​ค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน...อีกหนึ่งต้นแบบค่ายอาสาพัฒนาบนฐานวิชาชีพ


เป็นค่ายอาสาพัฒนานอกชั้นเรียนที่มีความโดดเด่นในมิติการบูรณาการบนฐานวิชาชีพอย่างน่าสนใจ เสมือนการผสมผสานระหว่างกิจกรรมในหลักสูตรกับกิจกรรมนอกหลักสูตรได้อย่างลงตัว ครบอรรถรส "บันเทิง เริงปัญญา"


โครงการค่าย "หมอยาเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ ๑๑" ของชมรมหมอยาในสังกัดสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ ในวันที่ ๖-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ ชุมชนบ้านมะค่า ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม นับเป็นค่ายอาสาพัฒนานอกชั้นเรียนที่มีความโดดเด่นในมิติการบูรณาการบนฐานวิชาชีพอย่างน่าสนใจ เสมือนการผสมผสานระหว่างกิจกรรมในหลักสูตรกับกิจกรรมนอกหลักสูตรได้อย่างลงตัว ครบอรรถรส "บันเทิง เริงปัญญา" ซึ่งมีประเด็นการขับเคลื่อนสำคัญๆ ดังเช่นตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • ๑.ชุมชนเป็นชั้นเรียน (Community-based learning) : มุ่งเน้นการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมหลักคือการสำรวจและสังเคราะห์ประเด็นสุขภาวะของชุมชน เพื่อให้เห็นสถานการณ์ด้านระบบสุขภาพชุมชน เช่น ข้อมูลแกนนำสุขภาพชุมชน (อสม.) ข้อมูลโรคเรื้อรัง สำรวจเรื่องสมุนไพรและปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงการเรียนรู้บริบทชุมชน

  • ๒.บริการบนฐานวิชาชีพ : มุ่งนำองค์ความรู้ไปสู่การบริการสังคม คล้ายคลึงกับการบริการวิชาการแก่สังคมผ่านกิจกรรมสำคัญๆ คือ การให้ความรู้เรื่องระบบดูแลสุขภาพ ให้บริการตรวจพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งสอดรับกับอัตลักษณ์ของนิสิตในสังกัดคณะเภสัชศาสตร์ คือ "ผลิตบัณฑิตให้รอบรู้เรื่องยาและสุขภาพ เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมและพัฒนางานวิจัยด้านเภสัชศาสตร์"



  • ๓.ใช้เครื่องมือเรียนรู้ชุมชน : มีกระบวนการสำรวจข้อมูลชุมชนผ่านการสัมภาษณ์ แบบสอบถาม ภาพถ่ายและสังเคราะห์ข้อมูลสู่การจัดทำแผนที่/แผนผังระบบสุขภาพชุมชน โดยเฉพาะตำแหน่งอันเป็นแหล่งสมุนไพรในชุมชน ตลอดจนระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับสมุนไพรชุมชน ทั้งที่เป็นแหล่งที่ตั้ง คุณลักษณะอันเป็นสรรพคุณ และการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน ซึ่งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านระบบภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องสมุนไพรด้วยเช่นกัน
  • ๔.สหกิจกรรมแบบบันเทิงเริงปัญญา : มุ่งจัดกิจกรรมแบบบูรณาการ (สหกิจกรรม) บนฐานของการเรียนรู้คู่บริการ หรือวิชาการคู่กับการบริการสังคมผ่านกิจกรรมหนุนเสริมอื่นๆ เช่น ปรับปรุงห้องพยาบาลในโรงเรียน จัดบอร์ดนิทรรศการความรู้ในโรงเรียน กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์-กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวค่ายกับชุมชน (นักเรียนและชาวบ้าน) ซึ่งมีทั้งกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ทั่วไปและกิจกรรมรอบกองไฟอันเป็นกิจกรรมธรรมเนียมนิยมของชาวค่ายอาสาพัฒนา
  • ๕.ขับเคลื่อนบนฐานการมีส่วนร่วม : มุ่งขับเคลื่อนกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมอย่างน่าสนใจ กล่าวคือการทำงานร่วมกันระหว่าง "อาจารย์กับนิสิต" เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ยึดโยงกับวิชาชีพ อาจารย์ในคณะจึงทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมอย่างใกล้ชิด มีการสลับหมุนเวียนลงพื้นที่ไปดูแลให้คำปรึกษาแก่นิสิต เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้แก่นิสิตผ่านการปฏิบัติจริงโดยใช้ชุมชนเป็นชั้นเรียน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงให้เห็นหลักการทำงานระหว่าง "มหาวิทยาลัยกับชุมชน" เช่น การนำพาแกนนำสุขภาพชุมชน (อสม.) มาร่วมเป็นทีมหลักในการจัดกิจกรรมร่วมกับอาจารย์และนิสิต สะท้อนปรัชญาการทำงานแบบ "เรียนรู้คู่บริการ" สร้างตัวตนเชิดชูศักยภาพของแกนนำชุมชนไปในตัว พร้อมๆ กับการสื่อให้เห็นถึงกระบวนการที่ชุมชนต้องดูแลชุมชนด้วยตนเองในอีกช่องทางหนึ่ง



นอกจากนี้โครงการค่าย "หมอยาเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ ๑๑" ยังมีจุดเด่นอีกประการคือการเลือกพื้นที่ กล่าวคือเป็นการต่อยอดการเรียนรู้ในพื้นที่เดิมที่นิสิตรุ่นพี่และอาจารย์เคยได้จัดกิจกรรม เสมือนการเป็น "เครือข่าย" เรียนรู้คู่บริการต่อกันแอยู่แล้ว จึงก่อให้เกิดความคุ้นเคย ผูกพันและมีพลังในมิติของการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับการดำเนินงานก็มิได้จำกัดกลุ่มเป้าหมายอยู่แต่เฉพาะแกนนำชุมชน แกนนำด้านสุขภาพในชุมชนและประชาชนทั่วไปเท่านั้น ทว่ามีกิจกรรมในระดับเด็กและเยาวชนควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน เสมือนการทำงานภายใต้หลัก "บวร" นั่นเอง



ในทางด้านกระบวนการอื่นๆ นิสิตชมรมหมอยาได้ใช้แนวคิดเรื่อง PDCA ควบคู่ไปกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นระบบและกลไกของการขับเคลื่อนกิจกรรม โดยใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชนเป็นหัวใจหลัก รวมถึงการบริหารจัดการโครงการบนสถานการณ์ความจริงอยู่ตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากกรณีสำคัญๆ เช่น ประชุมสรุปผลการดำเนินงานในแต่ละวัน หรือเมื่อมีนิสิตเข้าร่วมเป็นจำนวนมากก็มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นปัจจุบัน ด้วยการสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงานของแต่ละคนในแต่ละวันให้ทั่วถึงให้ได้มากที่สุด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ในเรื่องของความเป็นผู้นำและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านการลงมือทำจริง


หมายเหตุ :

  • เขียนขึ้นจากแรงบันดาลใจของการถอดบทเรียนย้อนหลังการจัดกิจกรรมของนิสิต
  • ภาพ : นิสิตจิตอาสา และนิสิตคณะเภสัชศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 587300เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2015 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท