แบบสัมภาษณ์


4. แบบสัมภาษณ์

ความหมาย

การสัมภาษณ์ คือ การสื่อสารระหว่างบุคคลซึ่งแตกต่างจากการสนทนาโดยทั่วไป เพราะการสัมภาษณ์จะต้องมีจุดมุ่งหมาย ต้องเตรียมคำถามและติดต่อกับผู้ให้สัมภาษณ์โดยมีกำหนดเวลาที่แน่นอน

การสัมภาษณ์มีจุดมุ่งหมายทำนองเดียวกับการใช้แบบสอบถาม จึงมีผู้เรียกการสัมภาษณ์ว่าเป็นแบบสอบถามปากเปล่า (Oral Questionnaire) แต่มีความแตกต่างกันตรงวิธีการ กล่าวคือ การสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายซักถามโดยการพูด ผู้ตอบก็ตอบโดยการพูดแล้วผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายบันทึกคำตอบ ส่วนการใช้แบบสอบถาม ผู้ตอบตอบโดยการเขียนตอบลงในแบบสอบถาม

การสัมภาษณ์จะได้ข้อมูลที่ดีหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับผู้สัมภาษณ์เป็นสำคัญ ในการสัมภาษณ์บางกรณีก็มีการใช้แบบสัมภาษณ์ช่วยเป็นแนวทางสำหรับผู้สัมภาษณ์ แต่ในบางกรณีก็ไม่ได้ใช้แบบสัมภาษณ์ประกอบการสัมภาษณ์แต่อย่างใด ดังนั้นถือว่าตัวผู้สัมภาษณ์เป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนแบบสัมภาษณ์เป็นเพียงเครื่องช่วยบันทึกข้อมูลด้วย เช่น แถบบันทึกเสียง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ถูกสัมภาษณ์

ประเภทของแบบสัมภาษณ์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1) การสัมภาษณ์แบบไม่มีคำถามแน่นอน (Unstructured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีกำหนดคำถามที่แน่นอนตายตัว หรือหากมีการกำหนดไว้บ้างก็เป็นคำถามประเด็นหลัก ในการสัมภาษณ์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำถามเหมือนกัน การเรียงลำดับคำถามก็ไม่ต้องเหมือนกัน ผู้ถามสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานการณ์และผู้ตอบ เป็นการสัมภาษณ์ที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง ผู้ถามมีอิสระในการถามเพื่อให้ได้คำตอบตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย ข้อมูลที่ได้รับไม่นิยมเอามาเปรียบเทียบกัน ไม่ได้มุ่งเอามาพิสูจน์สมมุติฐาน นอกจากนี้คำถามที่ใช้และคำตอบที่ได้รับ อาจนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างแบบสัมภาษณ์ สำหรับใช้ในการสัมภาษณ์แบบมีคำถามที่แน่นอนในครั้งต่อ ๆ ไปได้

2) การสัมภาษณ์แบบมีคำถามที่แน่นอน (Structured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีการกำหนดข้อคำถามไว้ล่วงหน้า และในการสัมภาษณ์ผู้ตอบแต่ละคนจะต้องได้รับการถามเช่นเดียวกัน และในลำดับขั้นตอนเดียวกันด้วย ดังนั้น การสัมภาษณ์แบบนี้จำเป็นต้องใช้แบบสัมภาษณ์ที่จัดเตรียมไว้ก่อน การสัมภาษณ์แบบมีคำถามแน่นอนช่วยให้ผู้ถาม ถามตรงประเด็นที่ต้องการ ไม่ออกนอกเรื่อง ไม่เกินขอบเขตที่กำหนดไว้ และข้อมูลที่ได้รับสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

วิธีการสร้าง

การสร้างแบบสัมภาษณ์มีขั้นตอนน้อยกว่าประเภทอื่นๆ เพราะมักเป็นคำถามกว้างๆให้ผู้ตอบตอบโดยอิสระและได้ข้อมูลที่เป็นความจริงมากที่สุด ซึ่งมี 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ

1. ศึกษาทฤษฎี หลักการ ตัวแปร หรือประเด็นสำคัญที่ต้องการทราบข้อมูล
2. สร้างข้อคำถามให้สัมพันธ์กับประเด็นหรือคำสำคัญที่ต้องการทราบข้อมูลโดยยึดหลัก ดังนี้
2.1 ไม่ใช้คำถามที่เป็นการชี้นำให้เกิดคำตอบที่ต้องการ
2.2 ไม่ใช้คำถามที่ทำให้ผู้ตอบรู้สึกต่อต้าน หรือทำให้เกิดอคติในการตอบข้อมูล
2.3 ไม่ใช้คำถามที่เป็นความขัดแย้งค่านิยมของสังคม เพราะผู้ตอบจะตอบตามค่านิยมทำให้ ไม่ได้รับความจริง
3. นำแบบสัมภาษณ์ที่ออกแบบข้อคำถามไปตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา
4. นำแบบสัมภาษณ์ที่ผ่านการทดสอบความตรงทดลองใช้กับผู้ที่มีลักษณะใกล้เคียง

การนำไปใช้

1. ใช้กับแบบรายบุคคล(One-On-One Interview)
- เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้สมัครรู้สึกเป็นกันเอง
- มีความรวดเร็ว
-ใช้กับการสัมภาษณ์ในระดับตำแหน่งที่ไม่สูงมากนัก
- เป็นวิธีการที่เกิดอคติได้ง่าย
- Ex: เสมียน พนักงานพิมพ์ดีด

2. ใช้กับแบบกลุ่ม(Group Interview)
- ใช้กับผู้สมัครหลายคนแลกเปลี่ยนหรือแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
- ประหยัดเวลาในการสัมภาษณ์

3. ใช้กับแบบคณะกรรมการ(Board Interview)
- ใช้สัมภาษณ์ในตำแหน่งที่สำคัญ เป็นพนักงานระดับสูง

4. ใช้กับแบบกดดัน(Stress Interview)
- ทำให้ผู้สมัครเกิดอาการเครียด ยั่วยุให้อารมณ์เสีย
- ดูพฤติกรรมที่เกิดขึ้นว่าสามารถควบคุมอารมณ์ได้หรือไม่ เพียงใด
- Ex: งานด้านบริการ พนักงานขาย พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์

ข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี:
1. สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีปัญหาในการอ่าน หรือการเขียน
2. ทำให้ได้ข้อมูลโดยตรงจากแหล่งข้อมูลประเภทบุคคล
3. ได้ข้อมูลที่ไม่สามารถเขียนตอบโดยตรง
4. ระหว่างการสัมภาษณ์สามารถสังเกตความจริงใจในการตอบของผู้ถูกสัมภาษณ์จากกิริยา ท่าทางได้
5. ระหว่างการสัมภาษณ์ ตรวจสอบคำตอบได้และสามารถหาข้อมูลได้ลึกขึ้นเมื่อเกิดข้อสงสัยในคำตอบ

ข้อเสีย:
1. มักสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แรงงาน และเวลามาก
2. เป็นปัญหายุ่งยากในการขจัดความลำเอียงของผู้สัมภาษณ์
3. อาจได้ข้อมูลที่ต้องไม่ครบถ้วน เพราะผู้สัมภาษณ์และ/หรือผู้ถูกสัมภาษณ์อาจจะมีความเครียด กระวน กระวายใจ ลืมถามคำถามบางคำถามไป
4. ถ้าใช้ผู้สัมภาษณ์หลายคน การควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันย่อมทำได้ยาก
5. ที่ตั้งหรือที่อยู่ของผู้ถูกสัมภาษณ์มักจะอยู่กระจัดกระจาย การคมนาคมไปมาไม่สะดวก และภาษาพูด อาจแตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการสัมภาษณ์ อาจจะทำให้โครงการวิจัยต้องล่าช้าหรือล้มเหลวลงไปได้

พีระพงษ์ เครื่องสนุก

11/03/58

หมายเลขบันทึก: 587304เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2015 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2015 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท