โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว : (ตอนที่ 7) มาดูการถ่ายทำสื่อเผยแพร่ .. ที่บ้านปะอาว


คนที่มาถ่ายทำเขาจะได้เนื้อหาสาระที่เขาอยากได้ .. สิ่งที่เราได้นั้นมากว่า เพราะเราได้พยานในเรื่องเล่าที่เป็นของเราเอง .. งานที่เราทำวันนี้อาจจะมีคุณค่าด้านจิตใจอยู่บ้างเท่าที่เรารู้สึกได้ แต่ในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้ามันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจของเรา .. ถึงวันนั้นพ่อช้างหรือลูกหลานบ้านปะอาวต้องซื้อคืนจากหนู เพื่อเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ด้วยราคาแสนแพง

24–26 ม.ค.58

ดิฉันมาที่บ้านปะอาวตามแผนเดิม สิ่งที่แตกต่างจากสัปดาห์ก่อน คือบรรยากาศที่คึกคัก เนื่องจากช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้เป็น 'บุญข้าวจี่' บุญประเพณีของชุมชนคนอีสาน ที่บ้านปะอาวนี้ก็เช่นกัน ดิฉันเห็นกระสอบข้าวเปลือกทั้งข้าวจ้าวและข้าวสารกองพะเนินอยู่ในลานวัด ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ต่างวุ่นวายอยู่กับการจัดเตรียมงานบุญ คงไม่เหมาะกับการเริ่มพูดคุยเพื่อกำหนดวันประชุมวางแผนงานผลิตสื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ดิฉันจึงพาลูกสาวไปทำความคุ้นเคยกับช่างทองเหลือง และกระบวนการผลิตก่อนจะเริ่มงานจริง เก็บเรื่องบุญข้าวจี่ไว้เล่ารายละเอียดเมื่อถึงเวลางานบุญจริงๆ นะคะ

การเข้ามาในชุมชนช่วงนี้ของดิฉัน ถือว่าเป็นฤกษ์ดีอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีโอกาสสังเกตการณ์การผลิตสื่อเผยแพร่กระบวนการผลิตหัตถกรรมเครื่องทองเหลืองจากนักศึกษาและภาคเอกชนแล้ว ยังเป็นโอกาสได้สังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในการหล่อระฆังสัมฤทธิ์ขนาด 100 กิโลกรัม กระบวนการผลิตในครั้งนี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นมากมาย ยกไปเขียนเรื่องนี้ต่างหากดีกว่านะคะ

ในบทความตอนที่ 1 ดิฉันได้อารัมภบท ถึงวัตถุประสงค์ของการกลับเข้าไปในชุมชนบ้านปะอาวอย่างเต็มตัวว่ามีวัตถุประสงค์ซ้อนกันอยู่ 2 ประการคือ หนึ่ง ดิฉันต้องการผลิตสื่อเผยแพร่งานศิลปหัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว เป็นการทำตาม 'สัญญา' ที่เคยให้ไว้กับ'พ่อช้าง'ครูภูมิปัญญาที่ศูนย์ฯทองเหลือง ชุมชนปะอาวจะได้รับ สื่อเทคโนโลยีเผยแพร่งานศิลปหัตถกรรมเครื่องทองเหลืองเป็นสิ่งตอบแทนใน version ของตนเอง สอง เราสองแม่ลูกมีวัตถุประสงค์ใช้กิจกรรมการผลิตสื่อเผยแพร่นี้เป็น 'สื่อ' นำเราเข้าไปสัมผัส 'วิถีชีวิต' การดำรงชีวิต วิธีคิด มุมมอง การเผชิญปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ฯลฯ ของคนต่างบทบาทต่างวัยในชุมชนนี้

ดิฉันกล่าวซ้ำถึงกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการกลับเข้าชุมชนครั้งนี้อีกครั้ง เนื่องจาก ช่วง 24–26 ม.ค.58 นี้มีกลุ่มบุคคลภายนอกเข้ามา 'ถ่ายทำ' กระบวนการผลิตหลายคณะ เริ่มจากคณะเล็กๆ ของนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ถ่ายทำด้วย Smart phone คณะที่สองเป็นคณะถ่ายทำสารคดีงานศิลปหัตถกรรมเครื่องทองเหลือง มาถ่ายทำด้วยช่างภาพมืออาชีพและอุปกรณ์ทันสมัย ที่แนะนำกับดิฉันว่ามาจาก 'วัฒนธรรม' แต่พระครูสุตบูรพาสถิตกล่าวถึงคณะนี้เมื่อดิฉันไปพบท่านก่อนกลับออกมาว่าเป็น 'นักธุรกิจ' 'มาหลายครั้งแล้ว งานไม่สมบูรณ์จึงกลับเข้ามาอีก' คณะที่สามเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนผู้ศรัทธาในพุทธศาสนา สั่งทำระฆังสัมฤทธิ์น้ำหนัก 100 กิโลกรัม เพื่อจัดส่งไปประเทศฮ่องกง เพิ่งจะได้ฤกษ์สะดวกทำให้ในช่วงนี้ หลังจากรอนานเกือบปีด้วยความอดทน นอกจากนี้ก็มีนักท่องเที่ยวหลายคณะที่เข้ามาแวะเลือกซื้อสินค้าวางโชว์ที่มีไม่มากนัก

ดิฉันเก็บภาพการถ่ายทำไว้ได้จำนวนมาก เรียกว่าอยู่เฝ้าเก็บภาพตั้งแต่เริ่มการถ่ายทำจนเสร็จสิ้นกระบวนการทุกๆ คณะ ให้ความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งคณะเล็กและคณะใหญ่ การกลับมาครั้งนี้ดิฉันรู้สึกเหนื่อยมากค่ะ เพราะอายุมากแล้ว อวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็สึกหรอไปตามสภาพการใช้งาน จึงไม่ 'ทน' เหมือนเคย อีกทั้งยังต้องคอยกำกับบท 'น้องอาย' ลูกสาว นักวิจัยรุ่นใหม่ที่พามาฝึกภาคสนามด้วย ว่าควรให้ความสนใจในเรื่องใดบ้าง เรียกว่าพูดไปทำไป คอยให้สัญญาณมือ เช่น โบกมือเรียก ชี้ให้ไปถ่ายภาพทางโน้นทางนี้ รวมทั้งหยิกแขน ตบหลังสารพัด เพื่อให้บันทึกภาพทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และกลับมาซ่อมใหม่ไม่ได้เหมือนคณะที่มาทำสารคดี .. พ่อช้างแกก็อมยิ้มกับพฤติกรรมของดิฉันเกือบทุกครั้งที่..หันมาสบตากัน!

ในความเหนื่อย มีความรู้สึกภาคภูมิใจปนกันในสัดส่วนที่ 'มากกว่า' ดิฉันรู้สึกสุขใจกับการเก็บบรรยากาศที่เกิดขึ้นเพียง 'ครั้งเดียว' .. ความรู้สึกนี้ดิฉันถ่ายทอดให้พ่อช้างฟังว่า

"การเก็บบรรยากาศการถ่ายทำของบุคคลภายนอกแต่ละครั้ง จะเป็นหลักฐานยืนยันว่างานของเราไม่ได้จัดฉาก เป็นเหตุการณ์จริงในช่วงนั้นๆ"

"คนที่มาถ่ายทำเขาจะได้เนื้อหาสาระที่เขาอยากได้ อยากถ่ายทอดไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เขาต้องการ แต่สิ่งที่เราได้นั้น มากว่า เพราะเราได้พยานในเรื่องเล่าที่เป็นของเราเอง"

"งานที่เราทำวันนี้ อาจจะมีคุณค่าด้านจิตใจอยู่บ้างเท่าที่เรารู้สึกได้ แต่ในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้ามันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจของเรา"

"ถึงวันนั้นพ่อช้างหรือลูกหลานบ้านปะอาวต้องซื้อคืนจากหนู เพื่อเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ด้วยราคาแสนแพง"

แล้วเราก็มีโอกาสหัวเราะพร้อมกัน .. หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยค่ะ

ภาพจริงๆ มีจำนวนมาก การเก็บบรรยากาศ 3 วันนี้ได้ข้อมูลเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวมากเกือบ 5 GBสำหรับภาพที่นำมาลงเพียงหนึ่งภาพนี้ ดิฉันเลือกภาพที่มีช่างถ่ายภาพมากกว่า 1 คน และเห็นหน้าช่างภาพไม่ชัดเจน ถ้าอยากเห็นของดีก็ต้องมาดูในพิพิธภัณฑ์บ้านปะอาว หรือขอศึกษาดูงานศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ดิฉันจะปั๊มไว้ให้พ่อช้างจำหน่ายในราคาไม่แพง

ที่สำคัญ ต้องรอให้ดิฉันทำเสร็จก่อนนะคะ

หมายเหตุ : ขอเผยแพร่บทความนี้ 1 วัน (30 ม.ค.58)

หมายเลขบันทึก: 584791เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2015 07:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2016 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาเชียร์พี่และน้องอาย

จริงด้วยครับ

ภาพบางภาพต้องรีบถ่าย

มีโอกาสเกิดได้ครั้งเดียว

ไม่เหมือนการถ่ายภาพทำสารคดีที่สามารถจัดฉากได้

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท