ตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย


ตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย

อาจารย์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือ การสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การปฏิบัติตามภารกิจหลัก 4 อย่างนี้ ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนทักษะ และสร้างสมประสบการณ์ ส่งผลให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญทางวิชาการในสาขาของตนเพิ่มขึ้น โดยภายในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา มีระบบการกำหนดตำแหน่งวิชาการ (academic position) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเครื่องบ่งชี้ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญทางวิชาการของอาจารย์ ตามลำดับ ซึ่งมีอยู่ 4 ระดับ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ) รองศาสตราจารย์ (รศ) ศาสตราจารย์ (ศ) และศาสตราจารย์ ระดับ 11 (ศ. 11)

ตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นเครื่องแสดงว่าผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่งตามลำดับขั้นแล้ว ยังแสดงถึงการได้รับการยอมรับในสังคมของอาจารย์มหาวิทยาลัยและวงการวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ การมีคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ การได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติ และการได้รับสิทธิประโยชน์และผลตอบแทนต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้แก่ การเพิ่มขั้นเงินเดือน การได้รับเงินประจำตำแหน่ง การได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางด้านการบริหาร และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในทางสังคม

หากพิจารณาในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคลากร (human resource development) ตำแหน่งวิชาการ สามารถจะใช้ในการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้และทักษะ สร้างสมประสบการณ์ และสร้างผลงาน ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีคุณภาพ สมรรถนะ และประสิทธิภาพ ในการสร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาการวิจัย พัฒนาการบริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม 'ผลงานของอาจารย์คือผลงานของมหาวิทยาลัยนั่นเอง' ดังนั้นการใช้ตำแหน่งวิชาการเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัย จะทำให้มหาวิทยาลัยมีผลงานและความเข้มแข็งทางวิชาการ สามารถจะทำหน้าที่และมีบทบาทตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ตามที่กำหนดไว้ทุกๆ ด้าน หากมหาวิทยาลัยและผู้บริหารของมหาวิทยาลัยนำตำแหน่งวิชาการมาใช้ในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ตำแหน่งวิชาการจะมีประโยชน์และเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาอาจารย์และพัฒนามหาวิทยาลัยให้เข้มแข็งและสามารถจะปฏิบัติหน้าที่และมีบทบาทต่อสังคมและประเทศได้เป็นอย่างดี

ตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งอันทรงคุณวุฒิและทรงเกียรติภูมิ ที่ประชาคมของอาจารย์มหาวิทยาลัยและวงการวิชาการ ตลอดจนสังคมทั่วไปภายนอก พึงเชื่อถือได้อย่างสนิทใจว่ามีการได้มาและการครองตำแหน่งทางวิชาการ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้องและชอบธรรม มีคุณภาพและมาตรฐาน และประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ

วงการมหาวิทยาลัยและระบบอุดมศึกษาของไทย ควรรักษาคุณค่าและความน่าเชื่อถือของตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยไว้ให้ยั่งยืน และไม่ควรทำให้คุณค่าและความน่าเชื่อถือของตำแหน่งทางวิชาการลดน้อยถอยลง หรือเฟ้อเฝือ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ ซึ่งโดยหลักการแล้วควรมอบให้เพื่อแสดงการยกย่องและเชิดชูเกียรติแก่บุคคลผู้ที่ทำคุณประโยชน์อันเด่นชัดและกว้างขวาง ตามภารกิจด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านของมหาวิทยาลัย มีผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติอย่างชัดเจนและมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์แจ้งยอมรับของสังคมโดยทั่วไป แต่ในปัจจุบันการให้ปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง กลายเป็นการมอบให้อย่างด้อยคุณภาพและขาดความน่าเชื่อถือ เพราะกลายเป็นการมอบให้โดยไม่ถูกต้องตามหลักการข้างต้น เช่น การมอบให้เพื่อตอบแทนผลประโยชน์ เสมือนการซื้อได้ด้วยเงิน (เช่น เมื่อมีการบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก) การมอบให้เพื่อเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจและการหวังผลทางการเมือง หรือการมอบให้เพื่อเป็นการเอาหน้าหรือสร้างภาพ ซึ่งอาจจะกลับกลายเป็นการทำลายภาพพจน์อันดีงามและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยเอง

ในความเป็นจริงของวงการมหาวิทยาลัยและระบบอุดมศึกษาของไทยในปัจจุบัน การได้มาซึ่งตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ยังมีปัญหาจากวิธีการและประเพณีปฏิบัติที่มิได้เป็นไปอย่างถูกต้องและดีงาม ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และอาจจะกลายเป็นการทำลายคุณค่าและความน่าเชื่อถือในตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยให้น้อยลงได้ หากมิได้รับการแก้ไข ดังจะขอยกตัวอย่างในบางประเด็นที่สำคัญมากล่าวไว้ ณ ที่นี้

1. ระเบียบกฎเกณฑ์ในการขอตำแหน่งวิชาการแบบราชการ มุ่งเน้นในเรื่องตำแหน่งมากกว่าสาระในเรื่องการพัฒนาบุคลากร มีรายละเอียดที่ยิบย่อย แข็งกระด้าง ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดความล่าช้าและเสียเวลา แม้ว่าจะมีระเบียบกฎเกณฑ์กลางของราชการคือของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ) จะมีรายละเอียดอยู่อย่างมากและใช้ได้ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว (แม้จะยังคงมีบางเรื่องที่ควรปรับปรุงแก้ไข ดังจะกล่าวในข้อต่อไป) แต่บางมหาวิทยาลัยกลับไปออกระเบียบกฎเกณฑ์ให้ละเอียดยุ่งยากและซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งมีหลักการและวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่กลับไปเพิ่มระเบียบกฎเกณฑ์ให้ยุ่งยากซับซ้อน เกิดความล่าช้า น่าเบื่อหน่าย กลายเป็นระบบราชการที่มากยิ่งขึ้นกว่าระบบราชการเสียอีก ด้วยแล้ว เป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่สามารถจะเข้าใจได้ ระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งยุ่งยากและยิบย่อยโดยมิได้เป็นแก่นสารและประโยชน์นี้ เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้อาจารย์บางท่านโดยเฉพาะอาจารย์ที่ตั้งใจทำงานและอาจจะมีผลงานทางวิชาการที่ดีและมีคุณภาพ เกิดความท้อแท้และเบื่อหน่าย ไม่ต้องการจะเสียเวลาและเสียอารมณ์มาปฏิบัติตามและจะต้องต่อสู้กับระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านี้ จึงไม่สนใจที่จะขอตำแหน่งวิชาการ ในทางตรงกันข้ามอาจารย์บางท่านที่เชี่ยวชาญและชอบเล่นกับระเบียบกฎเกณฑ์ แต่ไม่ค่อยจะมีผลงานหรือมีผลงานที่ด้อยคุณภาพ กลับสามารถจะหาวิธีการและช่องทางเพื่อขอตำแหน่งวิชาการและไต่เต้าเอาดีไปตามลำดับได้โดยไม่ยาก มหาวิทยาลัยควรจะปรับระเบียบกฎเกณฑ์ของราชการมาสู่การปฏิบัติที่เรียบง่ายโดยมุ่งเน้นที่เจตนารมณ์และเนื้อหาสาระในการพัฒนาอาจารย์ มากกว่าการมุ่งเน้นในเรื่องตำแหน่ง ระเบียบกฎเกณฑ์ รายละเอียดที่ยิบย่อยและขั้นตอนที่ยืดยาวและล่าช้า เพื่อการใช้ประโยชน์จากการกำหนดตำแหน่งวิชาการ นำมาเป็นการกระตุ้นให้อาจารย์พัฒนาตนเองและสร้างผลงาน ซึ่งจะกลายเป็นการพัฒนาและสร้างผลงานให้แก่มหาวิทยาลัยนั่นเอง

2. ระเบียบกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ) บางเรื่องยังมีปัญหาในการตีความ ซึ่งนำไปสู่วิธีการปฏิบัติที่ผิด เช่น แม้ว่าโดยหลักการ การกำหนดให้อาจารย์ผู้ขอตำแหน่งวิชาการเป็นเจ้าของผลงานวิชาการหรือผู้ดำเนินการหลัก จะถูกต้อง (ซึ่งสามารถจะให้อาจารย์แสดงหลักฐานได้หลายวิธี) แต่ในระเบียบกฎเกณฑ์นี้กลับมีการกำหนดในรายละเอียด ซึ่งนำไปสู่การตีความและวิธีการปฏิบัติที่ผิด คือ การกำหนดให้อาจารย์ผู้ขอตำแหน่งวิชาการต้องมีส่วนร่วมในผลงานวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ทำให้อาจารย์ผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการพยายามแบ่งผลงานวิชาการของตนให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 แม้จะเป็นการแบ่งที่ไม่ถูกต้องและตรงตามความจริง จึงมีการโกหกหลอกลวงหรือมีการกระทำอันเป็นเท็จ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีการแบ่งโดยการตกลงแบบรู้เห็นเป็นใจกัน (หรือการฮั้วกัน) มีการร้องขอสัดส่วนผลงานกันโดยผู้ถูกร้องขออาจจะมิได้อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ หรือมีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกัน วิธีการเหล่านี้มิได้ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของระเบียบกฎเกณฑ์ข้างต้น ในอีกด้านหนึ่ง เมื่ออาจารย์แต่ละคนต้องการสัดส่วนผลงานวิชาการมากเหมือนๆ กัน ก็จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง การแตกความสามัคคี และการไม่ร่วมกันทำงาน นอกจากนี้ การแบ่งสัดส่วนผลงานวิชาการในลักษณะนี้ ยังเป็นวิธีที่ไม่ใช้กันในวงการวิชาการระดับสากล หากนักวิชาการไทยยังคงใช้วิธีการนี้ จะทำให้ถูกมองจากนักวิชาการชาติอื่นๆ ว่าขาดความคิดและสติปัญญา ยังใช้วิธีการที่ล้าสมัยและไม่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและการยอมรับต่อนักวิชาการไทยด้วย รายละเอียดของระเบียบกฎเกณฑ์ในข้อนี้จึงควรจะได้ดำเนินการแก้ไขให้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องโดยเร็ว

3. ในปัจจุบันได้มีการกล่าวถึงการแยกสายหรือการให้น้ำหนักในการขอกำหนดตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยมากขึ้น คือ การแยกสายหรือการให้น้ำหนักกับตำแหน่งวิชาการในสายการสอน สายการวิจัย และสายการบริการหรือรับใช้สังคม ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านสามารถจะเลือกแยกสายหรือการให้น้ำหนักได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเหมือนหรือเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน การพัฒนาอาจารย์ และการสร้างสรรค์ผลงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยมากขึ้น การแยกสายหรือการให้น้ำหนักเช่นนี้เป็นเรื่องที่ดีและในระเบียบกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็เปิดโอกาสให้ดำเนินการได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่อาจารย์ผู้ขอตำแหน่งวิชาการจะต้องมีการแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์และเป็นรูปธรรมในปริมาณและคุณภาพของผลงาน ว่าเป็นผู้กระทำและสร้างสรรค์ผลงานจริง แต่ถ้าจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็อาจจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่ สิ่งสำคัญคือการไม่ปล่อยให้การกำหนดตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ในบางสายหรือการให้น้ำหนักที่แตกต่างกันนั้น กลายเป็นการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องหรือชอบธรรม หรือเป็นการได้มาซึ่งตำแหน่งวิชาการอย่างง่ายๆ ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน อันจะนำไปสู่การลดคุณค่าและความน่าเชื่อถือของตำแหน่งวิชาการลง

4. การได้รับตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ นอกจากจะเกิดผลประโยชน์ต่อตัวอาจารย์เองแล้ว ในปัจจุบัน ยังเป็นดัชนีชี้วัด (key performance indicator หรือ KPI) อย่างหนึ่งในการประเมินคุณภาพและผลงานของมหาวิทยาลัยไทย มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงต้องการให้อาจารย์ของตนได้รับตำแหน่งวิชาการจำนวนมาก ในปัจจุบันกระบวนการพิจารณาตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ในเกือบทุกขั้นตอน จะอยู่ภายในมหาวิทยาลัยและสิ้นสุดที่สภามหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งที่ต้องการให้อาจารย์ของตนได้รับตำแหน่งวิชาการจำนวนมาก จึงมิได้ทำการประเมินหรือตรวจสอบปริมาณและคุณภาพผลงานวิชาการของอาจารย์ผู้ขอตำแหน่งวิชาการอย่างเข้มข้นและได้มาตรฐานอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ แม้ว่าตามระเบียบกฎเกณฑ์ของ กพอ. จะกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ซึ่งอ่านพิจารณาผลงานวิชาการของอาจารย์ผู้ขอตำแหน่งวิชาการ มาจากต่างมหาวิทยาลัยและมีคุณวุฒิและประสบการณ์ความรู้ที่สูงกว่า โดยมีเจตนารมณ์เพื่อประกันคุณภาพตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยบางแห่งกลับให้อาจารย์ผู้เกษียณอายุราชการจากมหาวิทยาลัยของตน (โดยอ้างว่าเป็นผู้เกษียณอายุราชการไปแล้ว จึงไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน) หรือให้อาจารย์ผู้อยู่ต่างมหาวิทยาลัยแต่มีความสนิทสนมคุ้นเคย หรือให้อาจารย์ผู้ที่ไม่ได้ทำหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบผลงานวิชาการอย่างเข้มข้น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่ออ่านพิจารณาผลงานวิชาการของอาจารย์ เพื่อหวังผลให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยตนได้รับตำแหน่งทางวิชาการเพิ่มขึ้นและโดยง่าย การกระทำเหล่านี้ จะส่งผลให้คุณภาพและความน่าเชื่อถือของตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยลดลง จะส่งผลเสียต่อมหาวิทยาลัยของตนในระยะยาว ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง จึงควรจะทำความเข้าในเจตนารมณ์และสาระสำคัญของการกำหนดตำแหน่งวิชาดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น มากกว่าการเห็นประโยชน์ระยะสั้น และควรดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้

5. การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่ออ่านพิจารณาผลงานวิชาการของอาจารย์ผู้ขอตำแหน่งวิชาการ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยหรือสภาวิชาการของมหาวิทยาลัย หากมีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิโดยคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักการสากลของระบบการอ่านพิจารณาผลงานวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญ (peer-review system) ในสาขาวิชานั้นๆ ซึ่งปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) (เช่น การเป็นเพื่อนร่วมงานในสถาบันเดียวกัน การเป็นเพื่อนหรือเป็นผู้ร่วมงานกันแม้จะอยู่ต่างมหาวิทยาลัย การรู้จักและสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัว การเคยเป็นศิษย์และอาจารย์กันมาก่อน การเคยหรือมีผลประโยชน์ทางหนึ่งทางใดร่วมกัน ฯลฯ) หรือในทางตรงกันข้ามคือปราศจากความขัดแย้งโดยตรง (direct conflict) ระหว่างผู้ขอตำแหน่งวิชาการกับผู้ทรงคุณวุฒิ ย่อมจะทำให้เกิดความเที่ยงธรรมและการรักษาคุณภาพและมาตรฐานในการอ่านพิจารณาผลงานวิชาการของอาจารย์ผู้ขอตำแหน่งวิชาการ ปัญหาที่มีอยู่บ้าง คือ ในบางสาขาวิชาอาจจะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการอ่านพิจารณาผลงานวิชาการ ทำให้อาจจะต้องมีการแต่งตั้งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ใกล้เคียงแทน ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ซึ่งอ่านพิจารณาผลงานวิชาการ เป็นผู้ที่มีบทบาทและความสำคัญมากที่สุด ในกระบวนการพิจารณาเพื่อกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ รักษาคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการ คุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นการรักษาคุณค่าและความน่าเชื่อถือของตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยไว้

6. การพิจารณาเพื่อกำหนดตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ เป็นการพิจารณาผลงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของผลการสอน ผลงานวิชาการและการวิจัย ผลงานการบริการวิชาการ และผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามเกณฑ์ของตำแหน่งวิชาการในแต่ละลำดับขั้น (คือ ผศ. รศ. ศ. และ ศ. 11) ซึ่งพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based consideration) ที่อาจารย์จะต้องนำมาแสดงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็น ในการขอตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ จะต้องมีการดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา และประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ หากระบบการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ เป็นไปอย่างถูกต้อง ชอบธรรม มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่ควรจะเป็นแล้ว โดยเฉพาะในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิผู้ซึ่งอ่านพิจารณาผลงานวิชาการของอาจารย์ เมื่อผลการพิจารณาออกมาอย่างไร ผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการก็ควรยอมรับ แต่หากมิได้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ก็ยังคงมีโอกาสในการสร้างผลงานในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพให้เพียงพอตามเกณฑ์ และสามารถจะขอตำแหน่งวิชาการซ้ำอีกได้ หรือหากเห็นว่าการพิจารณาอาจจะมีเหตุผิดพลาดในขั้นตอนดำเนินการหรือเรื่องอื่นๆ ก็สามารถจะอุทธรณ์ร้องทุกข์เพื่อให้มีการพิจารณาใหม่ได้ ในแง่นี้ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงมีความยืดหยุ่นและการให้โอกาสพอสมควร โดยทั่วไปเมื่ออาจารย์ที่มีผลงานตามภารกิจ คือ การสอน การวิจัย การบริการวิชาการหรือผลงานอื่นๆ ที่มีปริมาณและคุณภาพมากตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ก็น่าจะได้รับการกำหนดตำแหน่งวิชาการตามที่ขอนั้น แต่ในปัจจุบันยังคงมีปัญหาการดำเนินการที่ไม่สุจริตและถูกต้องตามจรรยาบรรณทางวิชาการ หรือแม้แต่ถูกลงโทษทางวินัยของอาจารย์ด้วยเหตุทุจริตในการขอตำแหน่งทางวิชาการอยู่บ่อยๆ (เช่น การนำผลงานคนอื่นมาเป็นของตน การคัดลอกผลงานคนอื่น การแบ่งสัดส่วนผลงานอย่างไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและสมเหตุผล ฯลฯ) อาจารย์ผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการจึงจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา หรือผิดต่อคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ซึ่งเป็นการรักษาคุณค่าและความน่าเชื่อถือของตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยไว้โดยตรง

โดยสรุป ตำแหน่งวิชาการเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ การมีวิชาความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ในสาขาวิชาที่อาจารย์มีความเชี่ยวชาญและได้รับตำแหน่งวิชาการนั้น ตำแหน่งวิชาการเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติภูมิ ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยควรจะได้มาจากการพัฒนาตน ด้วยความเพียรพยายามและการสร้างสรรค์ผลงานในด้านการสอน วิชาการและการวิจัย การบริการวิชาการและรับใช้สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อย่างถูกต้องและชอบธรรม มีคุณภาพและมาตรฐาน และประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม ต่อวงการวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และตลอดจนสังคมทั่วไปในวงกว้าง อาจารย์ ประชาคมของนักวิชาการ มหาวิทยาลัย และระบบอุดมศึกษาของไทยทั้งหมด มีบทบาทและหน้าที่ที่จะรักษาคุณค่าและความน่าเชื่อถือของตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยไว้ ปัจจุบันยังมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่งวิชาการ และยังมีปัญหาหลายอย่าง ในเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติ วิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการในการขอและการพิจารณากำหนดตำแหน่งวิชาการ ซึ่งควรจะได้รับแก้ไขปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้คุณค่าและความน่าเชื่อถือในการดำรงตำแหน่งวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยคงอยู่ตลอดไป

ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ Bangkokbiznews.com
การเมือง : ทัศนะวิจารณ์ วันที่ 4 ตุลาคม 2553

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics...

หมายเลขบันทึก: 583365เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2015 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2015 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับอาจารย์ ;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท