Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เรื่องมหัศจรรย์ของสิทธิในหลักประกันสุขภาพเพื่อเด็กเยาวชน/ผู้สูงอายุ/คนพิการ - ข้อเสนอต่อคุณหมอสมศักดิ์เพื่อคนด้อยโอกาสตามธรรมชาติที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ


ประเด็นทางความคิดเรื่องการเสนอขอมติคณะรัฐมนตรี "ใหม่" เพื่อดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่มนุษย์ที่ในภาวะความด้อยโอกาสตามธรรมชาติ กล่าวคือ (๑) เด็กและเยาวชน (๒) ผู้สูงอายุ และ (๓) คนพิการ ซึ่งนโยบายใหม่นี้อาจจะเป็นการจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ หรือโดย สปสช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ก็เป็นได้

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๘

ในช่วงของการทำงานภายใต้ "โครงการวิจัยเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส"[1] และการลงพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ผลการวิจัยในพื้นที่จริง[2] คณะนักวิจัยได้พบว่า หลายฝ่ายในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เสนอให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพแบบให้เปล่าแก่มนุษย์ที่ในภาวะความด้อยโอกาสตามธรรมชาติ กล่าวคือ (๑) เด็กและเยาวชน (๒) ผู้สูงอายุ และ (๓) คนพิการ ทั้งนี้ โดยมีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญ ๒ ประการ กล่าวคือ

ในประการแรก เมื่อประเทศไทยเป็นภาคีในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีดูแลสิทธิมนุษยชนทางสาธารณสุขของ (๑) เด็กและเยาวชน (๒) ผู้สูงอายุ และ (๓) คนพิการ ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อพันธกรณีดังกล่าว การมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อการดังกล่าว ย่อมจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขไทย ตลอดจนเครือข่ายการทำงานของกระทรวงนี้สามารถดูแลมนุษย์ที่ในภาวะความด้อยโอกาสตามธรรมชาติทั้ง ๓ ลักษณะนี้ได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

ในประการที่สอง เมื่อกระทรวงสาธารณสุขไทยมีแนวทางการทำงานบริการสาธารณสุขบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรมและหลักแพทยธรรมมายาวนาน และเมื่อสถานการณ์ของช่องว่างแห่งสิทธิในหลักประกันสุขภาพไทยทำให้มนุษย์ที่ในภาวะความด้อยโอกาสตามธรรมชาติทั้ง ๓ ลักษณะ ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่อาจได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างที่ควรจะเป็น หรือเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขตามมาตรฐานสากลที่กำหนดตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย แม้เด็กเยาวชนหรือคนชราหรือคนพิการซึ่งมีสิทธิในสัญชาติไทย ย่อมมีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดูแลโดย สปสช. แต่ด้วยองค์กรดังกล่าวกำหนดให้คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยที่ใช้สิทธิในหลักประกันสุขแห่งชาติได้ ก็ต่อเมื่อมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย จึงมีคนด้อยโอกาสดังกล่าวที่มีสิทธิในสัญชาติไทย ตกเป็น "คนต่างด้าวเทียม" และเข้าไม่ถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย ดังนั้น การมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อดูแลเด็กเยาวชนหรือคนชราหรือคนพิการ โดยไม่คำนึงว่า มนุษย์ดังกล่าวจะมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ จะมีชื่อในทะเบียนราษฎรหรือไม่ จะเข้าเมืองถูกหรือไม่ ก็จะทำให้เหล่าคนด้อยโอกาสด้วยสภาวะทางธรรมชาติทั้ง ๓ ลักษณะนี้ได้รับการดูแลให้มีสุขภาพดีอย่างไม่บกพร่อง ข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิ ก็คือ ความด้อยโอกาสตามสภาพธรรมชาติของมนุษย์ดังกล่าวนั่นเอง ด้วยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว หลักมนุษยธรรมและหลักแพทยธรรมที่ดำรงอยู่ในคนทำงานสาธารณสุขไทยจะดำเนินต่อไปได้อย่างที่เป็นมา และตามอุดมคติที่งดงามของนักวิชาชีพด้านการสาธารณสุขการการแพทย์

โดยสรุป ข้อเสนอประการที่ห้าต่อกระทรวงสาธารณสุข ก็คือ การสร้างนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่รอบด้านและยั่งยืนเพื่อรับรองสิทธิในหลักประกันสุขภาพของมนุษย์ที่ในภาวะความด้อยโอกาสตามธรรมชาติ กล่าวคือ (๑) เด็กและเยาวชน (๒) ผู้สูงอายุ และ (๓) คนพิการ และเสนอนโยบายหรือยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ อันจะทำให้นโยบายหรือยุทธศาสตร์ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนโยบายใหม่นี้อาจจะเป็นการจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ หรือโดย สปสช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ก็เป็นได้


[1] หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย – พม่า (มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ – กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗)"

[2] ซึ่งเป็นงานภายใต้โครงการ หรือที่เรียกเป็นทางการว่า "โครงการการลงพื้นที่เพื่อทำรายงานสถานการณ์ด้านการจัดการสุขภาวะของคนชายแดนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามกฎหมายในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือภายใต้โครงการ หรือที่เรียกเป็นทางการว่า "โครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อต่อยอดการสำรวจสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนชายแดน ณ จังหวัดตาก"เริ่มตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และยังไม่เปิดโครงการ

หมายเลขบันทึก: 583891เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2015 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2015 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท