ศักยภาพบางประการที่สำคัญ


เชื่อมั่นว่ามีศักยภาพเพียง 20% เท่านั้น หรือน้อยกว่า ที่คนเราแต่ละคนถูกดึงหรือถูกนำมาใช้ ที่เหลืออีก 80% ยังหลบอยู่ภายใน ไม่แสดงออกมา

     ผมกำลังทบทวนตัวเองในเรื่องศักยภาพ หรือ Cometency ด้วยเพราะอ่านเจอในหลาย ๆ คนเขียน ยิ่งทำให้สับสนว่าแท้ที่จริงศักยภาพที่ว่าเป็นศักยภาพจริง ๆ ไหม หรือเป็นความคาดหวังจากภายนอกว่าต้องมีหรือเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะอะไรถึงได้ตั้งประเด็นอย่างนี้ เพราะผมเชื่อว่าคนเราล้วนมีศักยภาพ แต่หากจะแตกต่างกันออกไปบ้าง ตามสภาพแห่งบุคคล และเชื่อมั่นว่ามีเพียง 20% เท่านั้น หรือน้อยกว่า ที่คนเราแต่ละคนถูกดึงหรือถูกนำมาใช้ ที่เหลืออีก 80% ยังหลบอยู่ภายใน ไม่แสดงออกมา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะถูกกดไว้

     สิ่งที่กดหรือคุมขังไว้ก็อยากจะยกคำของอาจารย์หมอประเวศ วะสี ที่ท่านบอกว่าเป็นคุก 5 อย่าง คือ1) คุกที่เป็นคุกขังจิตของตัวเอง เช่นความเห็นแก่ตัว ความคับแคบใจ โกรธ เกลียด หลง กลัว เป็นอาทิ 2) คุกที่เป็นค่านิยมทางสังคม โดยเน้นการมองศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนไม่เท่าเทียมกัน ตัวนี้เป็นตัวกดและขังศักยภาพที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง 3) คุกที่เป็นระบบหรือโครงสร้างทางสังคม คุกตัวนี้จะคอยเสริมคุกขังจิตของตัวเองให้เข้มขึ้น เช่นระบบที่มีการแบ่งชนชั้น ระบบที่ถือเอาคุณวุฒิเพียงอย่างเดียวเป็นพระเอง ไม่เคารพภูมิรู้นอกตำราของคน ซึ่งจะยิ่งทำให้จิตใจคนคับแคบมากเข้าไปอีก

     4) คุกที่เป็นความรู้ เพราะความรู้ในทุกวันนี้เป็นแบบแยกส่วนไม่เชื่อมโยงกัน จึงขาดพลัง เราก็ไปติดกับดักแบบรู้ลึก ๆ และชัด ๆ ในแต่ละส่วน พอจะเอามาเชื่อมถึงกันกลับไม่เนียนพอ จะนำไปบูรณาการหรือปรับใช้ก็เลยไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควรจะได้ และ 5) คุกที่เป็นความคิด ท่านอาจารย์หมอกล่าวถึงงานของท่านกฤษณะมูรติ ที่ว่า “การคิดของมนุษย์ยังเข้าไม่ถึงความจริง” จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง ความคิดที่แยกส่วนไม่เชื่อมโยงกันเช่นความรู้ ก็จะนำไปสู่ความสุดโต่ง ของเรื่องนั้น ๆ การคิดว่าเราดีเขาไม่ดี โดยใช้ไม้บรรทัดเราไปวัดประเมินเขา เช่นนี้เป็นตัวอย่าง

     หากเราหลุดจากคุกที่คุมขังนี้ได้ เชื่อว่าศักยภาพของคนที่หลบซ่อนอยู่คงได้วิ่งเล่นออกมาวาดลวดลาย นึงภาพไม่ออกเลยตอนนั้นว่าจะเกิดการพัฒนาไปได้อย่างอิสรเสรีเพียงใด และเกิดสันติสุขขึ้นได้ไหมในสังคม สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเป็นงานเร่งด่วนและจำเป็นเสมอ ๆ แต่ละปีเราลงทุนไปมากด้วย คือการพัฒนาบุคลากร น่าจะลดลงไปได้มากหากเปลี่ยนวิธีการคิดเป็นการมุ่งสร้างเสริม เอื้อหนุนให้คนนำศักยภาพที่ตนมีออกมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แทนการยัดเยียดให้รู้ด้วยการอบรม

     ผมร่ายมาเสียยาว อยากบอกอีกเรื่องหนึ่งคือผมได้พบว่าศักยภาพ หรือ Cometency ที่ตัวผมมีในฐานะ Mentor แม้จะไม่สมบูรณ์ซึ่งต้องเพิ่มทักษะอีกเยอะมาก แต่เชื่อตัวเองหลังได้นั่งทบทวนดี ๆ คือ 1) ความสามารถในการเข้าใจตนเองและผู้อื่น 2) ความสามารถในการเอื้อหนุนให้ทีมงานเกิดการพัฒนา เป็นการพัฒนาทีม 3) ความสามรถในการสื่อสารที่ทำเรื่องยาก ๆ ให้ง่ายลง ให้เข้าใจร่วมกัน การสื่อสารเพื่อสร้างฉันทามติ เป็นต้น เป็นการสื่อสารที่เรียกว่ามีประสิทธิภาพ ผมมองว่าศักยภาพ หรือ Cometency ทั้ง 3 ลักษณะนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่มีและต้องพยามทำให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 58298เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2006 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท