Well-Being Approach


แนวความคิดเกี่ยวกับความอยู่ดีมีสุขของประเทศไทยเริ่มต้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และ 9 ได้ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์การพัฒนามาเป็นแบบองค์รวม คือ การอาศัยความร่วมมือในการทำงานจากหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในสังคม

ดังนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และ 9 จึงมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยปฏิบัติ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคีมีส่วนร่วมมากขึ้นจะช่วยให้มีการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของประชาชนได้มากขึ้นเพื่อเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยพิจารณาได้จากองค์ประกอบของความอยู่ดีมีสุข 7 ด้าน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(2545, หน้า 2-3) ได้ให้ความหมายของความว่า "ความอยู่ดีมีสุข" หมายถึง การมีสุขภาพอนามัยที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ มีความรู้ มีงานทำที่ทั่วถึง มีรายได้เพียงพอ มีครอบครัวอบอุ่นมั่นคง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และอยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่ของรัฐ โดยมีแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาตัวชี้วัดที่ให้ความสำคัญกับความสามารถในการใช้ศักยภาพของมนุษย์ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ โดยได้รับคำจำกัดความในรูปของ "ภารกิจ"(Functionings) และ "สมรรถภาพ"(Capabilities)

ภารกิจ(Functionings) หมายถึง ความสำเร็จที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการเลือกดำเนินชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล

สมรรถภาพ(Capabilities) หมายถึง ความสามารถที่จะนำไปสู่ความสำเร็จเกี่ยวข้องับทางเลือกและความมีอิสระที่บุคคลสามารถเลือกหาในการดำรงชีวิตหรือแสวงหาความสำเร็จในชีวิต

ดังนั้น ความอยู่ดีมีสุข จึงมีลักษณะเป็นองค์รวมซึ่งมีหลายมิติและหลายองค์ประกอบมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สามารถแยกองค์ประกอบของความอยู่ดีมีสุขออกเป็น 7 ด้าน ดังนี้

1. องค์ประกอบที่ 1 ด้านสุขภาพอนามัยและโภชนาการ ซึ่งยังประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยอีก 4 ด้าน คือ ความยืนยาวของอายุ การปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ โภชนาการและการให้บริการสาธารณสุข

2. องค์ประกอบที่ 2 ด้านการศึกษา ซึ่งครอบคลุมสาระต่าง ๆ ในกระบวนการเรียนรู้ ความรู้พื้นฐาน และทักษะต่าง ๆ รวมทั้งการเข้าถึงบริการและคุณภาพการศึกษา

3. องค์ประกอบที่ 3 ด้านชีวิตการทำงาน เนื่องจากประชาชนจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการทำงาน การพิจารณาสภาพแวดล้อมการทำงาน จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากและชีวิตการทำงานที่มีคุณภาพก็จะเกี่ยวข้องกับการจ้างงานและความพอใจในค่าจ้างที่ได้รับ องค์ประกอบนี้ยังรวมถึงปัจจัยย่อยในด้านการใช้แรงงานเด็ก ผู้หญิงและระบบประกันสังคมด้วย

4. องค์ประกอบที่ 4 ด้านชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัวถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ ความอยู่ดีมีสุข โครงสร้างและขนาดของครอบครัวเป็นตัวกำหนดระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกแต่ละคน ครอบครัวที่มีความรัก ความอบอุ่น ต้องรับรู้ความต้องการของสมาชิกแต่ละคน และดูแลสมาชิกทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ

5. องค์ประกอบที่ 5 ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยากจน การกระจายรายได้และสวัสดิการเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความอยู่ดีมีสุข ฉะนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นปัจจัยสำคัญขอความอยู่ดีมีสุข การมีปัญหาความยากจนที่รุนแรงและความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในระดับสูงสะท้อน การอยู่อย่างมีทุกข์ ในสังคมประเด็นเหล่านี้จึงนับเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของเครื่องชี้วัดความอยู่ดีมีสุขด้วย

6. องค์ประกอบที่ 6 ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เพราะการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อความอยู่ดีมีสุข เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์ประกอบนี้จะรวมถึงสภาพแวดล้อมด้านที่อยู่อาศัย การอนามัยแวดล้อม ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะจากปัญหาอาชญากรรม

7. องค์ประกอบด้านที่ 7 คือ ด้านประชารัฐ หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันจะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข การส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นการเพิ่มพูนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ให้เต็มขีดความสามารถเป็นเครื่องมือของการยกระดับ ความอยู่ดีมีสุข องค์ประกอบนี้จะรวมถึงความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพทางการเมือง รวมทั้งการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และ 9 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักซึ่งครอบคลุมสาระทุกด้านของความอยู่ดีมีสุข อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจนความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้ง 7 ด้านของความอยู่ดีมีสุขและยุทธศาสตร์การพัฒนา ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และ 9 ได้อย่างเชื่อมโยงเข้าหากันและมีเป้าหมายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ดังภาพประกอบ

องค์ประกอบของความอยู่ดีมีสุข

ที่มา : รายงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ : ความอยู่ดีมีสุขของคนไทย 5 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ(หน้า 1-3) โดย สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร, 2545.

เครื่องชี้วัดความอยู่ดีมีสุข

การที่จะทราบว่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชนจะอยู่ในระดับใดนั้น จึงต้องมีการสร้างเครื่องชี้วัดเพื่อติดตามปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมมิติของการดำรงชีวิตโดยอาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. เครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจ

2. เครื่องชี้วัดด้านสังคม

3. เครื่องชี้วัดด้านการเมือง

ซึ่งเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจจะช่วยบ่งชี้บทบาทหรือสภาวการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เช่น อัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมของประเทศ อัตราเงินเฟ้อ การออม การลงทุน อัตราการค้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามกรอบแนวคิดความอยู่ดีมีสุขที่ได้กำหนดขึ้นนี้จะเป็นการแสวงหาเครื่องบ่งชี้ที่มุ่งไปที่ความสำเร็จของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เฉพาะเครื่องชี้วัดที่เป็นเพียง เครื่องมือ นำพาไปสู่ความสำเร็จเท่านั้น ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเครื่องชี้วัดที่มีลักษณะเป็นผลลัพธ์ ของการดำเนินงานมากกว่าเป็นปัจจัยถึงแม้ว่าเครื่องชี้วัดทางด้านปัจจัยจะมีความสำคัญ เพราะมีส่วนช่วยเสริมสร้างหรือยกระดับความอยู่ดีมีสุข แต่ก็ยังไม่ใช่เครื่องชี้วัดที่บ่งบอกความสำเร็จ เครื่องชี้วัดทางด้านสาธารณสุข สวัสดิการและสิทธิเสรีภาพเป็นตัวอย่างเครื่องชี้วัดที่แสดงผลลัพธ์ ในขณะที่เครื่องชี้วัดที่แสดงถึงความเพียงพอของปัจจัยต่าง ๆ ทั้งด้านอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม การให้บริการต่าง ๆ การสรรหาทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา การดูแลด้านสุขภาพอนามัย และรายได้เป็นตัวอย่างของเครื่องชี้วัดทางด้านปัจจัย

ความแตกต่างระหว่างเครื่องชี้วัดทางด้านปัจจัย และ ผลลัพธ์ อาจไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจนในทุกกรณี เช่น เครื่องชี้วัดจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถมและมัธยม เป็นเครื่องชี้วัดด้านปัจจัย เพราะเหตุที่เป็นเครื่องมือ ของการบรรลุเป้าหมายการรู้หนังสือของประชาชน ในขณะที่การรู้หนังสืออาจจะเป็นทั้งเครื่องชี้วัด ปัจจัย หรือ ผลลัพธ์ เพราะการรู้หนังสือเป็นหนทางหรือ เครื่องมือ สู่ความสำเร็จในการประกอบกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายด้วย และในกรณีของเครื่องชี้วัดการรู้หนังสือนี้ถึงแม้ว่าจะถูกจัดให้เป็นเพียงเครื่องชี้วัดทางด้านปัจจัย แต่ก็นับว่ามีความสำคัญและควรจะรวมไว้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเครื่องชี้วัดความอยู่ดีมีสุขเพราะเป็นเครื่องบ่งชี้สภาวการณ์ทางด้าน ภารกิจ และ สมรรถภาพ ของบุคคลด้านอื่น ๆ ด้วย ในการพัฒนาเครื่องชี้วัดความอยู่ดีมีสุข จำเป็นต้องเชื่อมโยงเครื่องชี้วัดทางด้านปัจจัย และ ผลลัพธ์ เข้าด้วยกันการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ คือ บทสะท้อนเครื่องชี้วัดทางด้านปัจจัย ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายต่อหัว ประชากรทางด้านการศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาว่าเครื่องชี้วัดด้านปัจจัยเหล่านี้ถูกนำไปใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายของการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงไรซึ่งเป็นการพิจารณาทางด้านผลลัพธ์เท่านั้น(วิษณุ บุญมารัตน์, 2548)

ดังนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 และ 9 จึงได้พัฒนาเครื่องชี้วัดผลการดำเนินงานความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เพื่อประเมินผลกระทบในภาพรวมของการพัฒนาซึ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยมีเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาประเทศอยู่ที่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน จนมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ยังคงสานต่อแนวคิดอยู่ดีมีสุข ในการนำมากำหนดเป็นนโยบายอยู่ดีมีสุขให้ทุกจังหวัดนำไปปฏิบัติเพื่อมุ่งเน้นให้สังคมมีเป้าหมายในการพึ่งตนเอง มีความสามัคคี และมีความอยู่เย็นเป็นสุข.

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ
ประเทศ
: ความอยู่ดีมีสุขของคนไทย 5 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ. กรุงเทพมหานคร, 2545.

วิษณุ บุญมารัตน์. วิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองยุค ทักษิณ ชินวัตร. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ส.เอเซีย
เพรส(1989), 2548.


หมายเลขบันทึก: 584363เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2015 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2015 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท