บันทึกการฝึกงานทางกิจกรรมบำบัดกับกิจกรรมบำบัดในประเทศมาเลเซีย


สวัสดีครับชาว g2k บันทึกนี้ก็เป็นอีกบันทึกนึงที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์การฝึกงานของผมแต่คราวนี้จะต่างออกไปบ้างเพราะคราวนี้เป็นการฝึกงานที่ประเทศมาเลเซีย


การฝึกงานที่มาเลเซียนั้นแตกต่างจากประเทศไทยค่อนข้างพอสมควร ทั้งภาษา วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ แต่ที่มากกว่านั้น การฝึกงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผมได้ฝึกงานในฝ่ายกิจกรรมบำบัดในผู้รับบริการทางจิตสังคม (Occupational Therapy in Mental Health) ซึ่งผมไปฝึกงานอยู่ที่โรงพยาบาล Permai เมือง Johor Bahru ประเทศมาเลเซียครับ


ผมขอข้ามเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในต่างแดนไปเป็นเรื่องของกรณีศึกษา(case study)เลยนะครับ ซึ่งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ถ้ามีโอกาส ผมจะมาเล่าให้ฟังในคราวหน้านะครับ


เคสของผม ขอให้นามสมมุติว่านายวอ ถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค Schizophrenia โดยมีภาวะ Auditory Hallucination(หูแว่ว) นายวอเป็นชายชาวมาเลย์ เชื้อสายอินเดีย(ประเทศมาเลเซียมีหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน) อายุประมาณ 60 ปี นับถือศาสนาฮินดู



แต่ก่อนที่จะไปส่วนอื่นผมขออธิบายระบบคร่าวๆของโรงพยาบาล Permai ก่อนนะครับ

ที่โรงพยาบาล Permai นั้นแผนกกิจกรรมบำบัดจะแยกเป็น 3 ส่วน

  • 1.Ward (วอร์ดนั้นจะมีหลายวอร์ด การให้บริการก็จะคล้ายๆกับในประเทศไทย ซึ่งวอร์ดแบ่งตามระดับความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง และจะมีวอร์ดพิเศษที่แยกออกไปอีกหนึ่งวอร์ด ก็คือ Forensic Psychiatry หรือนิติจิตเวช อธิบายสั้นๆคือผู้ป่วยทางจิตที่มีคดีต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้คือสถาบันกัลยาราชนครินทร์)
  • 2.Supportive Employment เป็นโปรแกรมเพื่อการหางานให้กับผู้ป่วย(งานจริงๆในสังคมภายนอก) เพื่อฝึกฝนทักษะและเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหาเลี้ยงตนเองและกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยตนเองอย่างปกติสุข
  • 3.Social Enterprise เป็นโปรแกรมที่เป็นกิจการต่างๆที่นักกิจกรรมบำบัดเป็นผู้ก่อตั้งและคอยดูแล โดยให้ผู้ป่วยที่พอจะมีความสามารถแต่ยังไม่พร้อมจะออกไปทำงานจริง ได้มีโอกาสฝึกฝนพัฒนาทักษะต่างๆเช่น ทักษะการทำงาน และทักษะการใช้ชีวิตในสังคม โดยกิจการก็จะเป็นกิจการเล็กๆเช่น ร้านเบเกอรี่ มินิมาร์ท โรงครัว เป็นต้น


โดยนายวอเป็นคนไข้ในของโรงพยาบาลและเข้าโปรแกรม Social Enterprise ของแผนกกิจกรรมบำบัดโดยทำงานเป็นคนทำความสะอาดในโรงครัว


การเจอกันครั้งแรกเป็นการบุกขึ้นไปหาบนที่พักของนายวอ(วอร์ดในโรงพยาบาล) โดยก่อนหน้านั้นนายวอไม่มาทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรณีศึกษาของผม(เหมือนรู้ตัว) ผมทนรอไม่ไหวจึงขออนุญาตนักกิจกรรมบำบัดที่ดูแลให้พาผมขึ้นไปหาที่วอร์ดเพื่อทำการประเมิน ภาพที่เจอกันครั้งแรก นายวอนอนอยู่บนเตียง สภาพหนวดเคราเฟิ้ม ที่ตัวและเสื้อผ้ามีกลิ่นเหมือนไม่ได้อาบน้ำมาเป็นเวลาหลายวัน ข้าวของในห้องรกรุงรังทั้งๆที่ของน้อย ทุกอย่างวางไม่เป็นระเบียบ หลังจากที่ผมได้ไปปลุกนายวอและทำการพูดคุยทักทาย ผมก็พานายวอมานั่งที่โต๊ะแล้วทำการประเมิน MOCA ซึ่งเป็นแบบประเมินมาตรฐานที่ใช้ประเมินในด้านความคิดความเข้าใจ(Cognitive) ผลการประเมินออกมาว่านายวอมีปัญหาคือความตื่นตัวต่ำ การรับรู้วันเวลาสถานที่บกพร่อง ความจำระยะสั้นบกพร่อง ช่วงของความสนใจสั้น ทักษะการแก้ปัญหาบกพร่อง หลังจากวันนั้นผมก็มีโอกาสที่จะได้สังเกตพฤติกรรมระหว่างทำงานของนายวอ ผมก็สามารถระบุปัญหาได้เพิ่มก็คือทักษะด้านสังคม โดยเฉพาะการแสดงออก การมีส่วนร่วมทางสังคมจะน้อยกว่าปกติ การจัดการเวลาให้เหมาะสม รวมไปถึงปัญหาด้านกิจกรรมการดำเนินชีวิต โดยนายวอมีปัญหาในด้าน self-care ก็คือการอาบน้ำ แต่งตัว ล้างหน้า แปรงฟัน โดยนายวอสามารถทำกิจกรรมดังกล่าวได้ด้วยตนเอง แต่ไม่ยอมทำ


หลังจากที่ผมวางแผนการรักษาเสร็จผมก็ได้เริ่มทำการจัดกิจกรรมการรักษาในวันถัดไป โดยผมนัดนายวอมาพบในช่วงบ่าย แต่เนื่องจากที่แผนกไม่ได้มีอุปกรณ์ให้ใช้ฝึกผมจึงไปยืมไพ่จำนวน 1 สำรับ จากนักกิจกรรมบำบัดคนนึงมาเพื่อใช้ฝึกทักษะด้านความคิดความเข้าใจ โดยวันนั้นผมให้เล่นเป็นเกมต่างๆ เช่น เกมบวกเลขจากหน้าไพ่ เพื่อประเมินและฝึกทักษะด้านการคิดคำนวณ(calculation) เกมแยกหมวดหมู่ไพ่ตามดอก เพื่อประเมินและฝึกทักษะด้านการจัดหมวดหมู่(categorization)และการรับรู้ทาง(perception) เกมจำหน้าไพ่โดยให้นายวอดูไพ่ทีละ 3 ใบแล้วคว่ำไพ่ลงจากนั้นให้บอกว่าไพ่ที่คว่ำอยู่นั้นคือไพ่อะไรเพื่อฝึกทักษะด้านความจำ(Memory)และเพิ่มช่วงของความสนใจ(attention span) ซึ่งนายวอมีปัญหาในทักษะดังกล่าว การฝึกในวันนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี แต่โชคไม่ดีสำหรับผมที่วันรุ่งขึ้นนายวอได้ลากลับบ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อไปฉลองเทศกาลดีปาวาลีซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของชาวอินเดียและเมื่อหมดสัปดาห์นั้นผมก็ต้องกลับมาประเทศไทย ผมเลยไม่ได้เจอนายวออีกซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากๆ


ถึงแม้ผมจะไม่ได้มีโอกาสในการทำเคสมากนักแต่สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการไปฝึกงานที่ประเทศมาเลเซียนั้นก็ถือว่ามากมายมหาศาล และบางอย่างไม่สามารถหาได้จากในประเทศไทย ผมจึงขอขอบคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสผมและผมสัญญาว่าจะเอาประสบการณ์ที่ได้มาพัฒนากิจกรรมบำบัดในประเทศเราให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีก

หมายเลขบันทึก: 582956เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท