"๑๐ กลุ่ม ที่ต้องกุมหัว"


หากศึกษาประวัติศาตร์ของมนุษย์จะพบว่า มีการรุกรานกัน รังแกกัน ทำร้ายกัน ข่มเหงกัน และฆ่ากันในที่สุด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ อยู่ในภาพที่เรียกว่า "สงครามสังคม" แหละนี่คือ พฤติกรรมสัตว์โลกที่ดำเนินไปเพื่อ "ปกป้องที่อยู่ อาหาร คู่ อำนาจ และชื่อเสียง" แต่เหตุผลเหล่านี้เพียงพอสำหรับสัตว์มนุษย์ที่ตีค่าตนเองว่า "ประเสริฐ มีเหตุผล" หรือไม่ ดังนั้น ปรากฏการณ์ของโลกจึงอุบัติขึ้น เช่น สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่สอง สงครามทวีป สงครามเผ่าพันธุ์ และสงครามศาสนา ฯ

ทำให้นึกถึงนักปรัชญากรีกต้นคนหนึ่งชื่อ เฮราคีตุส (Heraclitus) บอกว่า ทุกสิ่งเกิดมาจากไฟ ไฟคือสงคราม สงครามนำไปสู่การต่อสู้ การต่อสู้นำไปสู่ความอยู่รอด ความอยู่อยู่รอดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการสร้างสรรค์ การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เป็นไปตามตามใจ หากแต่มีกฎ มีระเบียบของมันข้างใน ท่านเรียกว่า "วจนะ" (Logos or word) ดังนั้น จึงแปรเปลี่ยนเป็นดั่งไฟ ที่มีกฎเกณฑ์ของตัวเอง และด้วยเหตุนี้ สรรพสิ่งจึงมีกฎในการเปลี่ยนแปลงหรือขัดแย้งในตัวเองเสมอ

นักสังคมวิทยาคนหนึ่งชื่อ อีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) ที่พูดถึงสังคมควรสร้างองค์ประกอบสามอย่างให้เกิดขึ้นคือ ๑) สร้างกฎกติกาวิชาการร่วมกันขึ้นมาใหม่ (สังคมอุดมปัญญา) ๒) การบูรณาการระหว่างสังคมสมัยใหม่ ที่ต้องผสมผสานระหว่างศาสนาและสังคมโลกอย่างไรมิให้เกิดความขัดแย้งกัน ๓) สร้างความร่วมมือในสังคมแห่งการแสวงหาความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ (ข้อเท็จจริงจากสังคม) ที่ได้มาจากพื้นฐานของอาจารย์คือ ออกัสต์ ก๊อง และสังคมของชาวคริสต์สมัยนั้น


นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงสังคมที่เหมือนอยู่ในภาวะโกลาหลว่า สังคมเช่นนี้เหมือน "อโนมี" (Anomie) มาจากคำว่ากรีก avouia (a: no or without) และคำว่า nomos แปลว่า "กฎ" ดังนั้น คำว่า อโนมี จึงหมายถึง ไร้ขื่อ ไร้แป ในสังคม หมายถึง สังคมมีความวุ่นวาย เกิดความล่มสลาย การขาดการยับยั้งชั่งใจ เป็นสาเหตุทำให้ปัจเจกบุคคลล่มสลายไปด้วย เพราะทุกคนมุ่งประโยชน์ตนเป็นหลัก ในที่สุดจึงล่มสลายในสังคม ขาดการเชื่อมสัมพันธ์กับสังคมน้อยลง จึงเกิดความคับแค้นใจ เหงา เศ้ราซึมจนถึงขั้นทำร้ายตนเองหรือทำอัตวินิบาตกรรม

ในกลุ่มนักจิตวิทยา ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) กล่าวถึงพฤติกรรมมนุษย์ว่า เกิดมาจากจิตลึกๆ ของแต่ละคน ที่ฝังอยู่ใต้จิตสำนึกมาตั้งแต่อดีตคือ ตั้งแต่เกิด ซึ่งเขาศึกษาจากคนป่วย (รวมทั้งสังคมมีอาการเช่นนี้) เพื่อสะท้อนมวลสัตว์มนุษย์ว่า มีองค์ประกอบลึกๆ ๓ หน่วยคือ (๑) อิด (Id) (๒) อีโก (Ego) (๓) อภิอีโก (Super-ego)

ผู้เขียนขอแปลงใหม่ว่า "อิด" หมายถึง สัญชาตญาณของสัตว์โลก ที่ดำเนินไปตามโลกียวิถี หากบุคคลที่ไม่รู้จัก และไม่ใช้ปัญญายับยั้ง โดยปล่อยให้มันเป็นไปเหมือนกระแสน้ำ มนุษย์ก็จะเหมือนปลา หากตามอิดก็เหมือนปลาตาย หากทวนน้ำก็เหมือนปลาเป็น ในโลกความเป็นจริงเราเหมือนปลาเป็นบ้าง ปลาตายบ้าง แต่พวกที่ลอยตามกระแสน้ำ โดยปราศจากการทวนกระแสเลย ก็จะเหมือนกับอิด ที่จะลอยไปสู่ห้วงต่ำแห่งน้ำทะเลลึกไปอีก จึงกลายเป็นอภิอิด (Super-id) ได้ จึงเกิดความไร้ระเบียบ ขาดกฎเกณฑ์ที่ไร้ศิลปะ


ส่วนพวกที่เป็นปลาทวนน้ำ เหมือน ego (แปลว่า จิตกึ่งสำนึกที่จะเลือกระหว่าง จิตใต้สำนึกอิด และจิตเหนือสำนึกอภิอีโก) ที่จะคอยชั่งน้ำหนักว่า จะเดินไปฝ่ายไหน หากฝ่ายอิด มีกำลังมาก อีโก ก็แพ้ และอภิอีโก ก็ไม่เกิด จิตนั้นก็จะไหลไปตามกระแสสังคมตาย ในโลกความเป็นจริง มนุษย์เป็นไปในลักษณะที่ไหลไปฝ่ายอิดเป็นส่วนมาก จึงทำให้สังคมวุ่นวาย เพราะยึดเอาตนเองเป็นบรรทัดฐาน (norm) และมีเสรีภาพแห่งปัจเจกบุคคลที่ถูกกระแสโพสต์โมเดิน กระตุ้นให้รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานตนเองไว้ จึงทำให้มนุษย์เบนน้ำหนักมาที่ตนเองเป็นหลัก จนขาดจิตสำนึกร่วมในเชิงสังคม

อันที่จริง ยิ่งมนุษย์อยู่กันมากขึ้น ลักษณะดังกล่าวจะเด่นชัดมากขึ้น และจะยิ่งสร้างความปวดหัวแก่ผู้นำ ผู้บริหารเป็นอย่างมาก มุมมองของผู้บริหาร ผู้ปกครองจึงต้องมีวิสัยทัศน์ไปตามแบบอุดมคติคือ เห็นส่วนรวมเป็นจุดแข็ง เราคงปฏิเสธประโยชน์ตนไม่ได้เช่นกัน แนวคิดนี้ รุสโซเคยกล่าวไว้ว่า เจตจำนงของการสร้างสังคมขึ้นมี ๒ องค์ประกอบคือ ๑) จุดประสงค์ของตนเอง และ ๒) จุดประสงค์ของสังคมร่วมกัน สอดคล้องกับหลักที่พระพุทธเจ้าส่งสาวกไปประกาศศาสนาครั้งแรกว่า "...เพื่อประโยชน์และประโยชน์ท่าน"


อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่า สังคม (สัง- ร่วมกัน คม -ไปพร้อมกัน) ย่อมมีความหลากหลายทั้งสายพันธุ์ และความต้องการ ย่อมจะมีผู้คนแย้ง ทำแย้ง ขัดแย้ง แตกต่าง ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีผู้นำ ผู้ปกครองเป็นฝ่ายบริหาร จัดการให้อยู่ในเอกภาพแห่งองค์กร (United organism) แต่สังคมยุคใหม่กำลังท้าทายสังคมยุคเก่า และเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์แห่งเสรีชน ที่เกิดมาจากสาเหตุพื้นฐานอดีต จนถึงปัจจุบันคือ

๑) ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (มาร์กซิสต์) ๒) การปฏิวัติสังคมแบบใหม่ ที่เน้นวิทยาศาสตร์ ๓) ความเชื่อแบบเทพเจ้า มาสู่การเชื่อในตัวตนของมนุษย์ ๔) ความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เหนือธรรมชาติ เหนืออำนาจใดๆ (superman) ๕) ความเชื่อในสิทธิตามธรรมชาติ ที่เกิดมาเสมอเหมือนกัน (โลกเสรี)

๕ ประการข้างต้น ที่สร้างผลให้สังคมปัจจุบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่นววิถีใหม่ๆ เกิดความหลากหลาย เกิดความท้าทาย เกิดเสรีชน เกิดการแข่งขัน การแย่งชิง การแสดงอัตตาตัวตน เกิดการบริโภคเกินไป และเกิดกระแสการหักล้างวัฒนธรรม สังคมเก่าอย่างสิ้นเชิง เราจึงมักพูดเชิงตำหนิว่า เด็กยุคใหม่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม และพ่อแม่ ครู อาจารย์ พระสงฆ์ ผู้นำ นักการเมือง ฯ แสดงพฤติกรรมแปรเปลี่ยน ผ่าเหล่าไปจากอดีตมาก ตลอดรวมไปถึงธรรมชาติ สัตว์ พืช ฯ ของโลกถูกมนุษย์รุกรานไปจนเกือบจะสูญพันธุ์


ดังนั้น สังคมเช่นนั้น กำลังดำเนินไปเช่นนี้ เหมือนเฮราคีตุสบอกว่า นั่นคือ สังคมแห่งไฟ เหมือนอีมิล บอกว่า เป็นสังคมแห่งอโนมี และเหมือนฟรอยด์กล่าวไว้ว่า นั่นคือ สังคมแห่งอิด และอภิอิด จึงเป็นเหตุให้ผู้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่รากหญ้าไปถึงพระราชา ผู้นำ ฯ ต้องเดือดร้อน นอนเป็นทุกข์ ถูกเพ่งเล็ง ถูกสั่งย้าย ถูกประณาม ถูกไล่ ถูกจับกุม คุมขัง ถูกจี้ปล้น ข่มเหงรังแก ฯ

เพราะสังคมขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวมและต่อโลก เราจึงต้องมารับผิดร่วมกันในการดูแล แคร์สังคมมิให้ไหลลงไปตามอิด จนเกินไป แล้วคิดดูว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะปวดเศียรเวียนหัวขนาดไหน เมื่อสังคมอุดมไปด้วยปัญหาสารพัดครับ-

๑) พ่อแม่

พ่อแม่ คือ บุคคลที่สร้างสังคมส่วนย่อย ไปสู่หน่วยใหญ่ของสังคม เมื่อผู้ผลิตสังคมส่วนย่อย ขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว ปัญหาที่สะสมไว้ ก็ไประบาดหรือกระจายในหมู่สังคม เมื่อปัญหาหรือเชื้อเหล่านี้ ไปรวมศูนย์กันที่เวทีสังคม จึงเกิดแรงท้าทาย เกิดพลังทำลายหรือป่วนสังคมตามมา ความวุ่นวายหรือปัญหามาจากคุณภาพของพ่อแม่สายพันธุ์ของมนุษย์ ขาดคุณภาพในการสร้างมนุษย์ ขาดหลักการในการให้กำเนิดมนุษย์ พ่อแม่จึงมีแต่คุณสมบัติด้านสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ แต่ไม่มีคุณสมบัติด้านการสืบทอดสายพันธ์ุทั้งสายเลือดและสายจิตวิญญาณ

ปัญหาของพ่อแม่คือ เป็นแม่วัยใส เป็นพ่อแม่ไม่พร้อม เป็นพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูก พ่อแม่ขาดการศึกษาสหวิทยาการ ที่จะสอนลูกได้ ขาดหลักในการสร้างสายใยเซลล์สมอง และขาดคุณธรรม ที่จะค้ำจุนต่อพฤติกรรมไม่ดีของลูก นอกจากนั้น สภาพแวดล้อม เพื่อน สิ่งแวดล้อม ก็เป็นเหตุให้พ่อแม่ขาดการดูแลลูกเต็มเวลา จึงทำให้เกิดช่องว่างกัน โดยเฉพาะพ่อแม่คนเมือง ที่อาศัยเงินทอง หรือโรงเรียน สถาบัน หอพัก เพื่อน เป็นที่หล่อหลอมพฤติกรรม จึงกลายเป็นปัญหาตามมา

ผลคือ เมื่อพ่อแม่พันธุ์ใหม่ (รวมทั้งพันธุ์เก่า) ขาดคุณสมบัติดังกล่าว จึงผลิตลูกมาแบบไม่เต็มใจ ขาดความรับผิดชอบ จึงไม่อยากทุ่มเทในการชุบเลี้ยง จึงฆ่าลูกทิ้ง ทำร้ายลูก ขายลูก ฝากให้ปู ย่า ตา ยาย เลี้ยงแทน เมื่อเติบโตขึ้น เด็กๆ เหล่านี้ ก็จะกลายเป็นคนผู้โหยหาเรียกร้องความรัก ความอบอุ่นเสมอ หรือเสาะหาความรัก ความอบอุ่นจากเพื่อน ชาย-หญิง ตั้งแต่ยังเด็ก จนเลยเถิด เมื่อเข้าโรงเรียนก็กลายเป็นปัญหาให้ครูอีก กลายเป็นเด็กเกเร เรียนไม่ดี และเมื่อออกจากโรงเรียนก็เป็นภาระในสังคมของรัฐและประเทศชาติต่อไป

๒) ครู

ครู คือ ผู้เป็นเหมือนพ่อแม่ทางจิตวิญญาณของเด็ก หากครูมีจิตเมตตา มีทักษะในการสอนลูกคนอื่น ให้ยืนได้เหมือนสอนลูกตน มองเห็นอนาคต ชี้ทางอนาคตให้เด็กได้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นครูด้วยวิญญาณ อย่างแท้จริง แต่ครูทุกวันนี้ มีปัญหาสารพัดทั้งทางครอบครัว และทางโรงเรียน จึงเกิดผลกระทบต่อสมาธิในการมุ่งมั่นที่จะสอนเด็ก จึงทำหน้าที่แค่ครูรอคอยเงินเดือนเท่านั้น สอนไปตามตารางให้จบไปวันๆ เพราะไม่มีกระจิต กระใจ ที่จะมุ่งมั่น ปั้นลูก (ศิษย์) ให้ดีได้

ยิ่งเมื่อครูเจอเด็กที่พ่อแม่ทิ้งมา เด็กนั้นมีปัญหา เมื่อครูไม่แยแสหรือสนใจ ใฝ่รู้จิตวิญญาณของเขา เด็กนั้นย่อมจะกลายเป็นปมด้อยหรือขาดความมั่นใจในการแสดงออก จนอาจเสียสมาธิในการเรียนไปด้วย เมื่อเด็กนั้นออกจากโรงเรียนไป เข้าสู่สังคม เด็กนั้นก็จะกลายเป็นคนขาดทักษะในการเข้าถึงความรู้และการแยกแยะสังคมผู้ใหญได้ จึงอาจตกเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่หรือพ่อค้าแสวงหาประโยชน์จากแรงงานเด็กหรือนำไปขายบริการ

อันที่จริงครูนั้นจะรู้ซึ้งถึงคำว่า ครูหรือครุ ที่แปลว่า หนักแน่น แค่ไหน โดยเฉพาะครูสายพันธุ์ใหม่ ที่มีใจอยากเป็น แต่ขาดคุณสมบัติที่แท้จริง กล่าวคือ อยากทำงานมีเงินเดือน แต่พอเจองานหนักในการสอน การอบรมเด็ก กลับท้อใจหรือถอดใจ ถึงแม้นว่าวิชาชีพครูจะสอนให้นวครูนั้นได้รับรู้ แต่เมื่อเจอกับสถานการณ์จริง ครูนั้นอาจขาดคุณสมบัติครูได้ เพราะครูคือ ผู้สร้างสลักเสลาจิตที่บริสุทธิ์ของมนุษย์เด็ก ที่ขรุขระนั้น ให้กลายเป็นก้อนศิลปะแห่งศิลปิน (ครู) ครูจึงต้องมองที่จิตวิญญาณเด็กเท่าๆ กับหน้าที่ของพระที่สอนธรรม

๓) พระ

พระ คือ พระสงฆ์ ที่เป็นผู้ชี้ทางสว่างให้ชาวโลกที่หมกหมัก ปักอยู่ในโคนตม ให้สะอาด สว่าง สงบ ในใจ เพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมชาติของจิตและกฎแห่งโลกอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้นำพาจิตวิญญาณของมนุษย์ให้กลับไปสู่บ้านที่แท้จริงของตนตั้งแต่เดิม เพื่อมิให้หลงตามกระแสโลก จนมองหาทางไปสู่ความสงบสุขไม่ได้ จึงต้องอาศัยพระสงฆ์ในฐานะผู้รู้ ผู้อยู่ ผู้เจริญ ด้วยธรรมอันบริสุทธิ์ที่เหนือโลก ที่อยู่ในโลกอย่างรู้เท่าทันทั้งจิตตนและกระแสโลก พระสงฆ์ที่แท้คือ อริยสงฆ์ ที่ไปดีแล้ว ไปสู่คติ (ที่ไปดี) หมายถึง พระสงฆ์อริยบุคคลที่บรรลุอริยมรรค ๘ ทางนั้น

พระสงฆ์ดังกล่าวนั้น เป็นอุดมคติทางสังคมพุทธ ส่วนพระสงฆ์ในสมมติของสังคม ก็ถือว่า ท่านดำเนินไปตามมรรคนั้น แม้ส่วนใหญ่จะเดินทางผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่หน้าที่ของพระสงฆ์คือ สอน สั่ง สร้าง สวด เสก ฯ ส่วนหน้าที่ทางสังคมที่พระสงฆ์ควรสร้างสัมพันธ์คือ การรับผิดชอบต่อชาวพุทธ ตั้งแต่กลุ่มเด็ก จนถึงผู้คนก่อนตาย หน้าที่ลึกๆ คือ เมตตาสาธารณ์ เป็นครูฝึกจิตวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้น ให้สะอาด ประเสริฐมากขึ้น นั่นคือ หน้าที่หลักของพระ

แต่ปัจจุบัน โลกเจริญก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว จนศาสนาตามแทบไม่ทัน ผู้คนเดินทางไปไกลมาก ในขณะกลุ่มศาสนายังคงหลับตาหาจิตอยู่ในมุมมืด โลกสังคมจึงเต็มไปด้วยปัญหาสารพัด ที่สวนทางคำสอนทางศาสนา โลกดำเนินไปตามตัณหาความอยาก โลกจึงตอบสนองตนเต็มที่ ในขณะศาสนามุ่งที่จะถอดถอนความอยากจากชีวิต มุ่งเน้นการดำเนินชีวิตให้รู้เท่าทันและลดความอยากให้น้อยลง หน้าที่นี้จึงตกอยู่ที่พระสงฆ์ ที่ต้องสั่งสอน ดึงรั้ง มิให้ชาวโลกตกไฟแห่งสวรรค์นั้น แต่พระสงฆ์จะมีปัญญา เมตตา ปารมี แค่ไหน ที่จะเหนี่ยวรั้ง ให้จิตวิญญาณของชาวโลก มิให้หลงใหลไปตามกระแสโลก แม้แต่พระสงฆ์เองก็เพลี่ยงพล้ำเหมือนกัน

๔) หมอ

หมอ คือ ผู้รักษาหลังโรคเกิดแล้ว เพื่อให้โรคหรืออาการนั้น ทุเลาลง จนหายปกติ การรักษาโรค มิได้หมายถึง การล้อมโรค การดูแลโรค การปกป้องโรคนั้นๆ มิให้หายไปไหน หรือหนีไปไหน แต่เป็นการรักษาโรคให้ระงับดับหายไปจากอาการนั้นๆ หน้าที่ของหมอจริงๆ คือ การป้องกัน การรักษา การฟื้นฟูร่างกายให้เป็นปกติ เพื่อให้โรคนั้นหายไป หรือทุเลาลง ที่จริงหมอนั้น ก็มิใช่เป็นผู้รักษาหรือลงมือเคลื่อนย้ายโรคนั้นจริงๆ หากแต่หมอคือ ผู้อำนวยการ เป็นผู้สังเกตอาการของโรคหรือบอกโรคนั้นว่า ควรใช้เครื่องมือหรือยาอะไร

ผู้ที่รักษาจริงๆ คือ ตัวยาหรือฤทธิของยานั้น โดยมีเครื่องมือต่างๆ ช่วย เช่น มีด ด้ายไหม เครื่องเอ๊กซเย์ เครื่องวัดความดัน เข็มฉีดยา ฯลฯ ยาคือ ผู้รักษา ยับยั้งโรคนั้นโดยตรง หมอเป็นเพียงผู้วินิจฉัยโรคและสั่งให้ทำการรักษา ผ่าตัด ฉีดยา ให้ยา ฯ หรือมองให้ลึกๆ ไปอีก หน้าที่หลักคือ ระบบร่างกายของเราเองรักษาตัวเอง เพียงได้รับยาจากที่หมอวินิจฉัยว่าจะใช้ยาอะไรฉีดให้ จากนั้น ยานั้นก็จะรู้จักทำหน้าที่ของตนว่า มีเป้าหมายอะไร จะไปทำลายที่ไหน ก็เข้าจัดการนั้นเสีย

แต่ปัจจุบัน โรคของผู้คนในสังคมเริ่มมากขึ้น เกิดโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะคนเมือง ดูเหมือนจะอ่อนแอง่าย มีอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ไปหาหมอ ต่างจากชนบทที่แข็งแรง เพราะอยู่กับดิน ฟ้า อากาศ ทนทานกับโรคได้ กระนั้น ทุกวันนี้ ก็ไม่แน่ว่า เราจะอยู่ที่ไหน โรคภัยไข้เจ็บ รุกรานมนุษย์มากขึ้น เจ็บป่วยง่ายขึ้น โรงพยาบาลแต่ละแห่งล้วนคราคร่ำไปด้วยคนป่วย คนไข้ แออัดไปหมด ดังนั้น หมอจึงรับภาระหน้าที่ในการดูแล รักษาโรคอย่างหนัก ในแต่ละวัน มองในอีกมุมหนึ่ง หมอก็เหมือนครูและพระ ที่สร้างกาย จิตให้แข็งแรง

๕) ตำรวจ

ตำรวจ คือ ผู้ที่รักษา ดูแลความสงบของสังคม มิให้ใครละเมิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น และยังเป็นผู้ที่สามารถจับกุม คุมขังผู้ทำผิดได้ หน้าที่ของตำรวจ จึงเปรียบเหมือนรั้วกั้นรักษาสิทธิ พื้นที่ สังคม ให้อยู่ในกรอบ ในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อป้องกัน รักษาให้แต่ละคน ที่อยู่ในสังคมอย่างสงบสุขได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของจิตเชิงปัจเจกบุคคลนั่นคือ ความสงบสุขด้านจิตใจ นอกจากตำรวจแล้ว ยังมีทหาร เป็นผู้รักษาพื้นที่ประเทศชาติ ให้อยู่ปกติ ไม่ให้ต่างชาติรุกราน สร้างความเดือดร้อนให้เรา

แต่ปัจจุบัน ปัญหาสังคมเกิดความแตกแยก แตกต่าง เกิดปัญหาต่างๆ ทางสังคมมากมายเช่น การฆ่า การลักขโมย การแย่งชู้ การทะเลาะวิวาท การมึนเมา การเสพยา การเที่ยว การกิน การอยู่ การพูด การเขียน การแต่งตัว การข่มขืน การคดโกง การหลอกลวง ฯลฯ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดในสังคมปัจจุบัน เป็นปัญหาระดับชาติ จนยากที่จะแก้ไขให้ได้เพียงวันเดียว ประเทศไทยจึงเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งส่วนตัว ทั้งส่วนรวม จนกระทบไปถึงระดับชาติ ตำรวจจึงน่าจะปวดหัว จนถึงฆ่าตัวตายด้วย

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ผู้คนมักจะโบ้ยให้ตำรวจดูแล จัดการ เช่น ตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยไ ปถึงระดับใหญ่โต สังคมมนุษย์จึงมีปัญหาตั้งแต่เกิด จนถึงตาย ซึ่งตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น อันที่จริงตำรวจเองก็ไม่ใช่ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง หากแต่กฎหมายเปิดทางให้เป็นผู้มีอำนาจเจ้าหน้าที่ในระยะเบื้องต้น พอถึงการสั่งฟ้อง ตำรวจก็ต้องอาศัย เจ้าทุกข์ อำนาจศาล อัยการ หลักฐาน สำนวน และพยานต่างๆ อื่นๆ อีก นี่เองทำให้ ตำรวจก็หาช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเอง จึงก่อให้เกิดปัญหาในหน่วยงานตนอยู่ในขณะนี้

๖) ศาล

ศาล มาจากคำว่า "ศาลา" แปลตามศัพท์ว่า บ้าน เรือน หอ ห้อง อาคาร สถานที่พัก ห้องโถง เมื่อมนุษย์มีบ้าน มีโรงเรือน มีศาลา จึงหมายถึง มีสถานที่พัก ที่ประชุม ที่พิจารณาเรื่องราวต่างๆ จากพฤิตกรรมของผู้คนในชุมชนนั้น เมื่อชุมชนกลายเป็นเมือง ศาลาก็กลายเป็นที่พิจารณาคดี เรื่องราวต่างๆ ของผู้คน ให้เป็นไปตามอำนาจผู้ปกครองดูแลบ้านเมือง โดยอาศัยกฎหมาย หรือมติของชุมชนนั้นเป็นหลักให้ประพฤติตามหรือมิให้ประพฤติตาม เมื่อเขียนกฎ กติกาขึ้นมาแล้ว ใครละเมิด ถือว่ามีคความผิดตามกฎข้อนั้นๆ

ปัจจุบันคำว่า "ศาลา" ยังคงรักษาศัพท์นี้อยู่ในวัดเท่านั้น ซึ่งเรียกว่า "ศาลาการเปรียญ" หมายถึง ห้องโถงที่เรียนรู้ให้เกิดปัญญา ส่วนในทางบ้านเมืองกลับตกสระอา กลายเป็น "ศาล" ซึ่งหมายถึง องค์กรพิจารณาคดีต่างๆ ในกฎหมายของประเทศนั้นๆ เช่น ในประเทศไทยมีศาล ๔ ชั้น คือ ๑) ศาลรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาเรื่องกฎหมายลูก ที่ตราขึ้นมาว่าขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ๒) ศาลยุติธรรม เป็นศาลพิจารณาคดีทั้งหมด มี ๓ ชั้นคือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา ๓) ศาลปกครอง คือ ศาลชั้นต้น และชั้นสูงสุด ที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเอกชนหรือท้องถิ่น และ ๔) ศาลทหาร พิจารณาเฉพาะคดีทหาร

ในประเทศไทย มีคดีฟ้องร้องกันมากมาย ทั้งคดี อาญา แพ่ง การปกครอง โดยเฉพาะศาลยุติธรรม ที่เป็นปัญหามาก เพราะคนไทยมีพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมายมาก จึงเกิดการฟ้องร้องกันมาก เริ่มตั้งแต่ครอบครัว สามี ภรรยา ตกลงไม่ได้ ต้องร้อง พ่อแม่ ลูก เรื่องการแบ่งสมบัติไม่ลงตัวก็ฟ้องร้อง การทะเลาะเบาะแว้ง การหมิ่นประมาท การฟ้องเรื่องทรัพย์สิน การฆ่ากัน การเสพยา การลักขโมย การข่มขืน อนาจาร การละเมิดสิทธิ รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ฟ้องร้องกัน จนคดีเหล่านี้ ไปตกอยู่ที่ศาลมากมายก่ายกอง ยิ่งสังคมวุ่นวาย สังคมขาดศีลธรรม ขาดความรับผิดชอบมาก คดีก็มีมากขึ้น ศาลจึงถือว่า มีงานหนักมากด้วย

๗) ผู้นำ

ผู้นำ คือ ผู้ตอบสนองผู้ตามและตนเอง ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ มีมุมมองที่กว้างไกล มีความคิดที่เป็นผลต่อผู้ตามเสมอ หากผู้นำไม่คิดอย่างนี้ คิดแต่ประโยชน์ส่วนตัว เพื่อพวกพ้อง ผู้ตามก็เสียประโยชน์ ความเข้มแข็งด้านสังคมนั้นๆ ก็อ่อนแอลงด้วย ที่จริงผู้นำที่เข้มแข็งมาจากผู้ตามที่เข้มแข็ง หมายถึง ผู้ตามปฏิบัติตามกฎหมาย ตามคำสั่ง หรืออยู่ในโอวาท ย่อมเป็นในทางที่ดีงาม เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากผู้นำขาดความเคารพของผู้ตาม ผู้ตามไม่เคารพผู้นำ อะไรจะเกิดขึ้น หรือในบริษัท หากผู้จัดการคุมลูกน้องไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้น

หากมองในระดับประเทศ หากนายกฯ ถูกประชาชนประท้วงขับไล่ บ้านเมืองจะวุ่นวายไหม ในทางตรงกันข้าม หากนายกฯ ออกคำสั่งให้ทหารยิงประชาชน หรือสั่งให้ตำรวจจับกุมประชาชน บ้านเมืองจะวุ่นวายขนาดไหน ความท้าทายดังกล่าวนี้ เริ่มมีอยู่เรื่อยๆ ในโลกยุคใหม่ มีการประท้วงรัฐ ประท้วงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้ลาออกไปก็มี ซึ่งรัฐต้องวางท่าทีให้ดีว่า โลกสังคมยุคใหม่ให้สิทธิแก่ประชาชน กระนั้น การทำเช่นนั้น ก็ใช่ว่า ประชาชนจะได้สิทธิอันชอบธรรมเสมอไป เพราะอาจละเมิดกฎหมายบ้านเมืองก็ได้

นี่คือ สิ่งที่โลกยุคใหม่กำลังให้อำนาจประชาชนเป็นผู้มีอำนาจของประเทศ ดังนั้น ประชาชนจึงเป็นปลายทางของผู้นำในการนำพาหรือบริหารประเทศ มิฉะนั้น ผู้นำนั้น จะกลายเป็นกบฏหรือทรราชได้ ในขณะประชาชนหากประท้วงล้มรัฐไม่สำเร็จก็อาจกลายเป็นปัญหายาวนานในการฟ้องร้อง เรียกร้องกัน เช่น ปัญหาการเมืองของคนไทย ผู้นำที่ดี ควรมุ่งหมายที่ปลายทางประชาชนจริง มิใช่ประโยชน์ตน เช่น ในหลวง ผู้ว่าฯ ผู้นำหมู่บ้าน นายกฯ อบจ. อบต. ทั้งหลาย และรวมไปถึงพระสงฆ์ด้วย

๘) ชาวเกษตร

ชาวเกษตร คือ ผู้ผลิตข้าวปลาอาหารของประเทศ เป็นผู้ทำครัวให้ประเทศ เป็นเหมือนแม่บ้านที่ดี ที่หล่อเลี้ยงร่างกายของประชาชนในประเทศและนอกประเทศด้วย แต่อนิจจา! ชาวนา ชาวไร่ ไร้อำนาจต่อรองราคา ไร้สิทธิขั้นพื้นฐาน เรียกร้องอะไรก็ไม่ขึ้น ทีพ่อค้าหน้าปลิงทั้งหลาย ขอขึ้นโน่น ขึ้นนี่ กลับได้ดั่งในหวัง ต่างจากชาวนา ชาวไร่แท้ๆ กระนั้น ชาวเกษตรก็ยังรักษาศรัทธาหน้าที่ของตนอย่างต่อเนื่อง นัยว่าจะรอโอกาส เพื่อให้ลืมตาอ้าปากได้

ตลอดเวลาของชาวนา ชาวสวนของโลก มักจะเรียกร้องขอขึ้นราคาผลผลิตเสมอ แต่ก็ไม่เคยได้รับผลสนอง จึงต้องอดทนทำไร่นา ไร่สวนต่อไป แม้จะเจ็บปวด ลำบาก จากการถูกโกง ถูกโก่งราคา ถูกหลอก ถูกลวงก็ตาม พวกเขาไม่มีความรู้ที่จะต่อกรกับพ่อค้าคนกลางและรัฐได้ เราจึงพบว่า ไม่ว่าฤดูกาลใด ผลผลิตที่ออกมา ราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ เช่น ลำไย เงาะ ยาง มันสำปะหลัง ข้าว ผัก พืช ผลไม้ต่างๆ ฯ ทั้งหมดล้วน น่าปวดหัวกับราคาและผลผลิตที่ไม่สมดุลกัน

อันที่จริงชาวสวน ชาวไร่ก็น่าจะรู้วงจรนี้ดี เพราะเกิดมานาน หรือรัฐเองก็น่าจะหาทางป้องกันได้อย่างรอบคอบ เมื่อไม่มีใครรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง และแก้ไขไม่ได้ ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวจึงคาราคาซังอยู่เช่นนี้ต่อไป และนี่คือ ปัญหาระเบิดเวลาที่รอกัดกร่อนทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ และเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่รู้ว่า ใครหลอกใคร ระหว่างรัฐกับชาวนา รัฐบอกว่าจะหาทางระบายสินค้า ส่วนชาวนา ชาวสวนมองว่า จะเพิ่มผลผลิต เพื่อให้ไทยเป็นครัวของโลก ต่อไปเราจะเห็นชาวนา ชาวสวนประท้วงรัฐมากขึ้น และหนักขึ้นหรือไม่ก็ยกเลิกการเพาะปลูกเพื่อขาย แต่ให้ปลูกเพื่อกินเอง

๙) เศรษฐี

เศรษฐี แปลตามศัพท์ว่า ผู้มีมาก ผู้ประเสริฐ แต่สังคมมักจะเน้นไปที่น้ำหนักของความหมาย ผู้มีมาก เพราะมันสะท้อนให้เห็นความมั่งมีทรัพย์สิน ในที่นี่หมายถึง การมีมากในสิ่งใดๆ สิ่งหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงทรัพย์ที่จับต้องได้ อาจหมายถึง ความรู้ ธรรมะ หรือมีอำนาจ มีปารมี ก็ได้ แต่ก็นั่นแหละเพราะความหมายของคำนี้ถูกตรึงต่าไว้ที่คำว่า มากมีหรือมั่งมีไปแล้ว เราจะเอาอะไรวัดคำว่า มาก คำตอบคือ สายตาและความจริง

เศรษฐีนั้น มักจะถูกตีค่าว่า มีเงินทอง ทรัพย์สินมากมาย นับตั้งแต่ ๑ ล้าน จนนับไม่ถ้วน คนจนมักจะเรียกร้องหาเงินทองจำนวนมากๆ เพราะเชื่อว่า มีเงินมาก ก็จะมีความสุข ความสมบูรณ์มากขึ้น ชีวิตก็จะดี สบายขึ้น แน่นอนว่า คนมีเงินที่เรียกว่า เศรษฐี ย่อมมองต่างจากคนจน มีเศรษฐีไม่น้อยเป็นทุกข์เพราะความมั่งมีของตน จนนอนไม่หลับ ยิ่งอยู่กับธุรกิจ กิจการต่างๆ มากมาย จนหาทางสงบเงียบยาก

ร่างกายของคนรวยมีอยู่ มีกิน มีวัตถุใช้สะดวก สบาย แต่ใช่ว่า ร่างกายจะปลอดโรค ปลอดภัยไข้เจ็บ ความทุกข์ทางกายก็มีเหมือนกันกับคนจน แถมจิตใจของคนจนอาจจะมีความบริสุทธิ จริงใจมากกว่าคนรวย ที่สุดสิ่งที่หลีกไม่ได้คือ ความตาย ดังนั้น คนรวยก็มีเรื่องน่าปวดหัวเช่นกันกับคนทั่วไป ยิ่งรวยก็ยิ่งจนใจ ทุกข์ใจ หากขาดปัญญาทางโลก แม้จะมีทรัพย์มหาศาล ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกข์ทางใจได้ นอกจากละ วาง อย่างสงบเย็นเท่านั้น

๑๐) ยาจก

ยาจก คนจน คือ คนที่ขาดโอกาส ในการแสวงหาทรัพย์และขาดทรัพย์ทางปัญญาและเงินทอง ที่จะสนับสนุนให้มีโอกาสครอบครองทรัพย์สินต่างๆ ของโลกได้ คนจน จนเพราะมีคนรวย (เทียบเคียง) เขามิได้จนแต่กำเนิด เหมือนคนพิการแต่กำเนิด หากแต่มีร่างกาย มีศักยภาพพร้อมอยู่แล้ว ที่จะก้าวไปสู่คนรวยได้ และคนจนก็ไม่มีอำนาจพอที่จะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมมากเท่าคนรวย คนมีเงิน คนมีอำนาจ เช่น บุกรุกป่า รุกที่ป่าสงวน ชายทะเล คดโกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตเงินงบประมาณของรัฐ ฯ มากกว่า

สิ่งที่ยาจกอยากได้คือ อาหารรองท้อง ที่อยู่หลับนอน นั่นก็พอแล้ว นี่คือ ความยากจนทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่อง การขาดโอกาสในการใช้สิทธิเท่าเทียมกันของคนในชาติ ส่วนคนที่ทั่วไปที่จนคือ ความยากจน ที่หมายถึง จนสติ จนปัญญา จนหลักการในใจ จนหลักที่พึ่งของจิต จนหลักที่พึ่งของกาย สักวันหนึ่งพวกเขาก็จะโหยหา สิ่งที่ขาดไปหรือสิ่งที่เขาไม่มี นี่ถือว่า เขาจนหลัก จนที่พึ่งด้วย ตลอดถึงจนปัญญา จนความรู้ จนธรรมในระบบ แต่เขาก็มีรากฐาน(ชีวิต)ที่จะเรียนรู้ความจริงของชีวิตได้

ดังนั้น ไม่ว่า คนจน คนรวย ต่างก็มีความรู้สึก เวทนาเหมือนกัน คือ หิว กระหาย ร้อน เย็น ทุกข์ สุข เสียใจ และที่มีเหมือนกันอีกคือ ทุกข์ โรค เจ็บป่วย แก่ชรา และตายเหมือนกัน ไม่มีใครแตกต่างกัน อยู่ที่ว่า คนรวยรู้ว่าฐานะทางจิตเป็นอย่างไร คนจนรู้ทันสภาพจิตที่จนหรือไม่ ไม่เช่นนั้น ความทุกข์ยาก ความอดทนน้อย ความเครียด ความไม่สบายใจ ก็จะตามราวีชีวิตทุกคน จนทำให้ไม่สบายใจ นอนกังวล วุ่นวายภายในอย่างร้อนรน นั่นเหมือนใจกำลังถูกไฟเผาไหม้ ยากที่หาอะไรมาดับได้ นอกจากถอยดุ้น(ฟืน)ใจออกจากมัน


เพราะฉะนั้น สังคมมนุษย์ไทย ควรจะรับผิดชอบร่วมกันทั้งโครงสร้าง มิใช้ให้ใครรับภาระหน้าที่กลุ่มเดียว เมื่อเราอยากได้ อยากทำ อยากแสดง อยากๆๆๆสารพัด ไม่ได้ตามใจ เราก็มักจะโวยวายรัฐหรือหน่วยงาน แต่เราไม่ค่อยรับผิดชอบหรือมองกลไกที่การกระทำของเราทุกคนว่า นี่คือจุดเริ่มในการสร้างปัญหา หรือแก้ปัญหา หากสังคม ล่มสลาย ปัจเจกบุคคล จะอยู่ได้อย่างไร มิใช่ ๑๐ กลุ่มนี้เท่านั้น ที่ต้องมีรับผิดชอบทั้งหมด แต่เราควรรักษาหน้าที่ ระเบียบ เคารพกฎหมาย เพื่อประโยชน์ทุกคน นี่คือ จุดศูนย์รวมหรือจิตสาธารณ์ที่คนไทยขาดไป

-----------------------------(๒๒/๑๒/๕๗)---------------------------------

คำสำคัญ (Tags): #กลุ้มใจแทน
หมายเลขบันทึก: 582953เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 19:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท