พัฒนาจิตใจให้ปล่อยวางทาง ‘วัตถุ’


ปฐมฐานด้านความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันมักจะยึดติดว่า การที่จะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อ มีวัตถุมาบำรุงบำเรออย่างพรั่งพร้อม ฐานความคิดดังกล่าวก็จะมาเป็นตัวกำหนดบทบาท แนวทางในการประพฤติปฏิบัติกำกับพฤติกรรมโดยการ พยายามเสาะแสวงหาความมั่งคั่งและวัตถุมาสนองตอบต่อความต้องการ (ไม่มีที่สิ้นสุด) ให้ได้มากที่สุด ก็จะกลายเป็นว่า ต่างคนต่างพยายามหาวัตถุ มุ่งเข้าสู่ลู่ทางแห่งการแก่งแย่ง แข่งขัน นำไปสู่การเบียดเบียนกัน รวมทั้งก้าวล่วงไปตักตวงและเบียดเบียนธรรมชาติในที่สุด

การพัฒนาจิตใจให้มีความรู้เท่าทัน 'กิเลส' เป็นสิ่งที่สำคัญในการนำพาวิถีของชีวิตให้โคจรออกจากวังวนแห่งกับดักของวัตถุ มุ่งตรงเข้าสู่ประตูของเส้นทางแห่งความสุขภายในที่ไม่ใช่การพึ่งพา (วัตถุ) ภายนอก ซึ่งหลักธรรมในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพจิตใจให้สูงขึ้นนั้นมีหลากหลายหลักธรรมที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตคุณธรรมนำทางชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองต่อยอดไปถึงการพัฒนาสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างศานติสุข ซึ่งหลักธรรมที่สำคัญนั้นคือ 'พรหมวิหาร ๔'

พรหมวิหาร ๔ เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่

- เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข

- กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
- มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
- อุเบกขา การรู้จักวางเฉย วางใจเป็นกลาง


๑ เมตตา เป็นไปในลักษณะของการมีไมตรีจิตกับคนทั่วไป เจอใครก็ทักทายยิ้มแย้มแจ่มใส รักใคร่ปรารถนาดีต่อทุกคน เมื่อมีเมตาคอยกำกับแล้วมุมมองในเรื่องของการแก่งแย่ง แข่งขัน และเบียดเบียนกันระหว่างมนุษย์รวมทั้งการก้าวล่วงไปตักตวงและเบียดเบียดในธรรมชาติก็จะลดน้อยลง เกี่ยวเนื่องจาก การพร้อมที่จะให้ไมตรีจิตกับทุก ๆ คน

๒. กรุณา เป็นไปในลักษณะที่เห็นใครตกทุกข์ได้ยากก็พร้อมช่วยเหลือเขา หากว่ามีความกรุณาในจิตใจแล้ว "วัตถุ" ภายนอกก็จะลดค่าลงมา เป็นความพรั่งพร้อมที่ใช้ปัญญารวมถึงการจะสละทรัพย์สินบางส่วนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เช่น

- พระมหาสุภาพ พุทฺธวีริโย แห่งวัดป่านาคำ จ.กาฬสินธุ์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่ใช้แนวคิดของพระพุทธศาสนามาพัฒนาปรับใช้ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยพระอาจารย์ได้เล่าว่า เดิมทีท่านเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อท่านเป็นสามเณรและได้เดินธุดงค์มาตั้งแต่อายุ ๑๔ มาอยู่ในป่าช้า และต่อมาได้พัฒนามาเป็นวัดจนถึงปัจจุบัน จากพื้นที่ป่าช้าที่มีอยู่ ๔๓ ไร่ ต่อมาขยายไปอีก ๘๓ ไร่ ท่านแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นวัด ส่วนที่สองเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงซึ่งอยู่หลังวัด และส่วนที่สามเป็นส่วนของการบำบัดผู้ที่ติดยาเสพติดจากศาลแขวงพระนครเหนือโดยการใช้หลักศาสนาบำบัด โดยใช้วิถีชีวิตของความพอเพียงเป็นเครื่องมือ

- บิล เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สองคู่หูเพื่อนซี้ต่างวัย อภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกกลับหลังหัน ๑๘๐ องศาจากการแสวงหาความมั่งคั่งทางด้านธุรกิจ กลับไม่ยึดติดกับวัตถุ รู้จักความพอเพียงทางจิตวิสัย (จิต) อุทิศชีวิตให้กับการกุศลโดยการบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลไปแล้วรวมกันกว่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สรอ. เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคมในด้านต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม

- ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา นักฟุตบอลกองหน้าทีมชาติไอเวอรี่ โคสต์ สังกัดสโมสรเชลซีแห่งพรีเมียร์ลีก (อังกฤษ) ได้รับการจัดอันดับจากไทม์ นิตยสารชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ให้เป็นหนึ่งในร้อยของบุคคลที่มีอิทธิพลต่อคนอื่นมากที่สุดในโลก โดยริชาร์ด สเตนเกิ้ล บรรณาธิการของไทม์ ได้อธิบายว่า

"เดอะ ไทม์ ๑๐๐ ไม่ใช่เฉพาะแค่บุคคลที่ทรงอำนาจ แต่เรายังรวมถึงคนที่มีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งบางคนที่ติดอันดับเป็นบุคคลที่คนทั่วไปรู้จักดีว่าเขามีอิทธิพลมากแค่ไหน แต่เรายังมองหาบุคคลที่นำเสนอไอเดียหรือการกระทำที่เป็นตัวอย่างให้แก่คนอื่น ๆ ในการพัฒนาชีวิตและเปลี่ยนแปลงตัวเองตามแบบคนเหล่านี้"

ดร็อกบาเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและถือได้ว่าเป็นนักฟุตบอลที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในทวีปคนหนึ่ง นอกจากนั้นในระหว่างการคัดเลือกฟุตบอลโลกปีค.ศ. ๒๐๐๖ ที่มีแฟนบอลไอเวอรี่ โคสต์เสียชีวิต ๒๒ ราย เนื่องจากแฟนบอลเหยียบกันตายในสนาม เขาได้บริจาคเงินของเขาเพื่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ให้ประชาชนในประเทศ และยังเป็นนักเตะที่บริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในการกุศลต่าง ๆ มากมายอีกด้วย

๓. มุทิตา เป็นไปในลักษณะของการเห็นใครได้ดี ประสบความสำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้า ก็โมทนาส่งเสริมไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นการฝึกฝนจิตใจให้เป็นคนใจกว้าง มองโลกในด้านดี เกี่ยวเนื่องจาก ความดีและความสำเร็จไม่ได้มีไว้เพื่อให้ใครผูกขาดหรือครอบครองเพียงคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมีใครคนอื่นที่ได้ดี ประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ก็ยินดี ส่งเสริมในความดีและความสำเร็จนั้น เมื่อคิดได้อย่างนี้จิตใจก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตสารตั้งต้นแห่งความใจกว้าง มองโลกในด้านดี นำพามาสู่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งภายในและภายนอก

๔. อุเบกขา เป็นไปในลักษณะของการวางใจเป็นกลาง ให้ความเป็นธรรม เกิดจากผลของการใช้ปัญญาฝึกให้รู้จักรับผิดชอบต่อตัวเอง (จิตสำนึกส่วนตน) และรับผิดชอบต่อส่วนรวม (จิตสำนึกต่อส่วนรวม) ในส่วนของอุเบกขานั้นสิ่งสำคัญท่านว่าเป็นการมี ปัญญา มากำกับในกระบวนการวางใจให้เป็นกลาง เช่น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมหรือแก้ไขปัญหาที่ปัจจัยเหตุได้โดยตรง เกี่ยวเนื่องจาก ปัจจัยเหตุที่มีมีหลากหลายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เราสามารถที่จะใช้อุเบกขาในการวางใจให้เป็นกลางต่อปัจจัยเหตุของวิกฤติทางเศรษฐกิจ แล้วพัฒนาต่อยอดทางปัญญาโดยการรู้เท่าทันของการก่อเกิด ตั้งอยู่และดับไปของกระบวนการวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตโดยการมีอุเบกขาที่เป็นพื้นพัฒนาต่อยอดนำไปสู่การมี 'สติสัมปชัญญะ' กำกับและดูแลอย่างเข้มข้น

คุณธรรม คือ พรหมวิหาร ๔ ซึ่งประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา นั้นท่านว่า เป็นทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ติดตัว ใช้เท่าไรก็ไม่รู้จักหมด มีแต่จะเจริญงอกงามทั้งภายในและภายนอกมากยิ่งขึ้น สร้างความสุขให้เกิดขึ้นภายในแล้วยังมีเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปให้กับคนรอบข้างและต่อยอดไปถึงสังคมโดยรวม...


หมายเลขบันทึก: 586922เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2015 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2015 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยครับ แต่ขอร่วมคิดนะครับ ปัจจุบัน การกระตุ้นให้คนพึ่งธรรม เข้าวัด เข้าหาศาสนานั้นเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากว่า ปัจจุบันชาวบ้านแสวงหาวัตถุนิยมเป็นเป้าหมาย จึงสวนทางศาสนาที่สอนแต่เรื่องให้ละทิ้งวัตถุ ซึ่งชาวบ้านต้องการ

หลักธรรมกับหลักทำ จึงไม่สอดคล้องกัน ทางที่จะประสานกันได้ควรเป็นอย่างที่กลุ่มอโศกทำหรือท่านพระพยอมทำครับ หรือท่านมหาสุภาพทำ โดยสรุปคือ ควรจัดการระบบใหม่ บนฐาน--

๑) "หลักธรรม ไปสู่หลักคิด" หมายถึง วิเคราะห์ชีวิต การเป็นอยู่ในปัจจุบันให้รู้เท่าทันกิเลส และเห็นข้อเสีย และข้อดีฐานธรรม ที่จะสนับสนุนจิต ในคราวิกฤติ

๒) ชาววัดต้องเดินหน้าไปหาฐานการอยู่ การกิน วัตถุนิยม ที่ชาวบ้านต้องการ เพื่อให้เขายืนหยัดได้ แล้วสอนให้พึ่งตนเอง ทำเหมือนแบบชาวอโศก พระพยอม พระมหาสุภาพและกลุ่มอื่นๆ อีกมากมายทำแบบนี้ เรียกวิธีนี้ว่า "หลักทำ ไปสู่หลักธรรม"

๓) "ยกจิต เหนือเงินทอง" คือ การสร้างหลักการวิเคราะห์โลก ชีวิต สังคม ชุมชน ตนเอง เพื่อให้รู้เท่าทันสรรพสิ่งในโลก เพื่อให้จิตอิสระเหนือโลก และพัฒนาจิตใหเป็นต้นแบบของสังคมอุดมคติได้ โดยอิงหลักการศาสนาแบบวิเคราะห์วิปัสสนาวิทยาศาสตร์ ดังที่พระองค์เตือนสาวกมิให้ติดโลก ท่านพุทธทาสมีปญิธาน เรื่อง ให้ออกจากวัตถุนิยม สอนให้รู้จิตติดโลก ติดวัตถุ จึงไปไม่รอด

นี่คือ แนวทางที่จะพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป

ขอบคุณคุณส. รตนภักดิ์ มากครับสำหรับความคิดเห็นดีๆ ที่มีมาฝาก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท