ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๒๖. ไปเรียนรู้เรื่องสถานะบุคคลที่ระนอง (๒) วันที่ ๒ : คนไทยพลัดถิ่นในตำบลมะลิวัลย์


พี่น้องเชื้อชาติไทยในพม่าเหล่านี้มีฐานะความเป็นอยู่คล้ายๆ กับคนไทยในภาคใต้ คือฐานะดีกว่าคนพม่าโดยทั่วไป ฟังดูแล้วคนมีฐานะดีมาก จะมีลูกจ้างเป็นคนพม่า ที่มาจากรัฐอื่น เขาก็อยากให้ประเทศไทยเอื้อเฟื้อรักษาพยาบาลฟรีให้ด้วยซึ่งก็จะเป็นภาระทางการเงินต่อโรงพยาบาลระนองมาก



ตอนที่ ๑

ผมติดตามคณะของอาจารย์แหววไประนอง เพื่อศึกษาเรื่องปัญหาสถานะของบุคคล ในทำนองเดียวกับที่ไปศึกษาที่จังหวัดตากตามที่เล่าไว้ ที่นี่

วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรานั่งรถสองแถวไปตำบลมะลิวัลย์ อำเภอเมือง จังหวัดเกาะสอง (เกาะสองในภาษาพม่าว่า กะเต๊าจังหวัดเกาะสองเขาเรียกว่า กะเต๊า ขะหย่าย)โดยถนนที่ดีกว่าถนนในเมืองใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงสาวน้อยกับผมได้รับสิทธิพิเศษในฐานะคนแก่ ให้นั่งด้านหน้ากับคนขับ ชื่อคุณวิเชียร อ๋องสุวรรณ อายุ ๒๗ ปี เป็นชาวไทยพลัดถิ่นอยู่ที่มะลิวัลย์นั่นเองโดยทำอาชีพรถรับจ้าง และทำสวนเราคุยกันด้วยภาษาปักษ์ใต้อย่างออกรส

ถนนและทิวทัศน์สองข้างทาง ไม่แตกต่างจากภาคใต้ของไทย รวมทั้งลักษณะของบ้าน ต้นไม้ และถนน แถมยังคุยกันกับคุณวิเชียรด้วยภาษาปักษ์ใต้ผมจึงเข้าใจทันทีว่าดินแดนนี้คือดินแดนของคนไทยมาช้านานชื่อสถานที่ต่างๆ เป็นชื่อไทยทั้งสิ้นดังชื่อจังหวัดเกาะสองตำบลมะลิวัลย์ เพิ่งมาตกเป็นของพม่าที่เป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ในสมัย ร. ๕ น่าแปลกใจที่เวลาผ่านมากว่าร้อยปี ผู้คนเหล่านี้ยังคงดำรงสภาพ “ชุมชนของคนไทย" ไว้อย่างเหนียวแน่น

ทีมงานจัดการของทางระนอง คือคุณเชษฐ์ (ภควิน แสงคง - เป็นกรรมการในคณะกรรมการรับรองสถานภาพคนไทยพลัดถิ่น) ได้นัดให้ชาวบ้านมาคุยกับคณะของเราที่วัดไทยมะลิวัลย์ แต่เราไปถึงช้ากว่าเวลานัดมากชาวบ้านจึงกลับไปก่อนเมื่อรถไปถึงตำบลมะลิวัลย์ คุณวิเชียรจึงกดแตรรถเรียกคนไปที่วัด คราวนี้เราจึงต้องเป็นฝ่ายรอบ้าง ทำให้ได้เข้าไปไหว้พระและชมภายในพระเจดีย์ทรงเจดีย์พุทธคยาซึ่งมีพระพุทธรูปสี่ปางสี่ทิศ

วัดไทยมะลิวัลย์มีบริเวณกว้างขวางทราบจากหนังสือ ถิ่นพลัดไป...ไทยพลัดถิ่น บันทึกชีวิตเปลือยเปล่า ไทยพลัดถิ่น เขียนโดยฐิรวุฒิ เสนาคำ ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ว่าสร้างโดยโดยการเรี่ยไรเงินกันในกลุ่มคนไทยมีคนไทยในมะลิวัลย์ร่วมกันบริจาคที่ดินมีการดูแลรักษาบริเวณสะอาดเตียนดี

ในที่สุดชาวบ้านก็มาปูเสื่อที่ศาลาข้างเจดีย์ เพื่อตั้งวงคุยกัน โดยคุณเชษฐ์ (ภควินทร์ แสงคง) ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น จังหวัดระนอง เป็นผู้ดำเนินการพูดคุย รวมแล้วมีคนมาคุยราวๆ ๒๐ คนรวมทั้งกำนัน ซึ่งเป็นคนหนุ่มอายุราวๆ ๓๐ ปี ชาวพม่า ที่ไม่เข้าใจภาษาไทย คุณอ้อนซึ่งเป็นคนพม่า และรู้ภาษาไทยดี จึงไปเป็นล่ามให้ รวมทั้งอาจารย์แหววไปอธิบายให้ฟังว่าพวกเราไปเพื่ออะไรคือไปเรียนรู้วิถีชีวิตของคนเชื้อสายไทย

สิ่งสำคัญที่สุดที่คนเชื้อสายไทยที่นี่ต้องการจากฝ่ายไทย คือสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีที่โรงพยาบาล ระนอง เพราะเขาเดินทางเข้าออกที่ระนองในหลากหลายช่องทางอยู่แล้วและมีญาติอยู่ทางฝั่งไทยตัวเขาเองก็มาเรียนโรงเรียนทางฝั่งไทยเวลานี้ก็ส่งลูกมาเรียนที่ระนองคนที่ทำธุรกิจก็รับสินค้ามาจาก ฝั่งระนอง สมัยก่อนการคมนาคมไม่สะดวก บางคนก็เรียนภาษาไทยที่วัด โดยมีพระไทยมาสอน แต่เวลานี้ไม่มีการสอนภาษาไทยที่วัดแล้ว เข้าใจว่าเพราะไปเรียนที่ระนองได้สะดวก เขาบอกว่าคนที่มลิวัลย์ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลระนอง

สรุปว่าพี่น้องเชื้อชาติไทยในพม่าเหล่านี้มีฐานะความเป็นอยู่คล้ายๆ กับคนไทยในภาคใต้ คือฐานะดีกว่าคนพม่าโดยทั่วไป ฟังดูแล้วคนมีฐานะดีมาก จะมีลูกจ้างเป็นคนพม่า ที่มาจากรัฐอื่น เขาก็อยากให้ประเทศไทยเอื้อเฟื้อรักษาพยาบาลฟรีให้ด้วยซึ่งก็จะเป็นภาระทางการเงินต่อโรงพยาบาลระนองมาก

ผมได้เรียนรู้หลักการสากลว่าด้วยการดูแลคนของประเทศคนที่ไปพำนักอาศัยในต่างประเทศ (overseas people) จาก อ. แหววเช่นมีคนพม่าอยู่ในประเทศไทยกว่า ๒ ล้านคน รัฐบาลพม่าก็มีการดูแลมีคนไทยอยู่ใน LAในญี่ปุ่น รัฐบาลไทยก็มีการดูแล หลักการนี้ก็ขยายมาสู่คนเชื้อชาติไทยในมลิวัลย์ และในตะนาวศรี และพื้นที่อื่นๆ ของพม่าด้วย ทีมงานของโครงการสี่หมอจากจังหวัดตากบอกว่า คนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดตาก ก็มีเหมือนกันจะกลับไปทำความเข้าใจ และเอาใจใส่คนเหล่านั้นให้มากขึ้น

อ. แหววบอกว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการดูแลคนของตนที่พำนักในต่างประเทศ คนเหล่านี้ควรได้รับสิทธิในบริการสุขภาพการทำงาน และการเดินทางซึ่งก็จะกระทบเรื่องอื่นๆ ของประเทศ เช่นความมั่นคง หรือความสงบสุขของประเทศ และค่าใช้จ่าย เพราะในความเป็นจริง จะมีคนแอบอ้าง แปลกปลอม เข้ามาเอาประโยชน์ รวมทั้งอาจมีคนปลอมปนเข้ามาสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมือง

เห็นได้ชัดเจนว่าการไปเยือนเกาะสอง และ ต. มลิวัลย์ของเกาะสองของคณะอาจารย์แหววถือเป็น เรื่องใหญ่ของทางฝั่งพม่าคือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศเพราะนี่คือดินแดนของชนกลุ่มน้อย ในประเทศตอนกลางคืนวันที่ ๒๘ จึงมีทนายความชาวพม่า ไปคุยกับ อ. แหววที่โรงแรม การ์เด้นท์ ที่เราพัก และบอกว่า กฎหมายพม่าห้ามถือสองสัญชาติใครละเมิดมีโทษติดคุก ๑๔ ปีหากจับได้ว่าลูกที่ยังไม่บรรลุ นิติภาวะถือสองสัญชาติ ความผิดตกเป็นของพ่อแม่ เขาคงรู้ดีว่า เวลานี้มีคนเชื้อชาติไทยเหล่านี้จำนวนหนึ่ง ต้องการสัญชาติไทยด้วย โดยได้รับบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยหมายเลขศูนย์ และตำแหน่งที่หกและเจ็ดเป็นเลข 89 ซึ่งจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี

อาจารย์แหววแนะนำว่า ในอีก ๗ ปีข้างหน้าระบบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของประเทศสมาชิกอาเซียน จะเชื่อมต่อกัน ก็จะตรวจได้ว่ามีคนพม่าคนใดถือสองสัญชาติหากตอนนั้นประเทศเมียนม่าร์ยังไม่แก้กฎหมาย สัญชาติให้ยอมรับการถือสองสัญชาติ คนเหล่านี้จะถูกลงโทษ เวลานี้ประเทศต่างๆ ยอมรับการถือสองสัญชาติ ว่าถูกกฎหมาย รวมทั้งไทย และสหรัฐอเมริกา

ผมคิดว่า เรื่องคนเชื้อสายไทยที่มลิวัลย์เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ของคนเชื้อสายไทยในประเทศ เมียนม่าร์ คือผมคิดว่าในมะริด ทวาย และตะนาวศรีของพม่าจะต้องมีคนเชื้อสายไทยที่ยังดำรงสภาพ ชุมชนไทยอยู่เป็นจำนวนมากมายดังมีตัวอย่างคุณบุญเสริม ประกอบปราณ (ชาย อายุ ๖๔ ปี) และคุณน้อย ประกอบปราณ (หญิง อายุ ๔๑ ปี) เป็นคนไทยพลัดถิ่นบริเวณด่านสิงขร ที่มาอยู่ในจังหวัดประจวบ และเพิ่งได้รับบัตรประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 8เป็นคนสัญชาติไทยเต็มตัว รู้ภาษาไทยอ่านออกเขียนได้ พูดไทยได้ทั้งภาษากลาง และภาษาปักษ์ใต้ พูดพม่าได้นิดหน่อย

เรานั่งเรือกลับด้วยเที่ยวสุดท้าย ๑๗.๐๐ น. กลับมาเข้าพักที่โรงแรม Tinidee อาบน้ำ แล้วออกไปกินอาหารเย็นที่ร้าน จอกดิน ที่เมื่อเจ้าของร้านพบหน้า อ. แหวว ก็โผเข้ากอดและร้องไห้โฮ สะอึกสะอื้นอยู่นาน เพราะเขาเป็นคนเชื้อสายญวณที่สกลนคร ที่ตนเองเกิดในเมืองไทย แต่ลูกถูก ลงทะเบียนว่าเป็นคนเวียดนามจึงไม่มีสถานะของพลเมืองไทยลูกชายคนหนึ่งไปเป็นแรงงานนอกกฎหมาย ที่ญี่ปุ่น และส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว เป็นเวลาสามสิบปี จนป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย จึงดิ้นรนหาทางกลับมาหาครอบครัว และตายที่บ้าน ทีมอาจารย์แหวว ได้ช่วยเหลือวางยุทธศาสตร์ ให้ฝ่ายต่างๆ ในบ้านเมืองให้ความช่วยเหลือ จนประสบความสำเร็จเป็นเรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่นในญี่ปุ่น

เรากลับมา AAR กันที่โรงแรมอีกชั่วโมงเศษจนผมแบตหมด ด้วยความง่วงนอน การ AAR นี้ใช้โจทย์ ๒ ข้อ

1. ได้ความรู้อะไรบ้าง ที่จะนำไปพัฒนาโครงการสี่หมอ ที่ จ. ตากได้

2. จะกลับไปทำอะไร

สรุปเชิงยุทธศาสตร์ ว่าจะมีการสรุปประเด็นจาก AAR ครั้งนี้เอาไปเสนอผู้อำนวยการโรงพยาบาล ของโครงการสี่หมอ เพื่อหาทางทำให้ทั้งสี่โรงพยาบาลมีแผนเชิงรุกในการทำงานร่วมกัน




ลู่วิ่งตอนเช้า

สภาพบ้านเมืองในเกาะสองวิ่งไปดูวัด


วิ่งไปดูวัด

กำลังก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่


อีกวัดหนึ่งตรงข้ามโรงแรม


วิวจากภูเขา


จากภูเขา เห็นวิวเมืองเกาะสอง


เดินขึ้นเขาไปชมวิวกับคุณวิเชียร อ๋องสุวรรณ


ตลาดในเมืองเกาะสองยามเช้า


วัดไทยมะลิวัลย์

ภายในพระเจดีย์พุทธคยา


ตั้งวงคุย


ส่วนหนึ่งของคนไทยมะลิวัลย์


ตั้งวงกิน


อาหารไทยที่แสนอร่อย โดยเฉพาะน้ำพริกส้มจี๊ด


ถนนไปตำบลมะลิวัลย์




ต้นหมากเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 583903เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2015 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2016 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท