การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง


การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง

27 มกราคม 2556

1. ตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 [1]

มาตรา 57เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

2. ตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 [2]

มาตรา 19 ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งให้ นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติ งานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

บันทึกการ รับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัว เด็กหนึ่งฉบับและส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย

(แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 มาตรา 19)

มาตรา 19/2 การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา 19 และมาตรา 19/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสาร แสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 มาตรา 19)

3. ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 [3]

ข้อ 1 ให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะเรื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ปฏิบัติ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเกี่ยวกับการแจ้งการเกิด การแจ้ง การตาย การแจ้งการย้ายที่อยู่ การสำรวจตรวจสอบหรือปรับปรุงการทะเบียนราษฎร การจัดทำทะเบียนประวัติ การจัดทำบัตรประจำตัว หรือการอื่นใดอันเกี่ยวกับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

ข้อ 2 ให้ยกเว้นการปฏิบัติตาม ข้อ 1 แก่คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาต ให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

คนต่างด้าวซึ่งได้รับการยกเว้นการปฏิบัติ ตามวรรคหนึ่งหากประสงค์จะดำเนินการตาม ข้อ 1 อาจขอให้นายทะเบียนดำเนินการได้

ตามกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. 2551 [4]

ข้อ 2 คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยในกฎกระทรวงนี้ หมายถึง

(1) คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว แล้วแต่กรณี และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

(2) คนต่างด้าวซึ่งได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

(3) คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

(4) คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

ข้อ 3 เมื่อมีคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเกิดหรือตาย ให้บุคคลตามมาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 19/1 หรือมาตรา 21 แจ้งการเกิดหรือการตาย แล้วแต่กรณี

4. ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. 2551 [5]

ข้อ 2เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง หรือเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้ง แล้วแต่กรณี ให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้งให้แก่ผู้แจ้งการเกิดตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งเรียกตรวจหลักฐานจากผู้แจ้งและสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่แจ้งการเกิด ดังนี้

(1) พยานหลักฐาน ได้แก่

(ก) บันทึกการรับตัวเด็กที่จัดทำขึ้นโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งเป็นผู้รับตัวเด็กไว้ สำหรับเด็กแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง

(ข) หลักฐานการรับตัวเด็กของหน่วยงานที่รับตัวเด็กไว้ดูแลหรืออุปการะ

(ค) รูปถ่ายของเด็กขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

(ง) หลักฐานทะเบียนราษฎรของผู้ปกครองของเด็ก (ถ้ามี)

(จ) หลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กทั้งพยานเอกสารและวัตถุพยาน (ถ้ามี) เช่น หนังสือรับรองการเกิดของสถานพยาบาล สำเนาทะเบียนนักเรียน จดหมาย รูปถ่ายของบุคคลในครอบครัว เป็นต้น

(2) พยานบุคคล ได้แก่

(ก) ผู้แจ้งการเกิด

(ข) เด็กที่ขอแจ้งการเกิดกรณีเด็กที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไป

(ค) บุพการี หรือผู้ปกครองของเด็ก (ถ้ามี)

(ง) ผู้รู้เห็นการเกิดของเด็กหรือสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการเกิดของเด็ก (ถ้ามี)

(จ) บุคคลที่เด็กเคยอาศัยอยู่หรือเคยทำงานด้วย (ถ้ามี)

5. ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551 [6]

ข้อ 57 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดเกินกำหนด ของผู้มีสัญชาติไทย ให้ดำเนินการ ดังนี้...

(7) กรณีนายอำเภอแจ้งผลการพิจารณาว่าคนที่เกิดไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้ รับสัญชาติไทย หรือไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของบุคคลดังกล่าวได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่บุคคลนั้นตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางที่เกี่ยวด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน …

6. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่18มกราคม 2548 เห็นชอบและอนุมัติยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล และ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 อนุมัติในหลักการโครงการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร [7]

อ้างอิงเพิ่มเติม

Phachern Thammasarangkoon, "โครงการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร",http://www.gotoknow.org/posts/510664

สุกัญญา(นามแฝง), "การขอสัญชาติไทยให้บุตรบุญธรรมที่เป็นคนไร้รากเหง้า", http://www.gotoknow.org/questions/16144


[1] พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 28 ฉบับพิเศษ หน้า 45 วันที่ 1 มีนาคม 2522, http://www.immigration.go.th/nov2004/doc/act_imm_2522.html& ปุณฑวิชญ์ ฉัตรมงคลชาติ, "การเข้าเมืองของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522(กรณีทั่วไป)", 8 มิถุนายน 2553, https://www.gotoknow.org/posts/365033

[2] พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 13-22 เล่ม 125 ตอนที่ 38 ก วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/038/13.PDF

[3] กฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ลงวันที่ 4 กันยายน 2535, ร.จ. เล่มที่ 109 ตอนที่ 93 หน้าที่ 18 วันที่ 11 กันยายน 2535, http://www.kodmhai.com/Kkat/NKkat/Nkkat-1/Newkkat-1-1/N2706.html

[4] กฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125/ตอนที่ 96 ก/หน้า 21/23 สิงหาคม 2551, http://law.longdo.com/law/79/sub6853

[5] กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125/ตอนที่ 96 ก/หน้า 30/23 สิงหาคม 255 ,http://law.longdo.com/law/79/sub6855

[6] ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 70 - หน้า 80 เล่ม 125 ตอนพิเศษ 180 ง วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551, http://law.longdo.com/law/79/sub6929 &"พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎรฉบับใหม่2551กับการรับรองสถานะความเป็นคน", 3 พฤศจิกายน 2551, http://prachatai.com/journal/2008/11/23861

[7] "ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2548", ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไป, http://cdn.learners.in.th/assets/media/files/000/191/657/original_2548-Regulation4Stateless-Survey.pdf?1285619839

หมายเลขบันทึก: 517590เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2013 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2015 01:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท