หลักการเรียนรู้สู่การเขียน


หลังจากได้ลองผิดลองถูก เป็นช่วงการเรียนรู้ระบบประมาณ 2 เดือน (ทำไปงงไป ได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ) ก็อยากนำประสบการณ์ที่พบมาแบ่งปันกัน ว่าความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยาก ในการเขียนบทความมาลงบนเว็บไซต์ Go To Know

หลักการเรียนรู้สู่การเขียน

From Learning to Writing

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

12 มีนาคม 2558

บทความนี้ ใช้ประกอบการบรรยายในหัวข้อเรื่อง มโน ไร้สาย G2K ข่ายใยคุณภาพ ณ ห้องประชุม Sapphire 107 ในงานประชุม 16th HA National Forum วันที่ 11-12-13 มีนาคม 2558 ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ PowerPoint (PDF file) สามารถ Download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/from-learning-to-writing

เกริ่นนำ

  • ท่านคิดอย่างไร กับข่าวจากข่าวสด ออนไลน์ วันที่ 13 มกราคม 58 นี้ "อึ้งผลวิจัย ทีดีอาร์ไอ ชี้การศึกษาไทยตกต่ำ เด็กอ่อน 3 วิชาหลัก อังกฤษ-เลข-วิทย์"
  • และท่านคิดอย่างไร กับข้อคิดของชาวต่างชาติผู้เคยมาอยู่เมืองไทยระยะเวลาหนึ่ง (นำมาจากโลกสังคมออนไลน์ ปรับคำพูดแล้ว) ที่มีมุมมองต่อการศึกษาของไทยว่า
    • การศึกษาไทยเน้นศิลปศาสตร์ จบแล้วไม่มีงานทำ ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย มีน้อยมาก (ยางธรรมชาติไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำอะไรเองไม่เป็น)
    • มหาวิทยาลัยชั้นนำ เน้นหล่อ สวย ไม่ฝึกงานที่เป็นประโยชน์ ได้แต่ขอเงินพ่อแม่เที่ยว วัตถุนิยม (เด็กต่างประเทศช่วงปิดเทอม จะฝึกงาน UN, World Bank, ช่วยงานค่ายผู้ลี้ภัย ฯลฯ)
    • จ่ายครบจบแน่ เน้นใบปริญญาแต่หางานทำไม่ได้ อยากจะรวยแต่คิดไม่ออกนอกจากขายของ (ทุจริตเงินทุนกู้ยืมเรียน ไม่เคยมีการตรวจสอบ)
    • ภาษาอังกฤษแย่มาก อาจารย์ลอกบทความฝรั่งมาแปล น้อยคนที่จบระดับโลก (นักเรียนในกรุงยังสะกดผิด ๆ ถูก ๆ แล้วต่างจังหวัดจะเป็นอย่างไร)
    • ความรู้ใหม่ ๆ เทคโนโลยีที่เป็นภาษาอังกฤษไม่สนใจกัน รู้แต่ที่เป็นภาษาไทย และไม่มีความสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก (โลกทรรศน์แคบ สำนักข่าวไทยรายงานแต่เรื่องไม่สร้างคุณค่า ไม่รู้นักเรียนไทยอ่านหนังสือปีละกี่เล่ม)
  • นี่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นตัวตนของเรา จะเป็นจริงอย่างเขาว่าหรือไม่ ไม่รู้ เป็นกระจกบานหนึ่งที่เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ และอย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นทั้งหมด หรืออย่าเพิ่งต่อต้านว่าไม่เป็นจริงทั้งหมด ค่อย ๆ พิจารณาไปเรื่อย ๆ ว่าทำไมเขาจึงมองเราด้วยแว่นสีอย่างนั้น เป็นเพียงกระบวนทัศน์ทางความคิดของชาวต่างชาติคนหนึ่งเท่านั้น แล้วเราจะใช้ข้อคิดเห็นเหล่านั้นเกี่ยวกับการศึกษาของไทย มาพัฒนาหรือทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรคนไทยจึงจะรักการเรียนรู้ ที่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) การคิดตอบโต้ไม่ก่อประโยชน์อันใด เราทำดีคนอื่นติ ช่างเขา ดังคำพระท่านว่า อันบุคคลในโลกนี้ ไม่ถูกนินทาเลยไม่มี

การได้มานำเสนอใน HA National Forum ครั้งที่ 16

  • จากการได้เข้าร่วมประชุม HA National Forum ครั้งที่แล้ว (มีนาคม 2557) ที่ห้องการจัดการความรู้ ในวันแรกช่วงหลังทำพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ วิทยากรผู้ดำเนินรายการซึ่งเป็นกัลยาณมิตรอาวุโสที่เคารพคือ ท่านรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ จิตเจริญ ไชยาคำ (JJ) ได้ให้โอกาสให้ผู้เข้าประชุมร่วมแสดงความคิดเห็น ก็เลยถือโอกาสแสดงความเห็นส่วนตัวบ้าง ที่เป็นหลัก ๆ คือ ให้ความเห็นว่า การเขียนบทความลงใน Go To Know ไม่ใช่เรื่องยาก มาในปีนี้ (พ.ศ. 2558) ท่านจึงชวนขึ้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นทางการบนเวทีซะเลย เพื่อเล่าประสบการณ์ให้เพื่อนสมาชิกได้รับทราบ
  • หลังจากได้แสดงความเห็นในวันนั้นแล้วว่า ข้อมูลต่าง ๆ พอมีอยู่บ้าง แต่โดยมากเป็นอยู่ในรูปแบบการนำเสนอ PowerPoint ที่ได้ทำมากว่าสิบปี การที่จัดทำเป็น PowerPoint นั้นมีสาเหตุจากการอ่านหนังสือแล้วเกรงว่าจะลืมสาระสำคัญ จึงสรุปเป็นเอกสารการนำเสนอเป็นส่วนมาก เผื่อได้ใช้ต่อจะได้ไม่เสียเวลาทำขึ้นใหม่และใช้เผยแพร่ได้ง่าย เพราะปัจจุบันนี้ความรู้ ได้ถูกรวมรวมสะสมอยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการเผยแพร่ให้กว้างขวางกว่าแต่ก่อน
  • และจากประสบการณ์การที่เคยทำหน้าที่เป็นฝ่ายวิชาการของผู้ตรวจประเมิน (นานมาแล้ว) ได้ทำสรุปการบรรยาย (หลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ) ของการเข้ารับการอบรมให้กับกลุ่มผู้ตรวจประเมินเป็นภาษาไทย หรือสรุปความรู้จากเว็บไซต์ของต่างประเทศแล้วมาทำเป็นภาษาไทย มาเผยแพร่เฉพาะกลุ่ม ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจของผู้ที่ได้รับ อาจเป็นเพราะอนุญาตให้นำไปใช้ต่อหรือนำไปดัดแปลงโดยไม่ต้องอ้างอิงกลับมา เพื่อประโยชน์คือจะได้มีผู้ที่มีความรู้จำนวนมากขึ้น
  • จนกระทั่งบรรณาธิการหนังสือ Productivity (ออกทุก 2 เดือน) ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม มาทาบทามให้สรุปหนังสือวิชาการ ที่มีอยู่ในห้องสมุดของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลที่สนใจมาศึกษาได้ที่ห้องสมุดของสถาบัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น โดยมากจะเป็นตำราภาษาอังกฤษ
  • จึงได้ตอบตกลงและมีเงื่อนไขว่า ขอเป็นหนังสือที่เราเลือกสรรเองว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเรื่องการเพิ่มผลผลิตให้กับประเทศชาติ โดยให้บรรณาธิการห้องสมุดเลือกหนังสือออกใหม่ ยังไม่มีใครแปลเป็นภาษาไทยเดือนละประมาณ 3 เล่ม แล้วเราเลือกทำการสรุปเดือนละเล่มเป็นโปรแกรม Word ประมาณ 4-5 หน้า (ทั้งที่ความถนัดเดิมของเราคือทำเป็น PowerPoint)
  • ทำมาได้สักระยะหนึ่ง มีการเปลี่ยนบรรณาธิการหนังสือ กองบรรณาธิการใหม่มีการเปลี่ยนนโยบาย ก็ไม่ว่ากัน เรายังคงทำของเราไปเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการกระจายความรู้ในหมู่ผู้ตรวจประเมินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และได้อดีตผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์พระมงกุฎเกล้า พลโท กฤษฎา ดวงอุไร ท่านเมตตานำตำราต่างประเทศที่ท่านมีมาแนะนำให้เราอ่านแล้วสรุป ยังมีพันเอกหญิง อังคณา สุเมธสิทธิกุล (ขณะที่ยังศึกษาขั้นปริญญาเอก) และเพื่อนผู้ตรวจประเมินส่งมาให้ศึกษาก็หลายเล่มอยู่ ต้องขอขอบคุณ ณ ที่นี้ด้วย จึงทำให้มีข้อมูลมาเผยแพร่อยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งจากการค้นเรื่องที่น่าสนใจจากอินเตอร์เน็ต มาสรุปเป็น PowerPoint และแบ่งปันความรู้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
  • ที่สนใจเป็นพิเศษคือวารสารด้านธุรกิจของต่างประเทศชั้นนำคือ Harvard Business Review ที่มักจะมีแนวคิดใหม่ หรือความรู้ในหนังสือด้านธุรกิจที่จะออกมาใหม่ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะนำความรู้ใหม่ ๆ เหล่านั้นมาบอกกล่าวกันให้รู้เท่าทันกับโลก ว่าตอนนี้ทางโลกตะวันตกเขามีแนวคิดอะไรใหม่ ๆ ออกมา เป็นการสรุป ไม่ได้เป็นการแปล และจะอ้างอิงแหล่งที่มาเสมอ เพื่อที่ว่าใครต้องการศึกษารายละเอียด สามารถค้นคว้าต่อไปได้ ตามคติของซุนวู ว่าไว้คือ รู้เขารู้เรา ฯลฯ (ประโยคต่อ ๆ ไป ว่าได้กันโดยมากอยู่แล้ว)

เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเรียบเรียงผลงานจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

  • ภาษาอังกฤษ ถือว่าเป็นภาษาที่ใช้เป็นภาษาสากลภาษาหนึ่ง โดยส่วนตัวไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษแต่ประการใด เริ่มหัดเรียน abs และหนังสือ Oxford เมื่ออยู่ตอนชั้น ป.5 โรงเรียนเทศบาลในต่างจังหวัด (อำเภอสวรรคตโลก จังหวัดสุโขทัย) จากนั้นก็เรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการจัดหลักสูตรให้จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ก็ได้เรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษโดยอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ (Eng. 114-111) พอขึ้นปีที่ 2 ก็ไม่ได้เรียนอีก แต่หลักสูตรที่เรียนและการบันทึกประวัติคนไข้และลงรายละเอียดการปฏิบัติงาน ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และหนังสือเรียนโดยมากจะเป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ ยกเว้นเอกสารแจกประกอบการเรียน (sheet) ที่อาจารย์แปลไทยปนอังกฤษ ที่ต้องมาท่องจำเพื่อทำข้อสอบให้ได้
  • จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศ (Temple University, Philadelphia, PA) เป็นเวลา 3 ปี (ค.ศ. 1985-1988) เมื่อแรกไปถึงเข้าห้องเรียน การฟังไม่มีปัญหา อ่านได้เขียนได้ แต่พูดแล้วฝรั่งฟังไม่ค่อยจะออก (สำเนียงคงเพี้ยน ๆ) จนใกล้จะจบ จึงฝันเป็นภาษาอังกฤษได้ (แสดงว่าเอาตัวรอดได้แล้ว)
  • ที่แย่ในตอนแรกคือ การเรียนวิชา Core หรือที่เรียกว่า Basic Science เมืองไทยโดยมากเป็นข้อสอบให้เลือก (multiple choices) กขคง แต่ข้อสอบต้องตอบโดยใช้การบรรยายไม่กี่ข้อ เราเก็งข้อสอบเก่งอยู่แล้ว แต่พอเข้าสอบจริง ๆ ตอนกลางเทอม บรรยายยากจัง Tense ตีกันหมด ยังดีที่วาดรูปประกอบคำบรรยายเก่งจึงรอดตัวมาได้ (ลองเขียนคำบรรยายเรื่องความเจ็บปวดดูสิ ที่ต้องใช้ Gate Control Theory อธิบายประมาณ 1 หน้ากระดาษ แล้วจะรู้ว่ามันยากหรือง่ายเพียงใด) แต่ไม่นานนักพอตั้งหลักได้ คนไทยได้ A ฝรั่งได้ C
  • ภาษาอังกฤษดิ้นได้ หมายความว่า คำหนึ่งอาจมีหลายความหมาย เช่น can อาจแปลว่ากระป๋องหรือแปลว่าสามารถก็ได้ คนไทยใช้คำว่า ถนน ฝรั่งมีทั้ง street, road, avenue, highway, boulevard, route etc. ที่น่าจะงงที่สุดคือคำพังเพยแบบฝรั่งหรือ idiom เช่น in a nutshell (แปลงว่าโดยย่อ) from the horse's mouth (ลองทายดู) หรือ as the crow fly
  • แม้แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้เก่งกาจอะไร บางทีต้องอาศัย Dictionary (จำได้ไหม น้าอายังจำได้ไหม เล่มประมาณฝ่ามือ ตัวหนังสือเล็กนิดเดียว สมัยก่อนยังไม่มี Google อยากรู้ต้องเปิดหาเอาเอง) ดังนั้น ใน PowerPoint ถ้าสังเกตตรง Note ใต้สไลด์ให้ดีมีหลายเรื่อง จะยังมีต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่ เผื่อว่าคนที่ภาษาอังกฤษแข็งแรงจะช่วยสะท้อนกลับให้ได้
  • การทำบทความส่วนมากจะอ่านแบบสแกนก่อนรอบหนึ่ง ดูรูป ดูสรุปบทนำหรือสรุปที่อยู่ท้ายเรื่อง ให้เข้าใจประเด็นสำคัญว่า เขาพูดถึงอะไร จุดสำคัญที่สุดคืออะไร ถ้ายังไม่รู้อย่าเพิ่งสรุป แล้ว plot เรื่องราวที่จะบอกเล่าในใจ ว่าต้องเน้นจุดใดบ้าง อะไรที่ไม่สำคัญที่ข้ามไปได้ อะไรต้องลงรายละเอียดบ้าง แล้วกลับไปดูหัวข้อเรื่องที่ทำร่างอีกครั้ง ว่าได้ตอบโจทย์แล้วหรือยัง
  • สมัยแรก ๆ ยังไม่ชำนาญ เคยทำในกระดาษก่อนเป็นแต่ละสไลด์เลย (A4 ทำเป็น 8 ช่อง) ว่าจะพูดถึงอะไรบ้างในสไลด์นี้ หัวข้อแต่ละสไลด์จะใช้อะไร บางทีใช้หัวข้อตามหนังสือ บางทีต้องคิดหัวข้อเองใหม่ตามความเข้าใจของเรา จำจะต้องใช้รูปใดมาประกอบเป็นคำอธิบายหรือไม่ ถ้าใช้รูปที่ต้องแปลเป็นภาษาไทย ก็ต้องสร้างรูปนั้นขึ้นมาใหม่ทำเป็นภาษาไทย
  • เมื่อทำบ่อย ๆ จะเกิดความชำนาญ ว่าหนังสือ Textbook เล่มใหญ่ ๆ หนา ๆ ขนาดนี้ ต้องใช้กี่สไลด์ ขนาด Pocket Book ควรใช้เท่าใด บทความจากวารสารควรมีกี่สไลด์ เป็นต้น จากนั้นจะมีรูปแบบที่เป็นตัวของเราเองชอบ ที่คนรับผลงานเป็นประจำจะคุ้นหน้าคุ้นตา เช่น รูปแรกสุดที่เป็นหน้าตาของเรื่อง ทำเช่นไรจึงจะดึงดูดให้คนสนใจ ถ้าเนื้อหาหนักๆ จะต้องใส่รูปอะไรเพื่อให้ดูดี
  • กระซิบนิดเดียวว่า PowerPoint ที่แจกกับที่ใช้งานจริง จะไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่มีเนื้อหาเหมือนกัน โดยจะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยบ้าง คือมีการค้นคว้าเพิ่มเติม มีลูกเล่นลูกฮาบ้าง ตามสไตล์คนบรรยายเอง ส่วนมากมักจะใส่รูปประกอบเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับเนื้อหาบ้าง ใส่รูปแก้ง่วงเข้าไปบ้าง (เราเองก็เซ็งกับการนำเสนอที่มีแต่ตัวหนังสือจ๋า ไปไหนมาเป็นแถว ๆ เหมือนกัน)

การเผยแพร่ความรู้

  • สุวิชาโน ภวํ โหติ (ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ) นี่เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่สอนให้เรารู้จักเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อความเจริญของตนเอง เพื่อสังคม ประเทศชาติ และของโลกมนุษย์ที่เราอาศัยอยู่นี้ ข้อสังเกตส่วนตัวคือ นักเขียนหรือนักประพันธ์ ส่วนมากมักจะชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และอ่านหลากหลายประเภท จนกระทั่งมีความมั่นใจในตนเองระดับหนึ่งจึงมีผลงานออกมา ในตอนแรกอาจจะยังไม่ค่อนดีนัก แต่เมื่อทำบ่อย ๆ จนชำนาญ ก็จะเกิดเป็นคุณลักษณะจำเพาะของตนเอง ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อย ๆ และต้องอาศัยเวลา
  • ในการเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบเอกสารอิเล็คโทรนิคในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี สิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือที่นิยมมากคือ การจัดทำด้วยโปรแกรม Word หรือ PowerPoint ซึ่งแต่ละโปรแกรมจะมีข้อดีหรือการใช้งานที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นวิทยากรแล้ว ทั้งสองรูปแบบมีความจำเป็น คือ การนำเสนอแบบ PowerPoint มีไว้ประกอบคำบรรยาย เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการบรรยาย ส่วนการจัดทำเอกสารแบบ Word ใช้เป็นคู่มือการบรรยาย หรือรวบรวมจัดทำเป็นหนังสือในกาลต่อไปได้
  • โปรแกรม Word โดยมากจะเป็นตัวหนังสือโดยส่วนใหญ่ รูปภาพจะน้อยหน่อย สามารถนำไปจัดทำเป็นรูปเล่มหนังสือต่อไปได้ ถ้ามีมากหน้าหรือมีความหนามาก ๆ บางคนเห็นแล้วอาจจะรู้สึกว่า รอเอาไว้ก่อน หรือลองอ่านดูเล็กน้อยก่อนแล้วค่อยมาอ่านต่อภายหลังเมื่อมีเวลา หรือถ้าดูคร่าว ๆ แล้วเห็นว่าน่าสนใจ จึงตั้งใจอ่านรายละเอียด
  • ส่วน PowerPoint จะเป็นการนำเสนอที่โดยมากจะมีเนื้อหาสั้น ๆ ที่ต้องการให้อยู่ภายในหน้าเดียวกันถ้าเป็นไปได้ แล้วค่อยว่าหัวข้อต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ สามารถใส่รูปภาพ ทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย ใส่แอนนิเมชั่นหรือวิดีโอคลิปได้ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ แต่โอกาสใช้เพื่อการตีพิมพ์ หรือรวบรวมเป็นหนังสือได้ยาก
  • การเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้โดยส่วนตัว แต่ก่อนจะใช้ส่งทางจดหมายอิเล็คโทรนิค (E mail) ไปยังกลุ่มที่เป็นการเฉพาะ บางคนได้รับ บางคนไม่ได้รับ (สาเหตุใหญ่ ๆ คือ ที่อยู่ที่ให้ไว้เป็นขององค์กร มีการจำกัดปริมาณขนาดของเอกสาร) เอกสารนำเสนอ (PowerPoint) ที่ใส่รูปไปมาก ๆ จะทำให้เอกสารมีขนาดใหญ่ เมื่อส่งแล้วจะถูกตีกลับ จึงได้แนะนำให้ผู้ที่ได้รับบ้างไม่ได้รับบ้างรู้ตัว ให้จัดส่งที่อยู่จดหมายอิเล็คโทรนิคที่ใช้กันโดยทั่ว ๆ ไปมาใหม่ เพื่อที่สามารถรับเอกสารที่มีขนาดใหญ่ได้
  • มีผู้ที่ได้รับบ้างไม่ได้รับบ้างเมื่อได้พบปะในกาลต่อมา แนะนำให้นำเอกสารไปใส่ในเว็บไซต์สาธารณะแห่งใดแห่งหนึ่ง ที่ให้ผู้เข้าชมสามารถ Download ได้ จึงนึกถึงเว็บไซต์ต่างประเทศแห่งหนึ่งคือ www.slideshare.net ที่เคยนำ PowerPoint ไปใส่ไว้นานแล้ว และไม่ค่อยได้สนใจเท่าใดนัก กลับเข้าไปดูอีกที ปรากฏว่ามียอดผู้เข้ามาชมมากเหมือนกัน แต่พบปัญหาอย่างหนึ่งคือ ความเข้ากันได้ของเอกสารที่เราใส่ กับเอกสารที่แสดงมีความไม่เข้ากัน ทำให้รูปแบบที่ต้องการแสดงผิดเพี้ยนไปหมด ไม่ว่ารูปแบบของอักษรที่ใช้ หรือขนาดของอักษร
  • จึงได้แก้ไขใหม่อีกรอบ โดยทำเป็น PDF file ซึ่งจะมีรูปแบบอย่างที่เราต้องการ แต่มีข้อจำกัดคือ ผู้ที่ Download เอกสารไปแล้ว ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือนำไปใช้ได้อย่างสะดวก (ความจริงแล้ว มีความตั้งใจคือให้เปล่า ๆ ให้นำไปใช้ต่อ นำไปตัดต่อ นำไปดัดแปลงได้ หรือนำไปเผยแพร่ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต)
  • ข้อดีอีกประการหนึ่งของเว็บไซต์นี้คือ เรื่องเดียวกันกับที่เรานำเสนอ จะมีเรื่องที่เป็นหัวข้อเดียวกันกับที่ผู้อื่นนำเสนออีกด้วย อาจจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็แล้วแต่ (ที่เราทำเกือบทั้งหมด จะเป็นภาษาไทย) เพื่อให้ได้ศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มความรู้ รายละเอียด หรือมุมมองที่ต่างออกไป

การเกี่ยวข้องกับ Go To Know

  • เมื่อเริ่มมีเว็บไซต์ Go To Know ใหม่ ๆ ประมาณ 9-10 ปีที่ผ่านมา ท่านอาจารย์ จิตเจริญ (JJ) ได้แนะนำเว็บไซต์แห่งนี้ จึงได้สมัครเป็นสมาชิกเอาไว้ แต่ไม่ได้ทำอะไรต่อมากนัก เพียงเพื่อรู้ว่า เมืองไทยก็มีเว็บไซต์ที่เป็นการจัดการความรู้อยู่เหมือนกัน นาน ๆ จะเข้าสักที เมื่ออาจารย์ JJ มีข่าวส่งต่อมาให้ ก็จึงจะเข้าไปดูว่าท่านบันทึกอะไรไว้บ้าง
  • การได้เข้าประชุม HA National Forum หลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ได้พบปะกับอาจารย์จิตเจริญ เป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยมากมักจะติดต่อกันผ่านทางอินเตอร์เน็ตบ้าง โอนเอกสารให้กันและกันบ้างตามโอกาส ในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาเมื่อได้เห็นโปรแกรมการประชุมว่าท่านได้เป็นผู้บรรยายในเรื่องการจัดการความรู้ อีกทั้งท่านได้ส่งสารชักชวนเป็นการส่วนตัวอีกประการหนึ่ง จึงได้ตกลงใจที่จะมาห้องประชุมในหัวข้อนี้ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ได้ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจ
  • เวลาได้ผ่านไป จนกระทั่งท่านอาจารย์ได้ทาบทามให้ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน ในการประชุมในปี พ.ศ. 2558 นี้ เมื่อประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ทำให้เกิดความรู้สึกตัวว่า มีพันธกิจหนึ่งยังทำไม่สำเร็จ (ความจริงไม่ได้รับปากกับใคร เป็นพันธกิจในใจตนเอง หลังจากการเข้าร่วมฟังการประชุมเรื่องการจัดการความรู้ ในการประชุม HA National Forum ในปี พ.ศ. 2557) จึงปลุกตัวเองว่า งานนี้ไม่ได้ยากเกินไปและไม่น่าจะเกินความสามารถของเราด้วย เพียงแต่จัดสรรเวลาให้ลงตัว คาดว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้น่าจะทำได้สำเร็จ (คำตอบจะเฉลยในวันประชุม)
  • ส่วนบทความที่จะนำไปใส่ในเว็บไซต์ Go To Know จะต้องใช้โปรแกรม Word ในการเขียน ซึ่งพอจะมีเอกสารอยู่ในมือจำนวนหนึ่งที่สามารถนำลงได้เลย แต่ส่วนมากต้องแปลงจาก PowerPoint กลับมาเป็น Word อีกครั้งหนึ่ง (แล้วแต่ความขยัน) และมีการปรับคำพูดใหม่บ้างตามที่เห็นสมควร ดังนั้น บทความที่นำลงใน Go To Know จะมีการเชื่อมไปยังเว็บไซต์ slideshare ด้วย เพราะเอกสารในรูปแบบการนำเสนอ PowerPoint (PDF file) ได้ถูกนำขึ้นไปไว้ในเว็บไซต์แห่งนี้ นานมาแล้วบ้าง ใหม่ ๆ สด ๆ บ้าง ( PowerPoint ที่นำเสนอจะมีสีสัน มีตาราง และรูปประกอบคำอธิบาย รวมถึงได้ทำภาพหน้าปกให้ชวนติดตาม)

สำหรับเว็บไซต์ Go To Know หลังจากได้ลองผิดลองถูก เป็นช่วงการเรียนรู้ระบบประมาณ 2 เดือน (ทำไปงงไป ได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ) ก็อยากนำประสบการณ์ที่พบมาแบ่งปันกัน ว่าความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยาก ในการเขียนบทความมาลงบนเว็บไซต์ Go To Know นี้ โดยความคิดเห็นส่วนตัวมีข้อสังเกต (ทำราวกับเป็นการตรวจประเมิน) คือ

ข้อดี (จุดแข็ง)

  • เป็นตลาดความรู้ ที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง แต่ต้องมีความพยายามค้นหาเอง
  • มีความหลากหลายของความรู้ อยู่ที่เราจะเลือกอะไรลงในตะกร้า ไม่มีใครบังคับ
  • ผู้ผลิตความรู้มีหลากหลาย เปรียบเสมือนพ่อครัวหรือแม่ครัวหลายภาค แล้วแต่ใครจะถูกปากในรสชาติใด
  • ผู้ผลิตสามารถสร้างสมุดเองได้เรื่อย ๆ ได้หลายเล่ม ทำให้แยกประเภทบทความได้สะดวก
  • สามารถย้ายบทความไปมาระหว่างสมุดได้ แก้ไขบทความได้ เมื่อใดก็ได้
  • ข้อสุดท้าย เป็นของคนไทยเอง

ปัญหา ที่พบเป็นการส่วนตัว (อนาคตอาจจะไม่มีก็ได้)

  • ทำเอกสารจากข้างนอก แล้วคัดลอกนำมาใส่ในเว็บ ยังมีข้อความที่แสดงไม่ตรงกัน เช่น การขึ้นบรรทัดใหม่ หรือการทำ Bullet ต้องคอยตรวจดูให้ดีอีกครั้งหนึ่งเสมอ (อาจจะเกิดจากความไม่เข้ากันของโปรแกรมที่มีหลายเวอร์ชัน ต้องทดลองจนเรียนรู้ว่า รุ่นใดจึงจะผิดเพี้ยนน้อยที่สุด)
  • ทำการแทรกรูปภาพในบทความไม่ได้ (อาจเป็นความสามารถหรือหรือยังศึกษาได้ไม่ดีพอเป็นการส่วนตัว) เพราะบางครั้งอยากจะใส่ภาพหน้าปกหนังสือ หรือแผนภาพเพื่อความเข้าใจให้ง่ายขึ้น คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก การแทรกรูปภาพ บางครั้งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น
  • ตารางแสดงผิดเพี้ยน ไม่ได้ดั่งใจ (ยังคงเป็นปัญหาส่วนตัวอยู่ ได้พยายามจนอ่อนอกอ่อนใจแล้วยังไม่ได้อีก จึงต้องใช้วิธีอธิบายแทนตารางที่ไม่ซับซ้อนมากนักอยู่หลายช่วง เปลืองพลังงานโขอยู่) การสร้างตารางจะช่วยประหยัดเนื้อที่ในการแสดงผลลัพธ์ที่มีหลายตัวได้เป็นอย่างดี
  • ถ้าทำอะไรผิดพลาดหรือพิมพ์ผิด ลบได้ แต่ไม่พบปุ่มทำย้อนกลับ (undo) (ด้วยความเคยชินกับโปรแกรมที่ซับซ้อนหรือมีความทันสมัย พอเจอแบบเรียบง่ายเลยงง นี่แล้วแต่ผู้ควบคุมดูแลเว็บไซต์เองนะครับ) รวมถึงคำสั่งการให้ทำเป็น E Book ซึ่งจะยกเลิก หรือลบทิ้งก็ยังทำไม่สำเร็จ

ข้อเสนอแนะให้ดียิ่งขึ้น

  • ควรส่งจดหมายถึงสมาชิกทุกคนอย่างสม่ำเสมอ (ทุกอาทิตย์ได้ยิ่งดี) เป็นการกระจายข่าวที่ดี ๆ เช่น ข้อความที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด 10 อันดับแรกในห้วงที่ผ่านมา ไม่ได้เน้นให้เป็นการแข่งขัน แต่เป็นการแนะนำเรื่องใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และไม่ต้องให้รางวัลหรอก เพราะผู้ที่เขียนเข้ามาไม่มีจุดประสงค์เพื่อล่ารางวัล
  • ส่งสถิติการเยี่ยมชม ให้เจ้าของข้อความได้รับทราบแนวโน้ม เป็นภาพรวม โดยรวบรวมแบบกระทบยอดไปเรื่อย ๆ ว่าเรื่องใดที่มีผู้คนสนใจติดตามมาก (ทำแบบกะทัดรัด ได้ใจความก็พอ เป็นการวิเคราะห์) ส่วนที่เป็นรายละเอียด ถ้าต้องการทราบ ให้เจ้าของผลงานต้องเข้าไปดูใน Profile ด้วยตนเอง
  • นอกจากการให้ดอกไม้แล้ว ควรจะมีการให้ Download ได้ และมีการนับจำนวนครั้งด้วย เพื่อผู้ประพันธ์จะได้ทราบว่า มีผู้นำไปใช้ประโยชน์ต่อแล้ว จะได้เป็นความภูมิใจลึก ๆ ว่า ที่ทำมาไม่เสียแรงโดยเปล่าประโยชน์
  • ในอนาคต Go To Know อาจเพิ่มความสามารถ ให้นำเอกสารประกอบการบรรยายในรูปแบบ PowerPoint ที่ผู้บรรยายใจดีบางคน นำมาเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับทราบ เป็นการแบ่งปันความรู้ (เพราะยิ่งให้ก็จะยิ่งได้)

ข้อคิดคำคม Tryon Edwards (1809 - 1894) กล่าวไว้ว่า "If you would thoroughly know anything, teach it to others." หมายถึง การจะรู้จริงได้ ให้นำไปสอนผู้อื่น (เพราะการจะสอนผู้อื่น เราต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้น ๆ อีกมาก ใช้เวลามากกว่าที่จะใช้สอนจริง ๆ เสียอีก) และ Henry Ford (1863 - 1947) กล่าวไว้ว่า "Whether you think you can or think you can't - you are right." หมายถึง การทำได้หรือทำไม่ได้ อยู่ที่เราคิด (ถ้าเราคิดว่าทำได้ เราก็ต้องพยายามหาหนทาง และมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ จนกว่าจะสำเร็จ)

สรุป

เคล็ดลับ (วินัย) ส่วนตัว ในการเขียนบทความ

  • ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ (เช่นเดือนละ 1 หรือ 2 บทความ)
  • กระตุ้นตนเองให้ขยันเขียนเข้าไว้ (ว่าต้องทำให้สำเร็จให้จงได้)
  • กำหนดเส้นตาย (อย่าให้มีข้อแก้ตัวบ่อยนัก)

**********************************************

หมายเลขบันทึก: 587315เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2015 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2015 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์น้อมรับนำไปปรับปรุงค่

นำภาพมาประกอบครับ ขอบพระคุณครับ อาจารย์ หมอ มารวย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท