สอนอย่างมือชั้นครู :๑๘. เรียนโดยการเขียน



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๑๘ นี้ ตีความจาก Part Three : Choosing and Using the Right Tools for Teaching and Learning มี ๗ บท ตอนที่ ๑๘ ตีความจากบทที่ 17. Write-to-Learn Activities and Assignments

สรุปได้ว่า การเขียนเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ดียิ่ง อาจารย์ต้องฝึกทักษะวิธีมอบหมายงานเขียน ให้แก่นักศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูง

การเขียนเป็นเครื่องมือที่ประเสริฐที่สุดอย่างหนึ่ง สำหรับการเรียนรู้ที่แท้จริง ที่เป็นการเรียนโดยการ สร้างความรู้ขึ้นในตน หนังสือสรุปประโยชน์ของการเขียนต่อการเรียนรู้ โดยสรุปจากผลงานวิจัย ว่ามีประโยชน์อย่างน้อย ๕ ประการ

  • ๑.ช่วยให้เข้าใจดีกว่า และจำได้นานกว่า
  • ๒.ช่วยให้นักศึกษาคิดอย่างจริงจัง และหากอาจารย์ให้โจทย์ที่เหมาะสม จะเกิดการคิด ในระดับสูง (higher-order thinking)
  • ๓.ในการเขียนแบบไม่เป็นทางการ สามารถกำหนดผู้อ่านที่เป็นกลุ่มคนต่างๆ กัน ช่วยฝึกให้ นักศึกษาคำนึงถึงผู้อ่านที่มีความสนใจ พื้นความรู้ และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตนเอง
  • ๔.ใช้ในการประเมินชั้นเรียน ว่ามีความก้าวหน้าไปแค่ไหน มีนักศึกษาคนไหน ที่มีความเข้าใจ ผิดในเรื่องใด
  • ๕.ช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง คือช่วยให้เกิดการคิดแบบทบทวนตนเอง (reflective thinking) เข้าใจความรู้สึก คุณค่า กระบวนการเรียนรู้ จุดแข็ง และจุดอ่อน ของตนเอง


เขียนอย่างอิสระ

ให้นักศึกษาเขียนตามหัวข้อที่อาจารย์กำหนด เป็นเวลา ๑ - ๓ นาที ให้เขียนตามสบาย ไม่ต้องระมัด ระวังเรื่องภาษา ไวยากรณ์ เพียงแต่ให้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นออกมา มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้น ความรู้เดิม (prior knowledge) เอาออกมารองรับหรือจับความรู้ใหม่ ใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นความพร้อม (warm-up) ในการเรียน


ตัวอย่างของหัวข้อ สำหรับการเขียนอย่างอิสระ

  • เขียนหัวข้อ หรือประเด็นสำคัญ ที่นักศึกษาจำได้ จากการอภิปรายในการเรียนครั้งที่แล้ว
  • จงสรุปประเด็นสำคัญจากหนังสือ ที่อาจารย์มอบหมายให้อ่านมาก่อนเป็นการบ้าน
  • จากหนังสือคู่มือปฏิบัติการ ตอนที่จะปฏิบัติในวันนี้ จงเขียนสิ่งที่ต้องทำในคาบนี้ สิ่งที่ยังไม่เข้าใจ และผลลัพธ์ของปฏิบัติการที่คาดหมาย
  • อาจารย์เขียนคำสำคัญ ๓ คำ จากคาบเรียนที่แล้ว ลงบนกระดาน แล้วให้นักศึกษา อธิบายความสำคัญของแต่ละคำ หรือให้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคำทั้งสาม
  • เมื่อได้เรียนหลักการ (concept) หนึ่งไปแล้ว ให้นักศึกษาอธิบายหลักการนั้นด้วยถ้อยคำ ของตนเอง หรืออธิบายแต่ละส่วนของหลักการ และยกตัวอย่างในชีวิตจริงของหลักการ นั้น
  • อาจารย์เขียนประโยคหนึ่งประโยคบนกระดาน อาจเป็นสมมติฐาน ข้อสรุป หรือถ้อยคำ ที่ยั่วให้แย้ง แล้วให้นักศึกษาเขียนปฏิกิริยาของตน
  • ให้นักศึกษาเขียนเล่าการประยุกต์หลักการที่เรียน ตามประสบการณ์ของตน
  • ให้นักศึกษาเขียนตอบคำถาม เพื่อเตรียมสอบ

อาจให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนกันอ่าน ผลงานการเขียนอย่างอิสระนี้ และปรึกษาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โดยมีผู้ตั้งชื่อกระบวนการนี้ว่า "กระฉอกหมึก" (inkshedding)

อาจให้เป็นการบ้าน เมื่อมอบให้นักศึกษาอ่านหนังสือ กำหนดให้เมื่ออ่านจบแต่ละบท เขียนสรุป ประเด็นสำคัญ และส่วนที่ไม่เข้าใจ

ตามปกติไม่มีการให้คะแนน การเขียนแบบอิสระ แต่อาจารย์อาจเก็บผลงาน เอามาอ่านเพื่อตรวจสอบ ว่านักศึกษาทำงานจริง และตรวจสอบความเข้าใจ/ไม่เข้าใจของนักศึกษา


บทความหนึ่งนาที

ก่อนจบการบรรยาย หรือเมื่อชิ้นงานที่มอบหมายจบ ให้นักศึกษาปิดสมุดปิดหนังสือ และใช้เวลา ๑ - ๓ นาทีเขียนประเด็นสำคัญที่สุด หรือมีประโยชน์ที่สุด และอาจให้เขียนคำถามส่วนที่ยังไม่เข้าใจแจ่มชัด

เมื่อเทียบกับการเขียนอย่างอิสระที่เป็นกิจกรรม warm-up บทความหนึ่งนาทีคล้ายจะเป็นการ cool-down เพื่อจบชั้นเรียนไปอย่างมีความหมาย ช่วยการบรรจุความรู้ใหม่เข้าไปในความจำระยะยาว

อาจารย์อาจขอดูบทความหนึ่งนาทีนี้เป็นครั้งคราว เพื่อตรวจสอบว่านักศึกษาจับประเด็นสำคัญ ได้หรือไม่


บันทึกประจำตัว

ทันทีที่จบชั้นเรียน หรือชิ้นงาน นักศึกษาเขียนบันทึกปฏิกิริยาเชิงปัญญา และอารมณ์ ที่เกิดขึ้น เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักศึกษาฟังหรือทำงานอย่างตั้งใจ จะยิ่งดี หากอาจารย์ให้แนวทางในการเขียน เช่นประโยคคำถามเหล่านี้

  • สาระที่เรียน มีอะไรใหม่ต่อนักศึกษาบ้าง
  • ส่วนไหนที่รู้แล้ว
  • มีส่วนไหนที่ขัดแย้งกับความรู้หรือความเชื่อเดิม
  • อาจารย์แสดงหลักฐานการให้เหตุผล เป็นข้อมูล หรือวิธีคิด อย่างไรบ้าง
  • คุณเชื่อตามอาจารย์แค่ไหน
  • มีส่วนไหนที่นักศึกษาไม่เชื่อ
  • วิธีให้เหตุผลแบบนี้ นักศึกษาเคยเรียนจากรายวิชาอื่นไหม
  • มีส่วนไหนที่นักศึกษาไม่เข้าใจ
  • มีคำถามในใจอะไรบ้าง

ควรเก็บบันทึกมาอ่านเป็นครั้งคราว แต่ไม่ควรให้คะแนน หรือถ้าจะให้ ก็ควรให้น้ำหนักน้อยๆ


บทสรุปหนึ่งประโยค

อาจให้ทำในช่วงคั่นเวลาบรรยาย หรือทำเป็นการบ้าน โดยให้นักศึกษาตอบคำถาม ใครทำอะไรต่อใครอย่างไรเมื่อไรที่ไหนและทำไม โดยปรับคำถามเล็กน้อยให้เข้ากับสถานการณ์ในบทเรียน จะช่วยให้นักศึกษาฝึกสรุป ทำความเข้าใจ หรือจัดระบบของสาระความรู้เสียใหม่ ให้กระชับขึ้น ให้จำง่ายขึ้น

อาจารย์น่าจะลองตอบคำถามด้วยตนเองก่อน เพื่อจับเวลา สำหรับให้เวลานักศึกษาสองเท่าของเวลา ที่อาจารย์ใช้

อาจารย์อาจเก็บผลงานมาตรวจ หรือให้นักศึกษาตรวจและให้ความเห็นแก่กันและกัน


บันทึกการเรียนรู้ (Learning Logs)

หลังการบรรยาย หรือบทเรียนอื่น แต่ละครั้ง ให้นักศึกษาเขียนรายการ ๒ รายการ คือ (๑) ประเด็นสำคัญ (๒) ประเด็นที่ยังไม่เข้าใจชัดเจน หลังจากเรียนไประยะหนึ่ง นักศึกษานำบันทึกมาทบทวน หาจุดแข็งจุดอ่อนในการเรียนของตน และอาจนำมาเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ได้ เพื่อหาแนวทางแก้จุดอ่อนของนักศึกษาแต่ละคน

บันทึกการเรียนนี้มีประโยชน์มาก ในการช่วยให้นักศึกษาเข้าใจสไตล์การเรียนรู้ของตน และเรียนรู้วิธีปรับปรุงให้เรียนได้ผลดียิ่งขึ้น

อาจารย์พึงเก็บบันทึกการเรียนมาตรวจเป็นระยะๆ และอาจให้คะแนน หากเป็นบันทึกของการ ทำการบ้านเป็นส่วนใหญ่


บันทึกข้อโต้แย้ง

เมื่ออ่านเอกสารที่อาจารย์กำหนดให้อ่าน นักศึกษาเขียนบันทึกในซีกซ้ายของกระดาษบันทึก เป็นปฏิกิริยาต่อการอ่านข้อความในเอกสาร ทั้งส่วนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ที่สับสน ที่มีคำถาม ที่มีคำตอบที่ดีกว่า ฯลฯ

หลังทิ้งช่วงไประยะหนึ่ง (เช่นหนึ่งสัปดาห์) นักศึกษาอ่านเอกสารเดิมร่วมกับข้อเขียนด้านซ้ายกระดาษ ของตน แล้วเขียนปฏิกิริยาต่อบันทึกของตนเองลงบนกระดาษข้างขวา

บันทึกข้อโต้แย้ง ช่วยให้นักศึกษาอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ และใช้การวิเคราะห์อย่างจริงจัง ช่วยฝึกการคิดกลับไปกลับมา ช่วยให้เห็นคุณค่าของสุนทรียสนทนา (dialogue) และการโต้วาที (debate)

อาจให้ทำส่วนแรก (อ่านเอกสารและเขียนปฏิกิริยา) เป็นการบ้าน หลังจากทิ้งช่วงไประยะหนึ่ง ให้มาทำส่วนที่สอง (ปฏิกิริยาต่อปฏิกิริยา) ในชั้นเรียน

หลังจากนักศึกษาฝึกไประยะหนึ่งจนคุ้น อาจารย์อาจเก็บผลงานมาตรวจให้คะแนน

วิธีการนี้เหมาะสำหรับวิชาที่ต้องมีการอ่านเอกสารยากๆ เช่น ปรัชญา ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศาสนา กฎหมาย ทฤษฎีสังคม เป็นต้น แต่ก็สามารถปรับใช้กับวิชาอื่นๆ ได้

อาจให้นักศึกษาจับกลุ่มกันอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ด้วย


เขียนใหม่ (Directed Paraphrasing)

นักศึกษาสรุปการบรรยาย การอภิปราย หรือเอกสารที่อาจารย์มอบหมาย ออกมาเป็นถ้อยคำ ของตนเอง โดยอาจกำหนดให้เขียนเพื่อบอกกล่าวแก่คนทั่วไป หรือแก่นักการเมืองเพื่อเสนอให้เปลี่ยนนโยบาย สาธารณะ หรือแก่นักวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ด้านการวิจัย

เนื่องจากนักศึกษาต้องเขียนใหม่ด้วยภาษาของตนเอง จึงต้องทำความเข้าใจอย่างลึก และเนื่องจาก ต้องเขียนให้คนอ่านจำเพาะกลุ่ม จึงต้องเลือกใช้ภาษาที่สื่อสารได้ดีต่อผู้อ่านกลุ่มนั้น รวมทั้งอาจต้องใช้ภาษา หรือถ้อยคำจูงใจ หรือวิธีให้พยานหลักฐานเพื่อจูงใจผู้อ่าน เหล่านี้เป็นการเรียนรู้ทั้งสิ้น

อาจให้เป็นการบ้าน หรือเป็นงานในชั้น และอาจให้เจ้าของชิ้นงานอ่านให้เพื่อนฟัง โดยสมมติว่า เพื่อนในชั้นเป็นเป้าหมายกลุ่มบุคคลที่เขียนถึง


จดหมาย บันทึก หรือประกาศอิเล็กทรอนิก

ให้นักศึกษาฝึกเขียนจดหมายกลับบ้าน ไปถึงพ่อแม่ หรือพี่หรือน้องของตน เล่าเรื่องในสาระวิชา ที่เรียนด้วยภาษาที่เขาเข้าใจได้ เป็นการฝึกเชื่อมโยงสาระวิชาเข้ากับชีวิตจริง และเนื่องจากต้องใช้ถ้อยคำของ ตนเอง จึงต้องทำความเข้าใจสาระสำคัญอย่างลึกซึ้ง

อาจให้เขียนเป็นบทความไปลงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารจริงๆ หรือสมมติ เขียนถึงนักการเมือง ถึงเด็กๆ หรือเขียนถึงบุคคลในอดีต เพื่อฝึกสไตล์การเขียน

อาจารย์ควรตรวจผลงาน


ซ้อมออกข้อสอบ

วิธีหนึ่งที่ช่วยให้นักศึกษาทบทวนวิชาที่เรียนอย่างจริงจัง คือมอบหมายให้ออกข้อสอบของวิชานั้น อาจให้ทำคนเดียวหรือทำเป็นกลุ่ม แต่ก่อนมอบหมายงาน ควรสอนให้รู้จักเทคนิคตั้งคำถาม เพื่อตรวจสอบระดับการเรียนรู้ (รู้ เข้าใจ ประยุกต์เป็น วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน ปรับปรุงวิธีเรียน เปลี่ยนใจ) รวมทั้งวิธีออกข้อสอบ (ปรนัยหลายตัวเลือก ถูก-ผิด ให้เขียนคำตอบสั้นๆ ตอบเป็นเรียงความ เป็นต้น

บอกนักศึกษาว่า อาจารย์อาจเลือกข้อสอบที่ดี เป็นข้อสอบจริงๆ จะกระตุ้นให้นักศึกษาทำงานอย่าง จริงจังมากขึ้น


ยกร่างให้เพื่อนให้คำแนะนำป้อนกลับ (Draft for Peer Feedback)

นักศึกษาต้องเขียนรายงานอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่การมอบหมายให้เพื่อนอ่านแล้วให้ คำแนะนำป้อนกลับ ซึ่งหากอาจารย์ตั้งโจทย์สำหรับให้คำแนะนำป้อนกลับไม่เป็น คำแนะนำป้อนกลับ ของเพื่อนก็จะไม่ค่อยเป็นประโยชน์ ไม่เป็นคำแนะนำป้อนกลับที่ช่วยให้เพื่อนปรับปรุงข้อเขียนได้อย่างแท้จริง เพราะเพื่อนมีแนวโน้มจะเกรงใจหรือเข้าพวกกัน

คำแนะนำแก่อาจารย์เรื่องวิธีตั้งคำถาม ให้นักศึกษาผู้อ่านตอบ แล้วเกิดเป็นคำแนะนำป้อนกลับ ที่มีพลัง ที่ปรากฎในหนังสือ เป็นวิธีตั้งคำถามที่ผมคิดว่าสุดยอด ได้แก่

  • แทนที่จะถามว่า "ย่อหน้าแรก ได้ระบุประเด็นปัญหาหลัก สำหรับการเดินเรื่อง ทั้งหมดหรือไม่" ซึ่งมักจะได้คำตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ แล้วจบ ไม่ช่วยให้ผู้เขียน ได้รับคำแนะนำป้อนกลับที่มีพลัง ควรพลิกคำถามเป็น "ประเด็นปัญหาหลัก ของบทความคืออะไร จงเขียนใหม่ด้วยถ้อยคำของท่าน" หากเพื่อนที่เป็นผู้อ่าน และให้คำแนะนำป้อนกลับ เขียนประเด็นปัญหาหลัก ไม่ตรงกับของผู้เขียน ก็แสดงว่าผู้เขียนยังเขียนไม่ชัด
  • แทนที่จะถามว่า "ชื่อเรื่องน่าสนใจ เหมาะสม และตรงประเด็น หรือไม่" เปลี่ยนเป็น "บอกคำคุณศัพท์ ๓ คำ ที่คุณใช้สะท้อนชื่อเรื่อง"
  • แทนที่จะถามว่า "บทความนี้เขียนดีแค่ไหน" เปลี่ยนเป็น "ให้ขีดเส้นใต้ข้อความที่คุณ ต้องอ่านมากกว่าหนึ่งครั้งจึงเข้าใจว่าผู้เขียนต้องการบอกอะไร" ส่วนที่เพื่อนขีดเส้นใต้ คือส่วนที่ผู้เขียนควรปรับปรุงให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น

การให้คำแนะนำป้อนกลับโดยเพื่อน ทำได้บ่อยกว่าอาจารย์ และเมื่อตั้งและตอบคำถามกันเองเป็น ก็จะได้ฝึกทักษะการสื่อสาร การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความร่วมมือ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต


คุณประโยชน์หลายด้าน

การฝึก "เขียนเพื่อเรียนรู้" นอกจากช่วยให้นักศึกษาได้ซ้อมทบทวนเนื้อหาวิชา ทำความเข้าใจ และจดจำเนื้อหา ยังช่วยให้นักศึกษาสนใจเรียน ขยันอ่าน และตรวจตราเนื้อหาอย่างระมัดระวัง และยังช่วยให้อาจารย์เข้าใจการเรียนรู้ของนักศึกษาได้ดียิ่งขึ้น

เนื่องจากการเขียนเพื่อเรียนรู้มีคุณประโยชน์มาก จึงจะกล่าวถึงในอีกหลายบทในหนังสือ

ผมขอแถมความเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัว ว่าการเขียนมีคุณค่าสูงมากต่อการเรียนรู้ และการเขียน บล็อก ของผม ก็มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่อง



วิจารณ์ พานิช

๒ ก.ย. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 580350เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เทอมนี้มีสอนแบบ PBL & Flipped Classroomค่ะ และได้ให้นักศึกษาฝึกเขียนบันทึกการเรียนรู้ (learning logs) ด้วยค่ะดังตัวอย่างนี้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท