"สมอง รองรับทะเลข้อมูลโลก"


pic from www.spo.go.th

สัตว์ พืช อาศัยบนโลกมายาวนาน หลายล้านปี จึงสามารถปรับการดำรงชีวิตให้เหมาะสมในการอยู่รอด อยู่รอดแบบยั่งยืน จนฝังรากเหง้ามาสู่สายพันธุ์ของสัตว์และพืชจนถึงปัจจุบัน สัตว์โลกจึงแพร่พันธุ์อยู่บนโลกเพราะมีประสบการณ์ด้านการปรับตัว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า "วิวัฒนาการ"


การวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดนั้น กลไกหลักในการสร้างสรรค์ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างสรรค์พฤติกรรม การตอบโต้ การตอบสนองโลกเพื่อตัวเองนั้น อยู่ที่โปรแกรมของ "สมอง" สมองคือ เจตจำนงของกลไกและการกระทำทั้งหมดของหน่วยชีวิตหนึ่ง การสะสมบ่มประสบการณ์ของกลไกของร่างกายจึงเป็นรากฐานสำคัญในการวางทิศทางในการเป็นอยู่บนโลกให้ยั่งยืน


สมองจึงเป็นตัวผลักดัน ตัวประสาน เป็นหัวหน้างานทั้งหมด ที่จะขับเคลื่อนให้ชีวิตนั้นๆ เป็นไปในทิศทางใด กระนั้น สมองก็มิได้เกิดเองอย่างอัตโนมัติตั้งแต่เกิด หากแต่อาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลของโลกเอาไว้มากมาย จนสามารถมองเห็นโครงสร้างของโลก สิ่งแวดล้อม และตัวเองได้


ดังนั้น สมองจึงมีข้อมูลโลกจำนวนมาก เพื่อรองรับการดำรงชีวิต เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรม เพื่อปรับตัวให้อยู่รอด จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เราอยู่บนโลก เกือบร้อยปี เราจะต้องมีข้อมูลมวลความรู้มหาศาล แล้วสมองจัดการข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าจะเทียบกับมันสมองของโลกตอนนี้ สมองเหมือนกูเกิล ย่าฮูหรือยูทิวบ์ ที่สะสมองค์ความรู้ เรื่องราวต่างๆเอาไว้มากมาย


ในขณะเดียวกัน สมองเองก็อาจสร้างมายา สร้างจินตนาการหลอกลวงเจ้าของได้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่คือ การจินตนาการของสมอง ที่เป็นธรรมชาติของมันที่ต้องจัดการ วางแผนการ มองอนาคตออก เรียกว่ามีทั้งวิสัย และทุสัยทัศน์ การที่เราจะจัดการสมองให้อยู่ในกรอบ ขอบเขตของตนเองได้ ต้องมีหลัก มีองค์ความรู้ รู้เท่าทันสมองด้วย คือ สามารถจัดการบริหารสมองได้


อีกอย่าง มันเป็นเรื่องน่าคิด และน่าอัศจรรย์ หรือน่าสงสัยอยู่ว่า สมองเป็นแหล่งสร้างคำที่ชาวโลกเรียกว่า "จิต" ได้อย่างไร ทางศาสนามักจะอิงหลักการของตนเองว่า "จิต" คือ อัตตมาที่แท้จริง หมายถึง มันคือทุกสิ่งของชีวิต กิจกรรมทั้งหมดล้วนถูกจิตเป็นผู้สั่งการ ซึ่งแนวคิดนี้อาจมาจากรากเหง้าของนักวัตถุนิยม ที่มองว่า สรรพสิ่งมาจากวัตถุหรือสสสารก่อน


พวกตรงข้ามคือ นักจิตนิยมที่มองว่า กิจกรรมทั้งหมดมาจากการทำงานของจิต หรือเรียกอีกอย่างว่า "วิญญาณ" หากวิเคราะห์ดูจะพบว่า คำว่า "จิต" แปลว่า ธาตุรู้ รู้สึก นึก คิด การรู้ รู้สึก การนึก การคิด มาจากไหน คำตอบคือ "สมอง" สมองมาจากไหน มาจากร่างกายคือวัตถุสสาร ดังนั้น สมองคือ ศูนย์รวมของการรับรู้จากร่างกายซึ่งเป็นสะพานเชื่อมจากระบบประสาท


เพื่อนำเอาองค์ความรู้ไปรวมที่สมอง สมองเป็นผู้กลั่นกรองข้อมูล จึงตกผลึกเป็นภาษา อารมณ์ ความนึกคิด ถ้าสมองมีฐานวิทยาการมากพอ ก็จะเห็นภาพรวมของชีวิต สรรพสิ่งในโลกได้ จึงสามารถมองให้ตรงตามกลไกของโลกและของสิ่งมีชีวิตได้ ตรงกันข้ามคนขาดการศึกษา (แบบระบบ) จึงมีแนวโน้มขาดมุมมองในโลกทัศน์ (แต่ไม่ใช่มาตรฐานสากล)


จิตจึงเกิดมาจากสมอง ที่ได้ความรู้ มาจากโลก ซึ่งผ่านประสาทร่างกายนั่นเอง กล่าวอีกที สมอง จิต ความรู้ จึงเกี่ยวข้องดองกัน เพื่อให้เห็นความต่างในด้านองค์กร กลุ่มต่างๆ ในโลกจึงแบ่ง "จิต" อยู่ในกลุ่มศาสนาเช่น นักการศาสนา นักเทววิทยา ส่วน "สมอง" อยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์เช่น นักกายวิภาค นักฟิสิกส์ แต่ทั้งสองสามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้เรียกว่า "จิตวิทยา (ศาสตร์)" เช่น ซิกมันด์ ฟรอยด์


อันที่จริง เหตุผลที่แบ่งฐานออกเช่นนั้น ก็เพื่อง่ายต่อการศึกษาว่า รากเหง้าและเป้าหมายคือ อะไรนั่นเอง ส่วนวัตถุหรือเนื้อหาของการศึกษาคือ อันเดียวกันนั่นคือ "สมองหรือจิต" ซึ่งคือ สสาร และมีนักปรัชญาสมัยกลางชื่อ เซนท์ โบนาเว็นเจอร์ มองว่า ชีวิตอยู่ในรูปแบบสสารและแบบจิตสสาร ซึ่งต่างจากเพลโต และอริสโตเติ้ลที่มองว่า มาจากแบบและฟอร์ม (matter and Form) ที่ต่างจากพุทธทัศน์ที่มองว่ามาจาก เจตจำนง (กรรม)


อย่างไรก็ตาม ทั้งนักเทวนิยมและนักวิทยาศาสตร์แม้จะมีรากเหง้าที่มีความคิดเห็นต่างกัน แต่ทั้งสองก็สร้างฐานความรู้ให้กับมนุษย์ยุคปัจจุบันได้มากมาย ส่วนสมอง ร่างกาย ชีวิต จิต นั้น มิได้แบ่งแยก มิได้ยินดี ใยดีกับสำนักหรือกลุ่มใด เพราะมันคือ อันเดียวกัน นั่นสะท้อนให้เห็นว่า สมองของมนุษย์ กำลังสนใจเรื่องราวของสมองตนเอง และสะท้อนอีกชั้นว่า สมองมิได้มีขอบเขต ไร้รัศมี เหมือนดั่งจักรวาลนั่นเอง


มองในแง่กายภาพ สมองมีน้ำหนักราวหนึ่งหรือสองกิโลกรัมเท่านั้น แต่เนื้อหา พื้นที่ของมันชั่งกว้างใหญ่มหาศาล ที่หาขอบเขตไม่ได้ เหมือนดั่ง "จิต" ที่หารัศมี ขอบเขตไม่ได้เช่นกัน สมอง จิต จึงเป็นสิ่งใหม่ และเป็นสิ่งที่ท้าทายมันสมองของมนุษย์ต่อไป แต่กระนั้น สมองต้องได้รับการเสี้ยม การฝึกฝน การสะสม การกระตุ้น การเรียรู้ อย่างเป็นระบบก่อน จึงจะเห็นรัศมีความไร้ขอบเขตของมัน นี่คือ ธรรมชาติที่สร้างสรรค์สัตว์ มนุษย์ ให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสมองอันน้อยนิด แต่มีพลังมหาศาล เราจะเรียนรู้มากมายเท่าไหร่ สมองก็ไม่มีวันเต็ม


ตรงกันข้ามเรามักจะมองว่า "จิต" อิ่มเต็มได้ แต่จิตเองก็มีความซับซ้อนด้านจินตนาการ มีพลังพิเศษ มีจุดอิ่มที่เปี่ยมด้วยสุข หรือทุกข์ได้ เช่น ยามเราฝึกปฏิบัติธรรม จิตจะนิ่ง ดิ่งในอารมณ์นั้น ทำให้เรามองเห็นสรรพสิ่ง ความจริงของโลกและตัวเองได้ และจิตนี้อาจจะแสดงฤทธิ์ได้ด้วย ตรงกันข้าม หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบคั้น จิตก็อาจะดิ้นรน แสดงจิตกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ด้วยเช่นกัน


ทั้งหมดนี้ สามารถแบ่งการดำเนินการได้ตามฐานต่อไปนี้

๑) "ตามฐานสัญชาตญาณ" สมอง จิต ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม ฯ จะถูกสัญชาตญาณผลักดันไป อย่างอัตโนมัติ อยู่ที่ว่า เราจะฝึกรู้ฝึกสังเกตุ เห็นปรากฎการณ์นี้หรือไม่

๒) "ตามฐานสิ่งแวดล้อม" เพราะสิ่งแวดล้อมจะบังคับ บีบเค้น ให้สัตว์โลกดำรง เปลี่ยนผันไปตามฤดูกาล เช่น ร้อน หนาว ป่า เขา เมือง ชนบท ฯ

๓) "ฐานความรู้" คือ ความรู้ ความเข้าใจ จะเป็นแรงผลักดันให้เราดำเนินไปตามทางความรู้ ที่เรียนมา หากเรียนมาถูกหลักสากล ก็จะดำเนินไปถูกทางสากล ธรรมชาติ หากเรียนมาแบบท้าทายหรือแตกต่างสังคม พฤติกรรมก็จะเป็นไปตามวิทยาการนั้นๆ

๔) "ฐานความรู้สึก นึกคิด อารมณ์ นิสัย สันดาน" จะเป็นตัวกระตุ้นให้สัตว์เปลี่ยนแปลงหรือไหลไปตามนิสัย ความเคยชินนี้เอง

๕) "ฐานกากระทำ" ซึ่งมาจากองค์ประกอบหลายๆ อย่างผลักดัน ให้สัตว์ มนุษย์ แสดง กระทำ ไปตามอำนาจกรรม ที่เกิดจากใจ จากกาย จากสัญชาตญาณ และอื่นๆ ซึ่งเรียกว่าวิถีนี้ว่า กรรมลิขิต

๖) "ฐานร่างกาย" อันเป็นกลไกที่ถูกสร้าง วางโปรแกรมมาตามกาลเวลา กฎของโลก ที่แสดงกิจกรรมภายในประจำ เช่น กิน ถ่าย ย่อย นอน ง่วง หิว แก่ เจ็บ ป่วย เคลื่อนไหว พูด เดิน ตาย ฯ

๗) "ฐานสังคม" คือ เราเกิดมาในสังคมนั้น ย่อมจะถูกสังคม อุดมคติ วัฒนธรรม ศาสนา ค่านิยมต่างๆ สร้างสรรค์ วางไว้เป็นประเพณี ธรรมเนียมให้ยึดถือ ปฏิบัติ สมอง จิตใจ จึงถูกฝัง ถูกโปรแกรมเหล่านี้ไว้ในสมองแล้ว

๘) "ฐานทรัพย์สิน เงินทอง" นี่คือ ค่านิยม ที่สังคมเมือง ต้องการ อยากได้ ใฝ่หา จนกลายเป็นพฤติกรรมหลักในการดำเนินชีวิต จนสมองล้วนถูกสั่งให้หาเงิน ทอง เพื่อสนองร่างกาย หรือค่านิยม ความสุข เพราะเงิน หรือทรัพย์คือ บันไดแห่งความสำเร็จ ความอยาก ที่ต่อความอยากไม่รู้จบสิ้น จนหลงวนอยู่วังอัตตาตัวเอง

๙) "ฐานการหลงตัวเอง" นี่คือ ฐานที่เรามองว่า ต้องรักษาสิทธิ ต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพ เพราะอัตตา มันคือ ตัวแทนทั้งหมดขององคาพยพนี้ เมื่อเราถูกสร้าง ถูกฝึก จนเชี่ยนวชาญในด้านต่างๆ หรือทำงานระดับชาติได้ อัตตาตัวตน เราจะโดดเด่นมาก จนเราหลงในหน้าตา ตำแหน่ง อำนาจ วาสนา ฐานะ การงาน ฯ จนมองไม่เห็นอัตตาจอมปลอม เมื่อแก่ชรา หมดอำนาจ หมดฤทธิ์ จึงจะเข้าถึงสัจธรรมของมายาโลก นั่นก็เพราะเรามีสมอง ที่ช่วยเราให้มองเช่นนี้

๑๐) "ฐานข้างในภพ" คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กิเลส ฯ ซึ่งทางศาสนาเรียกว่า อุปกิเลส ซึ่งจะคอยกระตุ้นให้เราอยาก คิด ยึด ดิ้นรน ค้นหาอยู่ประจำ เพื่อสนองมันเอง นี่คือ แรงที่ฝ่ายศาสนามองว่า เป็นอุปสรรคสำคัญในการข้ามพ้น เหมือนทะเลแห่งอุสรรคที่ข้ามไปสู่ความอิสระทางจิตใจ คือ พระนิพพาน


ดังนั้น สมองมีทั้งมุมบวก และมุมลบ ที่จะสร้างสรรค์ให้เราเป็นไป อยู่ที่ว่า เราจะจัดการ บริหารความรู้ในสมอง (KM) ให้อยู่กรอบสัจธรรมของโลกได้อย่างรู้เท่าทันสมองของเราอย่างไร มนุษย์ค่อนโลก หลงจมอยู่ในสมองของตนเองทั้งสิ้น ถ้าถอดถอน ล้างสมอง ล้วงเอาสิ่งต่างๆ ออกให้ว่าง ก่อนจะลาโลกนี้ไป จิตวิญญาณแท้ จึงจะสงบสุขอย่างแท้จริง เหมือนที่ตอนเราเกิดมาที่สมองกลวงๆ นั่นแล

---------------๑/๓/๕๘------------------

คำสำคัญ (Tags): #สมองโลก
หมายเลขบันทึก: 586927เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2015 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2015 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

I am stuck with a few clauses in theis blog but the last one: ...เหมือนที่ตอนเราเกิดมาที่สมองกลวงๆ... got me wondering if we are really born "unprogrammed". I thought of insects, turtles, artificially hatched chicks, and many lizards -- eggs are laid and left to hatch; babies come out and soon start walking, swimming, hunting, living, mating, laying eggs, ... without schooling! Why should human be a lot more different than other "lifeforms" (of the same DNA evolution)? Is there a basic (start up) program (imbedded in "a brain" [of the 3/4 brains human are born with] of a deeper/low level) that not only 'controls' growth (so human grows to be in human form; and insects grow as insects) but also behaviour (how they eat, walk, fly, mate, die, etc.)?

I also made points to look up เจตจำนง (กรรม) (cedana =? kamma), สมองหรือจิต (brain or citta), จิต หรือเรียกอีกอย่างว่า "วิญญาณ" [ from this passage นักจิตนิยมที่มองว่า กิจกรรมทั้งหมดมาจากการทำงาานของจิต หรือเรียกอีกอย่างว่า "วิญญาณ" หากวิเคราะห์ดูจะพบว่า คำว่า "จิต" แปลว่า ธาตุรู้ รู้สึก นึก คิด การรู้ รู้สึก การนึก การคิด มาจากไหน คำตอบคือ "สมอง" สมองมาจากไหน มาจากร่างกายคือวัตถุสสาร สมองคือ ศูนย์รวมของการรับรู้จากร่างกายซึ่งเป็นสะพานเชื่อมจากระบบประสาท] (as vi~n~naan is not citta in (the books of Tipitaka: Abhidhammas).

Perhaps you would like to explain more?

Oops! I made a typo in เจตจำนง (กรรม) (cedana =? kamma).

It should be เจตจำนง (กรรม) (cetanaa =? kamma).

And thank you ประธาน for the reminder. Though I feel that we have to go and see through a lot before we can see "nothing is there". A summary is only a pointer for learners (like me).

ขอบคุณคุณสุนทร ครับ ประเด็นของผมคือ ๑) ผมอยากเสนอความมหัศจรรย์ของสมองเราว่า มันวิเศษอย่างไร? กิจกรรมทั้งหมดในปัจจุบันมาลจากสมองเป็นส่วนใหญ่ แต่สมองก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพโดยตัวเองหากไม่อาศัยกาลเวลา สะสมการเรียนรู้ช่วย เหมือนเด็ก เพราะสมองมีเวลาจำกัด ไปตามร่างกาย เมื่อเป็นเด็กสมองต้องการปริมาณองค์ความรู้จากโลกภายนอก เมื่อแก่สมองต้องเสื่อมไป เลอะเลือนไปตามสังขาร

๒) สมองเป็นแหล่งกำเนิดจิตใหม่ (ปัจจุบัน) มิใช่เป็นจิตเดิม (จิตวิญญาณที่มาเกิด) จิตใหม่อาศัยสมองช่วย และอาศัยจิตเก่าผลักดันด้วย และอีกส่วนอาศัยปัจจัย ๑๐ ประการเสริมหนุนที่กล่าวแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์สายเลือด ยีน ดีเอนเอ (ตามแบบนวทัศน์)

๓) สมองกลวงๆ หมายถึง จิตเดิม จิตแท้ ของสัตว์มนุษย์มีอยู่เรียกว่า "จิตปภัสสร" แต่เมื่อกายเกิดมา ถูกเยื่อใยของโลกห่อหุ้ม ทับถม จิตจึงกลายเป็นมืดบอดหรือถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ หากเราฝึกจิตให้บริสุทธิ์ได้ จิตนี้ก็จะเข้าสู่ทางเดิมคือ จิตแท้ เหมือนที่เซนต้องการ โดยไม่ต้องอาศัยสื่อใดๆ แต่ชาวโลกถูกมายา ถูกกระแสโลกกระตุ้นให้หลงในวังวนนี้ ก็คิดไม่ออก คิดไม่ถึงว่า มันจะมีจิตเดิมอยู่หรือ เหมือนชาวคริสต์ที่ต้องกลับไปสู่อาณาจักรพระเจ้าหลังตาย หรือกลับไปอยู่กับพระพรหมของชาวฮินดู เมื่อถึงโมกษะ

๔) กรรม? เป็นคำกว้างมาก ที่ชาวพุทธยังไม่เคลียร์ เพราะเมื่อพูดเรื่องกรรม มักจะมองในแง่ลบเสมอ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันในกรรมคือ สมอง จิต ปัญญา กรรม (กิจกรรม) ธรรม กิจกรรมทั้งหมดของชีวิตเรา จะแสดงออกสามทางคือ กายกรรม วาทกรรม และจิตกรรม ทั้งหมดต้องอาศัยพลังงานร่างกาย และเจตนาเป็นเครื่องเสริม ส่วนที่กระตุ้นให้เกิดกรรมคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ผัสสะ การไม่รู้เท่าทันตัวกรรม (กระทำ) ด้วยธรรมคือ สติ สัมปชัญญะ จึงทำให้จิตและกิจ ไหลไปผสมกัน เกิดผลสองทางคือ ดี ไม่ดี (ถูกใจ ไม่พอใจ) แต่สำหรับผู้รู้ทันกรรมตนจะมีผลแค่กลางๆ คือ ไม่ดี ไม่ชั่ว เป็นแค่กลาง ที่ไม่กลวง เพราะรู้กรรมนั้นเต็มบริบูรณ์ และไม่ได้ใส่เจตจำนงลงไปเต็มที่ จึงเรียกว่า กิริยากรรม แปลว่า การกระทำไปตามกิริยาการเท่านั้น แล้วคิดดูสัตว์โลกชนิดไหนที่รู้เช่นนี้?

๕) เรื่องนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า สมองของเรา คือ แหล่งจัดการบริหารกรรม ของตนอย่างเต็มที่ได้ พูดอีกแง่คือ เราจะสร้างกรรมเอง มิได้ไปพึ่งพาพระเจ้าหรือพระพรหมใดๆ ดังนั้น สิ่งมีชีวิตเช่นเรา ที่มีสมองใหญ่ มีศักยภาพในการคิด ทำ แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ให้ตัวเองได้ ทีนี้เราเป็นสัตว์โลก ที่ต้องอาศัยข้อมูลโลกเป็นอยู่ เราจึงหลงติดในข้อมูลโลกว่า เรารู้โลก แต่สมองก็ไม่ได้บอกเราว่า นั่นคือ ทางที่คุณกำลังหลง ตัวสมองเองแยกไม่ออก ต้องอาศัยปัญญา (รู้ รอบ รุก รับ ) เพราะมันต้องหาข้อมูลในตัวเองเช่นกัน เพื่อรับประกันความเสี่ยง สมองจึงถูกสร้างมาให้รองรับข้อมูลโลกอย่างไร้ขีดจำกัด ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ จินตนาการเรายิ่งมากตามไปด้วย

แล้วมีสัตว์ชนิดไหนที่คิด สร้าง กำหนด จัดการจิตเองได้ ทวนกระแสโลก วิเคราะห์ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้เท่ามนุษย์ แต่การที่มนุษย์จะทำได้เช่นนี้ ต้องอาศัยการฝึกฝน ทบทวน องค์ความรู้มากมาย เป็นเครื่องช่วย นี่เป็นการสะท้อนกิจกรรม มหกรรม (อัตตาหิ นาโถ) ที่ปรากฎในสมอง ในขอบเขตของมนุษย์เอง มิใช่พระเจ้า มิใช่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน ที่เกิดมาต้องไหลไปตามโลก เพราะมีโปรแกรมจากดีเอนเอ และยีนกำหนดไว้แล้ว ส่วนมนุษย์แม้จะมีเช่นนั้น เราก็ไม่ได้ไปไหลไปตามนั้นเสมอไป เราสามารถฉีกทาง แตกต่างตามศักยภาพของสติ ปัญญา ของเราด้วย

๖) เจตจำนง นั้น หมายถึง ธาตุเดิม ธาตุกำเนิดกรรม โชเปนฮาวเออร์เรียกว่า "The will" ไทยแปลว่า เจตจำนง พุทธแปลว่า เจตนาหรือกรรม (ตั้งใจ กระทำ การเคลื่อนไหว ความมุ่งมั่น การไหลไป) เช่น เจตจำนงของการกระทำของโจร มักจะบอกว่า ไม่ได้เจตนา แปลว่า เขาไม่ได้มุ่งหมายที่จะทำเช่นนั้น แต่เพราะบังเอิญหรืออุบัติเหตุ อย่างนี้ถือว่า ไม่ได้เจตนา หรือกรณีอื่นเช่น พิการ สติไม่สมบูรณ์ เมา ยากระตุ้น บ้า ฯ อย่างนี้ถือว่า ไม่เป็นกรรม (ในแง่สังคมนิยาม) แต่ในหลักการกรรม ถือว่า เป็นกรรมอยู่ดี

เนื่องจากว่า ปัจจุบันผู้คนไม่อิงธรรม ไม่เคารพธรรม จึงละเมิดธรรม จึงถือธรรมแบบมายา คือ อาศัยธรรม ที่ไม่เป็นธรรม เช่น โจรมักจะบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้เจตนา ซึ่งเขาไม่อาจยอมรับซึ้งๆหน้าต่อคนอื่น จึงโกหกเอาตัวรอด กระนั้น ก็ไม่พ้นผิด เพราะมีกล้องวงจรปิดจับอยู่ เมื่อจนด้วยหลักฐานเท่านั้น เขาจึงจะยอมรับกรรมนั้น นี่คือ กระแสคนยุคใหม่ที่ใช้คำว่า เจตนาหรือกรรมอย่างผิดๆ

ขอบคุณคุณsr ที่แสดงความเห็นนะครับ ผมตอบตรงประเด็นหรือไม่ ต้องขออภัยด้วย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท