เปรียบเทียบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยและลาว


เปรียบเทียบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยและลาว.doc

เปรียบเทียบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยและลาว
Comparative of Thai and lao Sangha administration
ดร.ธิติวุฒิ หมั่นมี
Dr.Thitiwut Manmee
บทนำ
การบริหารกิจการคณะสงฆ์เปรียบเทียบระหว่างคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์ลาวผู้เขียนได้เขียนบทความนี้เริ่มต้นจากที่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้นำนิสิตหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ ไปสัมมนาทางวิชาการเรื่องการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับความเมตตาจาก ดร.พวงประเสริฐ พูมมะวง ผู้อำนวยการวิทยาสงฆ์องค์ตื้อ และกรรมการองค์กรพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว หรือดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งในการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ได้ข้อสรุปและแนวทางการบริหารกิจการคณสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะสงฆ์ลาว จัดเป็นการบริหารจัดการที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งซึ่งมีบางประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่มีส่วนใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกันกับการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของไทย อย่างไรก็ตามก็มีหลายประการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรที่จะศึกษาและนำมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นถึงความเหมือนและความต่าง ความเหมาะสมและความไม่เหมาะสม โดยผู้เขียนได้ลำดับการเขียนโดยเริ่มต้นที่การบริหารกิจการคณะสงฆ์ของคณะสงฆ์ไทยก่อน จากนั้นจะนำเสนอการบริหารกิจการคณะสงฆ์ลาว และจะวิเคราะห์เปรียบเทียบทั้งสองประเทศในภายหลัง ดังนี้

๑. การบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทย
๑.๑ รูปแบบการบริหาร
การจัดการโครงสร้างการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 การตราพระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดจากความต้องการของรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มุ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับ นโยบายการปกครองประเทศของจอมพลสฤษดิ์ ที่นิยมการรวบอำนาจการติดสินใจเด็ดขาดไว้กับผู้นำที่เข้มแข็ง จอมพลสฤษด์เห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดให้มีการถ่วงดุลอำนาจกันนั้นนำมาซึ่งความ ล่าช้าและความขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงเห็นว่าการแยกอำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ออกเป็น 3 ทางคือ สังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เป็นระบบที่มีผลบั่นทอนประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ให้ต้องประสบอุปสรรคและล่าช้าด้วยเหตุผลดังกล่าวมา คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้นใน พ.ศ. 2503 เมื่อคณะกรรมการทำงานสำเร็จ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาเหตุผลในการประกาศใช้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ"โดยที่การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่กิจการอันแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการถ่วงดุลอำนาจ เช่นที่เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบันและโดยระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการจึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ ให้สมเด็จพระสังฆราชองค์สกลมหาสังฆปรินายกทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถระสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา" สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พอสรุปได้ดังนี้
1. ยกเลิกพระราชบัญญัติ พ.ศ.2484 ซึ่งหมายรวมถึงการยกเลิกสังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ส่วนอำนาจที่องค์กรทั้งสามเคยเป็นผู้ใช้แยกจากกันให้สมเด็จพระสังฆราชและมหาเถระสมาคมเป็นผู้ใช้
2. ผลที่ตามมาก็คือ การยกเลิกตำแหน่งประธานสังฆสภา สังฆนายก และประธานคณะวินัยธร อำนาจหน้าที่ของตำแหน่งทั้งสามถูกรวมกันเข้าและมอบให้ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นผู้ใช้
3. อำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชาคณะสงฆ์เป็นของสมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ใน 2 ตำแหน่ง คือ
3.1 โดยตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก หรือประมุขสงฆ์ไทย ทรงบัญชาการคณะสงฆ์เอง และทรงรับผิดชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 และ
3.2 โดยตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมทรงบัญชาการคณะสงฆ์ร่วมกับมหาเถรสมาคม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 และมาตรา 18
4. มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย
4.1 สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
4.2 สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ปัจจุบันมีสมเด็จพระราชาคณะทั้งสิ้น 6 รูป
4.3 พระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่รูปและไม่ เกินแปดรูปเป็นกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี ตามปกติสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการครบทั้ง 8 รูป จึงทำให้จำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละชุดมี 15 รูป อันประกอบด้วย สมเด็จพระราชาคณะ 6 รูป กรรมการที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง 8 รูป และสมเด็จพระสังฆราชในฐานะประธานกรรมการ
5. อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 มีความว่า "มาตรา 18 มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อการนี้ ให้มีอำนาจตรากฎหมายมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ หรือออกคำสั่งโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้"
จะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมตามมาตรานี้มีความหมายกว้างขวางมาก เพราะถ้าพิจารณาเทียบเคียงกับอำนาจหน้าที่ของสังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ตามที่บัญญัติแยกอำนาจกันไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 แล้วจะพบว่าอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ทั้ง 3 ส่วนนั้นได้รวมกันเป็นอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธรในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ได้รวมกันเป็นมหาเถรสมาคมในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉะนั้น อำนาจหน้าที่ "ปกครองคณะสงฆ์" ของมหาเถรสมาคมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 นี้ จึงมิได้หมายถึงเฉพาะอำนาจหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์ของคณะสังฆมนตรีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงอำนาจหน้าที่ตราสังฆาณัติของสังฆสภาและอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ของคณะวินัยธรชั้นฎีกาอีกด้วย รายละเอียดการใช้อำนาจทั้งสามส่วนของมหาเถรสมาคม เป็นดังนี้
5.1 อำนาจนิติบัญญัติของมหาเถรสมาคม ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ของสังฆสภา มหาเถรสมาคมจึงมีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนี้ 1. ตรากฎหมายมหาเถรสมาคม 2. ออกข้อบังคับมหา เถรสมาคม
3. วางระเบียบมหาเถรสมาคม 4. ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม
5.2 อำนาจบริหารของมหาเถรสมาคม โดยที่อำนาจการปกครองและบริหารกิจการคณะสงฆ์ของคณะสังฆมนตรีเดิมได้ตกเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมจึงมีอำนาจหน้าที่ด้านการบริหารดังต่อไปนี้ 1. จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ 2. จัดแบ่งเขตการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค 3. จัดตำแหน่งผู้ปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคและ 4. แต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครองคณะสงฆ์เนื่องจากปริมาณงานในความรับผิดชอบของมหาเถรสมาคมมีมากเกินกว่าที่กรรมการ มหาเถรสมาคมจะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มหาเถรสมาคมได้ออก กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 1 พ.ศ.2506 ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม ให้อำนาจมหาเถรสมาคมแต่งตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการช่วยงานมหาเถรสมาคม ในลักษณะเดียวกันกับกรรมการเฉพาะกิจเป็นกรรมการประจำหรือชั่วคราวก็ได้ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการนี้ กรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดรูปหนึ่งเป็นประธานโดยตำแหน่ง คณะการรมการหรืออนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ในปัจจุบันมีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งหลายคณะ เช่น คณะกรรมการการศึกษาของสงฆ์ คณะกรรมการอำนวยการพระธรรมทูต คณะอนุกรรมการร่างกฎมหาเถรสมาคมคณะอนุกรรมการร่างกฎนิคหกรรม คณะอนุกรรมการศูนย์ควบคุมไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณร (ศตก) คณะอนุกรรมการจัดตั้งทุนสาธารณสงเคราะห์และศึกษาสงเคราะห์ส่วนการจัดระเบียบการปกกรองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคเป็นไปตามความในมาตรา 22 และ 23 ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่กำหนดตำแหน่งพระสังฆาธิการ หรือผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับชั้น ดังต่อไปนี้ คือ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส
มีข้อน่าสังเกตว่า ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ 4 ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย เคยรวมกันเป็นมหาเถรสมาคมตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะ สงฆ์ ร.ศ. 121 ต่อมาตำแหน่งทั้ง 4 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ทั้งนี้เพื่อรวมคณะสงฆ์มหานิกายกับคณะธรรมยุติกนิกายเข้าด้วยกัน ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ไม่มีมาตราใดกล่าวถึงตำแหน่งเจ้าคณะทั้ง 4 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในการจัดองค์กรการปกครองคณะสงฆ์ปัจจุบัน ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 ยังคงมีอยู่ และนั่นก็หมายถึงว่า คณะสงฆ์มหานิกายกับคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายยังแยกกันปกครองอย่างเป็นอิสระจากกันภายใต้รัฐบาลสงฆ์เดียวกัน คือ มหาเถรสมาคมคณะสงฆ์ไทยจึงเปรียบเหมือนกับมังกรที่มีสองตัว แต่มีหัวเดียวตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 คณะสงฆ์มหานิกายและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย มีองค์กรปกครองสูงสุดร่วมกัน คือ มหาเถรสมาคม กรรมการมหาเถรสมาคมครึ่งหนึ่งมาจากคณะมหานิกาย และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งมาจากคณะธรรมยุติกนิกาย ทั้งหมดรวมกันเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ตามกฎหมาย ดังนั้น ในระดับมหาเถรสมาคม เป็นการปกครองร่วมกันโดยถือนโยบายเดียวกันแต่แยกกันปกครองในระดับต่ำกว่ามหาเถรสมาคม ดังจะเห็นได้จากกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2506 ว่า ด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ข้อ 4 มีความว่า"การปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนทุกชั้น ให้มีเจ้าคณะมหานิกายและเจ้าคณะธรรมยุติปกครองบังคับบัญชาวัดและพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้นๆ" ข้อนี้หมายความว่าในขณะที่คณะสงฆ์มหานิกายแบ่งสายการปกครองบังคับบัญชาเป็น เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาส ฝ่ายมหานิกายปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายก็แบ่งสายการปกครองทุกตำแหน่งตั้งแต่เจ้าคณะภาคถึงเจ้าอาวาสฝ่ายธรรมยุตปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตคู่ขนานกันไปแม้ว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จะไม่ได้กล่าวถึงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 ไว้ แต่กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2506 ข้อ 6 ได้เพิ่มตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 เข้ามาในองค์กรการปกครองคณะสงฆ์ เจ้าคณะใหญ่ปกครองบังคับบัญชาเจ้าคณะภาค แบ่งออกเป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายมหานิกายและเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุต มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในคณะสงฆ์แต่ละนิกาย ในสายการบังคับบัญชาเจ้าคณะใหญ่ยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม แต่ในทางปฏิบัติเจ้าคณะใหญ่มักเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอีกตำแหน่งหนึ่ง เจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 มีเขตการปกครองดังนี้
(1) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 1 2 3 13 14 และ 15
(2) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 4 5 6 และ 7
(3) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 16 17 และ 18
(4) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 8 9 10 11 และ 12
(5) เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตทุกภาค
5.3 อำนาจตุลาการของมหาเถรสมาคม การพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์หรือคดีความในคณะสงฆ์ซึ่งเดิมเคยเป็นอำนาจหน้าที่ ของคณะวินัยธร ได้ตกเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมตามความพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 25 ที่บัญญัติให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากำหมายเถรสมาคมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ปฏิบัติเพื่อให้การลงนิคหกรรมหรือการลงโทษเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม มหาเถรสมาคมอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตรากฎหมายเถรสมาคม ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2521 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม กฎมหาเถรสมาคมนี้แบ่งอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ออกเป็น 3 ชั้น คือ
5.3.1 การพิจารณาชั้นต้น เป็นอำนาจของเจ้าอาวาสวัด ที่พระภิกษุผู้ถูกฟ้องสังกัดอยู่ ถ้าผู้ถูกฟ้องเป็นเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะก็ให้เป็นอำนาจของเจ้าคณะหรือผู้ ปกครองคณะสงฆ์เหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
5.3.2 การพิจารณาชั้นอุทธรณ์ เป็นอำนาจของคณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์
ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะหรือผู้ปกครองเหนือชั้นขึ้นไปกว่าเจ้าอาวาสหรือเจ้า คณะผู้พิจารณาในชั้นต้น
5.3.3 การพิจารณาชั้นฎีกา เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในการลงนิคหกรรมไม่ว่าในกรณีใดให้เป็น อันถึงที่สุดในกรณีนี้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจเช่นเดียวกับคณะวินัยธรชั้นฎีกา แต่มหาเถรสมาคมมีอำนาจมากว่าคณะวินัยธรชั้นฎีกาตรงที่ มีอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอยู่ในมือด้วย และในบางกรณีมหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยหรือออกคำสั่งโดยไม่ต้องผ่านการ พิจารณาชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ว่า"มาตรา 27 พระภิกษุใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้นหรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ หรือไม่สังกัดอยู่วัดใดวัดหนึ่ง กับทั้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งมหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พระภิกษุรูปนั้นสละ
สมณเพศเสียได้พระภิษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามความในวรรคก่อนต้องสึกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น"มาตรม 42 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคสอง คือ ไม่ยอมสึกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน
6. ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและอาณาจักรการที่ฝ่ายรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ออกบังคับใช้ได้เป็นประจักษ์พยานอย่างดีที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง อาณาจักรกับศาสนจักรด้วยการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ รัฐบาลได้ชื่อว่าให้การอุปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ ทั้งนี้เพราะคณะสงฆ์ไม่มีอำนาจลงโทษพระภิกษุผู้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรม วินัยขั้นร้ายแรงและไม่ยอมสละ
สมณเพศ หากคณะสงฆ์ปล่อยไว้ย่อมจะนำความเสื่อมเสียมาสู่วงการคณะสงฆ์ ในกรณีนี้คณะสงฆ์จำต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระธรรมวินัย ดังจะเห็นได้จากมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่อ้างถึงมาแล้ว และมาตรา 44 ที่ว่า "ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์ไทย อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ" ก็แสดงถึงการที่คณะสงฆ์ไทยได้รับการคุ้มครองป้องกันจากอำนาจรัฐแม้ว่ามหาเถรสมาคมมีอำนาจปกครองคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์มีอิสระจากการควบคุมของกลไกของรัฐ อำนาจฝ่ายรัฐสามารถตรวจสอบและควบคุมการบริหารกิจการคณะสงฆ์ได้ตลอดเวลาในนามของการอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา ดังจะเห็นได้จากข้อความบางมาตราแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ดังต่อไปนี้ (1) พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชผู้ทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง (มาตรา 7 และ 9) (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จพระสังฆราช ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง (มาตรา 10) (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการสร้างวัด การบริหารศาสนสมบัติของวัด และวางระเบียบการปกครองคณะสงฆ์จีนนิกายและอนัมนิกาย (มาตรา 6 32 40 และ 46) (4) ในการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระ สังฆราช (มาตรา 19) สมาคมโดยตำแหน่ง และกรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มาตรา 13) (5) กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร ทั้งนี้เพราะอธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม เขตการปกครองคณะสงฆ์ทั้ง 18 ภาค ประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ ดังนี้ ภาค 1 มี 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ภาค 2 มี 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสระบุรี ภาค 3 มี 4 จังหวัด คือ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี ภาค 4 มี 4 จังหวัด คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาค 5 มี 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก และอุตรดิตถ์ ภาค 6 มี 5 จังหวัด คือ ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน ภาค 7 มี 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ภาค 8 มี 4 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย และสกลนคร ภาค 9 มี 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ภาค 10 มี 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร ศรีสะเกษ และนครพนม ภาค 11 มี 4 จังหวัด คือ นครราสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาค 12 มี 3 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา ภาค 13 มี 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาค 14 มี 4 จังหวัด คือ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และสมุทรสาคร ภาค 15 มี 4 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ ภาค 16 มี 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ภาค 17 มี 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต ตรัง พังงา กระบี่ และระนอง ภาค 18 มี 6 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

๑.๒ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พระราชบัญญัติ (กฎ) บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
มาตรา ๔ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บรรดากฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับหรือระเบียบของมหาเถรสมาคม ยกเลิก หรือมีความอย่างเดียวกัน หรือขัดหรือแย้งกัน หรือกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๕ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใดซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใดหรือหลายรูปร่วมกันเป็นคณะตามที่เห็นสมควรได้
มาตรา ๕ ทวิ ในพระราชบัญญัตินี้"คณะสงฆ์" หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร"คณะสงฆ์อื่น" หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย หรือ อนัมนิกาย"พระราชาคณะ" หมายความว่า พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญจนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ"สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์" หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนาก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ถ้าได้รับสถาปนาในวันเดียวกันให้ถือรูปที่ได้รับสถาปนาในลำดับ
มาตรา ๕ ตรี พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์
มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรี*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ประกอบด้วย หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช หมวด ๒ มหาเถรสมาคม หมวด ๓ การปกครองคณะสงฆ์ หมวด ๔ นิคหกรรมและการสละสมณเพศ หมวด ๕ วัด หมวด ๖ ศาสนสมบัติ หมวด ๗ บทกำหนดโทษ และหมวด ๘ เบ็ดเตล็ด
จะเห็นได้ว่าเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่เป็นกิจการอันพึงแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการถ่วงดุลย์แห่งอำนาจเช่นที่เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบัน และโดยที่ระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ จึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ให้สมเด็จพระสังฆราชองค์สกลมหาสังฆปริณายกทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีการแก้ไข พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในบางมาตราเพิ่มเติมอีกกล่าวคือ
มาตรา ๑๘ บรรดากฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคมที่ออกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๙ วัดที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๐ ให้พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์อยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ยังมีสมณศักดิ์นั้นต่อไปให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ กรรมการหรืออนุกรรมการใดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือตามกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคมซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ยังคงดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือจนกว่ามหาเถรสมาคมจะมีมติเป็นประการอื่น
โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช การแต่งตั้งและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุอำนาจหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ของมหาเถรสมาคม การปกครอง การสละสมณเพศของคณะสงฆ์และคณะสงฆ์อื่น วัด การดูแลรักษาวัด ทรัพย์สินของวัด และศาสนสมบัติกลางตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

๒. การบริหารกิจการคณะสงฆ์ลาว
๒.๑ รูปแบบการบริหาร

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและพุทธศาสนาในช่วง ค.ศ. 1975-1985
เมื่อขบวนการประเทศลาว หรือพรรคประชาชนปฏิวัติลาวยึดอำนาจและ ได้รับการสถาปนาการปกครองใหม่ภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ได้ยุบเลิกองค์กรต่างๆ ไทยสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นมิตรกับหลวงพระบางกู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของพม่า เข้ายึดครองได้ในพ.ศ.๒๓๒๑ และอาณาจักรเวียงจันทน์ได้สลายตัวลงเป็นดินแดนของไทยในพ.ศ. ๒๓๗๑
อาณาจักรลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยลำดับ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ จนหมดสิ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ลาวถูกฝรั่งเศสครอบครองอยู่ ๔๕ ปี จึงได้เอกราชกลับคืนโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ มีชื่อเป็นทางการว่า "พระราชอาณาจักรลาว"นอกจากด้านการเมือง การปกครองและวิถีชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วทางด้านสถาบันศาสนาก็ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร ปกครองของคณะสงฆ์ด้วย ดังนี้
1. ยกเลิกโครงสร้างการบริหาร การปกครองของคณะสงฆ์ในแบบเก่า องค์กรสูงสุดในด้านการบริหารและผู้นำของคณะสงฆ์ลาว ได้แก่ มหาเถรสมาคม พร้อมๆ กับการล่มสลายของระบบกษัตริย์ แล้วถูกแทนที่ด้วยคณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ดูแล และดำเนินการจัดตั้ง ปกครองและบริหารสงฆ์ในรูปแบบใหม่ โดยรวมเอาธรรมยุตินิกายและมหานิกายเข้าด้วยกันเรียกว่า พระสงฆ์ลาว
2. พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจัดให้มีการประชุม อบรมสั่งสอนทางการเมืองสำหรับพระภิกษุสามเณรอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์สังคมนิยม
3. ยุทธวิธีการประนีประนอม ในการใช้พุทธศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล สปป.ลาว ตลอดจนสนับสนุนลัทธิมาร์กซ-เลนิน รัฐบาลใหม่ จึงมอบหมายงานด้านการพัฒนาประเทศให้กับพระสงฆ์เพื่อนำไปปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและพุทธศาสนาในช่วง ค.ศ. 1986 ถึงปัจจุบัน (2010) การเปลี่ยนแปลงพุทธศาสนาในช่วงนี้มีขึ้นในด้านโครงสร้างของสถาบันการปกครองสงฆ์ลาว ซึ่งระดับความผ่อนปรนต่อศาสนานั้นมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจที่มีความเสรีมากขึ้น
โครงสร้างการจัดตั้งของพระสงฆ์ตามธรรมนูญปกครองสงฆ์ลาว ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ได้มีองค์กรเป็นของตนเองชื่อว่า "องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว" โดยพระมหาวิจิต สิงหาราช เป็นประธาน ซึ่งมีเครือข่ายการปกครองเป็นเอกภาพ ตั้งแต่ระดับศูนย์กลางจนถึงระดับท้องถิ่น และบริหารงานด้วยธรรมนูญปกครองสงฆ์ลาว การปกครองสงฆ์ลาวแบ่งออกเป็น 4 ขั้น
1. องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวขั้นศูนย์กลาง ประกอบด้วยผู้แทนพระสงฆ์ทั่วประเทศอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 30 องค์ อย่างมากไม่เกิน 45 องค์ ในนั้นเป็นคณะประจํา 11 องค์ ประกอบด้วยประธาน 1 องค์ รองประธาน 4 องค์ นอกนั้นเป็นคณะ
2. องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวขั้นแขวง นครหลวง และเขตพิเศษ ประกอบด้วย กรรมการ อย่างน้อย 11 องค์ อย่างมากไม่เกิน 25 องค์ ในนั้น 3 ถึง 7 องค์เป็นคณะประจำประกอบด้วยประธาน 1 องค์ รวมทั้งเป็นผู้ประจำการ รองประธาน 4 องค์ นอกนั้นเป็นคณะ
3. องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวขั้นเมือง ประกอบด้วยกรรมการ 7 – 15 องค์ ในนั้น 3 – 5องค์ เป็นคณะประจําหนึ่งองค์เป็นประธานทั้งเป็นประจําการ 3-4 องค์เป็นรองประธาน นอกนั้นเป็นคณะกรรมการ
4. องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวขั้นวัด
ในองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวแต่ละขั้นประกอบไปด้วยคณะผู้แทน ตามจำนวนลดหลั่นกันไป เช่น องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวขั้นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน หัวหน้าคณะกรรมมาธิการ หัวหน้าคณะห้องการ คณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการบริหารงานประจำศูนย์กลางองค์การ พุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ประกอบด้วย ประธาน 1 รูป รองประธาน 5 รูป หัวหน้าคณะกรรมาธิการ 4 รูป หัวหน้าคณะห้องการ 1 รูป ส่วนคณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการบริหารงานประจำศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ให้มีตามจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งการบริหารงานขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว มี 4 กรรมาธิการหลัก คือ 1. กรรมาธิการปกครองสงฆ์ 2. กรรมาธิการศึกษาสงฆ์ 3. กรรมาธิการเผยแผ่ศีลธรรม และปฏิบัติกรรมฐาน 4. กรรมาธิการสาธารณูปการ
๑. กรรมาธิการปกครองสงฆ์
มีหน้าที่รับผิดชอบในการค้นคว้า รวบรวม ข้อมูลต่างๆ ทางด้านพุทธศาสนา เก็บกำสถิติพระสงฆ์สามเณร พ่อขาว แม่ขาว ตลอดถึงศาสนสมบัติอื่นๆ อย่างครบถ้วนและถูกต้องกับความเป็นจริง จากนั้น รายงานให้สายใยการจัดตั้งขั้นสูงกว่าได้รับทราบอย่างเป็นระบบในแต่ละปี
๒. กรรมาธิการศึกษาสงฆ์
มีหน้าที่รับผิดชอบในการค้นคว้า และวางแผน เพื่ออบรมแนวคิดของนักเรียนนักศึกษาสงฆ์ ให้มีความเชื่อมั่นต่อการประกอบศาสนกิจและมีความหนักแน่นในการปฏิบัติธรรมวินัยสงฆ์ และระเบียบ กฎหมายของรัฐค้นคว้าและวางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาสงฆ์แต่ละช่วงเวลา
๓. กรรมาธิการเผยแผ่ศีลธรรมและปฏิบัติกรรมฐาน
เป็นหน่วยงานหนึ่ง ในระบบการจัดตั้งขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวในขั้นเมือง ขั้นแขวง และ ขั้นศูนย์กลาง กรรมาธิการนี้มีอักษรย่อว่า "กสว" ซึ่งมีบทบาทในการปฏิบัติ คือ กำหนด ระเบียบการ หลักวิชาการในการเผยแผ่ศีลธรรม การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม พัวพันและร่วมมือกับองค์การจัดตั้งฝ่ายปกครอง บ้าน เมือง และแขวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาหารือ และจัดตั้งปฏิบัติการเผยแผ่ ศีลธรรมทางพุทธศาสนา มีบทบาทในการพัวพัน และร่วมมือกับสากลเกี่ยวกับ การเผยแผ่ศีลธรรมทางพุทธศาสนา และสันติภาพ
๔. กรรมาธิการสาธารณูปการ
มีหน้าที่ปกปักรักษาศาสนสมบัติ ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หอพระไตรปิฎก ศาลาโรงธรรม เป็นต้น หากมีการชำรุดต้องบูรณะโดยการรักษารูปทรง เค้าโครงเหมือนเดิม ปกปักรักษาจิตรกรรม ได้แก่ ศิลปะรูปวาด รูปแกะสลัก ดูแลทรัพย์สินของสงฆ์ เช่น ที่ดินของวัด สิ่งก่อสร้างในวัดเงินคลังของวัด เป็นต้น ห้ามยกย้าย และนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขาย ปกปักรักษาพระพุทธรูป เทวะรูป และวัตถุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยการทำบัญชีแล้วนำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ปกปักรักษาหนังสือใบลาน และส่งเสริมให้พระสงฆ์เขียนใบลานด้วยตัวธรรมมากขึ้น หรือคัดลอกตัวธรรมใส่สมุดกระดาษ โดยรักษาอักขระเดิมไว้เพื่อปกปักรักษาพื้นฐานวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม จารีตประเพณี
คณะกรรมการองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อ.พ.ส.) ชุดใหม่ 2554-ปัจจุบัน ในที่ประชุม พระอาจารย์เหวด มะเสไน เจ้าอาวาสวัดสีสะเกด เวียงจันทน์ได้เสนอมติต่อกองประชุมใหญ่ผู้แทนพระสงฆ์ทั่วประเทศ สมัยที่ 6 เพื่อตกลงแต่งตั้งพร้อมกับรับรองคณะกรรมการบริหารงานประจําศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวจํานวน 18 รูป คือ
1. พระอาจารย์มหาผ่อง สมาเลิก 2. พระอาจารย์มหางอน ดํารงบุน
3. พระอาจารย์มหาจะรุน วชิรรังสี 4. พระอาจารย์มหาชาลี กันตสีโล
5. พระอาจารย์มหาบัวคํา สารีบุด 6. พระอาจารย์มหาบุนมา สิมมาพม
7. พระอาจารย์เหวด มะเสไน 8. พระอาจารย์บุนสี วงพูมี
9. พระอาจารย์คำมา ปันยาวิจิด 10. พระอาจารย์พูมสะหวัน พันทะบัวลี
11. พระอาจารย์สุขี เฮือนมุงคุน 12. พระอาจารย์ดาวเฮือง คำปะเสิด
13. พระอาจารย์สีทน ไซยวงสอน 14. พระอาจารย์บุนทะวี ประสิดทิสัก
15. พระอาจารย์บุนส่วน แก้วพิลม 16. พระอาจารย์ถาวอน พอนปะเสิด
17. พระอาจารย์วันนา สุริยะวง 18. พระอาจารย์บุนส่วน พันทะวง

๒.๒ ธรรมนูญปกครองสงฆ์ลาว
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ลาว/บัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ บัญญัตินี้ให้ชื่อว่า "พระราชโองการกฎระเบียบสงฆ์แห่งพระราชอาณาจักรลาว" มีทั้งหมด ๘ มหวด ประกอบด้วย หมวดที่ ๑ ว่าด้วยสมณะศักดิ์และตำแหน่งสงฆ์ หมวดที่ ๒ ว่าด้วยการจัดตั้งตำแหน่งสงฆ์ หมวดที่ ๓ ว่าด้วยหน้าที่ของภิกษุสามเณรและเจ้าคณะ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา หมวดที่ ๕ ว่าด้วยหนังสือสำหรับตัวพระภิกษุสามเณร หมวดที่ ๖ ว่าด้วยการย้ายที่ของพระภิกษุสามเณร หมวดที่ ๗ ว่าการลงโทษ หมวดที่ ๘ บทบัญญัติสุดท้าย ประกอบด้วย 66 มาตรา ลงพระนาม (พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์)

ธรรมนูญปกครองสงฆ์ลาว (ฉบับดัดแปลงแก้ไข พ.ศ.๒๕๔๗)
จัดพิมพ์โดย องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกอบด้วย ๑๐ หมวด ๓๖ มาตรา มีทั้งหมด ๑๐ หมวด ประกอบด้วย บทที่ ๑ บทบัญญัติทั่วไป หมวดที่ ๒ การขอเข้าบวช หมวดที่ ๓ หน้าที่ของผู้ที่เข้าบวช หมวดที่ ๔ การจัดตั้งคณะบริหารสงฆ์ หมวดที่ ๕ สิทธิ หน้าที่ของ อพส. หมวดที่ ๖ คณะวินัยธรและธรรมธร หมวดที่ ๗ กองประชุม อ.พ.ส. หมวดที่ ๘ หมวดศาสนสมบัติ หมวดที่ ๙ เงินบำรุงสวัสดิการ หมวดที่ ๑๐ บทบัญญัติสุดท้าย

๓. วิเคราะห์เปรียบเทียบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทยและลาว
ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบการบริการกิจการคณะสงฆ์ระหว่างคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์ลาวนั้นผู้เขียนได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารและสถานะของคณะสงฆ์ทั้งสองประเทศซึ่งการวิเคราะห์เปรียบเทียบดังกล่าวผู้เขียนจะแยกเปรียบเทียบในสองประเด็น กล่าวคือ ประเด็นแรกจะทำการเปรียบเทียบรูปแบบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้งสองประเทศว่ามีความเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร และประเด็นต่อมาคือวิเคราะห์สถานะของคณะสงฆ์ว่ามีสถานะอย่างไร มีกฎหมายรองรับหรือไม่ มีการให้การสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นหรือไม่

ประเด็นแรกรูปแบบการบริหารกิจการคณะสงฆ์
ในประเด็นรูปแบบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของราชอาณาจักรไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้นมีรูปแบบการบริหารอย่างไร ประเด็นนี้จากการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของผู้เขียนจะเห็นว่ารูปแบบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้งสองประเทศแม้จะมีความคล้ายคลึงกันในช่วงต้น ๆ แต่ในยุคปัจจุบันก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ ที่ว่าเหมือนกันนั้น การบริหารกิจการคณะสงฆ์ของราชอาณาจักรไทยมีการแบ่งอำนาจการปกครองตามลำดับขั้นโดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ปกครองสูงสุด และมีการแบ่งอำนาจการปกครองตั้งแต่ระดับเจ้าคณะใหญ่หนต่าง ๆ เจ้าคณะภาค
เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และสุดท้ายคือเจ้าอาวาส ทั้งหมดนี้เป็นการแบ่งอำนาจการปกครองของคณะสงฆ์ไทยซึ่งมีลำดับการบริหารการปกครองตั้งแต่บนลงล่างอย่างเห็นได้ชัด อำนาจการบริหารและอำนาจการตัดสินใจเป็นสิทธิ์เด็ดขาดในขอบเขตที่ตนเองปกครอง เว้นเสียแต่ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของพระผู้ปกครองระดับสูงขึ้นก็ต้องมีการรายงานตามลำดับ โดยผู้มีอำนาจตัดสินในแต่ละระดับนั้นคือระดับที่สูงขึ้นไป ส่วนรูปแบบการบริหารกิจการคณะสงฆ์ลาวโดยเฉพาะตั้งแต่มีการปฏิวัติลาวเมื่อปี ค.ศ.1975 มานี้ก็ทำให้รูปแบบการปกครองคณะสงฆ์แบบเดิมที่มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ปกครองสูงสุดนั้นได้ถูกยกเลิกไปและมีการตั้งองค์กรพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวขึ้น โดยรวมเอาคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติเข้าด้วยกันรวมเรียกว่า "พระสงฆ์ลาว" และมีการแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็น ๔ ระดับประกอบด้วย ระดับแขวงหรือเทียบเท่าระดับจังหวัด ระดับเมืองหรือเทียบเท่าระดับอำเภอ ระดับเขตหรือเทียบเท่าระดับตำบล และระดับวัดหรือเทียบเท่าระดับเจ้าอาวาส ซึ่งทั้งสี่ระดับนี้ขึ้นตรงต่อแนวลาวสร้างชาติคณะกรรมการศาสนา ซึ่งหน่วยงานนี้ก็อยู่ภายใต้องค์กรพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว จะเห็นได้ว่ารูปแบบการปกครองของคณะสงฆ์ลาวมีรูปแบบการบริหารกิจการคณะสงฆ์โดยเฉพาะรูปแบบการปกครองใกล้เคียงกันกับไทยถึงแม้ว่าจะมีการเรียกชื่อหน่วยงานหรือองค์กรที่แตกต่างกันไปก็ตาม
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างการปกครองของคณะสงฆ์ทั้งสองประเทศนั้นก็มีหลายอย่างด้วยกัน กล่าวคือ ผู้ปกครองหรือผู้บริหารสงฆ์ในประเทศลาวนั้นไม่มีสมณศักดิ์ เหมือนอย่างประเทศไทย การที่จะเป็นผู้ปกครองสงฆ์ได้ขึ้นอยู่กับจารีตนิยมหรือประเพณีนิยมของพระสงฆ์และประชาชนในเขตนั้น ๆ เห็นพร้องต้องกันจากนั้นก็สถาปนาหรือยกขึ้นเป็นผู้ปกครองในเขตนั้น ๆ หลังจากนั้นจึงมีการแจ้งไปยังผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงกว่า แต่อย่างไรก็ตามผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของคณะสงฆ์ลาว องค์กรพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ซึ่งประกอบไปด้วย ๔ กรรมาธิการหลัก คือ กรรมาธิการปกครองสงฆ์ กรรมาธิการศึกษาสงฆ์ กรรมาธิการเผยแผ่ศีลธรรม และปฏิบัติกรรมฐาน และกรรมาธิการสาธารณูปการ ทั้งสี่กรรมาธิการนี้เป็นหน่วยงานดูแลทั้งหมดของคณะสงฆ์ลาวโดยแยกการดูแลไปตามฝ่ายต่าง ๆ ตามกรรมาธิการที่มีอำนาจรับผิดชอบเทียบเท่ากับกรรมการมหาเถรสมาคมของประเทศไทยนั่นเอง สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือทุกตำแหน่งในการบริหารองค์กรสงฆ์ลาวไม่มีนิยตพัฒน์หรือค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง ทุกตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและหน้าที่อย่างเต็มความสามารถไม่มีการแบ่งพระสงฆ์ธรรมยุตหรือมหานิกาย เพราะรวมเข้าเป็นอันเดียวกันคือ พระสงฆ์ลาว อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของลาวประการหนึ่งเช่นกัน

ประเด็นที่สองสถานะของคณะสงฆ์
ในประเด็นสถานะของคณะสงฆ์ของคณะสงฆ์ราชอาณาจักรไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น ผู้เขียนมุ่งหมายถึงว่าคณะสงฆ์ทั้งสองประเทศนั้นมีกฎหมายรับรองและให้ความคุ้มครองคณะสงฆ์มากน้อยเพียงใด ถ้ากล่าวถึงสถานะของคณะสงฆ์ไทยนั้นจะเห็นได้ว่า คณะสงฆ์ไทยมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขปรับปรุงปี พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายคณะสงฆ์รับรองสถานะความมีอยู่ความเป็นอยู่ของคณะสงฆ์ ซึ่งใน พ.ร.บ.ดังกล่าวได้แบ่งการบริหารงานของคณะสงฆ์ออกเป็น ๘ หมวดด้วยกัน กล่าวคือ หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช หมวด ๒ มหาเถรสมาคม หมวด ๓ การปกครองคณะสงฆ์ หมวด ๔ นิคหกรรมและการสละสมณเพศ หมวด ๕ วัด หมวด ๖ ศาสนสมบัติ หมวด ๗ บทกำหนดโทษ หมวด ๘ เบ็ดเตล็ด ซึ่งทั้ง ๘ หมวดดังกล่าวนั้นก็จะรวมถึงอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้งหมดรวมถึงมีบทลงโทษคณะสงฆ์ที่ทำผิดระเบียบการบริหารกิจการคณะสงฆ์และผิดพระวินัยสงฆ์อีกด้วย
ส่วนสถานะของคณะสงฆ์ลาวนั้นก็มีธรรมนูญสงฆ์รับรองเช่นกันซึ่งในธรรมนูญดังกล่าวนี้ก็ได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ปกครองแต่ละตำแหน่งรวมถึงหน้าที่ของพระสงฆ์ที่อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย ในธรรมนูญสงฆ์ลาวดังกล่าวนั้นได้แบ่งออกเป็น ๑๐ หมวด ๓๖ มาตรา ประกอบด้วย บทที่ ๑ บทบัญญัติทั่วไป หมวดที่ ๒ การขอเข้าบวช หมวดที่ ๓ หน้าที่ของผู้ที่เข้าบวช หมวดที่ ๔ การจัดตั้งคณะบริหารสงฆ์ หมวดที่ ๕ สิทธิ หน้าที่ของ อพส. หมวดที่ ๖ คณะวินัยธรและธรรมธร หมวดที่ ๗ กองประชุม อ.พ.ส. หมวดที่ ๘ หมวดศาสนสมบัติ หมวดที่ ๙ เงินบำรุงสวัสดิการ และหมวดที่ ๑๐ บทบัญญัติสุดท้าย ซึ่งธรรมนูญปกครองสงฆ์ลาวฉบับนี้เป็นฉบับที่แก้ไขในปี พ.ศ.2547 เป็นฉบับที่แก้ไขมาจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ลาว/บัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ บัญญัตินี้ให้ชื่อว่า "พระราชโองการกฎระเบียบสงฆ์แห่งพระราชอาณาจักรลาว" ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีบทบัญญัติไว้ด้วยกัน ๘ หมวดกล่าวคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยสมณะศักดิ์และตำแหน่งสงฆ์ หมวดที่ ๒ ว่าด้วยการจัดตั้งตำแหน่งสงฆ์ หมวดที่ ๓ ว่าด้วยหน้าที่ของภิกษุสามเณรและเจ้าคณะ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา หมวดที่ ๕ ว่าด้วยหนังสือสำหรับตัวพระภิกษุสามเณร หมวดที่ ๖ ว่าด้วยการย้ายที่ของพระภิกษุสามเณร หมวดที่ ๗ ว่าการลงโทษ และหมวดที่ ๘ บทบัญญัติสุดท้าย


หมายเลขบันทึก: 586924เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2015 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2015 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท