ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 2


ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 2

ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 2

"ประเด็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง และมีเลขประจำตัว 13 หลักจากการถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรเลข 0) สามารถแจ้งเกิด(ขอสูติบัตร)ได้หรือไม่ ?" [1]

บทวิเคราะห์ต่อ ตอนที่ 2

ในความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนมีข้อสังเกตมีบทวิเคราะห์รวม 2 ตอน ในกรณีบุคคลขอแจ้งเกิดที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเลขบุคคลอยู่แล้ว (ในที่นี้คือเลข "0") ซึ่งผู้เขียนได้ให้ความเห็นไปแล้วในในเฟซบุ๊ค ทั้งสองตอน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 และวันที่ 18 มกราคม 2558, เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นจากประสบการณ์ จึงขอนำมาลงซ้ำอีกครั้ง

ประเด็นที่ 1 สรุปประเด็นข้อกฎหมาย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ได้สรุปแยกเป็น 3 ประเด็น

(1.1) มาตรา 19 [2] หรือมาตรา 19/1 [3] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการจดทะเบียนคนเกิดสำหรับเด็กถูกทอดทิ้งจริงไหม หาก ด.ญ.ธิชาพรเข้าสู่การรับรองการเกิดตามมาตรา 19 หรือ มาตรา 19/1 ด.ญ.ธิชาพรจะมีสถานะเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง รัฐไทยจะต้องดูแล ด.ญ.ธิชาพรเป็นพิเศษ และ ด.ญ.ธิชาพรจะมีสถานะพิเศษภายใต้อนุสัญญาสิทธิเด็กด้วย ในทางกฎหมาย มาตรา 19 และ มาตรา 19/1 ทำเพื่อคุ้มครองเด็กที่มีปัญหาการก่อตั้งครอบครัวตามธรรมชาติ แต่ มาตรา 20/1 สำหรับคนต่างด้าวทั่วไปที่ตกหล่นการจดทะเบียนคนเกิด (ตกเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งในความดูแลของ อนุสัญญาสิทธิเด็ก)

(1.2) ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ด.ญ.ธิชาพรไม่ทรงสิทธิตามมาตรา 19 หรือ มาตรา 19/1 ตรงไหน และถ้า ด.ญ.ธิชาพรไม่มีจริงๆ ก็ต้องไปใช้มาตรา 20/1 [4]

(1.3) หากเลือกระหว่างมาตรา 19/1 และมาตรา 20/1 จะเห็นว่า มาตรา 19/1 จะดีกว่า เพราะเด็กจะเข้าสู่การสงเคราะห์ของ พม. ทันที และสถานะคนไร้รากเหง้าจะเกิดขึ้นโดยกระบวนการตามมาตรา 19/2 [5] แต่ถ้าใช้มาตรา 20/1 จะไม่มีกระบวนการพิสูจน์ใดๆ เกิดตามมาเลย เพราะหลักการก็คือ เรื่องการจดทะเบียนคนเกิดต้องเป็นในกรณีที่เป็นคุณที่สุดสำหรับเด็ก

สรุป มท. มีหน้าที่ออกสูติบัตรแม้ไม่มีการร้องขอให้ออกสูติบัตรก็ตาม แต่การประสานทำเป็น MOU (บันทึกข้อตกลง) ในระหว่างส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้อง ก็เพื่อให้การทำงานราบรื่นขึ้น

โดยทุกสถานพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิด

เป็นการ "เชื่อมช่องว่างในการจดทะเบียนคนเกิด" ระหว่างมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ทำคลอดต้องออก "หนังสือรับรองการเกิด"กล่าวคือ ท.ร.1/1 สำหรับการคลอดในโรงพยาบาล หรือ ท.ร.1 ตอนหน้า สำหรับการคลอดนอกโรงพยาบาล และมาตรา 18 และ 20 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งบัญญัติให้อำเภอ/เขต/เทศบาลต้องออก"สูติบัตร" ให้แก่คนเกิด ไม่ว่าเด็กนั้นจะมีบุพการีเป็นคนมีสัญชาติหรือไม่หรือเป็นคนมีสัญชาติไทยหรือไม่ หากการปิดช่องว่างนี้ทำได้ ก็หมายความว่าเด็กทุกคนจะไม่ไร้รัฐ เด็กทุกคนจะมีเด็กประจำตัวตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร [6]

ประเด็นที่ 2 เป็นการดำเนินการตามมาตรา 19 (ออกสูติบัตรเด็กถูกทอดทิ้ง) หรือ มาตรา 19/1 (ออกสูติบัตรเด็กถูกทอดทิ้ง) หรือมาตรา 20/1 (ออกหนังสือรับรองการเกิด ไม่ใช่สูติบัตร)

ในความเห็นส่วนตัว น่าจะเป็น "มาตรา 19/1" มีประเด็นพิจารณา ดังนี้

(2.1) ตามมาตรา 19 แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า "ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว…" [7]

แต่ตามมาตรา 19/1 บัญญัติว่า " เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมาย…ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน…"

(2.2) ตามมาตรา 19 หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายประกอบกัน จะเห็นว่า ด.ญ.ธิชาพร (เกิด 1เมษายน 2543 อายุปัจจุบัน 14 ปี) เพราะเมื่อพิจารณาตามถ้อยคำตามที่กฎหมายบัญญัติคือ (2.2.1) สภาพของเด็กต้องเป็น "เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสา" เท่านั้น และ (2.2.2) ให้ผู้พบเห็นต้องกระทำ "โดยเร็ว" ฉะนั้น ตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ด.ญ.ธิชาพร จึงได้พ้นจากสภาพเด็กแรกเกิดแล้ว

แม้ว่า คำว่า "เด็กไร้เดียงสา" จะต้องตีความวินิจฉัยก็ตาม เห็นว่าน่าจะพ้นวัย "เด็กไร้เดียงสา" แล้วเช่นกัน ด้วยเคยมี หนังสือสั่งการกรมการปกครองปี 2536 ตอบหารือการจดทะเบียน "การรับรองบุตรของบิดา" ในกรณี "บุตรไร้เดียงสา" ว่า ถ้าเด็กสามารถสื่อสารกับนายทะเบียนได้ก็สามารถจดทะเบียนรับรองบุตรได้ กล่าวคือ "เป็นบุตรที่รู้ความว่าใครเป็นบิดามารดา และสามารถลงชื่อในทะเบียนการรับรองบุตรได้" ซึ่งเป็นดุลยพินิจของนายทะเบียนที่จะต้องพิจารณาถึงความสามารถของเด็กในการสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกันระหว่างนายทะเบียนกับเด็ก หากเด็กสามารถให้ความยินยอมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของเด็กแต่ละราย โดยไม่ต้องคำนึงว่าเด็กจะมีอายุเท่าใด [8] ซึ่งประมาณว่าน่าจะมีอายุ 6 - 7 ปี เพราะวัยนี้ตามเกณฑ์มาตรฐานของเด็กไทยโดยทั่วไปก็คือ ได้เข้าเรียนหนังสือไทยชั้น ป.1 สามารถลงลายมือชื่อตัวเองได้แล้ว (เนื่องจากยังไร้เดียงสา กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุไว้ คำว่า "ผู้เยาว์ไร้เดียงสา" ก็ไม่มีปรากฏความหมายตามกฎหมาย เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้เพียงคำว่า"ผู้เยาว์") สรุปว่า หากเด็กยังสื่อความหมายไม่ได้ ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด ก็ไม่อาจจดทะเบียนรับรองบุตรได้ ดูแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 5982/2551 ว่าหากเป็นพ่อลูกกันจริง แม้ฝ่ายแม่จะไม่ยินยอมก็ไม่มีผล เนื่องจากกฎหมายมุ่งไปที่ตัวเด็กให้เป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว และเป็นเรื่องเฉพาะตัวของเด็กและมารดา

(2.3) ตามมาตรา 19/1 หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายประกอบกัน จะเห็นว่า ด.ญ.ธิชาพร (อายุ 14 ปี) เป็น "เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐ" หมายถึง พม. แต่หากพิจารณาเงื่อนไขการดำเนินการทางทะเบียนราษฎร พบว่ามีความสับสนในระดับของ กฎหมาย ระเบียบ และ หนังสือสั่งการที่ไม่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน อาจเป็นความบกพร่องของ กรมการปกครอง (โดยสำนักทะเบียนกลาง) คือ (1) ความหมายตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 19 และมาตรา 19/1 (2) ความหมายตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 59/1 และ (3) ความหมายตามหนังสือสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0309.1/ว 8 เรื่องการแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552

(2.4) การตีความวินิจฉัยคำว่า "เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสา" และ "เด็กถูกทอดทิ้ง" มีข้อสังเกตว่า ตามข้อ (2.2.1) ว่า ในกรณีนี้จะอ้างข้อเท็จจริงว่า ด.ญ.ธิชาพร ถูกทอดทิ้งตั้งแต่ไร้เดียงสา" มารดานางโซโซ (บุคคลต่างด้าวไม่ปรากฏสถานะทางกฎหมาย) คลอดลูกยังไม่ทันให้นมลูกก็ทิ้ง ด.ญ.ธิชาพรไป ผู้พบเห็นคนแรกก็คือ หมอซินเทีย ค่า แห่งแม่ตาวคลินิก ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก มีประเด็นว่าเงื่อนไขการดำเนินการตามมาตรา 19 กาลเวลาได้สิ้นสุดไปหรือยัง หากตีความวินิจฉัยในประเด็นนี้ จะต้องตีความ "ตามเจตนารมณ์" ของกฎหมาย ซึ่งต้องไปค้นหาความหมายที่แท้จริงของความหมายนี้ ตามแนวทางการร่างกฎหมายนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อครั้งมีการตรา พรบ.การทะเบียนราษฎร เมื่อปี 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2551 ว่ามีการอธิบายหรืออภิปรายความเห็นในความหมายของคำว่า ถูกทอดทิ้งตั้งแต่ไร้เดียงสา" ไว้หรือไม่เพียงใด เพราะในบริบทของการแจ้งการเกิด ผู้แจ้งสามารถแจ้งการเกิดเมื่อใดก็ได้ แจ้งเกินกำหนดเวลาก็ได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้ง "ยังไม่ได้แจ้งการเกิด"แต่กฎหมายบัญญัติเงื่อนไขเป็นประเด็นเพิ่มว่า "หรือเด็กไร้เดียงสา" หากพิจารณาในประเด็นนี้ ถือได้ว่า กรณีของ เด็กในสภาพแรกเกิด" (ตาม พรบ. 2534 เดิมใช้คำว่า เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กอ่อน") น่าจะหมายถึงในสภาพแรกเกิดจริง ๆ คือ ไม่เกินกว่า 15 วันเท่านั้น (แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา) หากเกินกว่า 15 วันไป ก็จะเข้าความหมายของ "เด็กไร้เดียงสา" มิใช่ "เด็กอ่อน" ตามความหมายเดิมที่เคยบัญญัติไว้ใน พรบ.เมื่อปี 2534 (ยกเลิกเมื่อ 23 สิงหาคม 2551)

(2.5) ประเด็นเรื่อง "เด็กถูกทอดทิ้ง" จะมีประโยชน์กับน้อง (ด.ญ.ธิชาพร) หรือไม่ ตามความเห็น รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เห็นว่า "หาก ด.ญ.ธิชาพรเข้าสู่การรับรองการเกิดตามมาตรา 19 หรือ 19/1 ด.ญ.ธิชาพรจะมีสถานะเป็น "เด็กที่ถูกทอดทิ้ง รัฐไทยจะต้องดูแล ด.ญ.ธิชาพรเป็นพิเศษ" และ ด.ญ.ธิชาพรจะมีสถานะพิเศษภายใต้อนุสัญญาสิทธิเด็กด้วย ในทางกฎหมาย มาตรา 19 และ มาตรา 19/1 ทำเพื่อคุ้มครองเด็กที่มีปัญหาการก่อตั้งครอบครัวตามธรรมชาติ แต่ มาตรา 20/1 สำหรับคนต่างด้าวทั่วไปที่ตกหล่นการจดทะเบียนคนเกิด"

(2.6) ในการพิจารณาวินิจฉัยตีความในอีกมุมหนึ่งระหว่าง "มาตรา 19 กับมาตรา 19/1" เห็นว่า ตาม มาตรา 19 หากตีความ "ตามเจตนารมณ์" จะเห็นว่า "ความเป็นเด็กถูกทอดทิ้ง" ของ ด.ญ.ธิชาพร เมื่อปรากฏว่าข้อเท็จจริงในขณะที่ "เด็กถูกทอดทิ้ง" นั้น ด.ญ.ธิชาพร ยังมีสภาพเป็น "เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสา" ฉะนั้นความเป็น "เด็กถูกทอดทิ้ง" ของ ด.ญ.ธิชาพร ก็ยังคงดำรงมีอยู่ตลอดไป แม้ห้วงเวลาอายุจะล่วงพ้นวัยไร้เดียงสาก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของ "สิทธิในสถานะของบุคคล" ตามความหมายในมาตรา 52 วรรคแรก [9] แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ฉะนั้น การพิจารณาถึง "ห้วงเวลา" ในการถูกทอดทิ้งจึงสำคัญว่า ถูกทอดทิ้งเมื่อใดหากถูกทอดทิ้งขณะเป็น "เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสา" ก็ถือว่าครบองค์ประกอบตามมาตรา 19 แล้ว

ฉะนั้น ในประเด็นนี้ เห็นว่า หากจะให้นายทะเบียนท้องที่เป็นผู้ใช้ "ดุลพินิจ" (Discretion) ในการ "รับแจ้งการเกิด" ว่าจะใช้มาตรา 19 หรือ มาตรา 19/1 ย่อมไม่ถูกต้อง ตามที่กล่าวในประเด็น 2.1 ประเด็น 2.2 ประเด็น 2.4 และ ประเด็น 2.6 ถือ เป็น "ช่องว่างของกฎหมาย" ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ (กระทรวงมหาดไทย) จะต้องรับไปพิจารณาแก้ไขอุดช่องว่างของกฎหมายในส่วนนี้ด้วย

ข้อสังเกต

มาตรา 19 เด็กแรกเกิดหรือไร้เดียงสาถูกทอดทิ้ง ขอแจ้งการเกิด

มาตรา 19/1 เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง ซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชน ขอแจ้งการเกิด

เนื่องจากบทวิเคราะห์ค่อนข้างยาว จึงขอตัดไปเป็น “ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล “เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 3" อีกตอนหนึ่ง

[1] ข้อเท็จจริงกรณี ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล, 13 มกราคม 2558, โดย นางสาวคอรีเยาะ มานุแช(Koreeyor Manuchae), นักกฎหมายองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี้, https://www.facebook.com/koreeyor.manuchae?fref=ts

[2] มาตรา 19 ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

บันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับและส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย

(มาตรา 19 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[3] มาตรา 19/1 เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 19/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[4] มาตรา 20/1 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 20/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

ดู ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2551 & หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ด่วนที่สุดที่ มท 0309.1/ว 84 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551,

http://www.songkhladopa.go.th/file/order/20080829094614mrbbf.pdf#page=1&zoom=auto,-110,729

[5] มาตรา 19/2 การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา 19 และมาตรา 19/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 19/2 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

ดู "การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง", 27 มกราคม 2556, https://www.gotoknow.org/posts/517590

[6] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา, ใน เรื่องมหัศจรรย์ของการจดทะเบียนคนเกิดครบขั้นตอน - อ.แหววขอตอบ รมช.สมศักดิ์ ด้วย "สี่หมอชายแดนตากโมเดล", 7 มกราคม 2558, https://www.facebook.com/notes/10152993121898834/#

[7] ดูกรณีเด็กหญิงเอวิดเกรซ อายุ 8 เดือนถูกทอดทิ้ง ใน คอรีเยาะ มานุแช, กรณีศึกษากรณีเด็กหญิงเอวิดเกรซ (น้องเอวิด), International Rescue Committee (IRC), 1 เมษายน 2557, https://www.gotoknow.org/posts/565115

[8] เทิดบุญ ศิลารมณ์, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง Call Center 1548, 13 กันยายน 2557, http://stat.bora.dopa.go.th/callcenter1548/New1548/Board_Calldetail.php?seq_no=22645

[9] มาตรา 52 วรรคแรก "การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้"


หมายเลขบันทึก: 584742เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2015 01:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท