4 ข้อควรระวัง เพื่อการใช้ Smartphone ที่ปลอดภัยกว่า


เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของโทรศัพท์มือถือสมัยใหม่หมายความว่าการทำโทรศัพท์หายจะไม่ใช่แค่การสูญหายของรายชื่อเบอร์ติดต่อหรือข้อความในฐานข้อมูลของมือถืออีกต่อไป และถึงแม้คุณจะไม่ได้ใช้มือถือเข้าอินเตอร์เน็ตหรือเก็บข้อมูลลับเฉพาะ คุณก็ยังมีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรยุคดิจิตอลหากไม่ป้องกันมือถือให้รัดกุม วันนี้เราได้รวบรวมวิธีรับมือกับภัยเงียบจากการใช้ Smartphone มาแนะนำ เพื่อให้ผู้ใช้ Smartphone มั่นใจได้ว่าไม่ได้กำลังตกเป็นเหยื่อของผู้ประสงค์ร้ายที่มีจำนวนมากขึ้นทุกที

1. การรักษาความปลอดภัยเบื้องต้นด้วยรหัสล็อคโทรศัพท์

การล็อคหน้าจอเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่ช่วยยับยั้งไม่ให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้โดยไม่ได้รับอนุญาต หากมือถือถูกวางทิ้งไว้หรือสูญหาย โทรศัพท์มือถือยุคใหม่ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการปลดล็อคหน้าจอเพื่อเข้าถึงข้อมูลด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องอาศัยการกดรหัส แต่ในขณะเดียวกัน การใช้ Pin Code หรือรหัสผ่านก็เป็นวิธีป้องกันที่ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด แน่นอนว่า ยิ่งรหัสรักษาความปลอดภัยที่ตั้งไว้ในโทรศัพท์ง่ายต่อการจดจำเท่าไหร่ความปลอดภัยก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น การล็อคโทรศัพท์มือถือเป็นขั้นตอนรักษาความปลอดภัยเบื้องต้นที่ไม่ได้หยุดยั้งผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาจใช้วิธีขโมยซิมการ์ดเพื่อใช้งานในมือถือเครื่องอื่นได้ เพราะฉะนั้น การตั้งระบบล็อคที่ซิมการ์ดสำหรับการเข้าใช้งานก็เป็นมาตรการเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง

2. การเสริมความปลอดภัยอีกขั้นด้วยซอฟต์แวร์ป้องกันข้อมูลลับเฉพาะ

การป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีใช้มือถือด้วยการเข้ารหัสอาจไม่เพียงพอสำหรับโทรศัพท์มือถือสมัยใหม่ที่มีศักยภาพในการใช้งานเกือบเทียบเท่ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดย่อม เพราะเซียนมือถือสามารถกู้ข้อมูลใน Smartphone ได้อย่างง่ายดายด้วยการถอดมีเดียการ์ดออกมาหรือเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการรองรับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนนี้จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน Smartphone ชั้นนำอย่าง BlackBerry หรือ iPhone ได้พัฒนาเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยของโทรศัพท์มือถือไปไกลกว่าการพึ่งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดาแล้ว ในเวลานี้ ระบบรักษาความปลอดภัยในตัวของ BlackBerry รองรับทั้งการใช้งานส่วนตัวและการใช้งานเชิงธุรกิจ ซอฟต์แวร์สำหรับการใช้งานส่วนบุคคลจะช่วยการันตีความปลอดภัยของข้อมูลในโทรศัพท์และมีเดียการ์ดของผู้ใช้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันภัยคุกคามทางอีเมลจากบรรดาอีเมลขยะ ไวรัสหรือมัลแวร์ได้ ในขณะที่ซอฟต์แวร์อย่าง BlackBerry Enterprise Server และ BlackBerry Enterprise Server Express ก็จะทำหน้าที่ปกป้องข้อมูลขององค์กรใน Smartphone ให้มีความปลอดภัยรัดกุม ส่วนทางฝั่ง iPhone ก็มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลหลายรูปแบบให้เลือกด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารหัสข้อมูล เครือข่ายส่วนตัวเสมือน การลบข้อมูลอุปกรณ์ระยะไกล การล็อคแอพพลิเคชั่นด้วยรหัสผ่าน หรือการแยกส่วนของข้อมูลในเครื่อง

3. การระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของเครือข่ายไร้สายและบลูทูธ

จะมีสักกี่คนรู้ว่าสัญญาณ Wireless ที่เชื่อมต่อ Smartphone กับระบบเครือข่ายไร้สายจะนำภัยมาสู่ข้อมูลส่วนตัวได้ วิธีลดความเสี่ยงอันดับแรกก็คือการปิดสัญญาณ wireless ทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์รองรับสัญญาณโทรศัพท์ไม่ได้ถูกออกแบบหรือติดตั้งให้เชื่อมต่อกับเครือข่ายไร้สายใกล้เคียงโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังสำหรับการใช้บริการเครือข่าย Wireless เนื่องจากเวลานี้มีเทคนิคกลโกงที่เรียกว่า Evil Twin ด้วยการสร้าง Access point ปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกให้เข้าใช้ โดยตั้งชื่อให้เหมือนเครือข่ายของจริงซึ่งเป็นที่รู้จัก หลังจากนั้นจะใช้โปรแกรมดักจับข้อมูลเพื่อเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่หลงเข้ามา ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนทำการเชื่อมต่อสัญญาณ Wireless ในที่สาธารณะ การใช้บลูทูธก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่ก็กันไว้ดีกว่าแก้ด้วยการตั้งค่าบลูทูธให้เป็น Non-Discoverable โหมด เพื่อให้เครื่องอื่นรอบข้างในรัศมีสแกนไม่เจอ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการตอบรับคำเชิญชวนจากแหล่งสัญญาณแปลกปลอมที่ไม่คุ้นเคยผ่านบลูทูธด้วย

4. การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเป็นดาบสองคม

การติดตั้งแอพพลิเคชั่นเป็นอีกหนทางจารกรรมข้อมูลที่ต้องระวัง ทุกครั้งที่ทำการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นใหม่ลงมือถือ ผู้ใช้ Smartphone จึงควรให้ความสำคัญกับข้อกำหนดในการติดตั้งซอฟต์แวร์ด้วย ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นจากแหล่งที่ไม่คุ้นเคย หรือถ้าจะให้ปลอดภัยแน่นอน แนะนำให้ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ทางการที่รวบรวมแอพพลิเคชั่นของโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆจะดีที่สุด

ในทางกลับกัน แอพพลิเคชั่นจากผู้ผลิตมือถือชั้นแนวหน้าหลายค่ายที่มีให้ทั้งดาวน์โหลดฟรีและเสียเงินก็เป็นทางเลือกในการยกระดับความปลอดภัยให้กับ Smartphone ได้อีกทางหนึ่ง ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น Lookout Mobile Security แอพพลิเคชั่นสำหรับ iPhone และ Android ที่ช่วยกลั่นกรองความปลอดภัยของเครือข่ายไร้สาย แอพพลิเคชั่นหรือลิงค์แปลกปลอม ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ใช้ทำธุรกรรมทางการเงินกับบริการธนาคารออนไลน์ได้อย่างอุ่นใจโดยไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว นอกจากนี้ก็มีแอพพลิเคชั่นอย่าง Smart Guard Mobile Security ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของเครื่อง BlackBerry ห่างไกลจากการถูกไวรัสมือถือหรือสปายแวร์โจมตีข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งตัดความรำคาญจากการรบกวนของข้อความขยะด้วย

หมายเลขบันทึก: 582356เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท