โรงเรียนต้นกล้าเชียงใหม่ : Alternative way of learning @ Tonkla


* Alternative way of learning @ Tonkla

เมื่อกล่าวถึง "โรงเรียน" แล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงนึกถึงภาพตึกรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเก่าๆ มีห้องเรียนที่เต็มไปด้วยโต๊ะมากมายเรียงรายกันอยู่อย่างแออัด มีนักเรียนหน้าตาเคร่งเครียด ไร้ความสุขกำลังนั่งถอดโจทย์ปัญหา ที่เป็นปัญหาสำหรับผู้เรียนมาทุกยุคสมัย และมีคุณครู ผู้เคร่งครัดนั่งคอยสั่งสอนเด็กอยู่หน้าห้องพร้อมกับใบหน้าเปี่ยมความไม่สุข ภาพเหล่านี้เป็นเหมือนภาพคลาสสิคของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ประหนึ่งว่าจะถาวรคู่วาทกรรมทางการศึกษา และความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อก่อเกิดนวัตกรรมทางการศึกษา ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมสุข สามารถถอดโจทย์ปัญหาแห่งชีวิตได้แม้ว่าจะไม่สามารถถอดโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ก็ตาม

เคยตั้งคำถามไหมว่าทำไมรัฐทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษามากขึ้น มีมหาวิทยาลัยมากขึ้น มีผู้จบการศึกษาระดับสูงมากขึ้น แต่ทำไมเราถึงรู้สึกกันว่าเด็กๆ กลับมีปัญหามากขึ้น ซึ่งมีเรื่องน่าเป็นกังวลใจเมื่อพบว่าเด็กไทยยิ่งเรียนในระบบการศึกษาเดิมมากยิ่งมีไอคิวต่ำลง เมื่ออยู่ในระดับอนุบาลมีไอคิว เฉลี่ย ๑๑๕ แต่เมื่อจบมัธยมกลับมีไอคิวเฉลี่ยเหลือ ๘๙ เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทย เรียนอย่างไรถึงเป็นแบบนี้ ผมเชื่อว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โครงสร้างของสังคมไทยมีลักษณะเป็นแนวดิ่งมากกว่าเป็นแนวราบ ยิ่งสูงยิ่งอ้างความถูกต้อง ยิ่งมีอำนาจยิ่งอ้างความชอบธรรม แต่ใช้ปัญญาน้อยลง ความเป็นจริงเหล่านี้ล้วนลงมาที่ระบบการศึกษา ไทยอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ระบบการเรียนการสอนที่ฝึกคิด จินตนาการ วิเคราะห์ และสติปัญญาไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควรไอคิวจึงต่ำลง

สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองบางท่านอาจยังไม่ได้คิดไปถึงก็คือ อีกไม่นานลูกหลานเราที่กำลังจะเข้าเรียน ในอีก ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้า เด็กๆ เหล่านั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องอยู่ร่วมกับประชาคมโลก เพราะระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป คนจากเอเชีย ยุโรป อเมริกา ฯลฯ จะมาทำงานและลงทุนในประเทศไทยกันมากขึ้น แล้วถึงตอนนั้นความเป็นคนไทยแบบเดิมอาจถูกกลืนจนแทบจะไม่เหลืออยู่ ดังนั้นทำอย่างไรลูกๆ ของพวกเราจึงจะมีความสามารถทัดเทียมผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการสื่อสาร มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cross culture) และที่สำคัญที่สุดคือ มีคุณลักษณะของการเรียนรู้ (learning character) ในอนาคต ลูกหลานของเราไม่ได้เป็นเพียงแค่พลเมืองของเชียงใหม่ หรือประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นพลเมืองของโลก เพราะ ภูมิทัศน์ในการดำรงชีวิตของคนจะไม่กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งแต่จะกระจายกันอยู่ไปทุกที่ ดังนั้นเพื่อให้

ลูกหลานของเราสามารถทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ รอบรู้ และทัดเทียมกับผู้อื่น จึงต้องมีการบ่มเพาะจินตนาการ ความคิด ความรู้ ความสามารถ ความสุข และทักษะการใช้ชีวิตที่ถูกต้องในตัวเด็กตั้งแต่วันนี้โรงเรียนต้นกล้าจึงได้ก่อเกิดขึ้นมาบนฐานความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดการศึกษาที่มีอยู่แบบเดิมๆ ทั่วไป ด้วยความมุ่งหวังที่จะหยิบยื่นการศึกษาที่ดีกว่าให้แก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อให้พวกเขาได้เป็นประชากรของโลกที่ทัดเทียมผู้อื่น ในด้านความรู้ และความสามารถในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคุณธรรม ความเมตตา ความรัก และสันติสุข

โรงเรียนต้นกล้ามีความหมายอยู่ ๓ ประการ คือ ต้นกล้าจะค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ มีรากแก้ว คือจินตนาการและความสุข...ต้นกล้าหมายถึงเด็กน้อยๆ ครูคือชาวสวนพรวนดิน รดน้ำต้นไม้ให้ เขาเติบโตขึ้นเป็นอย่างที่เขาควรจะเป็น เป็นไปตามธรรมชาติของเขา...นอกจากนี้ ต้นกล้า ยังหมายถึงต้นธารแห่งความกล้าหาญที่จะทำการศึกษาให้แตกต่างจากทั่วๆ ไป โรงเรียนต้นกล้า เป็นโรงเรียนทางเลือก ที่เลือกจัดการศึกษาแบบทางเลือก ซึ่งเป็นการศึกษาที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากการศึกษาทั่วไป ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ในเชิงปริมาณ หรือที่เรียกว่าข้อมูล เด็กไทยถูกสั่งสอนให้ เชื่อ จำ ทำตาม ความเชื่อทำให้ไม่คิด ความจำทำให้ไม่เข้าใจ การทำตามทำให้ขาดจินตนาการ นี่ไง คือ คำตอบว่าทำไมเด็กไทยจึงเป็นอย่างนี้ เพราะอาจเป็นได้ว่าการศึกษาในรูปแบบเช่นนั้นไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง หรือไม่อาจเติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่แท้ให้แก่ผู้เรียนได้ ในขณะที่การศึกษาทางเลือกเน้นให้ผู้เรียนรักที่จะเรียนรู้ (love to learn) ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอันเป็นองค์ความรู้แก่มวลมนุษย์

เนื่องจากโรงเรียนต้นกล้าเน้นวิชาการในเชิงคุณภาพ จึงเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ตามธรรมชาติของเขา ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต สงสัย จินตนาการ ค้นหา ตรวจสอบ สรุปสิ่งที่ได้ค้นหาเป็นความเข้าใจของตนเอง และแลกเปลี่ยนหรือเล่าเรื่องราวเหล่านั้นกับเพื่อนๆ เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์ กันด้วยการลงมือปฏิบัติการ ค้นหาความรู้ด้วยตนเองผ่านโครงงาน นอกจากนี้แล้วโรงเรียนก็ยังเน้นการเล่น เพราะมีเหตุผลสนับสนุนว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่ดี และคืองานที่สำคัญของเด็กๆ จะทำให้เขาเกิดความสุขมีจินตนาการที่นำไปสู่การลงมือปฏิบัติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักกิจกรรมบำบัดช่วยออกแบบการละเล่นให้แก่เด็กๆ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ พัฒนาร่างกาย สติปัญญา และจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน

อีกเครื่องมือหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเน้นอีกจุดหนึ่งของโรงเรียนต้นกล้า คือภาษา เราคำนึงถึงการเรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ) ที่ยั่งยืน โดยโรงเรียนเลือกใช้การเรียนรู้ตามธรรมชาติของการเรียนรู้ภาษาที่เหมาะสมต่อเด็ก จัดให้เด็กเรียนรู้กับครูเจ้าของภาษาในสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการเรียนเพื่อให้เด็กสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ ท่ามกลางบรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการเรียนรู้ ทุกอย่างที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นที่นี่ ล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ของเด็ก มีห้องสมุด มีห้องวิทยาศาสตร์ที่เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา มีห้องดนตรีและห้องศิลปะให้เด็กๆ ได้บรรเลงบทเพลงแห่งสีสันอย่างเพลิดเพลิน นอกจากนี้แล้วยังมีบุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นที่ต้นกล้าจะประกอบด้วยความปลอดภัย ความรัก ความ อ่อนโยน และความเอาใจใส่ที่มีให้กับเด็กๆ อยู่เสมอ "โรงเรียนต้นกล้าอยากถามผู้ปกครองว่า จะเป็นการดีกว่า

ไหมถ้าเราจะส่งเสริมให้ลูก เป็นคนดี มีความสุข พร้อมที่จะเรียนรู้ อยู่ทุกห้วงขณะ คิดที่จะเรียนและเรียน ที่จะคิด" (to think to learn, to learn to think)

อ. บุญเอนก มณีธรรม


หมายเลขบันทึก: 587487เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2015 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2015 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท