​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๓๗. พลเมืองเด็ก : การลงทุนที่คุ้มค่า



สายวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ผมไปร่วมอภิปรายเรื่อง "พลเมืองเด็ก : การลงทุนที่คุ้มค่า" ในการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ ๓ ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยอภิปรายร่วมกับ นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ มี ผอ. สถาบัน คือ รศ. นพ. สุริยเดว ตรีปาตี เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

นพ. ยงยุทธ ตีความคำว่า "พลเมือง" ว่าหมายถึง คนที่มีบทบาทเป็นผู้ลงมือทำ (active people) พลเมืองเด็กหมายถึงเด็กที่มีบทบาทเป็นผู้ลงมือทำ เข้าทางของผมพอดี ที่จะพูดต่อ ว่า "ลงมือทำเพื่อการเรียนรู้ ของตน" เชื่อมต่อกับการเรียนรู้สมัยใหม่ได้พอดี

นี่คือเรื่องคุณค่าและศักยภาพของเด็กเล็ก ที่ ดร. สายสุรี จุติกุล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กเล็ก บอกว่าเราต้องไม่มองชีวิตช่วงเด็กเล็ก เป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเป็นผู้ใหญ่ แต่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อชีวิตในช่วงนั้นๆ ให้เกิดพัฒนาการเต็มศักยภาพสำหรับช่วงนั้น ท่านได้เขียนหนังสือ สมรรถนะของเด็กปฐมวัย ในการพัฒนาตามวัย ๐ - ๓ ปี และ สมรรถนะของเด็กปฐมวัย ในการพัฒนาตามวัย ๓ - ๕ ปี

คุณหมอยงยุทธมีความรู้มาก ชี้เรื่องการพัฒนาปัญญาภายนอก (ซึ่งควบคุมโดยสมองส่วนหน้า) กับ ปัญญาภายใน (ซึ่งควบคุมโดยสมองส่วนอารมณ์ที่เรียกชื่อว่าส่วน ลิมบิก ) ที่มีพัฒนาเป็นขั้นตอนตามช่วงอายุ ดังต่อไปนี้


วัยทารก

0 – 2 ปี

ปฐมวัย

3 – 5 ปี

วัยเรียน

6 – 12 ปี

วัยรุ่น

13 – 20/25 ปี

ปัญญาภายนอก

(ความรู้ ความสามารถ)

การใช้กล้ามเนื้อใหญ่

ประสาทรับรู้พื้นฐาน

การใช้กล้ามเนื้อเล็ก

ภาษา จินตนาการ

คณิตศาสตร์ การใช้เหตุผล ดนตรีและศิลปะ

การสร้างสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม ทักษะทางสังคม

ปัญญาภายใน

(คุณลักษณะ)

ความผูกพันและไว้วางใจ

การควบคุมอารมณ์ การรู้ถูกผิด

ประหยัด มีวินัย ใฝ่รู้

อัตลัหกษณ์ทางเพศ อัตลักษณ์ทางสังคม


คุณหมอยงยุทธชี้ว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องใหญ่ของเด็กเล็ก และมีปัญหาด้านการเรียนรู้ ๓ ด้าน คือ (๑) ไม่ได้เรียนรู้ (๒) เรียนรู้ผิด และ (๓) เสพติด

ท่านชี้ให้เห็นรูปแบบการลงทุนสนับสนุนพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ อย่างคุ้มค่า ว่ามี ๔ กลุ่มคือ (๑) การศึกษาที่สร้างทักษะชีวิต (๒) ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับพ่อแม่ (๓) กิจกรรมในครอบครัว และ (๔) กิจกรรมที่เด็กคิดเองทำเอง (ผมขอเพิ่มเติมว่า "ผู้ใหญ่ช่วยโค้ช")

ผมขอนำ narrated ppt ที่ผมไปพูด มา ลปรร. ที่นี่ ใน สไลด์ที่สอง ผมบอกว่าสังคมไทยดีกว่านี้ได้ แต่ลืมพูดขยายความ ว่าดีกว่าในด้านไหน ผมหมายถึงการเป็น สังคมที่ผู้คนไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะเด็กได้รับการฝึกฝนความซื่อสัตย์ ความเห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ส่วนรวม ตั้งแต่เล็ก เรื่อยมาจนโต และเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียน (ฝึกฝน) ไปจนแก่และตายไป สังคมเช่นนี้ มีอยู่ในโลก ไม่ใช่พูดแบบอุดมคติไร้ความจริง วิธีฝึกและรายละเอียดคุณสมบัติอื่นๆ มีพูดใน narrated ppt แล้ว




สไลด์ของ ดร. สายสุรี จุติกุล



บรรยากาศในห้องประชุม



วิจารณ์ พานิช

๑๖ ธ.ค. ๕๗ เพิ่มเติม ๑๗ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 584797เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2015 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2015 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท