ปฏิรูปการศึกษา


ปฏิรูปการศึกษา

ผมขอนำบทความเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เขียนโดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี มาเผยแพร่ต่อ ดังต่อไปนี้

ปฏิรูปการศึกษา

ให้เป็นจุดคานงัดประเทศไทย

ประเวศ วะสี




ประเทศไทยเหมือนประเทศติดหล่ม

ที่ติดหล่มทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง และทุกๆทาง

ทำอย่างไรๆก็ออกจากหล่มวิกฤตไม่ได้

ทำโน่นนิดนี่หน่อยก็คงจะออกจากหล่มไม่ได้

คงจะต้องหาจุดคานงัด อาคีเมดีสเคยท้าทายว่าถ้ามีที่ให้

เขายืนและมีคานที่ยาวพอ เขาสามารถงัดโลกทั้งใบได้ !

ทำอย่างไรระบบการศึกษาจะเป็นจุดคานงัดประเทศไทย


สารบาญ


หน้า

๑. จะตามภูมิปัญญาตะวันตกไปเรื่อยๆไม่ได้

๒. โลกยุคใหม่ต้องบูรณาการการคิดและการพัฒนา

๓. ปฏิรูปแนวคิดการศึกษา

แนวคิดการศึกษาแบบอาณานิคม

แนวคิดการศึกษาประเทศไทยยุคใหม่

๔. ปฏิรูประบบการศึกษา

จากระบบแท่งไซโลสู่ระบบไตรภาคี :

การศึกษาเพื่อชีวิต

การศึกษาเพื่อสัมมาอาชีวะ

การศึกษาเพื่อวิชาการ

๕. ปฏิรูปการเรียนรู้

๖. ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้

๗. ปฏิรูประบบบริหารจัดการการศึกษา

๘. สรุป


๑.

จะตามภูมิปัญญาตะวันตกไปเรื่อยๆไม่ได้


สมัยใหม่เป็นสมัยอารยธรรมตะวันตก (Western Civilization)

อารยธรรมตะวันตกก็มีอะไรดีๆหลายอย่าง เช่น เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นวิทยาศาสตร์ หรือกระบวนการใช้เหตุผล หลักฐานข้อเท็จจริง

แต่โดยรวมอารยธรรมตะวันตกนำโลกทั้งใบไปสู่วิกฤตการณ์อย่างรุนแรงซึ่งมีผู้เรียกว่า วิกฤตอารยธรรม (Civilization crisis) ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่บรรจบกันทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นผลจากอารยธรรมปัจจุบันก็กำลังนำไปสู่หายนะภัยที่คุกคามโลกทั้งใบ

ความคิดตะวันตกเป็นความคิดที่ทรงพลังแต่แยกส่วน

การคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วนจะนำไปสู่วิกฤตเสมอ

เพราะ ทั้งหมดเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว

เมื่อไปแยกส่วน ความเป็นทั้งหมด ก็แตกสลาย เสียสมดุล เสียความเป็นปรกติ ไม่ยั่งยืน

เหมือนร่างกายของเราประกอบด้วยอวัยวะต่างๆหลากหลายสุดประมาณ แต่ทุกส่วนเชื่อมโยงกันเป็นทั้งหมดหนึ่งเดียวของเราคือ ความเป็นคน ที่สุขภาพดีและอายุยืน

ถ้าเซลล์ของอวัยวะใดเกิดอาเภทต้องการเติบโตแบบแยกส่วน โดยไม่คำนึงถึงระบบร่างกายทั้งหมด นั่นคือการเป็นมะเร็ง ทำให้ระบบร่างกายเสียสมดุล เจ็บป่วย เจ็บหนัก วิกฤต และตาย

การพัฒนาแบบแยกส่วนจึงคล้ายเป็นมะเร็ง

เมื่อชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความรู้ที่ทรงพลัง ก็เอาความรู้นี้ไปสร้างอำนาจของชาวยุโรป คือ เรือรบ ปืนใหญ่ ปืนกล แล้วใช้อำนาจยิงขนาดใหญ่ที่โลกไม่เคยมีมาก่อนเลย เข้าแย่งชิงทรัพยากรจากบ้านเล็กเมืองใหญ่ในทุกทวีปทั่วโลก การพัฒนาตามอารยธรรมตะวันตกจึงมาจากฐานการแย่งชิง ซึ่งเป็นการคิดและทำแบบแยกส่วน ไม่ใช่เพื่อการดำรงคงอยู่ร่วมกันของทั้งหมด

การค้าเสรีที่เอาเงินเป็นตัวตั้งก็เป็นการแยกส่วน ดังที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างมโหฬารและการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำไปสู่สงครามของการแย่งชิง

การเกษตรที่จักรวรรดินิยมไปทำกับเมืองขึ้นก็เป็นการแยกส่วนและทำลายวัฒนธรรม อย่างที่อังกฤษทำกับศรีลังกาและพม่า ที่ให้ศรีลังกาปลูกชาอย่างเดียวไม่ต้องปลูกข้าวให้เอาข้าวจากพม่ามากิน การให้ประเทศอาณานิคมปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อประโยชน์เป็นกอบเป็นกำในการค้าขายของตน แต่ทำให้ระบบบรรณาการดั้งเดิมของชาวพื้นเมือง แตกสลายทำลาย ทำให้เกษตรกรยากจน ล่มสลายทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม คนไทยไปเรียนการเกษตรจากประเทศมหาอำนาจ ก็เอาการทำเกษตรแบบที่จักรวรรดินิยมทำกับประเทศอาณานิคมมาทำกับคนไทยด้วยกัน ทำให้เกษตรกรไทยล่มสลายทางเศรษฐกิจหมดทั่วประเทศ สมบัติชิ้นสุดท้ายของชาวนาที่ทำมาขายคือ ลูกสาวที่ไปเป็นโสเภณีในเมือง นี้ก็เป็นตัวอย่างของการเรียนตามเขาโดยไม่เข้าใจพื้นฐานของเขาและพื้นฐานของเรา

การศึกษาแบบตะวันตกก็เป็นการแยกส่วนจากชีวิต ที่ไปเอาวิชาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง การเรียนและไม่มีงานทำเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศตะวันตก สมัยโบราณไม่มีปัญหาการว่างงาน ชีวิตต้องทำงาน แต่การพัฒนาสมัยใหม่แบบแยกส่วนทำให้เกิดการว่างงาน ระบบการศึกษาที่แยกคนจากงานไปถึง ๑๖ ปี คือ ประถม ๖ ปี มัธยม ๖ ปี อุดม ๔ ปี ๑๖ ปี เป็นเวลาไม่น้อยที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปเมื่อจบมาจึงเกิดปัญหาว่างงาน ถ้าการศึกษาเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ชีวิตต้องมีการทำงานก็ต้องเรียนรู้จาการทำงาน ก็จะไม่มีปัญหาการว่างงาน เพราะมีงานทำตั้งแต่ยังศึกษา ชีวิต-การทำงาน-การเรียนรู้ บูรณาการอยู่ด้วยกัน ไม่ได้แยกส่วน

ขณะนี้มีนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆในประเทศตะวันตก ซึ่งก็เป็นของดี แต่เราจะต้องระวังว่าพื้นฐานของตะวันตกเป็นการแยกส่วน ถ้าเราจะปฏิรูปการศึกษาให้เป็นจุดคานงัดประเทศไทย เราต้องการภูมิปัญญาที่ไปพ้นการคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน


.


โลกยุคใหม่ต้องบูรณาการ

การคิดและการพัฒนา


เราจะต้องตั้งหลักใหญ่ให้ได้

โลกวิกฤต และการพัฒนาไม่ยั่งยืน เพราะคิดแบบแยกส่วนทำแบบแยกส่วน

ถ้าเราจะยังคิดและทำแบบแยกส่วนอีกต่อไป แม้บางเรื่องอาจจะดูดี หรือดีเพราะส่วน หรือดีชั่วคราว แต่จะหนีไม่พ้นที่จะนำให้สู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และสภาวะวิกฤต

เพราะสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว การทำแบบแยกส่วนย่อมนำไปสู่การแตกสลาย และการพังทลายของความเป็นทั้งหมด

มนุษย์ทั้งหมดและธรรมชาติทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกัน การพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้งก็ทำให้ทำลายสิ่งแวดล้อมและเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในประเทศเดียวกันและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ และเมื่อโรคอีโบลาระบาดในประเทศที่ยากจนในแอฟริกา ซึ่งด้อยในการรักษาและป้องกันโรค ไวรัสอีโบลาก็คุกคามที่จะระบาดไปกันทั้งโลก เพราะเราอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน

การพัฒนาเอาเงินเป็นตัวตั้งก็ดี หรืองเอาอะไรอื่นเป็นตัวตั้ง จะเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วนทั้งสิ้น ถ้าไม่เอา การอยู่ร่วมกัน (Living together) เป็นตัวตั้ง

การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม เป็นการคำนึงถึงทั้งหมด เป็นการเคารพคุณค่าของคนทุกคน และของธรรมชาติแวดล้อมทั้งหมด จึงเป็นศีลธรรมจริยธรรม

การพัฒนาอย่างบูรณาการ เป็นกุญแจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นั้นคือ การพัฒนาทุกด้าน ต้องเชื่อมโยงอยู่ในกันและกัน ไม่ใช่พัฒนาแบบแยกส่วนไปด้านใดด้านเดียวเป็นเอกเทศจากทั้งหมด อย่างน้อย ๘ เรื่องต้องเชื่อมโยงกัน คือ

เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – วัฒนธรรม – สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ – การศึกษา - ประชาธิปไตย

ถ้าสังเกตดูที่ผ่านมา เราพัฒนาแบบแยกส่วนเป็นเรื่องๆ เพราะเราพัฒนาโดยเอากรมเป็นตัวตั้ง กรมนั้นตั้งขึ้นมาตามเรื่อง เช่น กรมดิน กรมน้ำ กรมต้นไม้ ฯลฯ เมื่อเอากรมเป็นตัวตั้งก็พัฒนาแยกส่วนไปตามเรื่องของกรม จึงไม่เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การศึกษาก็เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่บูรณาการกับการพัฒนาอื่นๆระบบการศึกษาจึงเป็นประดุจอยู่นอกสังคม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคมไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่ร่วมแก้ปัญหา จึงอ่อนแอและไม่สามารถเป็นพลังที่พาสังคมไทยออกจากวิกฤตการณ์ได้

ถ้าการศึกษาจะเป็นจุดคานงัดประเทศไทยได้ การศึกษาจะต้องบูรณาการอยู่กับการพัฒนาอื่นๆทั้ง ๗ เรื่อง คือต้องนำระบบการศึกษาที่อยู่นอกสังคมเข้ามาเป็นระบบการศึกษาที่อยู่ในสังคม คือรู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม ร่วมทุกข์ ร่วมสุข และร่วมแก้ปัญหา นั่นคือการศึกษาจะต้องเปลี่ยนจาการเอาวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นเอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง

ในต่างประเทศขณะนี้มีความตื่นตัวเรื่องการค้นคว้าและพัฒนากระบวนการเรียนรู้กันมาก ซึ่งเป็นของดี แต่ควรจะเข้าใจว่า การปฏิรูปการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังมีเรื่องแนวคิดการศึกษา ระบบการศึกษา และระบบการจัดการการศึกษาอีก ซึ่งควรจะมองให้ครบ

การปฏิรูปการศึกษาควรประกอบด้วย

  • ๑.ปฏิรูปแนวคิดการศึกษา
  • ๒.ปฏิรูประบบการศึกษา
  • ๓.ปฏิรูปการเรียนรู้
  • ๔.ปฏิรูประบบการบริหารจัดการการศึกษา


๓.


ปฏิรูปแนวคิดการศึกษา

แนวคิดการศึกษาแบบอาณานิคม


ได้มีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถทำให้การศึกษาเป็นพลังอำนาจของชาติได้ เพราะไม่ได้ปฏิรูปแนวคิด แนวคิดการศึกษาไทยเป็นแนวคิดที่มีข้อจำกัดและคับแคบมาก เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่มหาอำนาจตะวันตกล่าอาณานิคม มหิทธานุภาพของชาติยุโรปน่าสะพรึงกลัวมากทำให้ผู้ปกครองประเทศไทยคิดว่ายุโรปมีความรู้เราไม่มีความรู้ จึงจัดการศึกษาขึ้นแบบ " ต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย" ซึ่งก็มีความจำเป็นในระยะแรก แต่การศึกษาแบบนี้ทำมานานเกินและมากเกินจนกลายเป็นวิสัยการศึกษาของไทย นั่นคือ การศึกษาคือการท่องวิชา หรือ การถ่ายทอดวิชา นั่นคือการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาทุนประเทศไทยที่เรามีเป็นตัวตั้ง หรือไม่ได้เอาชีวิตจริงปฏิบัติจริงของสังคมไทยเป็นตัวตั้ง เป็นการศึกษาที่แยกส่วนจากความเป็นจริงของสังคมไทย ไปเอาวิชาเป็นตัวตั้งหรือเป็นฐาน

แล้วจัดระบบการศึกษาที่เอาวิชาเป็นฐาน จากประถมไปมัธยมไปอุดมเป็นแท่งเดี่ยวขึ้นไปแบบไซโล



แล้วก็มีการออกกฎหมายบังคับเด็กทุกคนมาเข้าแท่งไซโลทางการศึกษา ทำให้เส้นทางการจราจรทางการศึกษาแออัดยัดเยียด ก่อความทุกข์ยากให้คนทั้งประเทศ และทำให้การศึกษากลายเป็นการค้าแบบ "จ่ายครบจบแน่" ทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ การศึกษามุ่งไปสู่เป็นการค้าขายปริญญากันมากกว่าเป็นระบบปัญญาของประเทศ

ความที่เป็นระบบการศึกษาที่ลอยตัวจากความเป็นจริงของประเทศไทย คนที่จบการศึกษาแบบนี้ในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา จึงไม่รู้จักแผ่นดินไทย ทำให้แก้ปัญหาอะไรไม่เป็นและพัฒนาประเทศไม่ถูกทาง

แล้วเราก็บ่นกันว่านักเรียนไทยไม่เก่ง ครูไม่เก่ง

เราจะมองปัญหาของการศึกษาแค่นั้นไม่พอ การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปแนวคิด ปฏิรูประบบ และปฏิรูปการเรียนรู้


แนวคิดการศึกษาประเทศไทยยุคใหม่


แนวคิดการศึกษาประเทศไทยยุคใหม่ขึ้นกับกรอบความคิดใหญ่ว่าประเทศไทยยุคใหม่คืออย่างไรประเทศไทยยุคเก่าเป็นระบบ "ปิด" ที่รวมศูนย์อำนาจ ที่คนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติไม่มีศักดิ์ศรี ถูกมายาคติและอำนาจบดบังให้ไม่มีศักยภาพสมกับความเป็นมนุษย์ ประเทศที่ "ปิด" ศักดิ์ศรี และศักยภาพของความเป็นมนุษย์เช่นนี้ไม่มีพลังแห่งชาติ จะสะสมและหมักหมมปัญหาไว้จนวิกฤต

ประเทศไทยยุคใหม่จะต้องเป็นระบบ "เปิด" เปิดคุณค่าที่แท้ของความเป็นมนุษย์ ว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และศักยภาพแห่งความสร้างสรรค์

ปรัชญาใหม่ประเทศไทยคือ "คนไทยทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และมีศักยภาพแห่งความสร้างสรรค์"

ปรัชญานี้จะสร้างพลังมหาศาล ประดุจพลังนิวเคลียร์ทางสังคม ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างประเทศไทยยุคใหม่ที่มีศานติสุขก้าวหน้าและยั่งยืน

คนไทยนั้นเหมือนติดอยู่ในคุกที่มองไม่เห็น (The invisible prison) คือมายาคติต่างๆที่ทอนความเป็นมนุษย์และความสร้างสรรค์ สำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตัวเองและเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น จะทำให้เกิดความสุขอย่างลึกล้ำในตัวเองอย่างฉับพลัน และเห็นศักยภาพของตัวเองที่จะทำอะไรดีๆ

การศึกษาไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ที่การท่องวิชาหรือการสอนถ่ายทอดเนื้อหาวิชาอีกต่อไป

แต่การศึกษาคือการส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกพื้นที่ของชีวิต

ให้ทุกคนเป็นบุคคลเรียนรู้ ทั้งเรียนรู้ในฐานชีวิต เปลี่ยนตัวตั้งของการศึกษาจากเอาวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นการเอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนจากการเรียนรู้จากการท่องวิชามาเป็นเรียนรู้จากชีวิตจริงปฏิบัติจริง

นั่นคือการ เปลี่ยนฐานของการเรียนรู้ จากการเอาตำราเป็นฐาน

มาเป็นการเอาชีวิตจริงปฏิบัติจริง เป็นฐานของการเรียนรู้

ทั้งนี้มิได้หมายความว่าตำราไม่สำคัญ แต่ไม่ใช่ฐาน ตำราเป็นเครื่องประกอบเรียนรู้

ฐานของการเรียนรู้อยู่ที่ชีวิตจริงปฏิบัติจริง

นี้จะเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญที่สุดและมีผลลึกซึ้งที่สุด

คำโบราณกล่าวว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ" ซึ่งสอดคล้องกับการพบใหม่ของสิ่งที่เรียกว่า "เซลล์กระจกเงา" (Mirror neuron) ซึ่งเป็นเซลล์สมองที่เมื่อเห็นผู้อื่นทำจะสะท้อนเข้าไปในสมองของตัวเองที่ทำให้ทำได้เลย ฉะนั้นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเห็นผู้อื่นทำและการร่วมทำหรือลงมือทำ ไม่ใช่การบอกเล่าหรือท่องจำสิ่งที่คนอื่นบอกเล่า

ฉะนั้นการสอนโดยบอกเล่าหรือถ่ายทอดเนื้อหา (สิบปากว่า) จึงได้ผลน้อยที่สุดแต่เป็นการศึกษาที่เราทุ่มเทลงไปมากที่สุด

จึงเกิดความสูญเปล่ามากที่สุด

เราทุ่มเทกำลังคนทั้งประเทศไปในการสอนที่ได้ผลน้อย

เราทุ่มเทส่งคนไปเรียนเมืองนอกมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ จนกระทั่งบัดนี้ก็มีทุนการศึกษามากมาย ทั้งของรัฐและของพ่อแม่ ที่ส่งคนไทยไปเรียนต่างประเทศรวมทั้งทุนมูลนิธิ "อานันทมหิดล" ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้น แต่ไม่ว่าจะเรียนมาเก่งแค่ไหน ความเก่งก็ถูกดูดซับไปหมด ด้วยระบบการศึกษาที่เน้น "การสอน"แต่ไม่เน้นการปฏิบัติ

เมื่อกำลังในมหาวิทยาลัยถูกทุ่มเทไปในการสอนที่ได้ผลน้อยหมด การวิจัยก็มีน้อยมาก มหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถเป็นปัญญาที่พาชาติออกจากวิกฤต การวิจัยที่พอมีอยู่บ้างก็นำผลวิจัยไปสู่การสอน แทนที่จะไม่สู่การปฏิบัติคือการผลิต แล้วการสอนนั้นเป็นการสูญเปล่าเสียเป็นส่วนใหญ่ การวิจัยและผลการวิจัยจึงเข้าไปสู่สภาพสลาย แทนที่จะหมุนเวียนไปเพิ่มพลังยิ่งๆขึ้นเพิ่มประโยชน์ยิ่งๆขึ้น

นี้เป็นจุดตายทางวิชาการและทางการพัฒนาของไทย ที่จะต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ

รูปที่ ๒ (ก) แสดงวัฏฏะทางวิชาการวิชาการแบบหมุนลอยอยู่ในนภากาศสุญญากาศ คือการสอนที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ห่างไกลจากดิน คือชีวิตจริงปฏิบัติจริง สุญญากาศ คือมีความสูญเสียมากได้ผลน้อย ทุ่มอะไรๆใส่เข้าไปในวัฏฏะนี้ก็ไม่มีผลกลับมาคุ้มค่า นั้นคือระบบการศึกษาปัจจุบัน (ข) แสดงวัฏฏะวิชาการแบบดินสู่ฟ้า ฟ้าสู่ดิน ดินคือชีวิต


ปฏิบัติจริง นำผลและข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติจริงไปวิเคราะห์สังเคราะห์เป็นปัญญาที่สูงขึ้น (สู่ฟ้า) แล้วเอากลับลงมาใช้อีก (สู่ดิน) เป็นวัฏฏะทางวิชาการจากดินสู่ฟ้า ฟ้าสู่ดิน วนขึ้นวนลงรอบแล้วรอบเล่า แต่ละรอบจะทำให้การปฏิบัติดีขึ้นและปัญญาที่สูงขึ้นดีขึ้น การปฏิบัติดีขึ้นรวมถึงทำการผลิตได้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชกรรม หรือบริการ นั่นคือจุดคานงัดให้บ้านเมืองดีขึ้น

และถ้าเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ การเรียนรู้จะสนุกไม่น่าเบื่อ และบวกกับการวิจัยที่ทำให้การปฏิบัติดีขึ้น ได้ผลผลิตดีขึ้น เราก็จะสร้างนักวิชาการเก่งๆของเราขึ้นมาเองได้ และจากการที่วิชาการไปทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เราก็จะมีทรัพยากรมาสู่การศึกษาและการวิจัยของประเทศมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งทางปัญญา

ต่างจากการศึกษาที่มุ่งแต่การสอนโดยทำอะไรไม่เป็นที่ดูดซับเอาทรัพยากรและพลังของผู้คนทั้งประเทศไปสู่ความสูญเปล่า เพราะ "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ"

เพื่อให้เห็นภาพว่า การศึกษาของเราเป็นวงจรที่สูญเปล่าสูง ทำให้วิชาการไม่เข้มแข็ง เศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง จะขอแสดงด้วยภาพข้างล่างนี้

รูปที่ ๓ ในวงจรการศึกษาแบบปัจจุบัน กำลังของคณาจารย์ทั้งหมดทุ่มเทไปกับการสอนถ่ายทอดวิชา ที่มีความสุญเปล่าสูง เพราะจำไม่ได้ ทำไม่เป็น และไม่มีผลผลิต อาจารย์มีเวลาทำวิจัยน้อย ที่ทำบ้างได้ผลวิจัยก็นำไปสู่การสอนที่สูญเปล่าสูง แต่ไม่ได้นำไปสู่การผลิต ทำให้เศรษฐกิจก็อ่อนแอ วิชาการก็อ่อนแอ งบประมาณที่จะมาสู่การวิจัยก็มีน้อย เพราะประเทศยากจน คณาจารย์ถึงแม้เริ่มต้นอาจจะเก่งเพราะ


ไปเรียนมาอย่างดี แต่เมื่อตกเข้ามาสู่วงจรที่ความสูญเปล่าสูงในระบบการศึกษาไทย ก็ไม่สามารถดำรงความเข้มแข็งทางวิชาการไว้ได้ เราก็ยิ่งต้องส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้วยจำนวนมาก เสียเงินเสียทองของประเทศมหาศาล แต่เมื่อกลับมาทำงานก็เข้ามาอยู่ในวงจรที่ความสูญเปล่าสูง วงจรแห่งความสูญเปล่าก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ วิชาการอ่อนแอ


จึงควรแหวกวงจรนี้อออกไปสู้วงจรใหม่แห่งความสร้างสรรค์ (รูป ๔) โดยเปลี่ยนฐานการเรียนรู้จากการสอนถ่ายทอดวิชามาเป็นเรียนรู้จากการปฏิบัติให้ได้ผล การที่จะปฏิบัติให้ได้ผลนั้นต้องการความคิดพฤติกรรม และทักษะหลายอย่าง เช่น ต้องคิดถึงคนอื่น ต้องใช้ความรู้หลายแขนง ความรู้ที่มีอยู่ก็ยังไม่พอต้องสร้างความรู้ใหม่ บางเรื่องต้องการการวิจัยขั้นพื้นฐาน และต้องมีการจักการด้วยเสมอจึงจะเกิดความสำเร็จ

เรื่องที่จะปฏิบัติมีหลากหลายแตกต่างกัน ผู้เรียน สามารถ เลือกเรื่องที่ตัวชอบการได้ทำเรื่องที่ชอบทำให้มีความสุข และทำได้ดี การสนุกกับการทำงานทำให้ทำต่อเนื่องได้ยาวนานโดยไม่เบื่อไม่เซ็ง คนไทยเป็นคนขี้เบื่อขี้เซ็งเพราะการศึกษาแบบท่อง การเรียนรู้จากการทำงานจึงพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกนิสัยใจคอและพฤติกรรมไปด้วย

การปฏิบัติก็ต้องมี ผลจากการปฏิบัติ ถ้าผลออกมาดีจะช่วยบอกว่าทฤษฎีและการปฏิบัติถูกต้องแล้ว ถ้าไม่ได้ผลหรือผลออกมาไม่ดีจะช่วยบอกว่าทฤษฎี และผลปฏิบัติมีปัญหา จำเป็นต้องมีการปรับปรุง การเน้นที่การปฏิบัติและการได้ผลจากการปฏิบัติทำให้มีวงจรป้อนกลับ (Feed-back-loop) ที่จะปรับปรุงทฤษฏีและการปฏิบัติให้ถูกต้องตลอดเวลา ต่างจากการท่องหนังสือไปเรื่อยๆ

ผลของการปฏิบัติก็คือการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้จากการปฏิบัติจึงมีผลมหาศาลต่อการพัฒนาประเทศ ต่างจาการเรียนแบบท่องวิชาที่มีความสูญเปล่าสูง

อนึ่ง การศึกษาที่เน้นการสอนวิชา แต่ไม่ได้เน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติ มีผลต่อการกำหนดความรู้สึกนึกคิดของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลต่ออาจารย์ ต่อมหาวิทยาลัย ต่อประเทศชาติสูง กล่าวคืออาจารย์เอาวิชาที่ตนเองชำนาญเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอางานที่จะทำให้สำเร็จเป็นตัวตั้ง จึงมีทัศนะแยกส่วนไปตามวิชาของตนๆ และอาจยึดมั่นถือมั่นในเรื่องนั้นๆหรือถึงขั้นเอาตัวตนเป็นศูนย์กลางในเรื่องนั้นๆ มีการวิเคราะห์วิจารณ์สูง แต่ไปไม่ถึงการสังเคราะห์และจัดการ การจะทำอะไรให้สำเร็จต้องการการสังเคราะห์และจัดการ แต่อาจารย์เอาวิชาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาการทำให้สำเร็จเป็นตัวตั้งจึงไปไม่ถึงการสังเคราะห์และจัดการ การวิเคราะห์วิจารณ์โดยขาดการสังเคราะห์และจัดการทำให้ทะเลาะกันสูง มหาวิทยาลัยจึงเป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งสูงและขาดความสุขและความสร้างสรรค์จากการทำงานร่วมกัน คุณหมอกระแส ชนะวงศ์ เคยเล่าให้ฟังว่าภาควิชาที่ท่านทำงานมีอาจารย์ ๙ คน แบ่งเป็น ๘ พวก การสรรหาผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าภาควิชา หรือคณบดีมักจะนำไปสู่ความแตกแยกเสมอๆเคยมีอาจารย์ครึ่งภาควิชามาร้องเรียนสภามหาวิทยาลัยว่าไม่พอใจหัวหน้าภาควิชาที่สรรหามาได้ ฯลฯ

การคิดแบบวิเคราะห์วิจารณ์ที่ขาดการสังเคราะห์ อันนำไปสู่ความแตกแยกได้กระจายออกไปสู่สังคม โดยสื่อมวลชนมาเก็บเอาวิธีคิดและการสื่อสารแบบนี้ขยายตัวออกไป จนเป็นวิสัยในสังคมไทย ทำให้ทำอะไรให้สำเร็จได้ยาก

การทำอะไรที่ใหญ่และยาก เช่น ยกท่อนซุง ต้องการความร่วมมือของคนจำนวนมาก การปฏิบัติที่พยายามทำอะไรให้สำเร็จจะมาหล่อหลอมวิธีคิดของผู้คนให้ต้องคิดร่วมกัน แต่การคิดและวิจารณ์โดยไม่เคยลงมือทำ จะไม่แคร์ต่อความร่วมมือและความสำเร็จ จึงเป็นแรงระเบิดมากกว่าแรงผนึก

เรื่องอาชีพเข้ามากำหนดวิธีคิดนี้เห็นได้ทั่วไป แม้แต่อาชีพแพทย์ด้วยกันแต่ต่างสาขาก็มีวิธีคิดไม่เหมือนกัน เช่น ศัลยแพทย์ไม่ว่าจะเก่งทฤษฏีแค่ไหนก็ผ่าตัดไม่เป็นถ้าไม่อาศัยรุ่นพี่ช่วยฝึกให้ จึงมีความเคารพอาวุโสและความสามัคคีระหว่างกัน มากกว่าอายุรแพทย์ ซึ่งอาศัยความรู้มากกว่าทักษะ

การเรียนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งกับการเรียนรู้จากการปฏิบัติจึงให้ผลแตกต่างกว้างลึกยาวไกลยิ่งนัก

การปฏิรูปการศึกษาไทยที่น่าจะสำคัญที่สุดคือการปฏิรูปจากการศึกษาแบบท่องวิชา ไปสู่การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงได้ผลจริง


๔. ปฏิรูประบบการศึกษา

จากระบบแท่งไซโล สู่ระบบไตรภาคี

ได้มีการสร้างคำนิยมและใช้กฎหมายบังคับ ทำให้เกิดระบบการศึกษากระแสหลักที่เป็นประดุจแท่งไซโล คือ เรียนประถมศึกษาเพื่อไปสู่มัธยมศึกษาเพื่อไปสู่อุดมศึกษา หรือการศึกษาเพื่อปริญญา ถนนสายหลักการศึกษานี้ทำให้การจราจรคับคั่ง ก่อให้เกิดความบีบคั้นนานาประการ เช่น แย่งกันเข้าโรงเรียนดีๆ ต้องวิ่งเต้นเส้นสายเสียเงินพิเศษ การติวกลายเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องหมดเงินหมดทอง เด็กเกิดความเครียดมาก การศึกษากลายเป็นค้าแบบ "จ่ายครบจบแน่" ทำให้วิชาการอ่อนแอ ขณะเดียวกันการเรียนที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งทำให้คนที่จบมาจากการศึกษาแบบนี้ทำงานไม่เป็น ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ สร้างงานเองไม่เป็น นายจ้างก็ไม่ชอบ วิชาการก็ไม่เก่ง เป็นเหมือนประดุจคนพิการของสังคม ในขณะที่ไปเกณฑ์เด็กจากทุกชุนชนท้องถิ่นมาเข้าระบบการศึกษาแบบนี้ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาแบบนี้ต้องพรากจากชุมชนท้องถิ่น ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ

การศึกษาระบบแท่งไซโลจึงทำร้ายสังคม ทำร้ายเศรษฐกิจ และทำลายศักยภาพของผู้คนที่ควรจะมีโอกาสพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ จึงควรปฏิรูประบบการศึกษา จากระบบแท่งไซโลเป็นระบบไตรภาคี ดังนี้

  • ๑.การศึกษาเพื่อชีวิต
  • ๒.การศึกษาเพื่อสัมมาอาชีวะ
  • ๓.การศึกษาเพื่อวิชาการ
  • ทั้ง ๓ ภาคีไม่ได้แยกกันเด็ดขาด มีส่วนที่เกี่ยวกันและเลื่อนไหลถึงกัน ดังขยายความดังต่อไปนี้

(๑)ระบบการศึกษาเพื่อชีวิต – การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ
การพัฒนาอย่างบูรณาการของชุมชนท้องถิ่น คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงเป็นการพัฒนาที่สำคัญที่สุด การพัฒนาต่างๆจึงควรเป็นส่วนหนึ่งหรือสนับสนุนการพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ รวมทั้งการศึกษา ที่แล้วมาการศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ แต่ดึงผู้เรียนออกจากพื้นที่ไปเข้าแท่งไซโลการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ทำให้กลับไปอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ
ในการปฏิรูปการศึกษาต้องมีระบบการศึกษาเพื่อชีวิต หรือการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ หรือ การเรียนรู้ในชุมชน ขณะนี้ชุมชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยมีการรวมตัวกันของทุกภาคส่วนในชุมชน และพัฒนาทุกเรื่องเชื่อมโยงกันทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ – จิตใจ - สังคม- วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ – การศึกษา - ประชาธิปไตย เกิดเป็นสังคมสุขภาวะหรือสังคมศานติสุข คนในชุมชนเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของคนทั้งหมด ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก ทั้งชายและหญิง ประกอบด้วยผู้มีความรู้และทักษะอันหลากหลายทั้งความรู้ในการประกอบอาชีพ ศิลปวัฒนธรรม ศาสนธรรม และอื่นๆ ทุกคนเป็นทั้งครูและนักเรียน เป็นการเรียนรู้ที่สนุก เรียนง่ายได้ผลจริง
และชุมชนเป็นระบบศีลธรรม
เพราะเป็นระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม
การเรียนรู้ในชุมชนจึงเป็นการเรียนรู้ศีลธรรมไปในตัว สังคมข้างบนไม่มีที่อยู่ของศีลธรรม เพราะไม่ใช่ระบบการอยู่ร่วมกัน แต่เป็นเรื่องของอำนาจ เงิน รูปแบบมายาคติ และความฉ้อฉล การสอน วิชาศีลธรรมจึงไม่ได้ผล เพราะศีลธรรมไม่ใช่วิชา แต่คือระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
ฉะนั้นการศึกษาเพื่อชีวิตในชุมชนทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ควรจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นการศึกษากระแสหลัก การศึกษาเพื่อสัมมาชีพและสามัญศึกษาหรือการศึกษาเพื่อวิชาการ ก็ควรจะมีหลักสูตร ชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติ ที่ผู้เรียนเข้ามาใช้ชีวิตในชุมชนด้วย ในขณะเดียวกันผู้ที่ศึกษาเพื่อชีวิตในชุมชนก็ควรจะสามารถเชื่อมต่อไปเรียนในภาคสัมมาอาชีวศึกษาหรือสามัญศึกษาได้ด้วย การศึกษาทั้ง ๓ สาย ควรจะเชื่อมโยงและเลื่อนไหลถึงกัน ดังใน รูปที่ ๕ ซึ่งมี ๓ ห่วงที่เกี่ยวกันอยู่
(๒)สัมมาอาชีวศึกษา-อาริยศึกษา
ประเทศมาในทิศทางที่ผิด ที่ไปให้ความสำคัญแก่การศึกษาแบบท่องหนังสือหรือสามัญศึกษา มากกว่าการศึกษาสายอาชีพ และดูถูกอาชีวศึกษาว่าด้อยกว่า ในที่นี้จึงใช้คำว่า อาชีวศึกษา-อาริยศึกษาเพื่อยกคุณค่าของอาชีวศึกษา
อาชีวศึกษาคืออาริยศึกษา คือจุดคานงัดประเทศไทยและการศึกษาไทย
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการศึกษาในรอบ ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยอ่อนแอการศึกษาไทยอ่อนแอ
ความคิดการศึกษาเป็นความแบบแยกส่วน อะไรที่แยกส่วนจะนำไปสู้วิกฤตเสมอ
ที่ว่าแยกส่วนคือแยกว่าชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อีกอย่างหนึ่ง การศึกษาแยกไปเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ในทางพระพุทธศาสนานั้นชีวิตกับการศึกษาอยู่ที่เดียวกัน นั่นคือชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต
เราจัดระบบการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง จากประถมสู่มัธยมสู่อุดม แบบแท่งโซโล แล้วก็ออกกฎหมายบังคับให้เด็กทุกคนต้องมาเข้าแท่งไซโลการศึกษา ซึ่งคับแคบและแยกส่วนจากชีวิต การจราจรในแท่งไซโลการศึกษานี้หนาแน่นติดขัดบีบคั้น การศึกษาเลยกลายเป็นการค้าแบบ "จ่ายครบจบแน่" วิชาการก็อ่อนแอ ทำงานก็ไม่เป็น แต่หมดเปลืองมากทั้งเงินของพ่อแม่และงบประมาณของรัฐ แต่ผลิตคนที่พิการออกมาเพราะทำงานก็ไม่เป็น ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ วิชาการก็ไม่เก่ง
การสร้างค่านิยมสามัญศึกษาเพื่อไปเอาปริญญาทำให้ไม่เห็นคุณค่า หรือดูถูกอาชีวศึกษา นั่นคือจุดตายของประเทศไทยและของการศึกษาไทย
เพราะ สัมมนาอาชีโว เป็น ๑ในอริยมรรคมีองค์ ๘
การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เป็นบ่อเกิดของความร่มเย็นเป็นสุขและศีลธรรมอันดีงาม สัมมาชีพหมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเองไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ สัมมาชีพจึงเป็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม ศีลธรรม และสิ่งแวดล้อม หรือความเจริญโดยรอบ (บริพัฒนา) สัมมาอาชีวศึกษา จึงเป็นอาริยศึกษา
ที่ตำบลยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ย้อนหลังไป ๔๕ ปี เต็มไปด้วยความชั่วทุกชนิดมีลักขโมย เล่นการพนัน ยาเสพติด พระสอนเท่าไรๆก็ไม่หาย ต่อมาสมภารองค์ใหม่ คือพระครูสาครสังวรกิจ ส่งเสริมสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ปรากฏว่าความชั่วหายไปหมด
ในพระไตรปิฏก กูฏทันตสูตร พระพุทธองค์เล่าถึงเรื่องพระมหาวิชิตราชที่ปุโรหิตกราบฑูลให้ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม พาณิชกรรม และการรับราชการ (สมัยนั้นมี ๓ อาชีพ) ว่าแล้วบ้านเมืองของพระองค์จะร่มเย็นเป็นสุข โภคทรัพย์จะเกิดขึ้นในท้องพระคลัง เศรษฐกิจดีๆ ราษฎรจะไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ (ไม่มีการลักขโมย) จะยังบุตรไห้ฟ้อนอยู่บนอก (ครอบครัวอบอุ่น)
การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่จึงเป็นปัจจัยแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างศานติสุข ฉะนั้นอาชีวศึกษาจึงเป็นอาริยศึกษา หาใช้การศึกษาที่ต่ำช้ามาก
อาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เพราะชีวิตต้องมีทำงาน ต้องมีรายได้
การเรียนรู้จากการทำงานทำให้มีทางเลือกอันหลากหลาย เพราะคนเรามีความชอบและความถนัดไม่เหมือนกัน บางคนชอบงานเกษตร บางคนชอบงานช่าง บางคนชอบด้านศิลปะ บางคนชอบค้าขาย ฯลฯ ใครชอบอย่างไรให้ได้เรียนจากการทำงานในเรื่องนั้น การได้ทำในเรื่องที่ชอบจะทำให้มีความสุข และทำได้ดี ทุกคนจะกลายเป็นคนเก่งหมด ในทางที่ต่างกัน ต่างจากการเรียนที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งที่บังคับให้คนที่ต่างกันต้องมาเรียนเรื่องที่เหมือนๆกันหมด ทำให้บีบคั้น ไม่สนุก เรียนไม่ได้ดี และมี ๒-๓ คน เท่านั้นที่ท่องหนังสือเก่ง นักเรียนส่วนใหญ่กลายเป็นคนไม่เก่ง เป็นการเรียนที่กดความเป็นมนุษย์ให้ตกต่ำลง
อาชีวศึกษาทำให้เคารพความเป็นมนุษย์ คนมีอาชีพต่างๆจะเป็นครูอาชีวศึกษาได้ เช่น คนทำนาเก่ง คนเลี้ยงปลาเก่ง คนขายก๋วยเตี๋ยว ช่างเสริมสวย ช่างผสมปูน ฯลฯ คนเหล่านี้มีความรู้ในตัวเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ เป็นความรู้ที่ฝังแน่น เพราะได้มาจากประสบการณ์ที่ทำเรื่องนั้นจนชำนาญ สามารถสอนได้ ถ้าการศึกษาเคารพแต่ความรู้ในตำราคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีเกียรติ คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ แต่อาชีวศึกษาเคารพความรู้ในตัวคน คือใครที่ทำอะไรเป็นก็เป็นครูได้ เช่น ชาวนา ช่างไม้ ช่างผสมปูน คนขายของ ชาวบ้านที่ทำงานเป็นเหล่านี้จะภูมิใจในตัวเองว่าเราก็เป็นครูได้ และผู้เรียนเมื่อเรียนจากใครก็จะเคารพว่าคนนั้นเป็นครู การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนทั้งหลายคือศีลธรรมพื้นฐาน ในการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ชาวบ้านจะไม่มีเกียรติในอาชีวศึกษาชาวบ้านจะมีเกียรติ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติชาติจะเข้มแข็งได้อย่างไร ฉะนั้นอาชีวศึกษาถ้านิยมกันเต็มพื้นที่และทำได้ดี จะทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็งเพราะ ชาวบ้านมีเกียรติ เป็นศีลธรรมพื้นฐานของสังคม จึงกล่าวว่าอาชีวศึกษาเป็นอาริยศึกษา
อาชีวศึกษาเป็นการสร้างคุณค่าในงาน (work value) ประเทศที่จะเจริญต้องเป็นประเทศที่มีคุณค่าในงาน เช่น คนเยอรมัน ญี่ปุ่น อเมริกัน จีน แต่ไทยไม่มี มีแต่ดูถูกการทำงานเพราะค่านิยมแบบ "รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา" "ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน" "ขอให้ได้นั่งกินนอนกิน" การศึกษาของเราสร้างคนที่หยิบโหย่งขึ้นมาเต็มประเทศ แทนที่จะสร้างคนที่หนักเอาเบาสู้ ความนิยมในอาชีวศึกษาว่าเป็นอาริยศึกษา จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ เป็นวัฒนธรรมที่นิยมยกย่องนับถือคนที่ทำงาน เห็นว่าการทำงานเป็นของดี เห็นว่าชีวิตที่ลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ วัฒนธรรมใหม่จะทำให้เกิดความเจริญ
อาชีวศึกษาจะสร้างความสามารถในการจัดการ ภูมิปัญญาในการจัดการเกือนจะหายไปโดยสิ้นเชิงในสังคมไทย เพราะการศึกษาแบบท่องวิชาเป็นวิชาๆ ทำให้คนไทยทำอะไรสำเร็จได้ยากเพราะจัดการไม่เป็น การเรียนรู้จากการลงมือทำงานจะทำให้จัดการเป็น ไม่ว่าจะทำงานอะไรให้สำเร็จล้วนต้องการ การจัดการ เช่น เลี้ยงไก่ ขายของขำ ปลูกบ้าน
การทำงานเปลี่ยนวิธีคิด การเรียนโดยท่องวิชาเป็นวิชาๆทำให้ไม่คิดถึงคนอื่น แต่เอาทิฏฐิของตนเองเป็นที่ตั้ง คนไทยจึงทะเลาะกันสูง อาจารย์มหาวิทยาลัยก็แสนจะทะเลาะกันเก่งเพราะมีอหังการสูง การทำงานทำให้ต้องคิดถึงคนอื่น เพราะงานทำให้ต้องรับผิดชอบต่อคนอื่น หรืองานหลายอย่างจะสำเร็จได้ต่อเมือต้องร่วมมือกันทำ คนที่เรียนโดยท่องหนังสือกับเรียนจากการทำงานจะมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน การคำนึงถึงคนอื่นเป็นความเจริญ อหังการแบบเชิดหูชูหางไม่น่าจะเป็นวิถีอาริยะ
อาชีวศึกษากับการวิจัยและวัฒนธรรม การทำอาชีพจะมีเครื่องกระตุ้นให้หาวิธีทำที่ทุ่นแรง ประหยัด และได้ผลดีขึ้น ป้าที่ขายเห็ดนางฟ้าที่เพชรบุรีเห็ดเหลือต้องทิ้งไปเกิดความเสียดาย ตั้งคำถามว่าจะมีวิธีอะไรที่เก็บเห็ดไว้ได้ทนและกินอร่อย ก็พยายามทดลองเพื่อจะตอบโจทย์นี้ หนักเข้าพบวิธีทำ "เห็ดหยอง" ซึ่งเก็บทน กินอร่อย และขายดี นี้เป็นการค้นพบความรู้ใหม่ ความรู้ในการทำเห็ดหยองไม่เคยมีอยู่ในโลก แม่กิมลั้งที่เพชรบุรีเช่นกัน จนมากรายได้ไม่พอเลี้ยงลูก นั่งมองกล้วยทั้งเครือและถามว่าทำอย่างไรจะสร้างมูลค่าเพิ่ม ความพยายามตอบคำถามนี้ทำให้แม่กิมลั้งร่ำรวยเป็นเศรษฐี และเป็นผู้เห็นคุณค่าในการศึกษามาก บริจาคให้การศึกษาอยู่เสมอ ลุงคำป่วนที่อำเภอภูเรือปลูกไม้เมืองหนาวขาย ลุงแกเล่าว่าวิธีปลูกของแก่จะลองหลายวิธี แล้วเลือกวิธีที่ให้ผลดีกว่ามาทำต่อไป และทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แกมีวิธีที่ดีกว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเรียกว่าแกทำวิจัย ลุงคำป่วนรวยไม่รู้เรื่อง อาชีวศึกษาจึงไม่จำเป็นต้องจำเจอยู่อย่างเดิม แต่สามารถกระตุ้นให้มีการวิจัยและนวัตกรรมในงานได้มากทีเดียว และมีแรงจูงใจสูงที่จะทำให้อยากทำเช่นนั้น อาชีวศึกษากับการวิจัยควรจะเป็นของคู่กัน
ประโยชน์ของอาชีวศึกษายังมีอย่างอื่นๆอีก แต่เท่าที่กล่าวมาพอให้เห็นว่าทำไมจึงกล่าวว่าอาชีวศึกษาคืออาริยศึกษา
เพราะฉะนั้นควรส่งเสริมสนับสนุนให้อาชีวศึกษาเป็นการศึกษาพื้นฐานเต็มพื้นที่ คือทุกชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ทุกพื้นที่มีเป้าหมายสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ และมีอาชีวศึกษาเป็นเครื่องมือ โดยเป็นการศึกษาที่เปิดกว้าง สำหรับคนทุกเพศทุกวัย หลายหลาย ยืดหยุ่น และเชื่อมโยง โดยระดมสรรพกำลังทั้งมวลในพื้นที่เพื่ออาชีวศึกษา รวมผู้ประกอบอาชีพต่างๆปละสถานประกอบการ สถาบันการศึกษาทุกระดับและทุกประเภทควรสนับสนุนอาชีวศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีในสถาบันการศึกษาต่างๆ ควรจะนำให้สนับสนุนอาชีวศึกษาให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ มหาวิทยาลัยควรจะแข่งกันสร้างความเข้มแข็งให้แผ่นดินไทย มากว่าการไปคลั่ง World ranking ไม่ควรจะมาโฆษณาประชาสัมพันธ์กันในเรื่องนั้น แต่ควรจะประชาสัมพันธ์ว่าอาชีวศึกษา คืออาริยศึกษามากว่า อาชีวศึกษากันการศึกษาสายสามัญ และมหาวิยาลัยควรจะเชื่อมโยงและถ่ายเทถึงกันได้
เมื่ออาชีวศึกษาเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ การศึกษาเพื่อวิชาการก็จะไม่แออัดยัดเยียด บีบคั้นสิ้นเปลือง การศึกษาเลิกเป็นการค้าแบบ "จ่ายครบจบแน่" อยู่ในฐานที่จะสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการอย่างแท้จริงต่อไป และเราต้องการปฏิรูปการเรียนรู้ให้การเรียนรู้สามารถพัฒนาคนได้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
(๓)ระบบการศึกษาเพื่อวิชาการ-สามัญศึกษา
การศึกษาเพื่อวิชาการหรือสามัญศึกษา เดิมที่เคยแน่นขนัดและคุณภาพต่ำ ถ้าส่งเสริมระบบการศึกษาเพื่อชีวิตและอาชีวศึกษา ดังกล่าวข้างต้นให้เป็นระบบการศึกษาใหญ่ที่ดึงผู้เรียนจำนวนมากไปสู่ระบบทั้งสอง จะเหลือผู้เรียนในสายสามัญน้อย ไม่แออัด ยัดเยียด ไม่บังคับ ไม่เป็นการค้า และเปิดโอกาสให้พัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการ
ควรปฏิรูปการเรียนรู้มาสู่ฐานการปฏิบัติ นวัตกรรม และการวิจัย
ควรมีหลักสูตรชุมชนภาคปฏิบัติ
ควรมีการส่งเสริมการศึกษาปริญญาตรี ทาง Liberal Arts หรือ สรรพศาสตร์ศึกษา ให้ผู้เรียนรู้เชื่อมโยง ทั้งวิทยาศาสตร์-สังคมศาสตร์-มนุษย์ศาสตร์-และการจัดการ ซึ่งในอนาคตควรจะเข้ามาแทนที่ การศึกษาปริญญาตรีที่แยกเป็นทางวิทยาศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์หรือมนุษย์ศาสตร์ แบบแยกส่วน
การวิจัยในมหาวิทยาลัยควรมีส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับการผลิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยการกำหนดให้มีอย่างน้อย ๑ มหาวิทยาลัยที่ทำงานกับพื้นที่ ๑ จังหวัด


๕.

การปฏิรูปการเรียนรู้


มนุษย์มีความเป็นพิเศษ ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ นี่คือคุณค่าสูงสุด และอาจกล่าวว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของความเป็นมนุษย์ การศึกษาที่ดีคือการส่งเสริมคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์นี้

การศึกษาที่เน้นการถ่ายทอดและท่องจำเนื้อหาวิชา ไม่ใช่การพัฒนาการเรียนรู้ให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ อาจไปจำกัดศักยภาพอันสูงสุดของความเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ จึงควรมีการปฏิรูปการเรียนรู้

โดยมีโจทย์ว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาคนให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์นั้นคืออย่างไร

ขณะนี้มีการตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมการเรียนรู้หรือการปฏิรูปการเรียนรู้กันทั่วโลก ในแง่มุมและในชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น

Brain-based learning โดยจัดการเรียนรู้ให้เหมาะกับสภาพของสมองในแต่ละช่วงวัย

21st Century Skill learning

Work-based learning

Transformative education

ฯลฯ

เราควรวิจัยค้นคว้าให้รู้หมดว่าโลกรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ดี เอามาวิเคราะห์สังเคราะห์ว่าในบริบทของวัฒนธรรมไทย กระบวนการเรียนรู้ที่ดีควรจะเป็นอย่างไรและทดลองทำดู และทำการวิจัยว่ากระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่ทดลองทำนั้นได้ผลมากน้อยเพียงใด และปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ในการนี้ต้องการเครื่องมือดังต่อไปนี้

สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ระดับชาติ

สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ในระดับจังหวัดทุกจังหวัด

มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยควรมีโครงสร้างปฏิรูปการเรียนรู้ โดยระดมอาจารย์และนักวิชาการจากทุกคณะและสถาบันที่สนใจเรื่องการเรียนรู้เข้ามาตอบโจทย์ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์คืออย่างไร ความพยายามตอบโจทย์นี้จะสร้างอาจารย์จากคณะและสถาบันต่างๆขึ้นมาจำนวนหนึ่ง สมมติว่า ๕๐-๖๐ คน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเรียนรู้ เครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ จะเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างน้อย ๓ อย่าง คือ (๑) ปฏิรูปการเรียนรู้ในทุกคณะและสถาบันในมหาวิทยาลัย (๒) จัดหลักสูตรปริญญาตรี Liberal Arts (๓) ช่วยปฏิรูปการศึกษานอกมหาวิทยาลัย เช่น การส่งเสริมสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ประจำจังหวัด


ไตรยางค์แห่งการเรียนรู้


ขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับไตรยางค์หรือองค์ ๓ แห่งการเรียนรู้

กระบวนการเรียนรู้น่าจะมีองค์ ๓ เข้ามาประกอบกัน คือ

วัฒนธรรม + วิทยาศาสตร์ + จิต

(๑) วัฒนธรรมเป็นฐานของการเรียนรู้ วัฒนธรรมหมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนอันสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ หรือระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรมจึงสำคัญที่สุด เป็นการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่นๆทั้งหมด เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริงปฏิบัติจริง เพื่อการทำเป็น อยู่ร่วมกันเป็น และเป็นการเรียนรู้ศีลธรรมไปในตัว เพราะศีลธรรมเป็นระบบการอยู่ร่วมกัน การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรมเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิต เป็นการเรียนรู้ที่ง่ายและสนุกกว่าการเรียนรู้ในฐานวิชาการ


(๒) กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือกระบวนการของการใช้เหตุผล การวิเคราะห์สังเคราะห์จากประสบการณ์หรือสิ่งที่สังเกตพบให้เป็นความรู้ที่สูงขึ้นหรือความเข้าใจที่ลึกขึ้น อาจเรียกว่าการวิจัย เพราะมีการสร้างความรู้ใหม่ การวิจัยกับการเรียนรู้ไม่แยกออกจากกัน แต่อยู่ในกันและกัน ในการเรียนรู้ที่ดีจะมีการวิจัยอยู่ด้วยเสมอ ดังจะเห็นได้จากกระบวนการ ๑๒ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

๑.ฝึกสังเกต

๒.ฝึกบันทึกจากการสังเกต

๓.ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุมกลุ่ม

๔.ฝึกการฟังจากการพูด การให้ข้อมูล หรือข้อคิดเห็นจากคนอื่น (คนฟังมากเขาเรียกว่าพหูสูต)

๕.ฝึกปุจฉาวิสัชนาให้เกิดความกระจ่าง

๖.ฝึกตั้งสมมติฐานจากข้อมูลทั้งหมดว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเกิดจากอะไร อะไรมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์อย่างไร ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์อันนั้น

๗.ฝึกตั้งคำถาม

๘.ฝึกแสวงหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ

๙.ถ้าไม่พบคำตอบ แต่คำถามยังอยู่ แปลว่าไม่มีความรู้นั้นอยู่ในโลก ต้องทำการวิจัยให้ได้คำตอบ ซึ่งเป็นการสร้างความรู้ใหม่

๑๐.ทำความรู้ที่ได้มาบูรณาการกับความรู้ความเข้าใจในมิติอื่นๆ เพื่อให้เข้าใจทั้งหมดหรือองค์รวม จากความรู้จึงกลายเป็นปัญญา

๑๑. นำปัญญากลับไปใช้ทำให้งานได้ผลดีขึ้น

๑๒. ถ้าเป็นไปได้ควรจะเขียนประสบการณ์และความรู้ใหม่ที่สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของ

ส่วนรวม

๑๒ ขั้นตอนนี้คือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (ไม่ใช่วิชาวิทยาศาสตร์) ที่ควรใช้กับทุกเรื่อง เมื่อใช้แล้วทำให้ฉลาดขึ้นและทำงานได้ผลดีขึ้น และน่าจะทำให้ศีลธรรมดีขึ้น เพราะกระบวนการแห่งเหตุผลต้องใช้สมองส่วนหน้า (ตรงหลังหน้าผาก) และสมองส่วนที่ทำให้เกิดศีลธรรมก็อยู่ตรงหลังหน้าผาก ศีลธรรมหรือความถูกต้องเกิดจากความเป็นเหตุเป็นผล ความไม่มีศีลธรรมเกิดจากการขาดเหตุผลที่ถูกต้อง

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ควรจะเป็นวิถีชีวิต เพราะควรจะอยู่ในวิถีชีวิตทุกเรื่องและทุกขึ้นตอน และในกระบวนนี้มีการวิจัยอยู่ด้วย การวิจัยก็กลายเป็นวิถีชีวิต

จากนี้จะเห็นว่า ทำไมการเรียนรู้จึงเป็นวิถีชีวิต กระบวนการวิทยาศาสตร์เป็นวิถีชีวิต การวิจัยเป็นวิถีชีวิต

(๓) จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่ทำให้เกิดปัญญารู้เท่าทันจิตของตนเอง การศึกษาอื่นๆทั้งหมดนั้นไม่ทำให้ผู้เรียนรู้เท่าทันจิตใจของตนเอง จึงสลัดโลภะ โทสะ โมหะไม่ได้ หรือกลับทำให้อกุศลมูลเหล่านั้นเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เป็นเหตุให้ก่อทุกข์ให้ตนเองและต่อกันและกัน ยังให้เกิดความยุ่งเหยิงในโลก อวิชชาหรือความไม่รู้เป็นเหตุปัจจัยของโลภะ โทสะ โมหะ การเรียนรู้ให้กำหนดรู้จิตของตนเอง หรือการเจริญสติทำให้เกิดปัญญา หรือวิชชาเพื่อความเบาบาง หรือสิ้นไปของโลภะ โทสะ โมหะ การเจริญสติเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ที่วิเศษ ผู้รู้แต่โบราณได้พรรณนาคุณของการเจริญสตินานาประการ การวิจัยด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการถ่ายภาพสมอง (Brain image) ด้วยเครื่องมือ เช่น MRI, PET พบว่า การเจริญสติมีผลต่อสุขภาพและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง คนที่มีประสบการณ์จะพบด้วยตนเองว่าการเจริญสติทำให้เกิดอิสรภาพ ความสุข ประสบความงาม และเกิดความรักอันไพศาล เป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกัน รวมเรียกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตน (Transformation)

มีหนทางมากมาย (พหุบท) ในการเจริญสติ ไม่ว่าทางการออกกำลังกาย ในทางศิลปะ ในการทำงาน ในการช่วยเหลือผู้อื่น จากการสัมผัสกับธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ทะเล ทะเลทราย ท้องฟ้า หรือการภาวนา ซึ่งรวมเรียกว่าจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative education)

เป็นมนุษย์ควรรู้จักการเรียนรู้จากการเจริญสติ

องค์ ๓ แห่งการเรียนรู้ คือ การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม กระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือกระบวนการแห่งเหตุผล และจิตตปัญญาศึกษาประกอบกัน น่าจะเป็นการเรียนรู้โดยรอบด้านที่ค่อนข้างสมบูรณ์และเป็นทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเป็นการเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่งของ ๑ ใน ๓ ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่เอียงข้างและไม่รอบด้าน

จึงนำเสนอองค์ ๓ หรือไตรยางค์แห่งการเรียนรู้ฝากไว้ให้พิจารณา


๖.

ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้


สมัยปัจจุบันมีเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่มากมาย ที่มีความรวดเร็วในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ทั่วทั้งโลก และการสื่อสารระหว่างกันแบบฉับพลันทันที โลกสมัยนี้จึงต่างจากสมัยโบราณโดยสิ้นเชิง ที่ผู้คนไม่รู้ถึงกันและเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลความรู้ จึงควรใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของคนทั้งมวล เช่น

(๑) ทำระบบข้อมูลความรู้ในตัวคนของคนทั้งหมด (Human mapping) กล่าวคือในตัวคนแต่ละคนมีความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่ฝังแน่นอยู่ อันได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน เป็นความรู้ที่มีคุณค่าและมูลค่ารวมทั้งให้คุณค่าแก่คนแต่ละคน ควรมีการค้นความรู้ในตัวคนทุกคนบนแผ่นดินไทย แล้วเอามาเข้าระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ คนที่จะค้นข้อมูลในตัวคนแต่ละคนนี้คือนักศึกษา ถ้ามหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติ โดยให้นักศึกษาลงไปทำงานในชุมชนคนละประมาณ ๓ เดือน งานอย่างหนึ่งคือไปถอดความรู้จากชาวบ้านแต่ละคนในชุมชน งานนี้นอกจากจะได้ระบบข้อมูลความรู้ในตัวคนไทยทุกคน อันเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างมหาศาล และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแล้ว ประเทศไทยจะเปลี่ยน เพราะเดิมเราไม่เห็นคุณค่าของความรู้ในตัวคน ชาวบ้านจะรู้สึกไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี แต่ในเมื่อความรู้ความชำนาญในตัวเขาไปปรากฏในระบบข้อมูลแห่งชาติ เขาจะรู้สึกมีเกียรติและอยากทำเรื่องดีๆเพิ่มขึ้น การที่คนทั้งประเทศมีเกียรติประเทศจะแข็งแรง อนึ่งนักศึกษาที่ไปค้นความรู้ในตัวชาวบ้านจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวเอง เดิมไม่เห็นว่าชาวบ้านมีเกียรติ อันเป็นมายาคติ ครั้นไปตั้งใจฟังจากชาวบ้าน การที่เราตั้งใจฟังใครเป็นการแสดงว่าเราเคารพเขา จะเกิดการปลดปล่อยตัวเองไปเป็นอิสระ อิสระจากมายาคติ ไม่สู่ความจริงว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ กระบวนการนี้จะปลดปล่อยพลังมหาศาลออกมาทั้งจากทางชาวบ้านและทางนักศึกษา และจะเกิดความรักซึ่งกันและกันมาก ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

(หมายเหตุ : ความคิดนี้ผมเคยเสนอคุณทักษิณเมื่อท่านเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ และขอคุยกับผมเป็นส่วนตัว)

(๒) มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยทำศูนย์ความรู้ (Knowledge Center) โดยมีนักวิชาการที่มีความสามารถทางวิชาการสูงทำการตรวจสอบความรู้ให้ได้ความรู้ที่มีความแม่นยำ และมีประโยชน์ต่อประชาชน และจัดให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ที่เป็นประโยชน์โดยกว้างขวาง (หมายเหตุ : มีขยะความรู้ที่ไม่จริงและมีโทษต่อประชาชนสื่อกันอย่างกว้างขวาง ทิ้งให้ประชาชนหลงผิดและเอาเงินประชาชนไป เป็นการปล้นสมัยใหม่ ซึ่งมีอย่างกว้างขวางยิ่ง) มหาวิทยาลัยใช้เงินภาษีอากรของประชาชนควรจะตอบแทนประชาชนด้วยความจริงที่มีประโยชน์ ซึ่งถ้าทำกันอย่างกว้างขวาง ประชาชนจะประหยัดเงิน ประหยัดชีวิต มีสติปัญญา และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

(๓) คนไทยทุกคนสามารถพบครูดีผ่านทางการสื่อสาร การได้พบครูดีสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้เรียนโดยสิ้นเชิง ในสมัยโบราณเป็นไปไม่ได้ที่คนทุกคนจะมีโอกาสพบครูดี แต่สมัยนี้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ คนทุกคนสามารถพบครูดีได้ ถ้ามีการจัดการที่ดี ฉะนั้นจึงควรมีองค์กรจัดการยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ ที่เป็นอิสระและมีความสามารถสูง จัดการให้ทราบว่ามีครูสอนดีเรื่องอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง และเชิญทำการสอนผ่านสื่อ ซึ่งสามารถจัดทำในทุกรูปแบบ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ วิดีโอ ออนไลน์ ซึ่งสามารถใช้เรียนรู้ในห้องเรียนก็ได้ เป็นกลุ่ม หรือเป็นส่วนตัวก็ได้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่คนทั้งประเทศมีโอกาสได้พบกับครูสอนดี เป็นโอกาสของการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่

(๔) การร่วมเรียนรู้ของคนทั้งปวง (Interactive learning for all) สมัยนี้ผู้คนมีการสื่อสารกันไปมามากมาย ถ้ามีการจัดการเชิงระบบ รวบรวมสิ่งที่มีการสื่อสารกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เช่น เรื่องบ่น หรือร้องทุกข์บริการสาธารณะ หรือบริการของข้าราชการ เรื่องเสนอข้อคิดเห็น หรือเรื่องเล่าประสบการณ์ที่มีประโยชน์ ฯลฯ แล้วนำเรื่องเหล่านี้ไปสู่ผู้เกี่ยวข้องให้จัดการแก้ไข หรือเพื่อให้เกิดกำลังใจ หรือเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดให้เรื่องนั้นๆดีขึ้น ก็จะเป็นการพัฒนาปัญญาร่วม (Collective wisdom) ได้โดยรวดเร็ว

(๕) การสร้างวิธีคิดและจิตสำนึกใหม่ ที่ประเทศไทยติดหล่มและวิกฤตอยู่ทุกวันนี้ลึกๆแล้วเป็นเพราะวิธีคิดและจิตสำนึก วิธีคิดและจิตสำนึกของคนไทยเป็นจิตเล็กแบบโบราณไม่เข้ากันกับที่ขณะนี้เราเป็นสังคมใหญ่เชื่อมโยงและซับซ้อน จิตเล็กนั้นเอาตัวเองและพวกเป็นตัวตั้ง ขัดแย้งและวิวาทกับคนอื่นสูง เราจึงทะเลาะกันมากแทนที่จะร่วมมือกัน เราถูกสอนให้เกลียดเพื่อนบ้าน ไอ้ลาว ไอ้พม่า ไอ้เขมร ไอ้ญวน ไอ้แขก ล้วนแต่ไม่ดี เราจึงไม่สามารถใช้โอกาสในสถานะที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ เป็นผู้นำที่จะผนึกกำลังสุวรรณภูมิหรืออาเซียน ซึ่งมีประชากรใหญ่รวมกัน ๖๐๐ ล้าน ใหญ่เป็น ๒ เท่าของสหรัฐอเมริกา และมีบรรพบุรุษร่วมกัน ถ้ารักกันและผนึกกำลังกัน จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสันติภาพ ถ้าประเทศไทยจะมีพลังที่ก้าวไปข้างหน้าด้วยดีจะต้องปฏิรูปจิตเล็กให้เป็นจิตใหญ่ มีวิธีคิดใหม่ ที่มีความเป็นเหตุเป็นผล เข้าถึงความจริงที่ใหญ่กว่าตัวเองและพวกของตัวเอง เลยจากการวิเคราะห์ไปถึงการสังเคราะห์และการจัดการ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในการนี้ต้องการนวัตกรรมการสื่อสาร ต้องมีผู้ที่เข้าใจวิธีคิดและจิตสำนึกของคนไทย มาคิดสารที่มีเสน่ห์โดนใจผู้คน และพาไปสู่วิธีคิดและจิตสำนึกใหม่ที่เหมาะกับการอยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่ที่เชื่อมโยงและซับซ้อน

สารที่มีเสน่ห์และโดนใจผู้คนที่ผู้รับต้องการส่งต่อๆกันไปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและจิตสำนึก เกือบจะเป็นวิธีเดียวที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในสังคมไทย จึงควรมีการทำเรื่องนี้อย่างเข้มข้นจริงจังให้ได้ผลในเวลามิชักช้า

การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ยังมีอย่างอื่นๆได้อีกมาก แต่เท่าที่ยกตัวอย่างมาคงพอให้เห็นว่ายุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้มีประโยชน์มากเพียงไร แต่จะทำได้ต้องมี องค์กรบริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ที่มีความสามารถสูง


๗.

ปฏิรูประบบบริหาร

จัดการการศึกษา


ระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจกับการศึกษาไม่เข้ากัน

เพราะระบบรวมศูนย์อำนาจคือการควบคุม แต่การศึกษาคือความงอกงามอย่างหลากหลายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ กระถางบอนไซกับป่าใหญ่ตามธรรมชาติที่ประกอบด้วยสรรพชีวิตนานาพรรณ

กระทรวงศึกษาธิการจึงเทอะทะเต็มไปด้วยกลไกการควบคุม และแรงจูงใจอยู่ที่การไปเป็นผู้บริหารการศึกษาที่มีเป็นหมื่นๆคน มากกว่าที่จะเป็นครูที่ดี ซึ่งเป็นแรงจูงใจไปในทางการมีอำนาจมากกว่ามีปัญญา

ระบบบริหารจัดการการศึกษาต้องเปลี่ยนจากระบบควบคุมเป็นระบบส่งเสริมความงอกงามอันหลากหลาย ซึ่งน่าจะมีดังต่อไปนี้

(๑.)ปรับบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการจากการรวมศูนย์อำนาจและควบคุม เป็นบทบาทการสนับสนุนทางนโยบายและทางวิชาการ ให้บุคคลและองค์กรอื่นๆทั้งหมดมีบทบาทในการจัดการการศึกษา (All for education)

(๒.)ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการระดมทรัพยากรทั้งมวลทั้งในพื้นที่และจากนอกพื้นที่ เพื่อจัดการการศึกษาอย่างหลากหลายเพื่อคนทั้งมวลในพื้นที่ (Education for All) อย่างสอดคล้องกับสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่รวมเรียกว่าภูมิสังคม อันแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ให้จังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สามารถแก้ปัญหา และพัฒนาอย่างบูรณาการเกิดความยั่งยืน

อาจมีสภาการศึกษาจังหวัดซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน เข้ามารวมตัว ร่วมคิดร่วมทำ เพื่อระดมทรัพยากรทั้งมวลเพื่อการศึกษาของคนทั้งหมดในจังหวัด (Education for All และ All for Education)

(๓.)ให้มีมหาวิทยาลัยอย่างน้อย ๑ แห่ง ที่สนับสนุนความเข้มแข็งทางวิชาการของพื้นที่ ๑ จังหวัด โดยให้มีวิธีการทางงบประมาณให้เป็นไปตามนี้

(๔.)ให้มีการปฏิรูปการเรียนรู้ให้คนไทยทุกคนได้พบกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สามารถพัฒนาคนได้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้เป็นเครื่องมือใน ๓ ระดับ คือ

สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ระดับชาติ

สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง

สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัดในทุกจังหวัด

(๕.)ให้มีการจัดตั้งองค์กรบริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ เป็นองค์กรอิสระที่มีสมรรถนะสูง สามารถจัดการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของคนทั้งมวลทุกประเภทให้ได้ผลโดยกว้างขวางและรวดเร็ว

(๖.)มีการออก พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษาที่กำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ ระบบ วิธีการ และเครื่องมือในการปฏิรูปการศึกษา เนื่องจากกระทรวงศึกษาเป็นระบบที่รวมศูนย์อำนาจมานานและมีวัฒนธรรมเช่นนั้น ซึ่งไม่สามารถใช้ในการปฏิรูปได้

การปฏิรูปให้สำเร็จต้องการ "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" คือ

หนึ่ง การสร้างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป

สอง การเชื่อมโยงกับการเรียนรู้และบทบาททางสังคม

สาม อำนาจรัฐที่เข้ามาเชื่อมโยงกับหนึ่งและสอง


ในการจัดการ "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ต้องการองค์กรอิสระที่มีความสามารถในการเชื่อมโยง การสร้างความรู้ การเคลื่อนไหวสังคม และบทบาทของอำนาจรัฐที่จะเข้ามาร่วมเรียนรู้และปฏิบัติ

องค์กรที่จะทำหน้าที่นี้ ถ้าเป็นองค์กรทางราชการจะทำหน้าที่ไม่ได้ เพราะองค์กรทางราชการคุ้นเคยกับการใช้อำนาจ องค์กรนี้เข้าลักษณะที่เรียกว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา โดยที่ใน ๓ ปีกว่าที่ผ่านมามีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานคนที่ ๑ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นรองประธานคนที่ ๒ สสค.ได้วิจัยมีข้อมูลและความรู้เชิงระบบของระบบการศึกษาพอสมควร และได้ทดลองปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้จังหวัดเป็นฐานใน ๑๐ กว่าจังหวัด อาจปรับ สสค. เป็นองค์กรตามกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา ระบบการศึกษามีเรื่องที่ต้องการพัฒนาอีกมาก เช่น ระบบการเงินในการศึกษา ถ้าทำระบบการเงินให้ดีจะมีผลต่อพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งสถานศึกษาและครู ทำนองเดียวกับที่ทางด้านสาธารณสุขที่ได้สร้าง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ถ้าจะมี สปสช.ทางการศึกษา ซึ่งเรารู้ว่าดีแต่ทำไม่ได้เพราะเราขาดคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการเงินกับการศึกษา การมีสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา จึงมีความจำเป็นเพื่อสร้างความรู้และสร้างคนที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษา ซึ่งต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


๘.

สรุป


การศึกษาเป็นระบบที่ใหญ่มากและควรจะเชื่อมกับทุกมิติของการพัฒนา จึงควรจะเป็นพลังที่เป็นประดุจคาดงัดของประเทศไทย ที่ยกประเทศให้พ้นจากการติดหล่มสภาวะวิกฤตไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริง แต่การณ์ก็มิได้เป็นเช่นนั้น มีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้งแล้ว แต่การศึกษาก็ยังแก้ไขวิกฤตในตัวเองไม่ได้ แต่ไม่ช่วยให้ประเทศหายวิกฤต

ฉะนั้นในการปฏิรูปการศึกษาคราวนี้ไม่ควรมองเฉพาะที่ปลายเหตุ เช่น ครูไม่เก่ง นักเรียนสอบได้คะแนนไม่ดี แต่ควรมองโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้น คือ วิกฤตของการศึกษาไทยทั้งระบบ และวิกฤตประเทศไทยเชื่อมโยงกัน และปฏิรูปการศึกษาให้เป็นดุจคานงัดประเทศไทย ในบทความนี้ได้เสนอการปฏิรูป ๕ เรื่อง หรือเบญจปฏิรูป คือ

๑.ปฏิรูปแนวคิดการศึกษา

๒.ปฏิรูประบบการศึกษา

๓.ปฏิรูปการเรียนรู้

๔.สร้างยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้

๕.ปฏิรูประบบบริหารจัดการการศึกษา

ปฏิรูปแนวคิดการศึกษา จากการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งเป็นการศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้งที่เน้นการเรียนรู้จากชีวิตจริงปฏิบัติจริง แนวคิดการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งเป็นแนวคิดอาณานิคม เกิดขึ้นจากมหาอำนาจยุโรปมาล่าอาณานิคม ทำให้เกิดการศึกษาแบบ "ต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย" ซึ่งกลายเป็นวิสัยของการศึกษาไทยที่เน้นการสอนถ่ายทอดเนื้อหาวิชา ไม่ได้เน้นการเรียนรู้จากความจริงของชีวิตและการปฏิบัติ การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งที่ดำเนินมากว่า ๑๐๐ ปี ทำให้คนไทยไม่รู้จักประเทศไทย ทำอะไรไม่เป็น อ่อนแอทางวิชาการ เป็นการศึกษาที่มีความสูญเปล่าสูง ประเทศไทยได้ทุ่มทรัพยากร กำลังคน และเวลาอย่างมหาศาลไปในการศึกษาที่มีความสูญเปล่าสูง จึงอ่อนแอทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ถ้าจะให้การศึกษาเป็นจุดคานงัดของประเทศต้องปฏิรูปแนวคิดการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไปสู่การเรียนรู้จากชีวิตจริงปฏิบัติจริงให้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนา เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-ประชาธิปไตย อย่างบูรณาการพร้อมกันไป

ปฏิรูประบบการศึกษา จากระบบกระแสหลักที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งหรือสายสามัญ ซึ่งเป็นแบบแท่งไซโลจากประถมไปมัธยมไปอุดม ซึ่งทำให้การจราจรการศึกษาแน่นขนัดยัดเยียดบีบคั้นกลายเป็นการค้า และคุณภาพต่ำ แตกออกไปเป็น ๓ ระบบคือ (๑)การศึกษาเพื่อชีวิต (๒)การศึกษาเพื่อสัมมาอาชีวะ (๓)การศึกษาเพื่อวิชาการหรือสามัญศึกษาเดิม โดยส่งเสริมให้การศึกษาเพื่อชีวิตและการศึกษาเพื่อสัมมาอาชีวะเป็นกระแสกหลัก เหลือคนจำนวนน้อยที่เข้าการศึกษาเพื่อวิชาการ เพื่อเปิดโอกาสให้สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ โดยให้ทั้ง ๓ ระบบ เชื่อมโยงเลื่อนไหลถึงกันได้ ระบบการศึกษาแบบใหม่ที่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและการสร้างสรรค์จะทำให้ประเทศเข้มแข็งทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการ

ปฏิรูปการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ผ่านมาเน้นการสอนถ่ายทอดและท่องวิชาซึ่งพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ได้น้อยมากหรือจำกัดศักยภาพของมนุษย์ ในความเป็นมนุษย์ที่สำคัญที่สุดคือศักยภาพในการเรียนรู้ มนุษย์สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ คนทุกคนควรมีโอกาสได้พบกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดที่พัฒนาเขาให้เต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ จึงควรมีการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งประเทศ โดยมีการสร้างเครื่องมือเพื่อการนี้

สร้างยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่มีความเป็นไปได้ที่คนทั้งหมดจะมีการเรียนรู้ที่ดีได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ จึงควรมีเครื่องมือทางยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ที่มีสมรรถนะสูง

การบริหารจัดการระบบการศึกษา ที่ผ่านมาใช้ระบบราชการซึ่งรวมศูนย์อำนาจและเน้นการควบคุมซึ่งตรงข้ามกับธรรมชาติของการศึกษา ซึ่งเป็นความงอกงามอย่างหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด จึงควรปฏิรูประบบการบริหารจัดการการศึกษาจากการรวมศูนย์อำนาจเป็นกระจายอำนาจ จากระบบควบคุมเป็นระบบส่งเสริมความงอกงามอย่างหลากหลาย กระทรวงศึกษาธิการควรปรับบทบาทไปเป็นสนับสนุนเชิงนโยบายและวิชาการ ควรมีสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาที่เป็นอิสระเป็นเครื่องมือในการปฏิรูป ควรมีการออก พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา เพื่อการปฏิรูปดังกล่าวข้างต้น พร้อมทั้งสร้างเครื่องมือที่จะบริหารยุทธศาสตร์การปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง

ดูภาพประกอบบทความได้ ที่นี่


หมายเลขบันทึก: 582331เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณอาจารย์หมอมากเลยครับที่นำผลงานเขียนอาจารย์หมอประเวศ วะสีมาให้อ่า

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท