จัดบ้าน สร้างบรรยากาศการวิจัย


มีเรื่องดีวิเศษหลายอย่างที่เกิดจากการจัดบ้าน สร้างบรรยากาศการวิจัย

สัปดาห์เศษๆ ที่ผ่านมาดิฉันมัวสาละวนอยู่กับการจัดบ้าน ปัด กวาด เช็ด ถู  ตกแต่งโน่น นี่ จนลืมไปว่า วัน วัน ที่ผ่านไป มีเรื่องดีวิเศษหลายอย่างที่เกิดจากการจัดบ้าน สร้างบรรยากาศการวิจัยทำไมจึงไม่บันทึก

ยังจะจำได้ไหมเนี่ย ดิฉันรีบเปิดสมุดบันทึกนัดหมาย เพื่อย้อนรำลึกอดีตวันที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่บันทึกล่าสุดบน Blog ดิฉันทำอะรบ้างน้อ  มีเรื่องเล่าได้ทุกวันนี่นา  ขอเล่าย้อนอดีตไปตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม นะค่ะ

12 ต.ค.  ดิฉันนำทีมบุคลากรทุกคนของคณะฯ เข้าเรียนพบท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ (ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร) หวังไว้เพียงเล็กๆ ว่า ท่านจะได้ให้แนวนโยบายทั้งด้านงานวิจัยและการประกันคุณภาพในภาพรวมระดับมหาวิทยาลัยพอสังเขป แต่ที่ไหนได้ ท่านเตรียมการ และให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ อบอุ่น เป็นกันเอง มีเอกสารเพื่องานวิจัย และการประกันคุณภาพที่ครบถ้วนและล่าสุด   3 ชั่วโมงเกินเต็ม กับการอธิบายแบบที่เรียกว่า ฟังเข้าใจง่าย รู้ที่มาที่ไป และจุดประกายพลังสร้างงานใหม่แก่บุคลากรของดิฉัน  อย่างที่ดิฉันอาจต้องใช้เวลาสัก 3 เดือนกระมังจึงจะได้ผลเช่นนี้  (จุ๊ จุ๊ นี่คือวิธีทุ่นแรง และเวลาไงค่ะ)

 

13 ต.ค. เริ่มสแกนภาพด้านกายภาพทั่วๆไป ของคณะ เดินสำรวจ พกกล้องถ่ายรูปไปด้วย แวะคุยกับเจ้าหน้าที่บางงาน ดิฉันไม่ได้ตั้งรองคณบดีฝ่ายบริหาร  เพราะดิฉันอยากศึกษางานบริหารด้วยตนเองก่อน  ไม่มีอะไรจะดีเท่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง แต่การปรับโครงสร้างบริหาร (ตั้งตำแหน่งรองคณบดี และผู้ช่วยคณบดีใหม่) ทำให้โครงข่ายงานต่างๆ เริ่มรวน  เพราะสายบังคับบัญชาเปลี่ยนไปหลายงาน  ดังนั้น งานต่อไปจึงเป็นเรื่องการวิเคราะห์งาน เพื่อกำหนด JD ของแต่ละตำแหน่งให้ชัดเจน ใช่แล้วค่ะ ดิฉันกำลังจัดห้องหับต่างๆ ในบ้านใหม่ แบ่งสรรปันส่วนว่า ห้องไหนจะเป็นห้องอะไร  ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ดิฉันเริ่มเขียนนโยบายการจัดทำเอกสารอธิบายลักษณะงาน  เรียกประชุมบุคลากรสายบริการ ว่าขั้นตอนวิเคราะห์งานเพื่อทำ JD เราจะต้องร่วมมือกันอย่างไรบ้าง (เรื่องนี้ ท่าน ผอ.หน่วยประกัน มน. คุณตูน : เจนจิต  รังคะอุไร ก็มีความรู้ดี) 

14 ต.ค. ไป กทม. ร่วมประชุมสภาคณบดีเทคนิคการแพทย์ แม้ชื่อสภาจะเป็นชื่อเฉพาะสาขา  แต่ก็รวมเอาคณบดีคณะสหเวชฯ เข้าก๊วนด้วย เหตุก็เพราะ ที่ไหนที่มีคณะสหเวชฯ ที่นั่นก็จะมีสาขาเทคนิคการแพทย์อยู่ด้วยเสมอ  และคณบดีของคณะสหเวชศาสตร์  ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มาจากสาขาเทคนิคการแพทย์  ดิฉันเองเรียนจบมาทางสาขารังสีเทคนิค  คราวนี้ โดยหน้าที่ จึงต้องเรียนรู้งานของทุกสาขาวิชาในแวดวงสหเวชฯ ด้วย น่าสนุก ตื่นเต้น ดีนะค่ะ  และก็เป็นเช่นนั้นจริง  ดิฉันได้ของฝากกลับไปฝากหัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ ที่ มน. เพี๊ยบเลย  แถมก่อนกลับยังได้รับเกียรติจากท่านคณบดีคณะสหเวชฯจุฬา (รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน) พาเยี่ยมชมคณะเป็นบุญตาอีกด้วย โดยเฉพาะศูนย์วิจัยอาหารของท่าน เป็นห้องแล็ปที่เพียบพร้อมสมบูรณ์มาก กล้องถ่ายรูปของดิฉันก็เริ่มกด แช็ปๆ ไว้อีกหลายรูป

    

17 ต.ค. กลับมาที่ มน. เปิดโครงการอบรมวิชาการ เรื่อง The Protein Purification Techniques and Strategies โดยภาควิชาเทคนิคการแพทย์ และบริษัทอเมอแซม ไบโอไซส์ (ประเทศไทย) จำกัด ช่วงแรกดิฉันร่วมฟังอยู่ด้วย ได้รับความรู้ใหม่ๆที่น่าสนใจมาก นอกจากนี้ อาจารย์จากคณะวิชาอื่นทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็มาร่วมรับฟังด้วย คราวนี้คงได้เครือข่ายวิจัยข้ามคณะกันบ้าง อย่างน้อยก็ทราบว่า คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน

    

18 ต.ค. เช้า  ประชุมคณะกรรมการวิจัยของคณะ เพื่อสรุปผลการจัดสรรทุนอุดหนุนวิจัยจากเงินรายได้คณะ มติของที่ประชุม สรุปให้จัดสรรแก่ทุกโครงการที่ขอมา งบสนับสนุนวิจัย ปี 49 ที่คณะตั้งไว้ จึงได้ใช้หมดจดจริงๆ  น่าชื่นใจที่จำนวนคณาจารย์ที่ขอทุนวิจัยสูงกว่าปีที่ผ่านๆมาแบบพุ่งกระฉูด และครบทุกสาขาเสียด้วย ประจวบกับมหาวิทยาลัยออกระเบียบ และประกาศ การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยมาใหม่ ที่ up to date ชัดเจน ครอบคลุม  ทำให้คณะใช้เป็นแนวทางได้ทันที  ไม่ต้องคิดเองทำเอง อย่างอดีตกาล

          ตอนบ่าย  ก็ประชุมคณะกรรมการควบคุมภายในของคณะอีก การประชุมนัดแรกก็เป็นไปตามสูตร คือ ต้องบอกที่มาขององค์ประกอบกรรมการก่อน  แล้วต่อด้วยหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ แต่เดิมไม่เคยมีแนวปฏิบัติ ก็คุยกันว่าต่อไปนี้จะปฏิบัติกันอย่างไร 1  2  3 ...  เลขาก็รับไปร่างเป็นประกาศ แล้วก็เริ่มลุยงานกันตามที่ตกลงไว้  รายละเอียดเรื่องนี้ คุณบอย (คุณอนุวัทย์  เรืองจันทร์  หัวหน้าสำนักงานเลขานุการสหเวช) ทราบดีค่ะ

19 ต.ค. ประชุมทั้งเช้า และบ่าย อีกเช่นกัน  เช้าเป็นคณะกรรมการสำนักหอสมุด  บ่ายเป็นกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย  การได้รับทราบว่า ทุกจุด ทุกตำแหน่งแห่งหนของมหาวิทยาลัย ต่างเพียรพยายามอย่างเต็มกำลังในการดำเนินงานให้มีคุณภาพและมาตรฐาน  แม้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ดิฉันภาคภูมิใจในสถาบันเป็นอย่างยิ่ง  เดี๋ยวนี้ คุณภาพห้องสมุดไม่ได้วัดกันที่จำนวนหนังสือ ตำรา หรือจำนวนคนยืมหนังสือเท่านั้นนะค่ะ  ต้องนับกันที่ฐานข้อมูลอิเลกทรอนิกส์  และความถี่ของการสืบค้นด้วย แต่ เอ ทำอย่างไรดิฉันก็ไม่ทราบ ได้แต่หมายมั่นไว้ว่า ปีนี้จะพัฒนาห้องอ่านหนังสือของคณะให้จงได้  ที่ทางในบ้านก็มีน้อยนิด ตำราก็แสนแพง ใครหาวิธีแก้ปัญหานี้ได้ โปรดชี้ทางสว่างด้วยเถอะค่ะ

20 ต.ค. ประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ ครั้งแรกของปีงบประมาณ  ยาวเหยียดตลอดวัน แม้พักทานข้าวก็ไม่ให้ไปไหน สั่งมาให้ทานด้วยกันเลย ทั้งเรื่องแจ้งเพื่อทราบ  เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา อย่างละนับสิบกว่าเรื่อง แต่ดูเหมือนกรรมการทุกท่านก็ enjoy กันดี ที่น่าสนใจก็คือ การนำสรุปข้อมูลด้านต่างๆของทุกงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา แจ้งให้ที่ประชุมทราบ โดยการสรุปเป็นกราฟสถิติและตัวเลขเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี  ทำให้ผู้บริหารเกิด idea ตั้งโจทย์วิจัยสถาบันให้กับงานต่างๆ ในกลุ่ม Non teaching ได้มากมาย  เรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือร่างแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของคณะฯ ตามวิสัยทัศน์ใหม่ ที่มุ่งจะเป็นคณะวิชาแห่งการวิจัย ก็ได้มีการพิเคราะห์ พิจารณากัน  และนัดหมายกันด้วยว่า วันที่ 26 จะเปิดเวทีให้บุคลากรทั้งคณะ วิภากษ์ยุทธศาสตร์นี้พร้อมๆ กัน

21 ต.ค. เพื่อประกอบกับแบบวิเคราะห์งานที่ให้ผู้ทำงานเป็นผู้กรอกเอง  คณบดีจึงได้สัมภาษณ์บุคลากรอีกทางหนึ่งด้วย  การได้พูดคุย  ถามไถ่ ช่วยให้ได้ข้อมูลมากกว่าดูข้อเขียนเพียงอย่างเดียว  ช่วยให้การปรับ JD ง่ายขึ้น ร่าง JD ของงานแต่ละตำแหน่ง ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นบ้างแล้ว  คาดหมายว่า จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ โดยจะนัดหมายเพื่อประชุมวิพากษ์ JD ก่อนลงนามรับรองต่อกัน อีกครั้งหนึ่งด้วย

24 ต.ค. ได้รับทราบข่าวดีจากลูกศิษย์ที่จบการศึกษาไปแล้วว่า  ได้นำผลงานโครงงานตอนปี 4 ที่ได้รับรางวัลจากทั้งของมหาวิทยาลัย และการประกวดรางวัลนวัตกรรมระดับภูมิภาค  เข้าประกวดระดับประเทศ  และได้รับรางวัลที่ 2 ในสาขาสุขภาพ เป็นเครื่องยึดคาสเซทสำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บแขนและขา ดีใจกันยกใหญ่  อวดอาจารย์ว่า ได้เงินรางวัลตั้ง 5 หมื่นบาท อาจารย์ก็พลอยปลื้มไปกับเขาด้วย  ไม่เสียแรงที่ขยั้นขยอให้สู้ ให้แสดงมาโดยตลอด

25 ต.ค. เป็นวันเตรียมการหลายโครงการ ที่จะจัดต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 26 ถึงวันที่ 29 ซึ่งดิฉันจะได้เล่าให้ฟังในวันต่อๆไป  คราวนี้ ต้องบันทึกวันต่อวัน มิฉะนั้น จะลืมหรือเก็บไม่หมด  เหมือนเช่นวันนี้ ที่ดิฉันต้องเสียเวลามาทบทวนอดีต  อย่างงี้เขาเรียกว่า ดินพอกหางหมู ใช่ไหมค่ะ  

หมายเลขบันทึก: 5868เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2005 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท