บันทึกการฝึกงานทางกิจกรรมบำบัดกับเคสที่ยากที่สุด


สวัสดีครับ ขออนุญาตแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมชื่อนายฐานวัฒน์ ประภาสิทธิ ชื่อเล่นว่าขนุน เป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหิดลครับ


วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องประสบการณ์ฝึกงานสำหรับ "เคสที่ยากที่สุด" สำหรับผมนะครับ


เคยมีคนกล่าวไว้ว่า "เริ่มต้นครั้งแรกมักยากที่สุดเสมอ" คำกล่าวนั้นผมไม่เถียงเลยครับ เพราะเคสที่ยากที่สุดและเป็นเคสที่ผมจดจำมากที่สุดก็คือ "เคสแรกสุด"


เคสดังกล่าวเป็นเคสที่ผมได้ทำครั้งแรกสุดในชีวิตการฝึกงาน โดยเริ่มต้นที่การฝึกงานครั้งแรก วันแรก คนไข้คนแรก


เคสนั้นเป็นเด็กครับ เป็นเด็กผู้ชาย อายุประมาณ 4 ขวบ ถูกวินิจฉัยว่า เป็นโรค Autistic มาด้วยภาวะอยู่ไม่นิ่ง(มากๆ) ไม่มองหน้าสบตา ไม่สื่อสาร ยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้(อยู่ใน jargon stage) มีภาวะกระตุ้นตัวเองตลอดเวลา ทั้งเล่นน้ำลาย ส่ายหน้าไปมา กำมือและเกร็งมือตัวเอง


เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ผมได้เริ่มทำคนไข้เองจริงๆ และน้องก็ค่อนข้างมีอาการหลายอย่างที่ทำให้ฝึกยาก ซึ่งตอนนั้นผมงง และสับสนไปหมด ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน จะประเมินอะไร จะจัดกิจกรรมรักษาอย่างไร


และด้วยการที่มีอาจารย์ และพี่นักกิจกรรมบำบัดรายล้อมทำให้ผมเพิ่มความกดดันไปอีก 2.42351 เท่า

ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นสมัยนี้ คงต้องบอกว่า "ผมนี่เงิบเลยครับ"


แต่ก็เนื่องจากที่อาจารย์และพี่ๆอยู่รอบข้าง คอยแนะนำ และตั้งคำถามให้ผมเริ่มได้คิด และเริ่มตั้งสติตนเองได้(แต่ก็ยังลนๆอยู่) ผมก็ได้ทำการประเมินพบว่าน้องมีความบกพร่องมาตั้งแต่รากฐานเลย ก็คือทางด้าน Sensory Modulation หรือการปรับระดับการรับความรู้สึก ทำให้น้องมีพฤติกรรมกระตุ้นตนเอง เพราะน้องมีภาวะ Sensory Seeking หรือ การต้องการรับความรู้สึกนั้นๆ (ขออภัยสำหรับคำแปลภาษาไทยเพราะผมแปลโดยไม่ได้อ้างอิงตำราแต่พยายามที่จะใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ) คือที่น้องมีพฤติกรรมเกร็งมือตนเอง กำแบมือตนเอง เป็นเพราะที่จะกระตุ้นความรู้สึกใน "ข้อต่อ กระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ(Proprioceptive Sense)" ในบริเวณมือของตนเอง เป็นต้น (น้องยังมีปัญหาด้านการรับความรู้สึกอีกหลายชนิด แต่ขอละไว้เพื่อไม่ให้เป็นเชิงวิชาการมากเกินไป)


โดยเนื่องจากช่วงที่ผมไปฝึกงาน ผมอยู่แค่ปี 3 ซึ่งเป็นช่วงที่เน้นแค่การประเมิน ไม่ได้เน้นไปถึงการรักษา อาจารย์จึงแค่ตั้งคำถามให้ผมตอบ ให้ผมช่วยจัดกิจกรรม และให้ช่วยจับน้องฝึก โดยมีอาจารย์คอยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด ถือว่าเป็นโชคดีที่มีอาจารย์คอยให้คำแนะนำ ทำให้การฝึกงาน 1 เดือนนั้นผ่านไปได้ด้วยดี แต่ก็กว่าจะผ่านไปได้เราต้องเจอกับอะไรหลายๆอย่างเช่น เนื่องจากน้องมีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่ง วอกแวก ช่วงของความสนใจสั้น ทำให้ผมต้องเรียกชื่อน้องเพื่อเป็นการกระตุ้นและให้น้องสนใจในการฝึกตลอดชั่วโมงการฝึก โดยในชั่วโมงการฝึก 1 ชั่วโมง ผมมั่นใจว่าผมเรียกชื่อน้องมากกว่า 100 ครั้ง จนผมคอแห้ง เสียงแทบแหบในทุกครั้งที่ฝึก แต่สุดท้ายเมื่อผ่านไป 1 เดือน น้องมีพฤติกรรมที่นิ่งลง สามารถทำกิจกรรมได้นานขึ้น และในปัจจุบันน้องสามารถพูดคำที่มีความหมายได้แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจมาก และผมจะนึกถึงน้องคนนี้ทุกครั้งเวลาผมได้มีโอกาสฝึกเคสเด็ก autistic

หมายเลขบันทึก: 582954เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเอาใจช่วยเจ้าค่ะ...เก่งมากๆ ขอชม

ขอบคุณมากครับ คุณยายธ๊

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท