หลักประกันสุขภาพ อย่างเดียวไม่พอ


รัฐมีหน้าที่ดำเนินการดูแลรักษาประชาชนโดยไม่ต้องรับค่ารักษาใด ๆ อีก เป็นหลักประกันว่ายามเจ็บป่วยทุกคนสามารถไปรับการรักษาได้อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ต้องร้องขอการ"สงเคราะห์ช่วยเหลือค่ารักษา" อีกต่อไป

          ผมได้อ่านบทความของ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เรื่อง หลักประกันสุขภาพ อย่างเดียวไม่พอ ที่เขียนไว้ที่ หนังสือพิมพ์ประชาไทย  ยอมรับว่าหักห้ามใจไม่ได้ที่จะไม่นำมาขยายต่อ โดยคัดมาบางส่วน ดังนี้ครับ นโยบายหลักประกันสุขภาพ นับเป็นความก้าวหน้าที่รัฐบาลไทยรักไทยกล้าทำ เพราะต้องดำเนินการ "หักด้ามพร้าด้วยเข่า" คือการหักดิบการจัดการงบประมาณจากเดิมให้งบเบ็ดเสร็จเหมารวมไปที่กระทรวงสาธารณสุขที่เดียว เปลี่ยนเป็นงบประมาณเป็นของประชาชน เป็นค่าใช้จ่ายรายหัวของประชาชนที่จ่ายให้กระทรวงฯ ให้ทำหน้าที่ดำเนินการดูแลรักษาประชาชนโดยไม่ต้องรับค่ารักษาใด ๆ อีก เป็นหลักประกันว่ายามเจ็บป่วยทุกคนสามารถไปรับการรักษาได้อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ต้องร้องขอการ "สงเคราะห์ช่วยเหลือค่ารักษา" อีกต่อไป เพราะรัฐจัดสรรงบให้แล้ว
          แต่การดำเนินนโยบายนี้ ต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากข้าราชการกระทรวง รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดจากที่ข้าราชการคือเจ้านาย เปลี่ยนเป็นหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกส่วนเป็นพนักงานบริการประชาชนไม่ใช่เจ้านายอีกต่อไป หากรัฐไม่อาจซื้อใจคนเหล่านี้ด้วยแรงจูงใจบางอย่าง อาจส่งผลเสียคือความล้มเหลวของระบบหลักประกันสุขภาพได้ และคงต้องเน้นทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน และทำให้ข้าราชการพร้อมจะทำงานบริการรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พูดง่าย ๆ ว่า รักษาฟรี อย่างเดียวต้องให้เงินเพิ่ม ให้แรงจูงใจ เพื่อคนในระบบจะมีความสุขในการทำงานบริการประชาชน

          หากในบทความนี้ได้กล่าวถึงหลักประกันการศึกษา หลักประกันเรื่องที่ดินทำกิน และหลักประกันเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานไว้ด้วย ประเด็นที่ผมยกมากล่าวไว้ที่นี่จะเป็นเฉพาะ “หลักประกันสุขภาพ” ครับ
          หลักประกันสุขภาพที่มุ่งให้แก่ประชาชน ณ วันนี้ถือว่าเกือบจะถึงที่สุดแล้วในแง่ของความครอบคลุม เพราะอยู่ที่ร้อยละ 98.00 – 99.00 และที่เหลือก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงสิทธิไปมาในระหว่างการแจงนับมากกว่า มีบ้างครับที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่คนเหล่านั้นก็มีมาตรา 8 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไว้รองรับให้มีสิทธิและสามารถใช้บริการได้ในทันทีนั้น
          หลักประกันสุขภาพ ณ วันนี้จึงน่าจะมาดูที่ประชาชน (ใช้ประชาชนเป็นฐานคิดในการเขียนบันทึกนี้ครับ) ว่ายังมีการไม่ทราบสิทธิว่ามีอะไรบ้างอยู่อีกไหม มีความเต็มใจไปใช้บริการโดยใช้บัตรทองแค่ไหน ทำไมคลินิกเอกชนถึงมีคนใช้บริการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงมีโครงการฯ นี้  ประชาชนภูมิใจกับการยื่นบัตรทองเพื่อแสดงสิทธิในการขอรับบริการจากสถานบริการ หรือกล้า ๆ กลัว ๆ หรือไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น อย่างนี้เป็นต้นครับ (เท่าที่นึกได้ขณะนี้)

          ผมมีข้อมูลเชิงประจักษ์ 1 คน ที่เล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นช่วงแรกที่เริ่มมีบัตรทอง (ประมาณปี 2545) ลองอ่านดูนะครับ แล้วผมขอจบบันทึกนี้ลงเลย ในตอนนี้
             “รอให้เขาบอกค่ายาก่อนว่าเท่าไหร่ พอเห็นหลายบาท 300 กว่าบาท ลุงก็เอาบัตรทองยื่นให้”
             “เขาต่อว่าผมใหญ่ว่า ให้ยื่นบัตรเสียแต่แรก และจะให้ผมจ่ายเงิน”
             “ผมไม่ยอมจ่าย และก็ไม่จ่าย แต่ก็ได้ยามานะครับ”
             “สุดท้ายวันนั้น จนถึงวันนี้ ผมไม่เคยได้ไปเอายาที่นั่นอีกเลย
             “ดีนะที่เป็นคนพิการ ไปที่อื่นได้เลย ไม่ต้องให้หมอส่งตัว”

หมายเลขบันทึก: 5867เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2005 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท