​สวนบำบัด นำธรรมชาติรักษาความพิการ


จริงอยู่ที่ว่าการไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ โดยเฉพาะกับเด็กที่กำลังเติบโตและอยู่ระหว่างเรียนรู้ชีวิตการมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงย่อมมีโอกาสที่จะเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าแต่อีกมุมหนึ่งกับเรื่องความเจ็บป่วย กระทั่งความพิการเองก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งความผิดปกติทางร่างกายและสมองส่งผลให้เด็กเหล่านั้นขาดโอกาสเรียนรู้แบบเด็กปกติ ทำให้หลายคนต้องเรียนรู้ช้า บ้างเคลื่อนไหวตนเองไม่ได้อย่างอิสระ กระทั่งบางคนถึงขนาดท้อแท้กับชีวิต เกริ่นถึงตรงนี้ เพราะจะกล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับโครงการ "โครงการสวนบัดเพื่อเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส" ซึ่งมีหลักคิด ความต้องการเพื่อตอบสนองและบำบัดกลุ่มเด็กพิการ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติสร้างทักษะเรียนรู้แก่เด็ก ควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์แบบปกติที่รู้จักกัน

เรามีโอกาสได้คุยกับ คุณหมอประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ผู้จัดการโครงการสวนบำบัด ซึ่งนำแนวคิดมาทำโครงการในปีนี้ ซึ่งมีสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นผู้สนับสนุนอีกแรงหนึ่ง ซึ่งคุณหมออธิบายว่า การทำสวนบำบัดคือการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา โดยเด็กพิการจะได้เรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับต้นไม้ และสวน ควบคู่กับการทำกิจกรรมบำบัดอื่นๆ เช่น พฤติกรรมบำบัด พลบำบัด ศิลปะบำบัด การพัฒนาทักษะทางสังคม การประเมินและเตรียมความพร้อม ก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การฝึกทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ใน 26 บริการ ที่ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง "การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ฯ" สำหรับคนพิการ พ.ศ.2552 "นั่นคือสิ่งที่เด็กพิการต้องการ การต่อสู้และเรียนรู้ธรรมชาติจะทำให้เด็กพิการได้ตระหนักว่า ธรรมชาติได้ให้พลังอันยิ่งใหญ่ในตัวเด็กพิการในการที่จะต่อสู้กับตนเองและสิ่งอื่นๆ การเห็นความงดงามของธรรมชาติ จะทำให้เขาเห็นความสวยงามในตัวเขาเพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ" คุณหมอประพจน์กล่าว คุณหมอ อธิบายอีกว่า แนวคิดเรื่องการทำสวนบำบัดนั้น ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลกเช่น อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ยกตัวอย่าง ประเทศออสเตรเลียมีสวนบำบัดแห่งหนึ่งชื่อ สวนเควินไฮซ์ เป็นสวนบำบัดสำหรับผู้คนทุกวัยที่มีความพิการหรือมีความต้องการพิเศษ คำขวัญของศูนย์นี้คือ "ให้มนุษย์ได้เติบโต"เพราะการทำสวนได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และการเรียนรู้ระหว่างผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กๆและอาสาสมัครที่ช่วยงานสวนบำบัดโดยสวนนี้เปิดให้ทุกคนที่มีความต้องการพิเศษและต้องการฟื้นฟูสภาพ เช่น เด็กพิเศษจากโรงเรียน ผู้ใหญ่จากศูนย์ฟื้นฟูสภาพ ผู้สูงอายุจากบ้านพักคนชราหรือศูนย์คนชราต่างๆ สวนแห่งนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันในขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมจะได้มีเพื่อนใหม่ เรียนรู้ร่วมกันและสนุกสนานร่วมกันด้วยกิจกรรมหลากหลาย เช่น ปลูกผักสวนครัว ไม้ดอก สมุนไพร ส่วน ในประเทศไทยมีสถานพยาบาลบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์ จ.ปทุมธานี โรงพยาบาลบ้านฉาง โรงพยาบาลอ่าวอุดม จ.ระยอง มูลนิธิเองก็มีการค่ายเด็กพิการและสวนพลังชีวิตที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มีการจัดค่ายเด็กพิการเป็นประจำทุกปี ซึ่งมูลนิธิได้ร่วมขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกิจกรรมที่จะเริ่มในปีนี้ จะมีระยะเวลารวม 2 ปี โดยกิจกรรมแรกซึ่งจะมีขึ้นประมาณมีนาคมนี้จะเน้นไปที่ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองและเด็กพิการที่มารับบริการการฟื้นฟูที่มูลนิธิ และกลุ่มบุคลากรที่ทำงานด้านการสุขภาพและพัฒนาทักษะเด็กพิการ ซึ่งความพิเศษของกิจกรรมในครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับมูลนิธิเอ็มโอเอ ประเทศญี่ปุ่นที่มีองค์ความรู้ด้านการออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะกลุ่มเด็กพิการโดยการใช้พืชและสวนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชิ่อว่า "โครงการสวนบัดเพื่อเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส" จะช่วยผลักดันให้สังคมไทยเห็นประโยชน์และส่งเสริมการทำสวนบำบัดเพื่อพัฒนาเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ

สวนบำบัดกับคนทั่วไป ไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กพิการเท่านั้นที่เหมาะสมกับการใช้ธรรมชาติในกระบวนการสร้างเรียนรู้ นั่นเพราะความจริงการทำสวนบำบัดก็คือการทำสวนแบบธรรมดาทั่วไปนั่นเอง เพียงหากแต่ว่าผู้ทำสวน มีข้อจำกัดหรือข้อบกพร่องทำให้การทำสวนไม่สะดวก ก็อาจต้องมีการปรับสภาพพื้นที่หรืออุปกรณ์ให้ตอบสนองต่อการทำกิจกรรมนี้ของบุคคลเหล่านั้นเท่านั้นเอง โดยหากได้รับคำแนะนำจากผู้มีความรู้ด้านการฟื้นฟูสภาพก็จะเป็นผลดีในหลายๆด้านต่อผู้ที่มีข้อจำกัด แต่สำหรับคนปกติทั่วไปซึ่งไม่มีข้อจำกัดใดๆนั้น สามารถมีความสุขและรับประโยชน์จากการทำสวนดังที่ทราบกันทั่วไปเป็นปกติ นั่นเพราะสวนบำบัดเป็นนวัตกรรมและทางเลือกใหม่ในการกระตุ้นพัฒนาการ ส่งเสริมสุขภาพ บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ เด็กที่ด้อยโอกาส ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ ทั้งทางด้านร่างกาย จิต สังคมและปัญญา ซึ่งทุกครอบครัว หน่วยงาน ชุมชน ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผล นอกจากนี้กิจกรรมสวนบำบัดยังทำให้คนปกติและคนพิการสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ เกิดความเข้าใจและเข้าถึงเด็กพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากสวนบำบัด ก็คือธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวของพวกเราทุกคน

ปล.ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


https://www.facebook.com/krajaisukteam

หมายเลขบันทึก: 584745เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2015 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2015 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชื่นชมและเป็นกำลังใจและสนับสนุนให้มีโครงการดีๆอย่างนี้ตลอดไปค่ะ ฝากติดตามค่ะ

https://www.gotoknow.org/posts/584749


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท