันอย่างมีประชาธิปไตยตามกฏหมาย"

ผู้นำระดับบิ๊กของจีนออกมาพูดจาอย่างนี้ คนฟังก็หูผึ่งกันสิครับ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักที่จะเห็นผู้นำจีนออกมาพูดเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประเด็นที่พวกเขามักเลี่ยงที่ตอบหรือพูดถึงเสมอพร้อมกันอย่างนี้ และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ในขณะที่รอยเตอร์ตีข่าวนี้ไปทั่วโลก สื่อมวลชนจีนเองกลับไม่รายงานคำพูดของสองผู้นำจีนเลยสักคำ

ใครที่ติดตามข่าวสารการเมืองของจีน คงรู้สึกชินชากับปรากฎการณ์ที่สื่อต่างประเทศตีข่าวไปทั่วโลก แต่สื่อจีนกลับไม่มีรายงานข่าวชิ้นนั้นเลย เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอจนได้กลายเป็นประเพณีปฎิบัติของสื่อจีนกันมานานนมแล้ว

เหตุผลเดียวที่สื่อมวลชนจีนไม่รายงานข่าวนี้ ก็เพราะยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากศูนย์กลางพรรคฯ หมายความว่า หากเวินเจียเป่าและหูจิ่นเทาพูดจริงตามที่เป็นข่าว แสดงว่าภายในพรรคฯยังคงมีความเห็นต่อเรื่องนี้ไม่เป็นเอกภาพกัน และน่าจะมีฝ่ายนำจีนบางคนไม่เห็นด้วย อย่างน้อยก็ไม่เห็นด้วยกับการออกมาพูดเรื่องประชาธิปไตยในเวลานี้

เหมาเจ๋อตงผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ล่วงลับครบ 29 ปีเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา เคยให้นิยามเรื่องประชาธิปไตยว่า เป็นเรื่องของวิธีการทำงาน ไม่ใช่อุดมการหรืออุมคติทางการมือง เพราะอุดมการของพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้อยู่ที่การสร้างประชาธิปไตย แต่สนับสนุนหลักการ"ประชาธิปไตยรวมศูนย์" (democratic centralism) ที่เสนอโดยเลนินผู้นำคอมมิวนิสต์คนสำคัญของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นหลัการที่เน้นการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จมากกว่าเน้นเรื่องประชาธิปไตย เหตุผลเดียวที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดถือหลักการที่พวกเขาเรียกกันว่า "ประชาธิปไตยรวมศูนย์" นี้คือ พรรคฯต้องเป็นผู้นำทุกกลไกอำนาจรัฐ ตั้งแต่รัฐบาล สภานิติบัญญัติ กองทัพ ไปจนถึงสื่อมวลชนต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาว หากมีโอกาสจะนำมาอธิบายขยายความให้ทราบกันอีกที

แต่ความจริงทางภววิสัยทั้งแรงกดดันจากชาติตะวันตก และปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม การคอรัปชั่น มลภาวะ ความจริงเหล่านี้ก็กำลังกดดันให้จีนต้องเริ่มเดินหน้าปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นประชาธิปไตย ยุโรปนั้นกดดันจีนมาตลอดในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและประาธิปไตย และในการเยือนครั้งนี้ นายโทนี่ แบลร์พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยในจีนไว้ชัดเจนว่า

"พวกเราไม่ได้เกลียดชังจีน แต่เราคงต้องมีเครื่องหมายคำถามอยู่ในใจว่า ชาติอำนาจนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยคิดอยากทำอะไร" "เราอยากเห็นจีนพัฒนาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะว่า นี่เป็นระบอบสังคมของเรา แต่ยังเป็นเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยายาวกับระบอบการเมืองการปกครองเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้" (บีบีซี. 6 กันยายน 2005)

การที่จีนเริ่มทดลองระบอบประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้าน แสดงว่า ผู้นำจีนส่วนหนึ่งยอมรับแล้วว่า การสร้างระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และเป็นกระแสที่จีนเองไม่อาจฝืนได้อีกต่อไป แต่ดูเหมือนพวกเขาอยากเห็นการปฏิรูปประชาธิปไตยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า เพราะหวาดหวั่นว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศ เมื่อพวกเขาได้เห็นตัวอย่างการปฏิรูปการเมืองแบบชั่วข้ามคืนในรัสเซีย ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายระส่ำระสายในสังคมและความเสียหายทางเศรษฐกิจตามมาอย่างร้ายแรง

ซึ่งนี่ก็ทำให้ความพยายามปฏิรูปประชาธิปไตยของจีนเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าวันนี้ ทางการยอมให้ชาวบ้านมีสิทธิ์เลือกตั้งระดับหมู่บ้านแล้วถึง 660,000 หมู่บ้าน เป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านโดยให้ชาวบ้านได้เลือกตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านโดยตรง ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากชาวบ้านหลายคนก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงกระนั้น ก้าวแรกของประชาธิปไตยในจีนก็ยังมีอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่เรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไว้สูงเกินไป และเรื่องที่ต้องได้รับการเสนอชื่อจากทางการ ซึ่งคนที่มีสิทธิเสนอและพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือคณะกรรมการพรรคฯระดับอำเภอ พูดง่ายๆคือ ยังต้องรอให้หน่วยพรรคฯอนุมัติคุณสมบัติและเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อน ชาวบ้านถึงจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันได้ เรื่องนี้ถ้าเป็นในประเทศที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เมื่อจีนยังคงปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียว เจ้าหน้าที่หน่วยพรรคฯที่พิจารณาคุณสมบัติและเสนอชื่อผู้มีสิทธิลงรับเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลการเลือกตั้ง จึงเป็นคนๆเดียวกัน ซึ่งดูไปก็เหมือนให้เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิการตัดสินใจเหนือสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน เจ้าหน้าที่จีนบางคนออกมายอมรับว่า มีเพียงร้อยละ 10 ของการเลือกตั้งเท่านั้นที่มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง ส่วนอีกร้อยละ 90 ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แต่เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านี้ ที่ผ่านมาทางการจีนมีท่าทีลังเลมาตลอด เวินเจียเป่าเองเคยพูดปกป้องท่าทีลังเลนี้ว่า เป็นเพราะจีนเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมาก ระดับการพัฒนาและการศึกษาของประชาชนยังไม่เพียงพอ เป็นข้ออ้างเชยๆที่เผด็จการทั้งหลายชอบอ้างกัน ในหลายประเทศ เช่น ไทย ข้ออ้างนี้แสนเชยและเป็นอดีตไปนานแล้ว

แต่จุดที่สำคัญยิ่งกว่านี้และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในจีน คือตัวพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนย่อมไม่ยอมให้เกิดศูนย์อำนาจขึ้นอีกขั้วหนึ่ง เพื่อมาสั่นคลอนอำนาจและสถานะของตน และนี่คือเหตุผลที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งอิสระหลายคนต้องผจญกับการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของพรรคฯ

การให้มีการเลือกตั้งระดับหมู่บ้านแสดงว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนพร้อมจะปรับเปลี่ยน แต่การปรับเปลี่ยนนี้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่พรรคฯต้องอยู่รอดและมีอำนาจปกครองต่อไป ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ประชาธิปไตยในจีนจึงยังต้องเดินกันอีกยาวไกลทีเดียว ประชาธิปไตยในจีนจะก้าวหน้าได้เร็วกว่านี้ หากพรรคคอมมมิวนิสต์จีนเปิดใจกว้างยอมให้กลุ่มหรือพรรคการเมืองที่มีอยู่ ไม่ทำหน้าที่แค่เป็นไม้ประดับในสภาที่ปรึกษาการเมือง แต่ให้มีโอกาสก้าวขึ้นมาบริหารประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเรียนรู้พร้อมที่จะเป็นพรรคฝ่ายค้านเหมือนเช่นพรรคก๊กมินตั๋งในไต้หวัน ไม่เช่นนั้น ประชาธิปไตยในจีนจะเป็นได้ก็เพียงการแสดงละครปาหี่ที่กำกับโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น

ที่มา: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

คำสำคัญ (Tags): #ประชาธิปไตย
หมายเลขบันทึก: 587621เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2015 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2015 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท