แฟ้มสะสมงาน


7. แฟ้มสะสมงาน

ความหมาย

แฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) หมายถึง แหล่งรวมข้อมูลที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยข้อมูลดังกล่าว จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์สำหรับประเมินผลการทำงาน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการทำงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป การเก็บรวมรวมข้อมูลจึงควรครอบคลุมประเภทต่างๆ ที่เป็นหลักการสำคัญในการจัดทำแฟ้มสะสมงาน

ประเภทของแฟ้มสะสมผลงาน

1. แฟ้มสะสมผลงานส่วนบุคคล (personal portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับตัวเจ้าของแฟ้ม เช่น พรสวรรค์ งานอดิเรก สัตว์เลี้ยง การท่องเที่ยว และการร่วมกิจกรรมกับชุมชน เป็นต้น
2. แฟ้มสะสมผลงานเชิงวิชาชีพ (professional portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงผลงานเกี่ยวกับอาชีพ เช่น แฟ้มสะสมงานเพื่อใช้ในการสมัครงาน แฟ้มสะสมงานเพื่อเสนอขอเลื่อนระดับ เป็นต้น
3. แฟ้มสะสมผลงานเชิงวิชาการ (academic portfolio) หรือแฟ้มสำหรับนักเรียน (student portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงผลงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ เช่น แฟ้มสะสมงานเพื่อใช้ประเมินผลการผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ แฟ้มสะสมงานเพื่อใช้ประกอบการประเมินผลปลายภาค/ปลายปี เป็นต้น
4. แฟ้มสะสมผลงานสำหรับโครงการ (project portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความพยายามหรือขั้นตอนการทำงานในโครงการหนึ่งๆ หรือในการศึกษาส่วนบุคคล (independent student) เช่น แฟ้มโครงงานวิทยาศาสตร์ ในแฟ้มประกอบด้วยภาพของวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้และแสดงขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินงานจนได้ผลผลิตที่ต้องการ เป็นต้น แม้ว่าแฟ้มสะสมผลงานจะสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภทก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ การจัดทำแฟ้มสะสมงานมักจะอยู่ในประเภทแฟ้มสะสมผลงานส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ในการศึกษาก็มักจะกระทำเฉพาะแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนเท่านั้น การจัดทำแฟ้มสะสมงานประเภทอื่นๆ ยังไม่ปรากฏแพร่หลายนัก

วิธีการสร้าง
1. รวบรวมผลงานที่แสดงถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ
2. รวบรวมผลงานที่แสดงลักษณะเฉพาะของผู้เรียน
3. ดำเนินการควบคู่กับการเรียนการสอน
4. เก็บหลักฐานที่เป็นตัวอย่างที่แสดงความสามารถในด้านกระบวนการและผลผลิต
5. มุ่งเน้นในสิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้

การนำไปใช้

การใช้แฟ้มสะสมผลงาน นอกจากนำมาใช้สำหรับประเมินผลนักเรียนโดยตรงแล้ว ครูผู้สอนยังสามารถนำแฟ้มสะสมผลงานมาใช้ในกิจกรรมอย่างอื่นได้ดังต่อไปนี้

1นำมาใช้สอนนักเรียนให้รู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง และสะท้อนให้เห็นความคิดของนักเรียน
2.กระตุ้นให้นักเรียนเกิดทักษะในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้ หลังจากที่นักเรียนได้พิจารณาทบทวนเลือกงานของตนไว้ในแฟ้มสะสมผลงานแล้ว โดยพยายามให้นักเรียนนึกถึงคำถามต่างๆ เช่น
อะไรส่งเสริมให้งานที่นักเรียนทำกลายเป็นงานชิ้นเอก
ผลงานชิ้นนี้มีความแตกต่างจากงานชิ้นอื่นๆ ที่ทำอย่างไรบ้าง
ผลงานชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ฯลฯ

3.ให้นักเรียนพิจารณาทบทวนแฟ้มในแง่ของการผลิตและการให้ข้อสนเทศต่างๆ โดยการนำแฟ้มมาอภิปรายกับนักเรียนที่เป็นเจ้าของรวมทั้งคนอื่นๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนมองเห็นความก้าวหน้าของตนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถนำไปแสดงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนขณะนั้น และยังสามารถนำมากำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ในอนาคตได้ ตัวนักเรียนเองอาจนำแฟ้มของตนไปอภิปรายกับเพื่อนๆ เพื่อประกาศถึงความสำเร็จ และเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผลงานในอนาคต

4.นักเรียนสามารถนำแฟ้มของตนเองไปแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ปกครองของตน ทำให้ผู้ปกครองทราบถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความต้องการของนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

5.เมื่อสิ้นปีการศึกษา ครูสามารถนำแฟ้มในวิชาต่างๆ ของนักเรียนแต่ละคนมาพิจารณาทบทวนร่วมกันกับนักเรียนว่า จะเลือกผลงานชิ้นใดเพียงบางชิ้นเป็นตัวแทนของผลงานทั้งหมด เพื่อนำมาเก็บไว้ในแฟ้มสะสมผลงานระดับโรงเรียน ซึ่งสามารถใช้แสดงถึงระดับความเจริญงอกงาม ผลงานที่ยอดเยี่ยม และผลสัมฤทธิ์สูงสุดของนักเรียนคนนั้นได้ ผลงานที่เก็บรวบรวมเพิ่มในแต่ละปีการศึกษา จึงเป็นเสมือนประตูที่เปิดให้เห็นถึงความคิดและผลสัมฤทธิ์ตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนบางแห่งจึงนำแฟ้มระดับโรงเรียนมารวมกันและมอบให้นักเรียนเมื่อต้องย้ายโรงเรียนกลางคันหรือตอนที่เรียนจบแล้ว

6.ผลงานในแฟ้มสะสมผลงาน บางครั้งอาจไม่นำมารวมไว้ในแฟ้มระดับโรงเรียน แต่จะให้นักเรียนนำกลับไปบ้านให้ผู้ปกครองและตัวนักเรียนเก็บไว้ แฟ้มสะสมงานที่เก็บผลงานเหล่านี้ จะเป็นแฟ้มสะสมผลงานของผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจร่วมกันระหว่างนักเรียนและผู้ปกครอง

ข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี:
1.เพิ่มแรงจูงใจในการเรียนของนักเรียน
2.พัฒนาทักษะทางวิชาการระดับสูงแก่นักเรียน
3.พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมเพื่อให้งานสำเร็จ
4.เป็นการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้จากนามธรรมไปสู่รูปธรรม
5.แสดงพัฒนาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่องและนักเรียนได้ปรับปรุงงานตลอดเวลา
6.วัดความสามารถของนักเรียนได้หลายด้าน
7.เป็นกิจกรรมที่สอดแทรกอยู่ในสภาพการเรียนประจำวันที่มีประโยชน์ต่อชีวิต นักเรียนในสภาพชีวิตจริง
8.นักเรียนมีความตระหนักในการมีส่วนร่วมในการเรียน การแก้ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูลหรือการเก็บรวบรวมข้อมูล ในการสอบปกติถ้าไม่สอนเรื่องเหล่านี้โดยตรงแล้ว นักเรียนจะมีโอกาสเรียนรู้เรื่องนี้ได้น้อยมาก
9.นักเรียนได้มีโอกาสในการแสดง สร้างสรรค์ ผลิตหรือทำงานด้วยตนเอง

ข้อเสีย:
1. การใช้แฟ้มสะสมงานประเมินผลผู้เรียนยังมีปัญหาในเรื่องความเชื่อมั่นหรือความเห็นที่สอดคล้องกันในการประเมิน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการกำหนดเกณฑ์ในการประเมินยังไม่ค่อยชัดเจน หรือไม่ตรงกันผลการประเมินจึงไม่สอดคล้องกัน
2. ใช้เวลามากเนื่องจากผู้เรียนต้องใช้เวลาในการเก็บรวบรวมผลงานรวมทั้งครูและผู้เรียนยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาตรวจทานซึ่งโดยทั่วไปครูจะตรวจทานคนเดียวกับผู้เรียนทั้งชั้นทำให้ต้องใช้เวลามาก
3. มีปัญหาเรื่องสถานที่เก็บรวบรวมผลงานโดยเฉพาะครูที่สอนหลายวิชาในแต่ละปีจะมีแฟ้มสะสมงานของผู้เรียนแต่ละวิชาแต่ละชั้นจำนวนมาก

พีระพงษ์ เครื่องสนุก

11/03/58

หมายเลขบันทึก: 587307เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2015 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2015 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท