เกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาวะบ้านนางิ้ว ต้นแบบบูรณาการขจัดปัญหาชุมชน


การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากชุมชนแจกแจงปัญหา แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปร่วมมือกับชุมชน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ต้องเข้าไปสื่อสารกับชุมชนให้เข้าใจตรงกันว่า ถ้าจะอยู่ร่วมกัน ควรจะอยู่กันอย่างไร ต้องอาศัยพึ่งพากันแบบไหนเพื่อให้อยู่รอด ไม่ใช่อยู่แบบไม่สนใจใคร ไม่ดูแลสังคมหรือชุมชน ถ้าเป็นอย่างนั้น อนาคตก็คงจะลำบาก..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/new

เมื่อมีความเจริญทางด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้วิถีชีวิต การกินการอยู่ของคนเปลียนไปจากเดิม ผลที่ตามมาคือ มีโรคภัยแบบใหม่ๆ บางโรครักษาได้ บางโรครักษาไม่ได้ ขณะเดียวกันโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ และโรคร้ายอย่างมะเร็ง ก็ยังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ซึ่งแพทย์เชื่อว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ มาจากกระบวนการผลิตอาหาร ที่มีการใช้สารเคมี ไม่ว่าผู้ผลิตจะทราบ หรือ ไม่ทราบ แต่ผู้บริโภคเป็นผู้รับเคราะห์ ด้วยการเป็นโรคต่าง ๆ ไปโดยปริยาย

"เกษตรอินทรีย์" เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ ที่หลายหน่วยงานพยายามส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพ และพื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อย่างที่บ้านนางิ้ว ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ได้เริ่มต้นลงมือทำแล้ว

บ้านนางิ้วเป็นชุมชนติดกับภูเขาเม็ง ต้นน้ำของลำห้วยหลายสายในอำเภอหนองเรือ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง และทำนา แต่เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว จึงพึ่งพาสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช เพราะต้องการให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่มาก อย่างการทำนา ชาวนาจะใช้สารเคมีปริมาณมาก เริ่มจากฉีดยาฆ่าหญ้าตามคันนา ฉีดยาคุมหญ้าในแปลงนาข้าวเมื่อข้าวงอกก็ยังต้องฉีดยาฆ่าหญ้าอีกครั้ง ทำให้เกิดการสะสมสารเคมีตกค้างในดินตลอดทั้งฤดูกาลทำนา
ผลที่ตามมาคือ ชาวบ้านมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปี เพราะเมื่อใช้สารเคมีเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ส่งผลให้แมลงเริ่มดื้อยา เมื่อต้องการกำจัดก็ต้องเพิ่มสารเคมีมากขึ้น ที่ร้ายกว่านั้น คือส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และระบบห่วงโซ่อาหาร อย่าง ปู ปลา กุ้ง หอย กบเขียด ก็มีปริมาณลดลง ที่มีชีวิตรอดก็อาจได้รับสารเคมี เมื่อคนจับมากินก็จะเกิดอาการท้องล่วง หรือได้รับสารเคมีทางอ้อมผ่านการกินอาหาร พืช ผัก ผลไม้

นอกจากนี้สารเคมียังตกค้างในดิน เมื่อฝนตกก็จะซะล้างหน้าดินพัดพาเอาสารเคมีที่ใช้ฆ่าหญ้าก็ไหลลงมาสู่พื้นที่ลุ่มทำให้นาข้าวของชาวบ้านตาย คนที่ปลูกข้าวปลอดสารเคมีหรือเกษตรอินทรีย์ ก็ได้รับสารเคมีจากไร่อ้อยที่อยู่บนที่ดอนกว่า เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในชุมชน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม สุขภาพย่ำแย่ ความสุขของคนในหมู่บ้านหายไป

บุญถนอม คงอุ่น นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ยางคำ เห็นปัญหา จึงชักชวนชาวบ้านทำอะไรซักอย่างเพื่อลดการใช้สารเคมีลง โดยเริ่มต้นขอรับทุนสนับสนุนจากแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาวะในชุมชนบ้านนางิ้ว หมู่ 5 โดยหวังว่าจะฟื้นคืนสุขภาวะที่ดีให้กับชาวบ้านนางิ้วอีกครั้ง

"ที่ผ่านมาหมู่บ้านของเรามีโครงการส่งเสริมเกษตรพอเพียงของท้องถิ่น ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกอยู่ปลูกกิน ทำไร่นาสวนผสม โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะขาดความต่อต่อเนื่อง จึงล้มเลิกไป สำหรับโครงการนี้ เราเห็นว่าสิ่งแวดล้อมของชุมชนเรากำลังแย่ อยากเห็นสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น แล้วชุมชนมีความพร้อมเนื่องจากมีเครือข่ายที่ช่วยเหลือ จึงเสนอขอทุนไปยัง สสส." บุญถนอม กล่าว

กิจกรรมแรกที่ทำ เริ่มจากประชุมประชาคมหมู่บ้าน ทั้งผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการทำงาน เพื่อให้ชาวบ้านมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และได้รับทราบว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมี, สุขภาพของชาวบ้าน และสภาพแวดล้อมโดยรวม

จากนั้นชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการกลุ่มแรก ได้ไปเรียนรู้ดูงานจากพื้นที่ใกล้เคียง ได้เห็นพื้นที่ที่ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ แล้วได้ผลผลิตดี จึงเกิดแรงบันดาลใจยอมเปลี่ยนแนวคิด และทดลองใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในชุมชน อย่าง ขี้ไก่ ปรากฏว่า ค่าใช้จ่ายลดลง สร้างความพอใจให้กับชาวบ้านที่ร่วมโครงการอย่างมาก

"ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือชาวบ้านเริมตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาลูกโซ่ที่เกิดจากการใช้สารเคมี จึงเริ่มหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งทำเองและซื้อตามท้องตลาด ราคากระสอบละ 350 บาท แทนที่จะซื้อปุ๋ยเคมีราคา 900 บาท ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนของปุ๋ยเคมีลดลง จาก 12,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน เหลือเพียง 5,000 บาทต่อปีเท่านั้น" บุญถนอม บอก

นอกจากนี้ ยังขยายเครือข่ายการทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ครอบคลุมทั้งระบบ โดยมีเกษตรอำเภอมาช่วยแนะนำเรื่องการปลูกพืชและการทำเกษตรอินทรีย์ , กรมพัฒนาที่ดินมาช่วยไถกลบตอฟาง พร้อมให้ปอเทืองแนะวิธีปลูกในนาเพื่อเป็นปุ๋ยสดในนาข้าว ,โรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นก็ส่งนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักจากกากน้ำตาล และกากอ้อย มาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ส่วนที่โรงเรียนบ้านนางิ้ว ครูก็ให้เด็กทำแปลงปลูกผักปลอดสารเพื่อให้เด็กบริโภคเป็นอาหารปลอดภัยในโรงเรียนโดยใช้น้ำหมักที่กลุ่มผลิตเอง

องค์กรท้องถิ่น อย่าง อบต.ก็ให้ความร่วมมือ โดยเชิญอาจารย์จากคณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาให้คำแนะนำเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยว พร้อมกับให้งบประมาณมาส่วนหนึ่ง เพื่อไปศึกษาดูงานด้วย และเตรียมนำรูปแบบโครงการนี้เข้าสู่แผนงานประจำปีของ อบต.ยางคำ ด้วย

ประยูร อองกุลนะ กรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ เพราะมียุทธศาสตร์ในการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริง เพราะการขับเคลื่อนแบบนี้ ถ้าลำพังชาวบ้านทำกันเอง ก็คงลำบาก เนื่องจากขาดทักษะและการประสานงาน ที่ผ่านมาเป็นองค์กรของรัฐเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน แต่จากนี้ไปการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากชุมชนแจกแจงปัญหา แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปร่วมมือกับชุมชน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ต้องเข้าไปสื่อสารกับชุมชนให้เข้าใจตรงกันว่า ถ้าจะอยู่ร่วมกัน ควรจะอยู่กันอย่างไร ต้องอาศัยพึ่งพากันแบบไหนเพื่อให้อยู่รอด ไม่ใช่อยู่แบบไม่สนใจใคร ไม่ดูแลสังคมหรือชุมชน ถ้าเป็นอย่างนั้น อนาคตก็คงจะลำบาก

สังคมหรือชุมชนยุคใหม่ จึงต้องเป็นชุมชนที่สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกๆ ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ แก้ไข และพัฒนา ไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 583671เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2015 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2015 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท