ผู้สูงอายุไม่ถูกทอดทิ้ง


ปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเพิ่มด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราในบทบาทนักศึกษากิจกรรมบำบัดจึงร่วมกันคิดหาแนวทางที่จะลดปัญหาการถูกทอดทิ้ง

พวกเราได้ช่วยกันสืบค้นข้อมูล หาหลักฐานเชิงประจักษ์จากวารสารต่างๆได้สรุปเป็นปัจจัยต่างๆที่จะทำให้ผู้สูงอายุไม่ถูกทอดทิ้ง ดังนี้

1.Health Promotion

ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่บั่นทอนความสุขและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นแก่ผู้สูงอายุอย่างมาก

ส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง งานบริการของบุคลาการทางสาธารณสุข ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต่อมาองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ขยายความหมายของคำนี้ให้กว้างขึ้น จึงนำคำว่า สร้างเสริมสุขภาพ มาใช้กัน
ซึ่งคำนี้หมายถึง การที่ทุกๆคนทุกๆฝ่ายสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากบุคลากรสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว ตัวเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยตนเอง

การสร้างเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุ ประกอบด้วยหลายๆด้าน ดังนี้

  • ด้านร่างกาย

จาก Evidence Based Review พบว่า การออกกำลังกายเป็นการส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย เช่น ออกกำลังกาย
แบบแอโรบิกนาน 30 นาทีต่อครั้ง หรือออกกำลังกายระดับปานกลาง เช่น การเดิน การเดินขึ้นบันได เดินจัดสวนภายในบริเวณบ้าน
ประมาน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้เกิดการเผาผลาญแคลอรี่ ดีต่อระบบต่างๆและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งการออกกำลังกายก็จะขึ้นกับสรีระร่างกาย สภาพจิตใจ ความรู้หรือความเชื่อต่อผลกระทบจากการออกกำลังกาย การสนับสนุนทางสังคม
และสิ่งแวดล้อมของผู้สูงอายุรวมถึงการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน
และเพิ่มการดื่มน้ำในปริมาณมาก ทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายจะทำให้เกิดผลดีต่อร่างกาย


ที่มา http://www.thaihealth.or.th/Content/26754-B8.html

การทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการล้มในผู้สูงอายุได้
ดังนั้นนักกิจกรรมบำบัดจึงได้เข้าไปประเมิน,ปรับสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย และให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในการล้มแก่ผู้สูงอายุอีกด้วย

  • ด้านจิตใจ

จากบทความ "Psychosocial interventions for the promotion of mental health and the prevention of depression among older adults" ได้ทำการทดลองเพื่อประเมินผลของการรักษาทางจิตสังคม เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ โดยนำผู้สูงอายุจำนวน65คนที่ไม่มีโรคทางสุขภาพจิตอย่างอื่น เช่น dementia
มาแบ่งเป็น2กลุ่มเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษากับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งกิจกรรมที่ให้จะมีการออกกำลังกาย,การฝึกทักษะต่างๆ,การระลึกความจำ,การทำกิจกรรมกลุ่ม,การทำกิจกรรมทางสังคม และจากการทดลองได้พบว่ากิจกรรมที่ให้ไปทำให้คุณภาพชีวิต,สุขภาพจิต และความพอใจในชีวิตนั้นดีขึ้น และอาการซึมเศร้าก็ลดลงด้วย


ที่มา http://www.thaihealth.or.th/Content/25059-%B8.html

สำหรับประเทศไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำคู่มือความสุข5มิติสำหรับผู้สูงอายุพัฒนาขึ้นเพื่อใช้พัฒนาผู้สูงอายุในการชะลอ ความเสื่อมของร่างกายการพัฒนาให้ผู้สูงอายุมีความสุขในเชิงจิตวิทยา กิจกรรมที่ให้จะมีทั้งหมด 5 ประเภท คือ

  • 1.กิจกรรมสุขสบาย (Health) เน้นไปที่การเคลื่อนไหวปฏิบัติกิจวัตรประจำ วัน (Functional mobility) ดูแลสุขภาพร่างกายให้มีสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรง
  • 2.กิจกรรมสุขสนุก (Recreation) จะเน้นไปที่การจัดกิจกรรมนันทนาการ ที่สร้างความสดชื่น ความมีชีวิตชีวา อารมณ์เป็นสุขจิตใจสดชื่นแจ่มใสกระปรี้กระเปร่า
  • 3.กิจกรรมสุขสง่า (Integrity) จะเน้นไปที่กิจกรรมที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และตระหนักถึงความมีคุณค่า ในตนเอง เช่น ดูแลหลาน ช่วยกก.ชุมชน
  • 4.กิจกรรมสุขสว่าง (Cognition) จะเน้นไปที่ กิจกรรมที่ช่วยในการชะลอความเสื่อมทางสมอง เพิ่มไหวพริบ ความจำ การมีสติ
  • 5.กิจกรรมสุขสงบ (Peacefulness) เน้นความสามารถของบุคคลในการรับรู้-เข้าใจความรู้สึกของตนเอง ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
  • เทคนิคการผ่อนคลาย (Relaxation)

Relaxation คือ เทคนิคการผ่อนคลาย เป็นการฝึกปฏิบัติให้เกิดภาวะผ่อนคลาย ลดการตื่นตัว สามารถช่วยพัฒนาได้ทั้ง ร่างกาย(Physical) จิตใจ(Mental) และ จิตวิญญาณ (Spiritual)

Relaxation ทำอย่างไรและใช้ได้ผลจริงหรือไม่ ???

อ้างอิงจากวารสารของนักกิจกรรมบำบัดฝ่ายจิต ในประเทศอินเดีย ที่ชื่อว่า International Journal of Science and Research (IJSR) ที่ศึกษาผลของการผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยใช้การออกกำลังกายในผู้สูงอายุที่มีสภาวะบกพร่องทางจิต
โดยวัดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อจาก Stress Questionnaire(ใช้เป็น Pre-test และ Post-test)

  • –ความเครียดระดับต่ำ ค่าที่ได้ 0-17
  • –ความเครียดระดับปานกลาง ค่าที่ได้ 18-35
  • –ความเครียดระดับสูง ค่าที่ได้ 36-52

เมื่อทำ Pre-test เสร็จเรียบร้อย จะให้ผู้สูงอายุทำ Progressive Muscle Relaxation (PMR) วิธีการดังต่อไปนี้

–อยู่ในท่าสบาย คลายเสื้อผ้าให้หลวม ปิดตา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบ
–รวบรวมความคิดให้อยู่ที่กล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
–ทำท่าผ่อนคลายทั่วร่างกายตั้งแต่หน้าผากจนถึงนิ้วเท้า
–สำรวจกล้ามเนื้อที่ยังเกร็ง ทำท่าผ่อนคลายที่ส่วนนั้นซ้ำๆ 3-4 ครั้ง

ผลลัพธ์ที่ได้คือค่าเฉลี่ย Pre-test ก่อนทำ PMR มีค่า 34.47 และค่าเฉลี่ย Post-test หลังทำ PMR มีค่า 23.43 แสดงให้เห็นว่าตัวเลขจากค่า Stress questionnaire มีค่าลดลง จึงสรุปผลได้ว่าเทคนิค PMR ช่วยให้เกิดภาวะผ่อนคลาย,ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรม

  • อุปกรณ์ช่วย (Assistive Technology)

Assistive Technology [AT] เป็นเทคโนโลยีเครื่องช่วยที่ช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องด้านต่างๆสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้ และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น AT จึงถูกใช้อย่างกว้างขว้างมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความบกพร่อง แต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

ประโยชน์ของ AT ในผู้สูงอายุ เช่น

- ช่วยลดความยากลำบากในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ
- ช่วยลดความเสี่ยงในการล้มของผู้สูงอายุ และทำให้รู้สึกปลอดภัยเมื่อใช้งาน
- ช่วยให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ต้องการและเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมได้

ในปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามารวมกับ AT มากขึ้น เช่น การใช้ GPS ในมือถือของผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลงลืม (Dementia) เพื่อช่วยให้จำทางกลับบ้านได้

  • การปรับสิ่งแวดล้อม(Environment Modification)

การดัดแปลงสภาพบ้านช่วยให้ความสามารถเพิ่มขึ้นได้จริงหรือไม่ ??


ที่มา http://www.banidea.com/disabled-home-jaidee/

ได้มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมกับความความสามารถในการทำกิจกรรม ทำการทดลองโดยให้กลุ่มผู้สูงอายุ 77 คน อายุมากกว่าเท่ากับ 60 ปีขึ้นไป มาทำการประเมินวัดความสามารถในการทำกิจกรรมก่อนและหลังดัดแปลงสภาพบ้าน โดยให้ทำ 44 กิจกรรมภายในบ้าน

ซึ่งผลการทดลองพบว่า หลังการดัดแปลงสภาพบ้าน การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม (Activity Participation), ความสามารถในการทำกิจกรรม (Client's Rating of Performance), ความพึงพอใจของผู้รับบริการ (Client's Satisfaction With Performance), คะแนนของแบบประเมิน FIM มีค่ามากขึ้น และสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค (Environmental Barriers) ภายในบ้านมีค่าลดลง

ทำให้สรุปผลได้ว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ ซึ่งหากสิ่งแวดล้อมเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ก็จะส่งผลให้มีความสามารถในการทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น

2.ครอบครัว

ครอบครัวเป็นองค์ประกอบแรกในการดูแลผู้สูงอายุ จากงานวิจัยของไทยฉบับหนึ่งบอกว่า ครอบครัวและคนในชุมชนเป็นผู้ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้สูงอายุมากที่สุด จึงมีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุได้ดี ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุจะต้องครอบคลุมทั้งหมด 5 มิติ คือ

1.บทบาทในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

2.บทบาทในการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายแก่ผู้สูงอายุ

3.บทบาทในการดูแลภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุ

4.บทบาทในการดูแลผู้สูงอายุตามวัฒนธรรมและค่านิยมอันดีงามของประเทศไทย

5.บทบาทในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวยแก่ผู้สูงในการทำกิจวัตรประจำวัน


ที่มา http://family.truelife.com/content/detail/931141

จากงานวิจัยในต่างประเทศในบทความว่า" Addressing Everyday Challenges: Feasibility of a Family Caregiver Training Program for People With Dementia" ได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพของโปรแกรมการฝึกครอบครัวผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นDementiaในเรื่องของการช่วยเหลือกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน โดยมีครอบครัวจำนวน72ครอบครัวมาเข้าร่วมการฝึก
โปรแกรมการฝึกจะเป็นการให้ความรู้แก่ครอบครัวด้วยวิธีการสาธิตและอธิบายในเรื่องของกิจวัตรประวันต่างๆของผู้สูงอายุ
เช่น การเคลื่อนย้ายตัว การอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ โภชนาการ การสื่อสาร เป็นต้น และวัดผลโดยการทดสอบความรู้ด้านกิจวัตร
พื้นฐานต่างๆของผู้ดูแลโดยให้ทำแบบทดสอบก่อน-หลังการเข้าร่วมโปรแกรม
ผลการศึกษาพบว่าครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ดีขั้น มีผลทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บของผู้สูงอายุได้

3.ผู้ดูแล (ที่ไม่ใช่ครอบครัว)

ต้องมีเจตคติทางบวกและเอื้ออาทรต่อผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถจำแนกประเภทการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่เหมาะสมออกเป็น 5 เรื่อง
1.การทําร้ายร่างกาย (Physical Abuse) คือ การกระทําที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่กาย เจ็บปวด บาดแผล ความพิการ เช่น ผลักให้ล้ม หยิก ทุบตี
2.การเพิกเฉยละเลย ทอดทิ้ง (Physical Neglect) คือ ผู้ดูแลไม่ดูแลให้ผู้สูงอายุสามารถทํากิจวัตร ประจําวันขั้นพื้นฐานได้ตามสมควร ไม่พาไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วย
3.การทําร้ายจิตใจ (Psychological Abuse) คือ การกระทําที่ทารุณจิตใจ เช่น ประชดประชัน ด่าว่า ทําให้รู้สึกว่าไร้ค่า พูดลับหลัง มองเหยียดหยาม ทําท่าเบื่อ รําคาญ
4.การโกงเงินผู้สูงอายุ (Financial Exploitation) คือ การนําเงินผู้สูงอายุไปใช้อย่างไม่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของตนเอง แทนที่จะใช้เพื่อประโยชน์ของผู้สูงอายุเอง
5.การละเมิดสิทธิมนุษยชน (Violation of Rights) คือ การกระทําที่เพิกเฉย ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรี ทําลายข้าวของทรัพย์สินของผู้สูงอายุ ประจานให้อับอายในที่สาธารณะ การไม่ ถามความสมัครใจของผู้สูงอายุเพราะถือว่าแก่แล้ว

4.รัฐและสังคม

1.การประกันสังคม กองทุนต่างๆ เช่น
–กองทุนประกันสังคม
–กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
–กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำ

2.การช่วยเหลือสาธารณะ
–เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จ่ายเบี้ยยังชีพแบบขั้น
–อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 600 บาทต่อเดือน
–อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 700 บาทต่อเดือน
–อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยัง ชีพคนละ 800 บาทต่อเดือน
–อายุ 90 ปี ขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพคนละ 1,000 บาทต่อเดือน
–กองทุนดูแลผู้สูงอายุที่ขาดที่พึ่ง เช่น สนับสนุนการจัดการงานศพผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนก
–การได้รับคำปรึกษาในทางคดี ช่วยเหลือจากการถูกทารุณ
–การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ ให้ผู้สูงอายุเข้าชมฟรี
–การช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะ เช่น รถเมล์โดยสารประจำทาง (บขส./ขสบก.) ลดค่าโดยสารครึ่งราคา

3.การบริการสังคม
–ด้านสุขภาพอนามัย
- หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
- การจัดช่องทางเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุแยกจากผู้รับบริการทั่วไปในแผนกผู้ป่วยนอก
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
- การดูแลที่บ้าน (Home Care)
- โครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.)
–ด้านการศึกษา
–ด้านที่อยู่อาศัย : การจัดตั้งที่อยู่อาศัยสถานสงเคราะห์บ้านพักคนชรา
–ด้านการมีงานทำและการมีรายได้
- กองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ
- การจัดทำโครงการที่มีผู้สูงอายุเป็นแกนนำ
–ด้านบริการสังคมและนันทนาการ
- ชมรมผู้สูงอายุ
- ศูนย์อเนกประสงค์
- กองทุนผู้สูงอายุ

สรุปออกมาเป็นแผนผังความคิดได้ดังนี้

ดังนั้นหากเราทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันช่วยดูแลผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และรวมไปถึงตัวผู้สูงอายุเองด้วยที่จะต้องดูแลสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง ไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพื่อให้สามารถประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง หากเป็นเช่นนี้แล้วปัญหาการถูกทอดทิ้งก็จะลดน้อยลง และผู้สูงอายุก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขตามศักยภาพที่ตนมี



ที่มา http://www.beaumont-de-lomagne.fr/fr/sante-social/...

อ้างอิง

  • –อ.นพ.สมบูรณ์ อินทลาภาพร.9 วิธี ดูแลผู้สูงอายุสุขภาพดี.SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY[อินเทอร์เนต]. 2553[เข้าถึงเมื่อ 2558 มค. 24].เข้าถึงได้จาก:http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=736
  • –The John B. Physical Activity in Aging Changes in Patterns and Their Relationship to Health and Function. Journals of Gerontology2001; 56:12-22.
  • –Stephanie Fallcreek, MSvV; Molly K. Mettler, MSW . A Healthy Old Age: A Sourcebook for Health Promotion with Older Adults. The ArnencanJournal of Occupcdional Therapy1984;38:757-758.
  • –ForsmanAK, Nordmyr J, Wahlbeck K. Psychosocial interventions for the promotion of mental health and the prevention of depression among older adults. Health Promotion International. [Internet]. 2011 [cited 2015 Jan 22];26:i85-i107. Available from: http://heapro.oxfordjournals.org/content/26/suppl_...
  • –กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือความสุข 5 มิติสำ หรับผู้สูงอายุ [อินเทอร์เน็ต]. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท บียอนด์ พับลิสชิ่ง จำกัด; 2555. [เข้าถึงเมื่อ 23 มกราคม 2558]. เข้าถึงได้จาก: http://mhtech.dmh.moph.go.th/ver6/book/MD00000097%20-%20file.pdf
  • –M.Ramakrishnan, K.Kalai Chandran. The effects of progressive muscular relaxation exercise among geriatric patients with psychiatric illness. International journal of science and research 2015;4:963-6
  • Disabil Health J. 2014 January ; 7(1 0): S33–S39. doi:10.1016/j.dhjo.2013.09.004.
  • –Stark, S. L., Somerville, E. K., & Morris, J. C. (2010). In-Home Occupational Performance Evaluation (I–HOPE). American Journal of Occupational Therapy, 64, 580–589. doi: 10.5014/ajot.2010.08065
  • –Rosanne DiZazzo-Miller. Addressing Everyday Challenges: Feasibility of a Family Caregiver Training Program for People With Dementia . American Journal Occupational Therapy2014;Vol68:P.212-220.
  • –สุดารัตน์ สุดสมบูรณ์. สวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุในประเทศไทย. วารสารเทคโนโลยีภาคใต้ 2557; 1:77-79.
หมายเลขบันทึก: 585069เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้าใจมุมมองของผู้สูงอายุในหลายๆมุมมากขึ้น


อ่านแล้วสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง

เข้าใจถึงบทบาทและสามารถวางตัวที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุได้


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท