เรือนจำอุตสาหกรรม (๑)


เมื่อกล่าวถึงเรือนจำอุตสาหกรรม (Prison Industries) ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงเรือนจำอุตสาหกรรมของต่างประเทศ เช่น เรือนจำอุตสาหกรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ บราซิล ญี่ปุ่น เป็นต้น และ มักจะตามมาด้วยคำถามต่อมาว่าแล้วประเทศไทยเรามีเรือนจำอุตสาหกรรมหรือไม่ ที่ไหน และ อย่างไร ..........................

เมื่อกล่าวถึงเรือนจำอุตสาหกรรม (Prison Industries) ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงเรือนจำอุตสาหกรรมของต่างประเทศ เช่น เรือนจำอุตสาหกรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ บราซิล ญี่ปุ่น เป็นต้น และมักจะตามมาด้วยคำถามต่อมาว่าแล้วประเทศไทยเรามีเรือนจำอุตสาหกรรมหรือไม่ ที่ไหน และอย่างไร ดังนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของ “เรือนจำอุตสาหกรรม” จึงขอเริ่มต้นอธิบาย ให้ทราบถึงคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “เรือนจำอุตสาหกรรม” แต่ไม่ใช่เรือนจำอุตสาหกรรม ได้แก่คำว่า “อุตสาหกรรมในเรือนจำ” และ “อุตสาหกรรมนอกเรือนจำ” รวมตลอดถึงแนวคิด วิวัฒนาการ กฎหมาย นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และตัวอย่างการดำเนินงานเรือนจำอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ บราซิล ญี่ปุ่น มาอธิบายพอเข้าใจ โดยสังเขป ดังนี้

ความหมายของเรือนจำอุตสาหกรรม

เรือนจำอุตสาหกรรม หมายถึง “เรือนจำของรัฐหรือเรือนจำเอกชนที่เน้นหนักการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรม หรือเน้นกระบวนการแปรรูป การผลิตสินค้า หรือผลิตภัณฑ์จำนวนมาก โดยการใช้เครื่องจักรหรือแรงงานผู้ต้องขัง”

เรือนจำอุตสาหกรรม หมายถึง “สถานที่ที่ใช้ควบคุม กักขังผู้ต้องขัง ซึ่งมีการดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมการผลิต หรือการบริการ โดยใช้แรงงานผู้ต้องขัง หรือใช้แรงงานผู้ต้องขังในการควบคุมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่เกี่ยวกับกิจกับการผลิตหรือการบริการ” (จดหมายข่าวยุติธรรม คอลัมน์ “สานความคิดผู้บริหาร” เรื่อง เรือนจำอุตสาหกรรม โดยนายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์)

ความหมายของอุตสาหกรรมในเรือนจำ

อุตสาหกรรมในเรือนจำ หมายถึง “เรือนจำของรัฐหรือเรือนจำเอกชนที่การดำเนินงาน ด้านอุตสาหกรรมในเรือนจำแต่ไม่ได้มีนโยบายเน้นหนักด้านการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรม (ถ้ามีนโยบายเน้นหนักการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมก็เป็นเรือนจำอุตสาหกรรม)”

ความหมายของอุตสาหกรรมนอกเรือนจำ

อุตสาหกรรมนอกเรือนจำ หมายถึง “การนำนักโทษออกออกไปทำงานอุตสาหกรรม นอกเรือนจำ เช่น ในระหว่างปี ค.ศ. 1868 ถึง ค.ศ. 1979 เกษตรกรและนักธุรกิจเอกชนในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา ทำสัญญาเช่านักโทษออกไปทำงานในไร่ปศุสัตว์ ไร่ฝ้าย โรงงานทำเหมืองแร่ และการก่อสร้างทางรถไฟ เป็นต้น”

แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำอุตสาหกรรม

ได้แก่ แนวคิดในการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง ฝึกทักษะ อาชีพ เพราะเชื่อว่าเอกชนมีความเป็นมืออาชีพ และมีทักษะ และมีประสบการณ์มากกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวคิดในการลดภาระด้านงบประมาณของรัฐ การลดความแออัด การลดการกระทำความผิดซ้ำ และแนวคิดในการแก้ไขฟื้นฟูเพื่อให้ผู้ต้องขังมีวิชาชีพติดตัวสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ภายหลังพ้นโทษ

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำอุตสาหกรรม มีทฤษฎีใหญ่ๆ 2 ทฤษฎี ได้แก่

  • ทฤษฎีทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ ที่เน้นการแข่งขันและการมีส่วนร่วม
  • ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค ที่เน้นการแช่งขันและการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน

วิวัฒนาการของเรือนจำอุตสาหกรรม

วิวัฒนาการดำเนินงานเรือนจำอุตสาหกรรม ข้อมูลจากเว็บไซด์ http://en.wikipedia.org/wiki/ Private _prison ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการเรือนจำอุตสาหกรรม 3 สมัย คือ

  • ในสมัยแรก เป็นการดำเนินงานในลักษณะอุตสาหกรรมนอกเรือนจำ เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติอเมริกันหรือภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861) เกษตรกรและนักธุรกิจในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา มีความต้องการในการหากำลังแรงงานทดแทนแรงงานทาสที่ได้รับการปลดปล่อยภายหลังการประกาศเลิกทาส (ค.ศ. 1865) โดยในระยะแรก ในปี ค.ศ. 1868 เกษตรกรและนักธุรกิจเอกชน ได้มีการทำสัญญาเช่านักโทษออกไปทำงานในไร่ฝ้าย ไร่ปศุสัตว์ โรงงานทำเมืองแร่ การก่อสร้างทางรถไฟ ฯลฯ
  • สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1918 ถึง ค.ศ. 1945) เป็นการดำเนินงานในลักษณะของอุตสาหกรรมในเรือนจำ ในขณะนั้นประเทศสหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนเริ่มขาดแคลนสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการดำรงชีพ มีรายได้น้อย และตกงานจำนวนมาก ผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างดิ้นรนเอาตัวรอด หลายรัฐได้เริ่มปล่อยให้ระบบเรือนจำใช้แรงงานนักโทษในการผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภค และบางส่วนของสินค้าได้กระจายออกนอกรัฐ ทำให้มีสินค้าเข้าไปแข่งขันกับตลาดของภาคธุรกิจเอกชน มีปัญหาการกักตุนสินค้า ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาล สภาคองเกรส จึงได้ออกกฎหมายจำกัดขอบเขตหรือไม่สนับสนุนการดำเนินงานเรือนจำอุตสาหกรรม รวม 3 ฉบับ ได้แก่
  • เรือนจำอุตสาหกรรมในสมัยปัจจุบัน เริ่มนับจากภายหลังที่สภาคองเกรสได้ตราพระราชบัญญัติเพิ่มประสิทธิภาพเรือนจำอุตสาหกรรม ค.ศ. 1979 (Prison Industry Enhancement Act 1979) สนับสนุนให้มีการดำเนินงานเรือนจำอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดในการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ลดความแออัด ลดการกระทำความผิดซ้ำ และแนวคิดในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังมีวิชาชีพติดตัวสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ภายหลังพ้นโทษ โดยได้มีการดำเนินงานอย่างจริงจังในปี ค.ศ. 1984 ซึ่งนับว่าเป็นยุคใหม่ของการแปรรูปคุก เกิดขึ้นภายหลังจากการที่รัฐบาลมีนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ทำให้ประชากรคุกในคดียาเสพติดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาความแออัด และ ปัญหาค่าใช้จ่ายของนักโทษที่ตามมาเป็นปัญหากับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง จึงได้มีแนวคิดในการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามา มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเรือนจำอุตสาหกรรมของเอกชนของสหรัฐอเมริกา จึงได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1984 เมื่อ บริษัท คอร์ปอเรชั่นราชทัณฑ์อเมริกา (CCA) ได้ทำสัญญาเรือนจำอุตสาหกรรมกับมณฑลแฮมิลตัน เคาน์ตี ในมลรัฐเทนเนสซี ซึ่งแนวคิดของสหรัฐอเมริกา ดังกล่าว ถือเป็นต้นแบบของเรือนจำอุตสาหกรรมที่ประเทศต่างๆ นำไปใช้ในปัจจุบัน

  • พระราชบัญญัติฮาร์เวสคูเปอร์ 1929 (Hawes-Cooper Act 1929) ห้ามรัฐบาลกลางเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าระหว่างรัฐและขายสินค้าที่ผลิตจากเรือนจำ เพื่อป้องกันการนำสินค้าที่ผลิตในเรือนจำมาขายราคาถูก ในตลาดเปิด อันทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าของภาคธุรกิจเอกชน โดยได้กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือทั้งจำทั้งปรับแก่ผู้เกี่ยวข้อง
  • พระราชบัญญัติแอสเชิ้ทซัมเนอร์ 1935 (Ashurst-Sumners 1935) ห้ามรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐเกี่ยวข้องกับการผลิต การขนส่งสินค้า หรือผลิตภัณฑ์จากเรือนจำ ยกเว้น สินค้าสำหรับการเกษตรหรือชิ้นส่วนสำหรับการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร
  • พระราชบัญญัติวอลช์ฮีลี 1936 (Walsh-Healey 1936) ควบคุมการผลิตสินค้าจากเรือนจำ ห้ามขายสินค้าเรือนจำในรัฐพาณิชย์ป้องกันรัฐการขายสินค้าที่ผลิตจากแรงงานนักโทษให้กับลูกค้าในรัฐอื่น ๆ

..................


วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์

วันที่ - เดิอน - ๒๕๕๘


อ้างอิง

ข้อมูลภาพจากเว็บไซต์ http://www.iaprisonind.com/store/pg/183-Central-Ca... และ เว็บไซต์ http://millionsforreparations.org/prisons.html


จบตอนที่ ๑ โปรดติดตามตอนที่ ๒ เรือนจำอุตสาหกรรมของประเทศสหรัฐอมริกา

หมายเหตุ บทความเรื่อง เรือนจำอุตสาหกรรม วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์ เคยลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารราชทัณฑ์ ปีที่ ๖๑ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๖




หมายเลขบันทึก: 586923เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2015 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท