Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เรื่องมหัศจรรย์ของสิทธิในสุขภาพดีและสิทธิในหลักประกันสุขภาพ - ข้อเสนอต่อคุณหมอสมศักดิ์ - แนวคิดพื้นฐานที่ควรจะเป็นของประเทศไทย


อะไรคือแนวคิดที่ควรจะเป็นเกี่ยวกับสิทธิในสุขภาพดีและสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนยากไร้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย – เมียนมาร์ ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๘

------------------------------------------------------------

(๑.๑.) ประเด็นเกี่ยวกับพื้นฐานทางความคิดเรื่องสิทธิในสุขภาพดีและสิทธิในหลักประกันสุขภาพที่ประเทศไทยควรจะยึดถือ
เราทั้งหลายที่หารือกันเห็นว่า แนวคิดเรื่องสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์เป็นแนวคิดที่ควรได้รับการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข และการยอมรับแนวคิดเรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ก็น่าจะเป็นแนวคิดในการรักษาสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น เพื่อให้มนุษย์มีสุขภาพดี มนุษย์ก็ควรมีหลักประกันสุขภาพ แต่แม้มนุษย์คนใดจะไม่มีหลักประกันสุขภาพ เขาผู้นี้ก็ย่อมไม่ถูกปล่อยให้เจ็บป่วยโดยปราศจากการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิในสุขภาพดี ดังนั้น สุขภาพดีจึงเป็นของมนุษย์ทุกคน กล่าวคือ Health for all นั่นเอง


(๑.๒.) ประเด็นทางความคิดเรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพแบบได้เปล่าและแบบซื้อเอง
แต่ Health for All นั้น อาจไม่มีความหมายไปไกลจนถึง Free Health for All เพราะความสามารถทางการคลังของรัฐไทยอาจจะยังแบกรับค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ทั้งหมดมิได้ แต่การให้หลักประกันสุขภาพแบบได้เปล่าแก่คนด้อยโอกาสที่ไร้รัฐไร้สัญชาติเพราะความยากจนนั้นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างแน่นอน ตลอดจนการสร้างระบบสนับสนุนโรงพยาบาลชายแดนที่ต้องทำหน้าที่เพื่อคนดังกล่าวอย่างมีแพทยธรรมก็ย่อมจะเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องทำ


แต่เพื่อให้ Health for All ยังดำเนินได้ และหลักประกันสุขภาพยังเป็นสิทธิที่มนุษย์เข้าถึงได้ แม้ระบบการขายหลักประกันสุขภาพที่เป็นอยู่และจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุขยังไม่สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ประสิทธิไม่ได้ว่า ระบบดังกล่าวได้ทำให้คนยากไร้ที่ไม่อาจซื้อหลักประกันสุขภาพจากบริษัทประกันชีวิตเอกชน อาจเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพได้ และสิทธิในสุขภาพดีของพวกเขาได้บังเกิดขึ้นท่ามกลางความยากจนที่ยังมีอยู่ ข้อขัดข้องของนโยบายการขายหลักประกันสุขภาพสำหรับคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมนี้มีความบกพร่องด้วยเหตุที่ไม่ปรากฏมีความชัดเจนในประเด็นของบ่อเกิดของกฎหมายและนโยบายที่ดำเนินการอยู่ ทำให้กระบวนการจัดการที่เป็นอยู่ไม่อาจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นว่า โรงพยาบาลจำนวนหนึ่งปฏิเสธที่จะขายหลักประกันสำหรับเด็กวัยเยาว์ แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นพื้นฐานของมาตรการดังกล่าว


(๑.๓.)ประเด็นทางความคิดเรื่องพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในเรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพ
เราคงต้องตระหนักว่า หลัก Health for All มิใช่เพียงวาระการทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เท่านั้น แต่ยังเป็นผลของความพยายามของประชาคมสาธารณสุขระหว่างประเทศที่จะรักษาไว้ซึ่งสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์ในประชาคมโลก หลัก Health for All จึงเป็นหลักกฎหมายวิธีปฏิบัติงานของหน่วยงานสาธารณสุขที่ชัดเจน และปรากฏตัวอย่างชัดเจนในกฎหมายระหว่างประเทศลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ โดยข้อ ๒๕ แห่ง ปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑[1] และได้รับการยืนยันในสถานะสนธิสัญญาโดยข้อ ๑๒ แห่ง กติการะหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural or ICESCR) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙[2] และเพิ่งได้รับการยืนยันอีกครั้งโดยประชาคมอาเซียนโดยข้อ ๒๙ แห่ง ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Declaration on Human Rights) ค.ศ.๒๐๑๒/พ.ศ.๒๕๕๕[3] จึงต้องสรุปว่า การปฏิเสธหลัก Health for All โดยโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งจึงหมายถึงการละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดหลักแพทยธรรมเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้โรงพยาบาลไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลชายแดนที่เป็นที่อาศัยอยู่ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยากไร้จำนวนมากจะได้ทำหน้าที่รักษาหลัก Health for All อย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและอย่างสมบูรณ์ตามหลักแพทยธรรม การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสมแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติก็จะเป็นกลไกประสิทธิภาพสำหรับโรงพยาบาลดังกล่าว


โดยสรุป ข้อเสนอประการแรกต่อกระทรวงสาธารณสุข ก็คือ กระทรวงนี้ควรจะยืนยันจุดยืนทางความคิดตามหลัก Health for All และหลัก Free for Stateless People เป็นหนังสือสั่งการสำหรับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินการประสานงานกับส่วนราชการอื่นที่ต้องร่วมจัดการสิทธิในหลักประกันสุขภาพของมนุษย์ในสังคมไทย โดยเฉพาะ สปสช. และกระทรวงมหาดไทย ถึงจุดยืนทางความคิดดังกล่าว


[1] ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและครอบครัว, รวมทั้งอาหาร, เสื้อผ้า, ที่อยู่อาศัย, การรักษาพยาบาลและบริการสังคมที่จำเป็น, และสิทธิในความมั่นคงในกรณีว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เป็นหม้าย วัยชรา หรือการขาดปัจจัยในการเลี้ยงชีพอื่นใดในพฤติการณ์อันเกิดจากที่ตนจะควบคุมได้"
[2] ซึ่งบัญญัติว่า
"(๑.) รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้
(๒.) ขั้นตอนในการดำเนินการโดยรัฐภาคีแห่งกติกานี้ เพื่อบรรลุผลในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์จะต้องรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อ
(ก) การหาหนทางลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอดและของเด็กแรกเกิดและการพัฒนาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก
(ข) การปรับปรุงในทุกด้านของสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม
(ค) การป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น โรคจากการประกอบอาชีพและโรคอื่น ๆ
(ง) การสร้างสภาวะที่ประกันบริการทางแพทย์ และการให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ทุกคนในกรณีเจ็บป่วย"
[3] ซึ่งบัญญัติว่า
"(๑) ทุกคนมีสิทธิตามมาตรฐานที่สูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ในสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ และสุขภาวะการเจริญพันธุ์ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานที่สามารถหาได้ และการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์
) รัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องดำเนินมาตรการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการเอาชนะ การตราหน้าการเพิกเฉย การปฏิเสธ และการเลือกประติบัติในการป้องกัน การรักษา ดูแล และสนับสนุนบุคคลที่ทุกข์ทรมานจากโรคติดต่อต่างๆ รวมถึงเอชไอวี/เอดส์"

หมายเลขบันทึก: 583896เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2015 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2015 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท