สอนอย่างมือชั้นครู :๒๙. ประเมินความก้าวหน้าของการเรียน



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒๙ นี้ ตีความจาก Part Six : Assessing Learning Outcomes มี ๕ บท ตอนที่ ๒๙ ตีความจากบทที่ 28. Assessing Student Learning in Progress

สรุปได้ว่า

การประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) มีประโยชน์ทั้งต่อนักศึกษา และต่ออาจารย์ ช่วยให้นักศึกษาปรับปรุงการเรียนของตน และช่วยให้อาจารย์ปรับปรุงวิธีจัดการเรียนการสอนของตน


เทคนิคประเมินชั้นเรียน (Classroom Assessment Techniques – CATs)

เป็นเทคนิคที่ช่วยให้อาจารย์ประเมินทั้งชั้นเรียน และประเมินนักศึกษาเป็นรายคน เป็นเทคนิคที่ช่วยให้มีความแม่นยำในการประเมิน ดีกว่าการสังเกตพฤติกรรมและหน้าตาท่าทางของนักศึกษา โดยอาจารย์ นอกจากนั้นยังช่วย กระตุ้นความตื่นตัวของนักศึกษาในตอนเริ่มต้นชั้นเรียน และช่วยสรุปประเด็นตอนท้ายชั้นเรียนด้วย


เทคนิคประเมินชั้นเรียนที่ดีมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • เน้นที่ผู้เรียน (Learner centered) ช่วยปรับปรุงนิสัยการเรียน ทักษะการฟัง และช่วยแก้ mental model ผิดๆ ของวิชา
  • ครูเป็นผู้กำหนด (Teacher directed) ว่าจะประเมินอะไร อย่างไร วิเคราะห์ผลอย่างไร และจะดำเนินการอะไรต่อ จุดสำคัญคือ ครูต้องประเมินประเด็นที่ตนต้องการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง
  • มีประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียนและต่อครู การประเมินชั้นเรียนที่ดีจะทำให้นักเรียนได้ทบทวน จับประเด็น ประยุกต์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมิน เนื้อหาที่ได้เรียนจากแหล่งต่างๆ การประเมินนี้แสดงว่าครูเอาใจใส่นักเรียน จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน ส่วนครูได้รับประโยชน์ที่ได้รับ feedback สำหรับนำมาปรับปรุงการสอนของตน
  • มีความจำเพาะต่อบริบท ครูต้องประเมินตามลักษณะจำเพาะของชั้นเรียนแต่ละชั้น
  • ดำเนินต่อเนื่อง ในลักษณะ feedback loop นำไปสู่การปรับปรุงการเรียน และปรับปรุงการสอน อย่างต่อเนื่อง
  • เป็นส่วนหนึ่งของการสอนที่ดี ช่วยทำให้การสอนเป็นระบบ มีประสิทธิผล และยืดหยุ่น

การประเมินชั้นเรียน ครูควรดำเนินการเป็น ๓ ขั้นตอน คือ (๑) เริ่มจากง่าย เลือกชั้นเรียนที่ดำเนินไป อย่างราบรื่น และประเมินด้วเครื่องมือที่ง่ายและใช้ความพยายามน้อย เช่น one-minute paper, one-sentence summary (๒) อธิบายให้นักเรียนเข้าใจว่าครูจะทำอะไร เพื่ออะไร มีประโยชน์ต่อนักเรียนอย่างไร รวมทั้งคำตอบของนักเรียนจะไม่เปิดเผยตัว และใช้สำหรับการปรับปรุงของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น (๓) ตอบสนองต่อข้อมูลที่รวบรวมได้ หลังจากนำคำตอบไปตรวจและได้ความเข้าใจข้อมูลที่ต้องการแล้ว ต้องนำไปอธิบายให้นักเรียนฟัง รวมทั้งบอกว่าครูจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการสอนอย่างไรบ้าง จะยิ่งดี หากให้นักเรียนบอกว่า ตนจะปรับปรุงการเรียนของตนอย่างไร


เลือกวิธีประเมินชั้นเรียนที่เหมาะสม

การประเมินชั้นเรียนต้องเหมาะสมต่อประเภทของการเรียนรู้ ซึ่งหนังสือบอกว่ามี ๔ ประเภทคือ (1) Declarative learning เป็นการเรียนข้อเท็จจริง (2) Procedural learning เรียนกระบวนการ หรือวิธีทำอะไรบางอย่าง (3) Conditional learning เรียนประยุกต์ใช้ความรู้ ซึ่งอาจใช้ case method, problem-based learning, service-learning เป็นต้น (4) Reflective learning เป็นการเรียนเพื่อตอบคำถาม why นำนักเรียนสู่ประเด็นเชิงความเชื่อ คุณค่า ของการเรียนรู้นั้นๆ


ตัวอย่างเทคนิคประเมินชั้นเรียน

เทคนิคประเมินชั้นเรียนมีได้มากมาย และครูแต่ละคนก็สามารถคิดสร้างวิธีการขึ้นเองได้ เทคนิค เรียนโดยการฝึกเขียน ตามที่ระบุไว้ในตอนที่ ๑๘ หลายเทคนิคนำมาใช้เพื่อประเมินชั้นเรียนได้


ประเมินความรู้เดิม (Background Knowledge Probe. ใช้แรงครูปานกลาง ใช้แรงนักเรียนน้อย)

ใช้ในชั่วโมงแรกที่เปิดสอนรายวิชา อาจเป็นคำถามให้ตอบสั้นๆ ๒ - ๓ คำถาม หรือเป็นคำถามให้ตอบแบบเรียงความสั้นๆ หรือข้อสอบแบบหลายตัวเลือก ๑๕ - ๒๐ ข้อ

การประเมินนี้บอกทั้งความรู้เดิม ความรู้ผิดๆ แรงบันดาลใจ ความเชื่อ ค่านิยม และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิชานั้นๆ


รายการคำ (Focused Listing. ใช้แรงน้อยทั้งของครูและนักเรียน)

ครูหยิบประเด็นสำคัญขึ้นมาประเด็นหนึ่ง ที่อาจเป็นชื่อ หลักการ หรือความสัมพันธ์ ให้นักเรียนเขียนรายการคำที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อาจให้เวลาเพียง ๒ นาที หรืออาจนานถึง ๑๐ นาที และอาจใช้เทคนิคจับคู่ - จับสี่แลกเปลี่ยน ด้วยก็ได้

เป็นเทคนิคกระตุ้นความรู้เดิมของนักเรียน สำหรับนำมาต่อความรู้ใหม่


ตารางความจำ (Memory Matrix. ใช้แรงครูปานกลาง ใช้แรงนักเรียนน้อย)

ช่วยกระตุ้นการทบทวนความจำ และการจัดระบบความรู้ และช่วยกระตุ้นการเรียนด้วยสายตา ครูทำตารางที่มีจำนวนช่องแนวดิ่ง และแนวนอน ตามสาระเรื่องที่เป็นโจทย์ พร้อมทั้งระบุชื่อของแต่ละช่องแนวดิ่งและแนวนอน ให้นักเรียนกรอกคำที่เหมาะสมลงไปในแต่ละช่อง


ประเด็นที่ไม่ชัดเจนหรือซับซ้อนที่สุด (Muddiest Point. ใช้แรงน้อยทั้งของครูและนักเรียน)

ให้นักเรียนเขียนบอกประเด็นที่ไม่ชัดเจนที่สุดในบทเรียน เอกสารหรือวัสดุประกอบการเรียน ในตอนจบบทเรียน ครูนำไปอ่านและรวบรวมประเด็น แล้วนำมาอภิปรายกับนักเรียนในการเรียนคาบต่อไป ของวิชานั้น


แผนที่หลักการ (Concept Map. ใช้แรงปานกลางถึงสูงทั้งของนักเรียนและครู)

ได้กล่าวรายละเอียดแล้วในบันทึกชุดนี้ตอนที่ ๒๗ เป็นเครื่องมือตรวจสอบวิธีจัดระบบความรู้ ของนักเรียน


เอกสารรายละเอียดของโครงการ (Paper or Project Prospectus. ใช้แรงปานกลางถึงสูงทั้งของนักเรียนและครู)

เครื่องมือนี้เป็นการเรียนแบบโครงงาน (Project-Based Learning) ในตัวของมันเอง โดยครูให้โจทย์ และให้คำถามนำจำนวนหนึ่งเป็น scaffolding ให้ทีมนักเรียนไปยกร่าง นำมาส่งครู เป็นขั้นตอนแรกของการประเมินชั้นเรียน แล้วโครงการก็ดำเนินต่อ และมีการประเมินเป็นระยะๆ


ข้อขัดแย้งเชิงจริยธรรมประจำวัน (Everyday Ethical Dilemmas. ใช้แรงปานกลางถึงสูงทั้งของนักเรียนและครู)

เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนจากกรณีศึกษา (ตอนที่ ๒๐) โดยครูเขียนคำถาม ๒ - ๓ คำถาม ให้นักเรียนเขียนแสดงจุดยืนของตน ไม่ต้องลงชื่อ เป็นแบบฝึกหัดให้นักเรียนพัฒนาทักษะเชิงจริยธรรม และช่วยให้ครูได้รับทรางว่าศิษย์เรียนรู้ก้าวหน้าเพียงใด


สำรวจความมั่นใจ (Self-Confidence Survey. ใช้แรงต่ำถึงปานกลางทั้งของนักเรียนและครู)

ครูออกแบบสำรวจความมั่นใจในการลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่ต้องเรียนรู้ในรายวิชา แล้วนำผลมาจัดกิจกรรมเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะในการทำกิจกรรมนั้น


บรรยายแล้วหยุด (Punctuated Lectures. ใช้แรงต่ำทั้งของนักเรียนและครู)

หลังจากบรรยายไปช่วงหนึ่ง หรือจบการสาธิต ครูหยุดให้นักเรียนเขียนการสะท้อนคิด (โดยไม่ลงชื่อ) ว่าระหว่างที่อาจารย์สอนนักเรียนทำอะไร ที่ช่วยเสริมหรือขัดขวางการเรียนรู้ของตนเอง ครูนำข้อเขียนกลับไปอ่านภายหลัง แล้วนำประเด็นที่ได้มาอภิปรายกับนักศึกษาในการเรียนคาบต่อไป ว่านักเรียนจะเพิ่มทักษะการฟัง และการตรวจสอบตนเองได้อย่างไร


บัตรประยุกต์ (Application Cards. ใช้แรงต่ำทั้งของนักเรียนและครู)

ในตอนท้ายคาบเรียน หรือหลังจากเรียนไประยะหนึ่งในคาบ ให้นักเรียนเขียนลงบนบัตรหรือกระดาษ ว่าความรู้ที่กำลังเรียนอยู่นั้น มีที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงอย่างไร ครูเก็บไปตรวจที่บ้าน แล้วเลือกข้อเขียนที่ดีที่สุดจำนวนหนึ่งมาอ่านให้ชั้นเรียนฟังในคาบเรียนต่อไป


RSQC2 (Recall, Summarize, Question, Connect, and Comment. ใช้แรงต่ำถึงปานกลางทั้งของนักเรียนและครู)

เริ่มจากให้นักเรียบทบทวนสาระจากคาบเรียนที่แล้ว หรือจากเอกสารที่ได้รับมอบหมายให้อ่าน ทำรายการประเด็นสำคัญที่สุด ขั้นตอนที่ ๒ ให้เขียนสรุปแต่ละประเด็นด้วยประโยคเดียว ขั้นที่ ๓ ให้เขียนคำถาม หนึ่งถึงสองคำถามเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ขั้นที่ ๔ ให้เชื่อมโยงแต่ละประเด็นเข้ากับความรู้อื่น และขั้นตอนสุดท้ายให้เขียนประเมินรายวิชา เช่น สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือ…, สิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์มากที่สุดคือ…


การให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อปรับปรุง (Formative Feedback)

การให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อปรับปรุง เป็นเครื่องมือของการเรียนและการสอน คือมีประโยชน์ทั้งต่อการเรียนของนักเรียน และต่อการทำหน้าที่ "สอน" ของครู (สอนแบบไม่สอน!) ให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้สูงขึ้น

ต่อไปนี้เป็นแนวทางทำให้คำแนะนำป้อนกลับก่อผลดีต่อศิษย์ยิ่งขึ้น

  • เข้มงวดต่อกำหนดส่งงาน
  • ให้คำวิจารณ์โดยพุ่งไปที่เรื่องใหญ่ๆ เช่นเนื้อหา เหตุผล และการจัดระบบชิ้นงาน อย่าหลงเน้นแก้คำผิด หรือไวยากรณ์
  • ให้คำวิจารณ์เชิงบวกหรือสร้างสรรค์ เป็นการส่วนตัว และไม่เป็นทางการ ให้คำชม ณ จุดที่นักเรียนทำได้ดี นักเรียนส่วนมากไม่รู้ว่าตรงไหนตนทำได้ดี
  • ฝึกให้นักเรียนให้คำแนะนำปรึกษากันเอง (peer feedback) โดยครูฝึกวิธีให้คำแนะนำป้อนกลับที่ถูกต้องแก่นักเรียนก่อน
  • บอกให้นักเรียนเข้าใจว่า การให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อปรับปรุง มีเป้าหมายช่วยให้นักเรียนปรับปรุงเรื่องสำคัญๆ ในการเรียน และไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่า เมื่อปรับปรุงตนเองแล้ว ผลการสอบจะได้ A


แฟ้มผลงานนักศึกษา

แฟ้มผลงานนักศึกษา (Student Portfolios) แตกต่างจากเครื่องมือประเมินความก้าวหน้า ของการเรียน อื่นๆ ที่ครูไม่สนใจว่าผลงานเป็นของใคร และเป็นการประเมินครั้งเดียว แต่แฟ้มผลงานนักศึกษาเป็นของ นักศึกษาแต่ละคน และเป็นบันทึกระยะยาว ที่ช่วยให้เห็นความก้าวหน้าในการเรียนของนักศึกษาแต่ละคน

แฟ้มผลงานนักศึกษา เป็นการรวบรวมตัวอย่างชิ้นงานที่นักศึกษากับอาจารย์ร่วมกันเลือก มีข้อเขียนสะท้อนความคิดของนักศึกษาว่าชิ้นงานนั้นได้ก่อความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนอย่างไร อาจทำเป็นแฟ้มเอกสาร เป็นสมุดเย็บเล่ม หรือเป็น เว็บไซต์ ซึ่งเรียกว่า electronic portfolio (e-portfolio) แล้วอาจารย์ตรวจและให้คะแนนตอนปลายเทอม เน้นตรวจภาพรวมและส่วนข้อเขียนสะท้อนความคิด

ในหนังสือ บอกรายละเอียดของการจัดการแฟ้มผลงานนักศึกษาให้เกิประโยชน์ หลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ซึ่งจะไม่นำมากล่าว


จากการประเมินชั้นเรียนสู่วิชาการด้านการเรียนการสอน

หากอาจารย์ดำเนินการประเมินความก้าวหน้าของการเรียนของนักเรียน และข้อเรียนรู้ปรับปรุงการทำงานของตน และเก็บข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถทำงานวิจัยชั้นเรียน และเสนอผลงานตีพิมพ์ เป็น Scholarship of Teaching and Learning ซึ่งอาจารย์ต้องอ่านวารสารด้านนี้ รวมทั้งอ่านทบทวนทฤษฎีด้าน ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theory) และจิตวิทยาการเรียนรู้ (Cognitive Psychology) เพื่อหาประเด็นความรู้ส่วนที่ต้องการการต่อเติม สำหรับเขียนนำเสนอข้อสังเคราะห์จากข้อมูลและประสบการณ์ของตน



วิจารณ์ พานิช

๘ ธ.ค. ๕๗

โรงแรม Thistle, The Royal Trafalgar, ลอนดอน


หมายเลขบันทึก: 584751เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2015 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2015 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาต นำไปถ่ายทอดครับ ครู

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท