ถอดบทเรียนวันนี้..ที่เมืองทองธานี


ข้อค้นพบโดยรวม ของสุดยอดโรงเรียนเล็ก ส่วนใหญ่จะมีโมเดลการบริหารจัดการที่ชัดเจนเป็นของตนเอง โมเดล..เป็นกระบวนการที่จับต้องได้ ไม่เพ้อฝันและทำได้จริง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในทุกขั้นตอน และปลายทางมีผลผลิตที่เกิดขึ้นโดยฝีมือนักเรียน ตลอดจนมีระบบการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน

ผมไม่ได้สนใจงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ที่จัดโดย สพฐ.มา ๓ - ๔ ปีแล้ว หลังจากที่เคยได้รับรางวัลระดับชาติ ชื่อรางวัลทรงคุณค่า โรงเรียนขนาดเล็ก ชนะเลิศยอดเยี่ยม ด้านบริหารจัดการ(Obec Award) ซึ่งทั้งประเทศ มีเพียงรางวัลเดียว และได้รับโรงเรียนเดียวในปีนั้น จากนั้น ผมก็หันมาเอาดีและจริงจังทางวิชาการ

จริงๆแล้ว ผมก็มีความปรารถนารางวัลอื่นๆ ในปีต่อมา ทั้งในส่วนของโรงเรียน ครูและนักเรียน สำรวจข้อมูลศักยภาพบุคลากรดูแล้ว ก็ไม่น้อยหน้าหรือด้อยค่ากว่าใคร แต่จำเป็นต้องหยุดประชันขันแข็งบ้าง ด้วยถ้อยคำสำคัญที่ว่า โรงเรียนเป็น"สถานศึกษาพอเพียง" พอรู้สึกได้ว่า พอเพียง สิ่งที่ตามมาคือ วาง และ ว่าง ได้ในบางโอกาส และใช้โอกาสไม่ให้เกิดวิกฤติ โดยเฉพาะในด้านการเรียนการสอน พัฒนาการอ่านคล่องเขียนคล่อง มีผลเป็นที่น่าพอใจ ใช้เวลาหมดไปกับการเตรียมคุณภาพการสอบระดับชาติ ป.๓ (NT) และโอเน็ต ป.๖ ได้ค่าเฉลี่ยไม่ต่ำมาก บางสาระวิชา สูงกว่าระดับชาติด้วยซ้ำ ส่งผลให้ผ่านการประเมิน สมศ.รอบ ที่ ๓

เคยถามตัวเองเหมือนกัน..ทำไม..ไม่ส่งครูและนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ในระดับกลุ่มโรงเรียน ระดับเขตและภาค ทำควบคู่ไปกับการทำงานปกติ ทำแบบบูรณาการก็ได้ คือทำการสอนพร้อมๆกับการฝึกปรือนักเรียน ถึงเวลาก็เข้าประกวดแข่งขันในทันที

แต่ในสถานการณ์จริง ตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การมีครูไม่ครบชั้น ไม่มีครูวิชาเอกหลักๆ ภาระงานครูมาก และนักเรียนที่มีความสามารถที่โดดเด่นก็หายาก ตลอดจนธรรมชาติของครู เมื่อติวเด็กคนหนึ่งหรือกิจกรรมหนึ่ง จะทอดทิ้งเด็กกลุ่มใหญ่ อาจจะไม่ถึงกับลอยแพ แต่เท่าที่สังเกต เด็กอ่อนหรือเด็กหลังห้อง จะเป็นเด็กด้อยโอกาสมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ครับ เป็นเหตุผลของผมเอง ที่เห็นและเป็นอยู่ เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนของผม ในกรณีนี้ ผมไม่ได้หมายรวมโรงเรียนส่วนใหญ่ และก็ไม่ใช่เหตุผลที่ผูกโยงไปถึงเรื่องเด็กไทยอ่านไม่ออกนับแสนคน ทั้งประถมต้น ประถมปลายและมัธยมต้น จน รมว.ศธ.ประกาศนโยบายฉุกเฉิน เปิดไซเรน ว่าภายในปีนี้..ต้องปลอด....

๘ ปีเศษ ในโรงเรียนขนาดเล็ก..ของผม เริ่มลงตัว เข้าใจมากขึ้นว่าจะบริหารอย่างไร และจะอยู่กับปัญหาอย่างไรถึงจะมีความสุข อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อชีวิตและโรงเรียน ที่ต้องปรับตามสถานการณ์ของบ้านเมือง ของนโยบายและสังคม เริ่มต้นที่การศึกษา..รู้เขารู้เรา

วันนี้ผมจึงเดินทางไปศึกษาดูงานศิลปหัตถรรมนักเรียนอย่างจริงจัง ณ ลานนิทรรศการ อาคารชาเลนเจอร์ ๒ ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี ใช้เวลา ๑ ชั่วโมงกับการศึกษาวิธีสอนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอน ที่มาจาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี สอบถามเกี่ยวกับเทคนิคและการบริหารจัดการชั้นเรียน มีหลายประเด็นที่ผมไม่เคยทราบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

กว่า ๓ ชั่วโมง.....ที่ผมเดินศึกษาเรียนรู้อยู่ที่นิทรรศการ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ สพฐ.จัดเป็นครั้งแรก คัดเลือก ๑๐ สุดยอดโรงเรียนขนาดเล็กมาจัดนิทรรศการผลงาน แบบสดใสมีชีวิตชีวา ผมไม่รู้สึกเสียดายเวลาเลย เมื่อเข้าไปสังเกตและสอบถามความเป็นมาเป็นไปของชิ้นงานของทุกโรงเรียน ซึ่งแน่นอน..ผมไม่สามารถพัฒนาโรงเรียนให้ขึ้นได้ถึงระดับนี้ แต่ในบางแง่มุมผมสามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้

ข้อค้นพบโดยรวม ของสุดยอดโรงเรียนเล็ก ส่วนใหญ่จะมีโมเดลการบริหารจัดการที่ชัดเจนเป็นของตนเอง โมเดล..เป็นกระบวนการที่จับต้องได้ ไม่เพ้อฝันและทำได้จริง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในทุกขั้นตอน และปลายทางมีผลผลิตที่เกิดขึ้นโดยฝีมือนักเรียน ตลอดจนมีระบบการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน

ข้อคิด..ที่เป็นข้อสังเกต..ได้อย่างเด่นชัด คือ ทุกโรงเรียน..จะน้อมปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ในการพัฒนาทักษะชีวิต..อย่างจริงจัง แต่แฝงไว้ในบรรยากาศที่เรียบง่าย สงบเย็น เน้นชุมชนมีส่วนร่วม...

สิ่งที่คล้ายกันของ Best Practice ในสุดยอดโรงเรียนเล็ก ก็คือ ทักษะอาชีพ เป็นพื้นฐานสำคัญที่หล่อหลอมให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน แบบเรียนจริง ทำจริง และจำหน่ายได้จริง ไม่ทิ้งชุมชน ยอมรับในภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำเรื่องง่ายๆใกล้ตัวได้อย่างงดงาม เหมาะสมตามบริบทของโรงเรียนโดยแท้...

ผมขับรถกลับบ้าน..ด้วยหัวใจที่ชุ่มชื่น..คิดมาตลอดทางว่า การบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ใช่ว่าจะยุ่งยากเสมอไป ถ้าอยากเด่น ก็ควรจะจับประเด็นให้ถูกจุด...แต่คิดแล้ว ถ้าอยากดัง...และนั่งอยู่ในหัวใจผู้ปกครองให้ได้ล่ะก็ ....ทำลูกหลานเขาให้อ่านออกเขียนได้..อย่างเดียว..ก็พอแล้วมั้ง

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

</span></strong>

หมายเลขบันทึก: 586437เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2015 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2015 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รางวัลใด ๆ เป็นเพียงส่วนเสริม และยืนยันการกระทำ

ของเรา ซึ่งเนื้อแท้ อยู่ที่สิ่งที่เราทำ

รางวัลจะมีหรือไม่....ไม่สำคัญเท่ากับ....เราทำหรือไม่...

จงทำเพื่อหวังผลแห่งงาน อย่าทำเพื่อ...หวังผลแห่ง...รางวัล..

มิฉะนั้น ความท้ออาจมาเยือน เมื่อ...พลาดรางวัล



อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท