สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันโดย


                (ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ในงาน ประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร)

                สวัสดีครับ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมพัฒนา ก่อนอื่นขอพูดถึงท่านที่เดินทางมาร่วมประชุมกันในวันนี้ ซึ่งเป็นวันหยุด ซึ่งหน่วยงาน คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยากให้เป็นวันครอบครัว วันนี้คงเป็นข้อยกเว้นที่เรามีภารกิจที่ต้องทำ ที่จะทำเพื่อส่วนร่วมของสังคม เราต้องสละเวลาอันมีค่าที่จะอยู่ร่วมกันในครอบครัวมาร่วมประชุม มาดูแลครอบครัวใหญ่  ได้แก่ สังคมไทย สังคมไทยเป็นร่มใหญ่ให้กับครอบครัวเล็กๆ ของสังคม ถ้าครอบครัวใหญ่ดี ครอบครัวใหญ่จะเอื้อให้ครอบครัวเล็กๆข องสังคมไทยดีไปด้วย

                หลายคนต้องสละเวลา เพื่อมาร่วมประชุม ซึ่งหลายจังหวัดมีปัญหาในเรื่องน้ำท่วมอยู่ ท่านต้องสละเวลาเพื่อทำคุณประโยชน์ร่วมกันแก่สังคม  ตามกำหนดการประชุมเดิม รัฐมนตรีมามอบนโยบาย แต่ในกำหนดการใหม่ เปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีฯ มาปาฐกถาพิเศษ  ผมไม่มีนโยบายจะมอบ เพราะนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ  และเกี่ยวกับคนจำนวนมาก หลักการสำคัญที่ดีสำหรับการกำหนดนโยบายและการบริหารนโยบาย ก็คือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมพิจารณา ร่วมไตร่ตรอง ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายควรมีโอกาสสะท้อนความคิดเห็นต่อนโยบายที่กำหนดไว้โดยผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ทราบว่านโยบายนั้น มีความชัดเจน มีความเห็นอย่างไร สามารถไปปฏิบัติได้ หรือไม่  เสริมหนุนในส่วนที่ดี หรืออาจมีความเห็นว่านโยบายไม่น่าจะดี  ซึ่งควรได้พูดเสียก่อน ก่อนที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติแล้วเกิดผลไม่ดี เช่น ในวันนี้คงต้องถือว่าได้มีการกำหนดนโยบายไว้แล้ว เนื่องจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไปแล้ว นโยบายมีทั้งที่คิดจากรัฐบาลและทีมของรัฐบาลและนำไปแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  เมื่อวันศุกร์ที่  3  พฤศจิกายน 2549 ซึ่งพวกเราคงได้ทราบกันไปแล้ว

                กระทรวงฯ ได้นำร่างนโยบายด้านสังคมที่เกี่ยวกับกระทรวง เสนอขึ้นไปและบูรณาการเข้ากับนโยบายของรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องชัดเจนมากๆ คือ ข้อ 3.2 จัดทำแผนปฏิรูปสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และ 3.6 สร้างความเข้มแข็งของทุกชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม นโยบายด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ความมั่นคง และการต่างประเทศ   ล้วนมีความสัมพันธ์ กันอย่างแยกไม่ออก ล้วนเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ถึงจะเป็นข้ออื่น เรื่องอื่น ที่กระทรวงอื่นดำเนินการโดยตรง หรือโดยอ้อมล้วนกระทบต่อคนและสังคม จึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทุกข้อหรือบางข้อ ล้วนเกี่ยวพันกับกระทรวงเรา เพราะกระทบต่อคนและสังคม

                ตามที่พิธีกรได้อ้างถึงข้อเขียนของ อาจารย์คุณหมอประเวศ วะสี ร่างกายและสมองของมนุษย์เกี่ยวพันกันอย่างสลับซับซ้อน เหมือนนโยบายในแต่ละข้อที่มีความเกี่ยวพันกัน ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบาย ในวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ที่เกี่ยวกับกระทรวงเรา ในข้อ 3.2 แผนปฏิรูปสังคม อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีใจความสำคัญคือ 1) การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน 2) เป็นสังคมที่เข้มแข็ง ขยายความคือ ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มคนและประชาสังคม เข้มแข็ง และ 3) เป็นสังคมคุณธรรม ที่มีความถูกต้อง ความดีงาม

                นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเราอย่างชัดแจ้งข้อถัดไป คือข้อ 3.6 ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งของทุกชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ให้สามารถจัดการตนเอง ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสิทธิชุมชน โดยส่งเสริมบทบาทของครอบครัว ชุมชน องค์กรอาสาสมัคร ภาคธุรกิจ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา ในการดูแลเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของสตรี ข้อนี้จึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงเรา ที่มีหน้าที่ในการดูแลกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ สตรี และครอบครัวอยู่แล้ว 

                ที่กล่าวมานั้นคือ นโยบายที่มีการแถลงไป  ดังที่ผมกล่าวไว้แล้วว่า  ผมจะไม่มามอบนโยบาย ความหมายคือ ไม่ได้ถือว่านโยบายเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นโยบายเป็นเรื่องที่บอกเป้าประสงค์ และทิศทาง ที่สำคัญ เป้าประสงค์คือ สังคมอยู่อย่างเป็นสุข สมานฉันท์ สันติ คำสำคัญของเป้าประสงค์ คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  เป็นวิสัยทัศน์ประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่ได้ระดมความคิดจากบุคคล หน่วยงาน และสังคม

                นายกรัฐมนตรี ได้นำคำนี้มาปรารภ ในที่ประชุม  ครม. เห็นว่าคำนี้มีความสำคัญร่วมกัน เป็นภารกิจเกี่ยวกับมนุษย์ เป็นภารกิจเกี่ยวกับ พม. จึงสำคัญที่เราต้องตระหนักถึง สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ร่วมกัน นี่คือผลลัพธ์สุดท้ายในการบริหารจัดการร่วมกัน วิธีในการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้นโยบายประสบผลสำเร็จ ข้อที่จะนำมาพิจารณาก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จะต้องนำมาซึ่งสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ถ้านำนโยบายไปปฏิบัติ ปรากฏว่า ไม่นำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ของชุมชนเล็กๆ ท้องถิ่นเล็กๆ ที่เราเกี่ยวข้อง ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ที่เราเกี่ยวข้อง แสดงว่านโยบายไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติต้องปรับปรุงแก้ไข

                เราจึงไม่ยึดถือนโยบายเป็นสรณะ เราต้องวิเคราะห์ไตร่ตรองตลอดเวลา เพื่อให้เข้าใจนโยบาย และนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายอยู่ตลอดเวลา หรือทำสิ่งที่เรียกว่า After Action Review (AAR )  นั่นคือมองย้อนหลัง ว่าเราได้ทำอะไรไป เกิดผลดี ไม่ดีอย่างไร เกิดข้อด้อย ข้อเด่นอย่างไร จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำให้เกิดความคิดที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างไร เป็นการเรียนรู้จากการกระทำ ซึ่งทุกคนทำได้ตลอดเวลา ไม่เฉพาะเรื่องนโยบาย และอาจนำไปสู่การเสนอให้ทบทวนนโยบาย ขอให้ปรับปรุงนโยบายให้ดียิ่งขึ้นหรือ เหมาะสมมากขึ้น เป็นต้น

                ยุทธศาสตร์สังคม 3 ด้าน คือ 1. สังคมไม่ทอดทิ้งกัน 2. สังคมเข้มแข็ง 3. สังคมคุณธรรม

                วันนี้เราจะพูดถึง สังคมไม่ทอดทิ้งกันก่อน ส่วนสังคมเข้มแข็งและสังคมคุณธรรมได้มีการกำหนดไว้แล้วโดยกำหนดว่า วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 จะระดมความคิดครั้งสำคัญเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สังคม จะเห็นได้ว่านโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว ไม่ได้ถือเป็นปกาศิต ยังจะต้องมีการพูดคุย ให้ประสานสอดคล้องกัน ให้นโยบายมีความชัดปฏิบัติได้ 

                สำหรับเรื่องสังคมคุณธรรม จะมีการนัดหารือกัน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  กระทรวงวัฒนธรรม  กระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งสร้างสุขภาวะของประชาชน ซึ่งสุขภาวะส่วนหนึ่งคือสุขภาวะทางจิตใจและทางจิตวิญญาณหรือมโนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเกี่ยวข้องกับคน และคุณธรรม การท่องเทียวและกีฬา  สามารถทำให้คนมีคุณธรรมด้วย นอกจากนั้น รมต. ประจำสำนักนายกฯ ที่ดูแลเรื่องสื่อ ซึ่งย่อมเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและคุณธรรมกับ รมต.ที่ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาและดูแลศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ก็จะมาร่วมหารือด้วย ดังนั้น จึงจะมีการพูดคุยกันเรื่องสังคมคุณธรรม ให้เป็นนโยบายที่มีความชัดเจนเหมาะสมนำไปสู่แผนปฏิบัติการที่ทำได้จริงและได้ผลดี

                ผมหวังว่าวันนี้ที่เรามาพูดถึงยุทธศาสตร์สังคมแล้วผมมาพูดถึงนโยบาย เป็นการเคาะระฆังเริ่มต้น ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีและเลขานุการรัฐมนตรีจะมาพูดให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น นโยบายสังคมเป็นภารกิจที่เราต้องเร่งปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและสังคมรับรู้ได้

                โดยสรุปผมจะไม่มอบนโยบายแต่เรามามองนโยบายร่วมกัน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ท่านเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประชาชน ท่านเป็นผู้เกี่ยวข้อง เป็นผู้ปฏิบัติและเป็นผู้รับผลของนโยบายดังกล่าวด้วย  เราจึงต้องมามองนโยบายร่วมกัน 

                        เรามาขยายความนโยบาย โดยเฉพาะสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ผมขอขอบคุณที่วันนี้เรามาประชุมกันหลายฝ่าย ไม่เฉพาะฝ่ายข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พม. แต่รวมถึงภาคีพัฒนาต่างๆ ที่สำคัญ  คือ ภาคประชาชน   เรามีตัวแทนของภาคประชาชนมาอยู่ด้วย โดยเฉพาะตัวแทนจากชุมชนท้องถิ่น 

                ผมเห็นว่าภาคีพัฒนาที่สำคัญในท้องถิ่น มีอย่างน้อย หลักๆ 3 ส่วน  คือ

                                1. ประชาชนในท้อง ถิ่น ได้แก่  ชุมชนท้องถิ่น ประชาคมในท้องถิ่น องค์กรชุมชน  กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มอื่นๆ

                                                2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นกลไกที่มีความสำคัญอันดับ 2  รองจากประชาชน เป็นกลไกที่มีการเลือกตั้ง กำกับดูแล และประเมินผลจากประชาชน  การจัดทำใดๆ ที่ไม่เกิดความร่วมมือระหว่างประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไม่สามารถไปได้ดี 

                                3. ราชการส่วนภูมิภาค  คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถานีอนามัย โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กศน. หน่วยงานของกระทรวงเกษตรที่สังกัดภูมิภาค หรือหน่วยงานอื่นใดที่ไปตั้งในท้องถิ่นนั้นๆ

                ทั้ง 3 กลุ่ม คือพลังสำคัญที่รวมตัวกัน ถ้ามากกว่านั้นก็อาจรวมภาคีพัฒนาอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ องค์กรสาธารณประโยชน์  หรือองค์กรประชาสังคม  สถาบันหรือองค์กรศาสนา เป็นต้น

                วันนี้  ภาคีพัฒนามาครบรวมได้อย่างน้อย 4  ส่วน นั่นคือ ตัวแทนชุมชนท้องถิ่นตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคประชาสังคม และตัวแทนราชการส่วนภูมิภาค เมื่อไปปฏิบัติ หวังว่าจะไปปฏิบัติร่วมกัน โดย หน่วยงานของกระทรวง คือ พมจ. เป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติของทุกฝ่ายให้ได้อย่างดี

                หลังจากนี้  นำไปปฏิบัติได้เลย เชื่อว่าหลายแห่งปฏิบัติอยู่แล้ว หลังจากวันนี้แนวทางปฏิบัติที่เราเสนอน่าจะชัดเจนและคมเข้ม และมีตารางเวลากำหนดว่าน่าจะเป็นอย่างไร โดยจะมี คุณเอนก ที่ปรึกษาฯ  และคุณหมอพลเดช  เลขานุการ รมว. ช่วยขยายความ 

                พร้อมกันนี้ก็มีตารางเวลาให้ผมออกไปพื้นที่ต่างจังหวัด 6 ครั้ง มิได้ไปมอบนโยบาย แต่จะไปช่วยกันมองหรือดูนโยบายในภาคปฏิบัติ และAAR ( After Action Review) เพื่อติดตามประเมินผล ค้นหากรณีที่ดีเด่น น่าสนใจ มาเล่าสู่กันฟัง เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติว่าตำบลนั้น ทำได้ดี น่าศึกษา อาจเป็นนวัตกรรมในบางอย่าง บางแง่บางมุม มีการประยุกต์ที่น่าสนใจ มาเล่าสู่กันฟัง เพราะสิ่งเหล่านั้นคือของจริงภาพจริงที่เกิดขึ้น ของการปฏิบัติหรือประยุกต์ตามนโยบาย ที่ท่านนำไปปรับแต่ง ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของท่าน  นำมาพูดคุยกัน เหมือนงานพืชสวนโลก ที่จะต้องมีความหลากหลาย บนพื้นฐานของประเทศไทย ความหลากหลาย คือ ความงดงามและการพัฒนา ก่อให้เกิดความยั่งยืน ธรรมชาติคือความหลากหลาย ความหลากหลายก่อให้เกิดความยั่งยืน นั่นก็คือ หลักของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะใช้โอกาสที่ผมเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่ ให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มาประชุมกัน มาเรียนรู้กัน นำการเรียนรู้ที่ดี มาผสมผสานกัน เป็นการยกระดับสติปัญญา ท่านสามารถทำได้เองในท้องถิ่นของท่าน ส่วนผมจะไปเรียนรู้ จะไปนั่งฟัง ไปสะท้อนความคิดเห็น ไปนั่งฟังนโยบายในภาคปฏิบัติโดยท่านเป็นคนบอกว่านโยบายน่าจะเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนี้ ผมจะไปนั่งฟัง ซึ่งจะคุ้มค่ามากกว่าไปกล่าวเปิด 

                ในการกำหนดนโยบายและดำเนินนโยบาย มีหลักคิดสำคัญ 3 ประการ ที่ควรคำนึงถึง ได้แก่

                            1. หลักการจัดการตนเองของประชาชน  คือ หลักการพึ่งตนเอง คนทุกคนเป็นส่วนย่อยของสังคม เป็นฐานรากของสังคม คนทุกคนมีศักยภาพ  มีความดีอยู่ในตัว และมีความสามารถอยู่ในตัว เป็นความเชื่อ เป็นปรัชญา และเป็นคุณค่าที่เรายึดถือ แต่ผมเองคิดว่าเป็นความจริง คนทุกคนมีความดี ไม่มีใครไม่มีความดีเลย   ท่านเจอใครบ้างไหมที่ไม่มีความดีเลย  โจรก็ยังมีความดี  ฆาตกร ก็ยังมีความดีเพียงแต่ด้อยโอกาสที่จะแสดงความดี ความดีนั้นถ้าไม่ปรากฏก็แฝงอยู่ข้างใน คนทุกคนควรจะจัดการตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ยกเว้นเด็กเล็กๆ ซึ่งใช้ความน่ารักของตนเอง ให้ผู้อื่นบริหารจัดการให้ หลักการจัดการตนเอง เป็นหลักการที่ 1  ของการพัฒนาสังคม ถ้าลืมหลักคิดนี้ เราก็ต้องเข้าไปโอบอุ้ม ไปสงเคราะห์  เราจะต้องไปช่วยเขา คำพูดที่ว่า เราจะไปสร้างความเข้มแข็ง ให้คนนั้น คนนี้ ให้ชุมชน ผมจะท้วงว่า คุณจะเข้าไปทำอะไร เราไปทำให้ไม่ได้ แต่เราต้องเอื้ออำนวยให้บุคคล ชุมชน และแม้แต่คนพิการ สร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองและจัดการตนเองได้

                            2. หลักการระดมพลังสร้างสรรค์ ในท้องถิ่น ในตำบล เราควรจะระดมพลังสร้างสรรค์ และ ทำให้เกิดพลังในการพัฒนา เป็นพลังทวีคูณ พลังขยายผล พลังสร้างสรรค์นั้น มีอยู่เป็นอันมาก ถ้าเรากระตุ้น ส่งเสริม ทำซ้ำ พลังสร้างสรรค์จะมากมหาศาล มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพมากมาย แต่ถ้าเราทำตรงกันข้าม ไม่แยแสกัน ขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน พลังที่มีอยู่ จะถูกใช้ไปในการทำลายล้างกัน เกิดความสูญเปล่า ทำให้น่าเสียดายพลังดังกล่าว เราต้องสูญพลังไปเป็นจำนวนมาก ด้วยการคิดและการทำ ในเชิงลบในทางปฏิปักษ์ขัดแย้ง ซึ่งถ้าเรานำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จะเกิดผลดีเป็นอันมาก ทั้งทางกาย  ใจ จิตวิญญาณ และสังคม รวมเป็นพลังสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพและมีคุณค่า

                            3. หลักการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำได้ทั้งในระดับบุคคล ระดับองค์กร ระดับกลุ่ม ระดับเครือข่าย และระดับชุมชนหรือท้องถิ่น หรือสังคมโดยรวม  การเรียนรู้หมายถึง การปฏิบัติ การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องลงมือปฏิบัติ อย่างที่พระพุทธเจ้า สอนไตรสิกขา คือ การเรียนรู้ 3 อย่าง ก็หมายถึง การปฏิบัติ 3 อย่าง ได้แก่ การปฏิบัติศีล  การปฏิบัติสมาธิ  และการปฏิบัติให้เกิดปัญญา ที่ดียิ่งกว่าการเรียนรู้โดยบุคคล คือ การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน ในครอบครัว ในองค์กร ในชุมชน ในท้องถิ่น และในสังคม

                ถ้าเรานำหลักคิดทั้ง 3 ประการมาใช้ในการกำหนดนโยบายและบริหารนโยบาย จะเป็นพื้นฐานที่ดีของนโยบาย ทำให้ได้นโยบายที่ดีและมีคุณค่า และนโยบายนั้นๆจะยังสามารถพัฒนาต่อไปในทางที่ดีได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง ด้วยหลักคิดทั้ง 3 ประการนี้

                ผมได้พูดถึงวิธีการทำงานเกี่ยวกับเรื่องนโยบายของรัฐบาล วิธีการทำงานของ รมว.พม. และพูดถึงหลักคิดสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การบริหารนโยบายตลอดจนการปฏิบัติตามนโยบายเพื่อพัฒนาสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างตามสมควร และจะมีการดำเนินการร่วมกันอย่างเข้มแข็งเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ขอขอบคุณและสวัสดี

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม10 พ.ย. 49

 

คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 58505เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตั้งแต่มีการตั้งกระทรวงมา  ผมเฝ้าดูแนวคิดการทำงานจากกระทรวงเพื่อเอาไปปรับใช้กับการสอนนักเรียนให้มีความสุข  และอยู่ในท้องถิ่นของตัวเองได้  ขออนุญาตคัดลอกไปศึกษาครับ

                                  ครูประถมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท