​ธารินทร์ เพ็ญวรรณ: กับดักของการดูแล


ในช่วงที่ผมดูแลเด็กชายคนหนึ่งชื่อ น้องนัท ซึ่งป่วยเป็นมะเร็ง น้องมีอาการหอบเหนื่อยและปวดตลอดเวลา ตลอดการดูแล ทางทีมต้องคุยกับพ่อแม่ถึงตัวโรค แผนการรักษาและการปรับยาที่ต้องปรับโดยละเอียด (fine tune) วันต่อวัน

ณ ตอนนั้น ผมได้ทำผิดพลาดไปอย่างหนึ่งนั่นคือ การคิดไปเอง (bias) ว่าแม่ของนัทจะรู้ถึงขั้นตอนการดูแลและรักษาต่างๆ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากคุณแม่ของนัทเป็นพยาบาลในชุมชน (community nurse) และเข้าร่วมฝึกหลักสูตรอบรมพื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมาแล้ว ผมจึงนึกไปเองว่า แม่ของนัทจะรู้ว่าแผนการรักษาขั้นต่อไปจะเป็นเช่นไร แม้กระทั่งในตอนที่ประชุมครอบครัว (family meeting) ก็มักจะใช้ศัพท์เฉพาะทางการแพทย์กับคุณแม่เนื่องจากความเคยชินเในเวลาที่คุยกับคนในวิชาชีพใกล้เคียงกัน เช่น

"คุณแม่ หลังจากนี้ไปผมจะปรับ MO1 เพิ่มอีกนะครับ ถ้าน้องเค้ายังเหนื่อยมากก็มี rescue dose2 ให้ ถ้ายัง dyspnoea3 ไม่หายก็มี Mida4 ให้เสริมอีกนะครับ"

ผมไม่ทันสังเกตถึงความผิดพลาดนี้ของตัวเองจนเวลาผ่านไปนานพอดู วันหนึ่งผมมีโอกาสได้คุยกับพี่เป็ด พี่พยาบาลที่ร่วมกันดูแลเคสนี้ เราคุยกันถึงตอนที่ทางทีมวางแผนจะให้น้องนัทกลับไปที่บ้าน

ตอนนั้นทางทีมจะจัดยาใส่ในอุปกรณ์ที่ชื่อ syringe driver ให้ (อุปกรณ์ตัวนี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถให้ยาเพื่อดูแลอาการกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้แม้จะอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยหลายรายจึงไม่มีความจำเป็นต้องมานอนที่โรงพยาบาลเนื่องจากสามารถให้ยาตัวเดียวกันได้ทั้งที่บ้านและรพ.)

พี่เป็ดเล่าให้ผมฟังว่า "แม่น้องเค้าน่าสงสารเนอะ ถึงจะเรียนมาทางนี้แต่พอต้องมาดูแลลูกตัวเองก็ทำไม่ได้ ตอนเตรียมยาเตรียมของ มือไม้งี้แข็งไปหมด หยิบจับอะไรไม่ถูกเลย พี่ต้องมาจับมือสอนใหม่ตั้งแต่แรก"

เมื่อได้ยินประโยคนั้น ผมจึงคิดได้ว่าผมลืมสิ่งที่สำคัญมากไปนั่นคือ ถึงแม้ว่าคุณแม่ของนัทจะทำงานเป็นพยาบาล เคยเรียนและดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ก็เป็นแม่ที่กำลังดูแลลูกที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายด้วยเช่นกัน

จากบทเรียนครั้งนี้ทำให้ผมมองว่า เวลาที่เราดูแลบุคลากรทางการแพทย์ที่กลายมาเป็นผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเสียเอง สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่นึกไปเองว่าเขาจะรับรู้และคิดอ่านเหมือนยามปกติ เพราะนอกจากจะเป็นแพทย์หรือพยาบาลแล้ว เขาก็เป็นคนไข้ เป็นแม่ของลูก สามีของภรรยาที่กำลังเจอกับบททดสอบในชีวิต ในฐานะทีมผู้ดูแลแล้ว เราจึงควรปฏิบัติกับเขาเหมือนกับผู้ป่วยหรือผู้ดูแลคนอื่นๆจึงจะเหมาะสมกว่า


1 ยาระงับปวด morphine

2 การให้ยาเสริมในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีอาการปวดหรือหอบเหนื่อยอยู่

3 อาการหอบเหนื่อย

4 ยานอนหลับ midazolam

หมายเลขบันทึก: 583240เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2014 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2014 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับ เป็นบทเรียนให้ผมด้วยเช่นกันครับ

ประทับใจคุณหมอแบงค์มากๆ ทุกเรื่องราวที่เล่า

บ่งบอกถึงการดูแลผู้ป่วยด้วยจิตวิญญาณของหมออย่างแท้จริง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท