อำนาจที่ไม่ต้องได้มาด้วยตำแหน่ง


การทำงานใดๆ ให้สำเร็จนั้น ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากคนจำนวนมาก ทั้งในฝ่ายตนเอง และคนภายนอก

เก็บมาเล่าต่อ (ย้อนอ่านตอนที่ 1 และ 2) จากหนังสือจากหนังสือ “Power, Influence and Persuasion” ภาคภาษาไทยที่ชื่อว่า “กลวิธีปกครองคน”   ในบทที่ 2 ว่าด้วย แหล่งที่มาของอำนาจ  อ่านแล้วรู้สึกหัวใจพองโตมากเลยค่ะ อยากนำมาเล่าต่อเร็วๆ เพราะเนื้อหาในบทนี้ ทำให้ทราบว่า ไม่เฉพาะอำนาจที่มากับการมีตำแหน่งหน้าที่บริหารเท่านั้น แต่ อำนาจ ยังมาจากอีก 2 แหล่งสำคัญ คือ อำนาจจากความสัมพันธ์ และ อำนาจในตนเอง ซึ่งเราคนเดินดินธรรมดา ถึงแม้ไม่ได้มีตำแหน่งบริหารใดๆ ก็สามารถแสวงหา และมีอำนาจนี้ได้   และความสำคัญของอำนาจนี้ ก็มีไม่น้อยกว่าอำนาจจากตำแหน่งซะด้วย   ขอย้ำอีกครั้งว่า “power” หรือ อำนาจ ในที่นี้คือ “ศักยภาพในการจัดสรรทรัพยากร การตัดสินใจ และการจูงใจให้มีการตัดสินใจ” 

ก่อนอื่นขอสรุปเกี่ยวกับอำนาจที่มาจากตำแหน่งก่อน ต่อจากนั้นจึงเป็นอำนาจจากความสัมพันธ์และอำนาจจากตนเอง

อำนาจจากตำแหน่ง ได้มาจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และอำนาจบังคับบัญชาระดับใดระดับหนึ่ง รวมถึงการควบคุมจัดสรรทรัพยากรบางอย่าง   อำนาจจากตำแหน่งนั้น มีขอบเขตของอำนาจชัดเจน เช่น หัวหน้าหน่วยงาน ก. มีอำนาจบังคับบัญชาในขอบเขตหน่วยงาน ก. ไม่มีอำนาจในหน่วยงาน ข. เป็นต้น 

 อำนาจจากตำแหน่งเป็นสิ่งเย้ายวน  แต่หากผู้บริหาร หวังพึ่งพาอำนาจจากตำแหน่งเพียงอย่างเดียวในการกระตุ้นพฤติกรรมของคนเพื่อให้งานสำเร็จ  ก็มีหวังจะพบกับความร่วมมือจากลูกน้องอย่างไม่เต็มใจ หรือร้ายไปกว่านั้นอาจไม่ได้รับความร่วมมือไปเลย  ทั้งนี้ เพราะในการทำงานใดๆ ให้สำเร็จนั้น ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากคนจำนวนมาก ทั้งในฝ่ายตนเอง และคนภายนอก   อย่างไรก็ตาม ผู้ใต้บังคับบัญชา ก็มักจะรับรู้อำนาจจากตำแหน่งอยู่ดี และ มีโอกาสที่พวกเขาจะทำตัวเหินห่าง  เพราะความหวาดระแรงในอำนาจของคุณ ที่อาจจะมีอิทธิพลเหนือความเป็นอยู่ของพวกเขาตลอดเวลา

ข้อแนะนำในการใช้อำนาจจากตำแหน่งให้ดำเนินการอย่างดีที่สุดก็คือ

  • ใช้อำนาจจากตำแหน่ง ที่เวลาที่จำเป็นเท่านั้น  ในภารกิจส่วนใหญ่แล้วนั้น ต้องใช้การจูงใจ หรือวิธีการอื่นๆ ทุกครั้งที่เป็นไปได้
  • ต้องตระหนักและเข้าใจในขอบเขตของอำนาจจากตำแหน่งของคุณ และอย่าได้พยายามใช้มันเกินขอบเขต
  • ปกป้องการล่วงละเมิดอำนาจจากตำแหน่งของคุณ

อำนาจจากความสัมพันธ์ เป็นอำนาจอย่างไม่เป็นทางการ เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์โดยอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือ และ การพึ่งพาอาศัย  ดังเช่นที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ว่ามีการใช้ความร่วมมือ และ การพึ่งพาอาศัยกันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรวมบริษัท  หรือการทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย หรืออื่นๆ  ล้วนเป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวงการเพื่อผลักดันงานที่ยาก งานใหญ่ หรือ งานที่ซับซ้อนให้สำเร็จลุล่วง

หากพูดถึงเรื่อง ความร่วมมือ (coalition) นั้น มี 2 ประเภท คือ 1. ความร่วมมือตามธรรมชาติของคู่พันธมิตรที่มีประโยชน์ร่วมกัน และ 2) ความร่วมมือแบบเฉพาะกิจ ซึ่งแต่ละฝ่ายมารวมกันเพื่อสนับสนุนหรือขัดขวางในสิ่งที่เป็นประเด็นเดียวกัน (บ่อยครั้งด้วยเหตุผลต่างกัน – ตัวอย่างการรวมตัวกันของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อนรัฐประหารก็คงเข้าข่ายนี้)   ส่วนความร่วมมือตามธรรมชาตินั้น ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะ มีประโยชน์อย่างกว้างๆ ร่วมกัน เช่น ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์  ซึ่งต่างก็มีประโยชน์ร่วมและ เป้าหมายร่วมกัน  การร่วมมือแบบนี้ เป็นสิ่งที่ยากต่อการทำลาย

อีกเรื่องหนึ่งในอำนาจประเภทนี้  การพึ่งพิง (dependencies)  เป็นธรรมชาติของสังคมที่เราต้องพึ่งพิงผู้อื่นสำหรับบางสิ่ง  แล้วคุณต้องพึ่งพิงสิ่งใดบ้าง?  หัวหน้าใหม่ มักจะพบสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นอย่างมากในการทำงาน และ รู้สึกมีข้อจำกัดของทางเลือกเพราะไม่สามารถสั่งการได้โดยง่าย ทั้งหมดนี้ อำนาจที่มาจากความสัมพันธ์ที่มีการพึ่งพิงนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยสองประการคือ 1) การที่ผู้อื่นพึ่งพิงคุณ (ปัจจัยด้านบวก)  2) ระดับที่คุณพึ่งพิงผู้อื่น (ปัจจัยด้านลบ)  ดังนั้น คุณจะสามารถเพิ่มอำนาจจากความสัมพันธ์นี้ได้ โดย ลดการพึ่งพิงผู้อื่นๆ หรือ ทำให้ผู้อื่นพึ่งคุณมากขึ้น

อำนาจในตนเอง เป็นลักษณะหรือคุณสมบัติของตัวคุณเอง ที่ผู้อื่นตระหนักได้  เป็นอำนาจที่จะยังคงเหลืออยู่เมื่อคุณพ้นจากอำนาจอย่างเป็นทางการ  คุณสมบัติเหล่านี้เช่น

  • ความน่าเชื่อถือ
  • การเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณค่าต่อผู้อื่นอย่างมาก
  • ความสามารถในการสื่อถึงความคิดและข้อคิดเห็นในแนวทางที่ดึงดูดใจ
  • มีความน่าเคารพและศรัทธา
  • มีแนวคิดที่ทรงพลัง และ ดึงดูดความสนใจ
  • การอุทิศต่อการทำงานหนัก
  • ความสามารถในการขอความร่วมมือ
  • ความเชื่อมั่นในตนเอง
  • ฯลฯ

ผลรวมของบุคลิกภาพเหล่านี้ เป็นการบอกระดับอำนาจในตนเองของคุณ และ บอกความเป็นไปได้ในการเป็นผู้นำ  ถึงแม้จะไม่มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ  ผู้ที่มีคุณลักษณะเหล่านี้ ก็ยังสามารถมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้อื่นได้ 

โดยสรุป

  • ถึงแม้คุณผู้เป็นหัวหน้าและมีอำนาจในมืออย่างเป็นทางการ ก็ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จอย่างดี โดยปราศจากอำนาจจากความสัมพันธ์ และ อำนาจในตนเอง 
  • และในทางกลับกัน คนทำงานธรรมดา ก็สามารถ เป็นที่นับถือ ยำเกรง และเป็นผู้นำผู้อื่นได้ ด้วยการสร้างและสั่งสมความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น รวมทั้งแสดงศักยภาพภายในแห่งตนให้เป็นที่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง
หมายเลขบันทึก: 58544เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2012 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ชอบทั้งใจความที่อาจารย์นำมาเล่า และวิธีการที่อาจารย์เล่าเลยค่ะ อ่านแล้วพลอยรู้สึกฮึกเหิม อยากมีอำนาจในตนเอง บ้างนะคะ

อ่านแล้วได้ข้อคิดด้วยว่า ผู้ที่มีโอกาส มี อำนาจจากตำแหน่ง แล้วใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกทาง เที่ยงตรง ทรงคุณธรรม จะเป็นที่รักเคารพศรัทธาเสมอไม่ว่าจะ"หลุด"ไปนานแค่ไหน

มือไวไปหน่อย ว่าจะขอบคุณอาจารย์ ที่เก็บมาเล่าแบบวิเคราะห์ตีความได้เร้าพลังดีค่ะ จะรอติดตามตอนต่อๆไปจนจบเล่มด้วยค่ะ
ขอบคุณคุณโอ๋ที่ชมค่ะ
  • คุณโอ๋-อโณครับ อำนาจมีมากไปก็ไม่ใคร่ดีเท่าไหร่นะครับ ดังที่ บารอน จอห์น แอ็คตัน ปราชญ์ชาวอังกฤษ ได้เขียนไว้ว่า Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely.
  • ขอบคุณอาจารย์ปารมีครับที่นำสาระดี ๆ มาเผยแพร่ชวนให้เกิดแง่คิดสกิดใจใฝ่อำนาจที่เหมาะสม
สำหรับผู้เขียนคิดว่า "ถ้าไร้ซึ่งอำนาจใด ๆ และไม่แสวงหา ชีวิตจะมีสุขกว่ามั๊ย ?"

อำนาจในตนเอง เป็นลักษณะหรือคุณสมบัติของตัวคุณเอง ที่ผู้อื่นตระหนักได้  เป็นอำนาจที่จะยังคงเหลืออยู่เมื่อคุณพ้นจากอำนาจอย่างเป็นทางการ  คุณสมบัติเหล่านี้เช่น

  • ความน่าเชื่อถือ
  • การเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณค่าต่อผู้อื่นอย่างมาก
  • ความสามารถในการสื่อถึงความคิดและข้อคิดเห็นในแนวทางที่ดึงดูดใจ
  • มีความน่าเคารพและศรัทธา
  • มีแนวคิดที่ทรงพลัง และ ดึงดูดความสนใจ
  • การอุทิศต่อการทำงานหนัก
  • ความสามารถในการขอความร่วมมือ
  • ความเชื่อมั่นในตนเอง
  • ฯลฯ

    อาจารย์คะขอบคุณค่ะ สนใจมาก อยากรู้เจ้า ฯลฯ ด้านบน...วันหลังจะขอยืมอ่านค่ะ

คุณเมตตาคะ

ยินดีค่ะ จะยืมเมื่อไร โทรมาได้เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท