​บริจาคโลหิต... อีกหนึ่งมิติของ "มมส" กับการเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน"


โครงการบริจาคโลหิตถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ความเป็น "ตัวตน มมส" ได้อย่างสง่างาม เป็นกิจกรรมเรียบง่ายแต่มีพลัง สะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ ตอกย้ำจุดยืนความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์และปรัชญามหาวิทยาลัยได้อย่างไม่เขินอา

ภายใต้วาทกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดังว่า "เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน" ซึ่งเชื่อมโยงไปยังปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มิได้ขับเคลื่อนผ่านภารกิจหลักที่ประกอบด้วยการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การวิจัยและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น หากแต่มีกิจกรรมเชิงรุกในบริบทของ "ฝ่ายพัฒนานิสิต" อย่างโดดเด่น นั่นก็คือโครงการบริจาคโลหิต



โครงการบริจาคโลหิต เป็นกิจกรรมเชิงรุกอัน "เรียบง่าย" แต่เต็มไปด้วย "พลังแห่งการแบ่งปันความรัก" ต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นการแสดงถึงจุดยืนของบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัยที่มีต่อการรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำว่าชุมชนไม่จำเป็นต้องผูกยึดไว้กับหมู่บ้าน ท้องถิ่นในงานค่ายอาสาพัฒนา หรืองานอันเป็นภารกิจทั้ง ๔ ด้าน แต่คำว่า "ชุมชน" ในนิยามของโครงการบริจาคโลหิต จึงครอบคลุม "ความเป็นมนุษย์" หรือ "เพื่อนมนุษย์" ซึ่งมีประเด็นชวนกล่าวถึงดังนี้



  • ๑.ความเป็นหนึ่งเดียวของบุคลากรและนิสิต : เป็นกิจกรรมที่บุคลากรและนิสิตมีส่วนร่วมด้วยกันอย่างสนิทแน่น มีการประสานเชื่อมโยงช่วยกันอย่างไม่อิดออด การมาบริจาคโลหิตของบุคลากรและนิสิต ช่วยให้เกิดการพบปะสังสรรค์กันไปโดยปริยาย

  • ๒.ความเป็นพลังของเครือข่ายพัฒนานิสิต : เป็นกิจกรรมที่ยืนยันถึงมิติเครือข่ายของงานพัฒนานิสิตจากส่วนกลาง (กองกิจการนิสิต) กับฝ่ายพัฒนานิสิตระดับคณะ (บุคลากรและสโมสรนิสิต) ซึ่งจะมีเวทีกลางที่รับผิดชอบโดยกองกิจการนิสิต และแยกส่วนสัญจรไปจัดในบริบทของแต่ละคณะเป็นรายเดือน ทั้งยังเป็นการสะท้อนถึงเครือข่ายภายนอกที่หมายถึงเหล่ากาชาด และโรงพยาบาลมหาสารคาม




  • ๓.ความเรียบง่ายแต่มีพลังของการเป็นที่พึ่งของสังคม : เป็นกิจกรรมที่บุคลากร (อาจารย์ เจ้าหน้าที่) และนิสิตได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสนิทแน่น โดยเฉพาะในระดับคณะ เสมือนการตอกย้ำอย่างหนักแน่นในวาทกรรมการ "เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน" ร่วมกัน โดยมิใช่การทิ้งร้างให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นภารกิจของพลเมืองชาว "มมส" ที่ต้องบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม หรือการช่วยเหลือสังคมผ่านหน้าที่การงานประจำ และเป็นงานประจำ หรือกิจกรรมอันเรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องกะเกณฑ์บังคับผู้คนให้เข้าร่วมจนขัดเคืองใจ และไม่จำเป็นต้องลงทุนงบประมาณก้อนโต เหมือน "ขี่ช้างจับตั๊กแตน" แต่กลับตอบโจทย์การช่วยเหลือสังคมได้อย่างกว้างขวางและมีพลัง



เหนือสิ่งอื่นใดการบริจาคโลหิตที่จัดขึ้นในแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งที่จัดโดยกองกิจการนิสิต องค์การนิสิต สภานิสิต รวมถึงการจัดในระดับคณะ ถือเป็นกระบวนการบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมไปในตัวอย่างเสร็จสรรพได้เป็นอย่างดี เพราะการบริจาคโลหิตเป็นเสมือนการบริจาค "ชีวิตเพื่อชีวิต" ในอีกมิติ รวมถึงการเป็นกิจกรรมที่บ่งบอกคุณธรรมจริยธรรมที่ว่าด้วยความรักความเสียสละ หรือจิตสาธารณะ (Public Mind) และจิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness)



ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงนับได้ว่าโครงการบริจาคโลหิตถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ความเป็น "ตัวตน มมส" ได้อย่างสง่างาม เป็นกิจกรรมเรียบง่ายแต่มีพลัง สะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ ตอกย้ำจุดยืนความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์และปรัชญามหาวิทยาลัยได้อย่างไม่เขินอาย มิหนำซ้ำยังเป็นการใช้เวลาราชการเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่า



หมายเหตุ : ภาพโดย งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กองกิจการนิสิต มมส

หมายเลขบันทึก: 587365เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2015 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท