คำกริยาและคำช่วยกริยา


คำกริยา

คำกริยา คือ คำที่เป็นส่วนหลักของกริยาวลีซึ่งเป็นหัวใจของประโยค คำกริยามี ๒ ประเภท คือ ประเภทที่มีหน่วยกรรมกับประเภทที่ไม่มีหน่วยกรรม

คำกริยาที่มีหน่วยกรรมได้แก่คำกริยาสกรรมและคำกริยาทวิกรรม

ส่วนกริยาประเภทที่ไม่มีหน่วยกรรมได้แก่คำกริยาอกรรม คำกริยาคุณศัพท์ คำกริยาต้องเติมเต็ม คำกริยานำและคำกริยาตาม

๑. คำกริยาที่มีหน่วยกรรม

๑.๑ คำกริยาสกรรม คือคำกริยาที่มีนามวลีตามหลัง นามวลีนั้นทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรม เช่น กิน ฟัง อ่าน เกี่ยว ในตัวอย่างต่อไปนี้

ฉันกินขนม

พ่อฟังข่าว

น้องอ่านหนังสือ

ชาวนาเกี่ยวข้าว

นามวลี ขนม ข่าว หนังสือ ข้าว ทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรมของคำกริยาสกรรม กิน ฟัง อ่าน เกี่ยว ตามลำดับ

๑.๒ คำกริยาทวิกรรม คำกริยาที่มีนามวลี ๒ นามวลีตามหลัง นามวลีแรกทำหน้าที่กรรมตรง ส่วนนามวลีที่ ๒ ทำหน้าที่กรรมรอง เช่น สอน ป้อน ให้ แจก อบรม ในตัวอย่างต่อไปนี้

เขาสอนภาษาไทยเด็ก ๆ

พี่ป้อนข้าวให้น้อง

แม่แจกเงินให้ลูก

ผบ.ตร.แจกรางวัลตำรวจดีเด่น

อาจารย์ใหญ่อบรมมารยาทนักเรียน

นามวลีแรก คือ ภาษาไทย ข้าว เงิน รางวัล มารยาท ทำหน้าที่เป็นกรรมตรงของคำกริยา สอน ป้อน ให้ แจก อบรม ตามลำดับ ส่วนนามวลีที่ ๒ คือ เด็ก ๆ น้อง ลูก ตำรวจดีเด่น นักเรียนทำหน้าที่เป็นกรรมรอง

๒. คำกริยาที่ไม่มีหน่วยกรรม

๒.๑ คำกริยาอกรรม คือคำกริยาที่ไม่ต้องมีนามวลีทำหน้าที่หน่วยกรรม หน่วยเติมเต็ม หรือหน่วยเสริมความตามหลัง เช่น หัวเราะ ตก ขึ้น ตาย ยืน เดิน เสียใจ วิตก กังวล เซ็ง สนุก หัวแตก ปวดท้อง ดังตัวอย่างในประโยคต่อไปนี้

เด็กหัวเราะ เพื่อน ๆ ดีใจ

ฝนตก นายกรัฐมนตรีวิตก

พระอาทิตย์ขึ้น ลูก ๆกังวล

นาฬิกาตาย วัยรุ่นเซ็ง

ตำรวจยืน นักท่องเที่ยวสนุก

พ่อเดิน เด็กนักเรียนหัวแตก

เราเสียใจ พ่อวิ่งทุกวัน

๒.๒ คำกริยาคุณศัพท์ คือคำกริยาที่ไม่ต้องมีนามวลีทำหน้าที่หน่วยกรรม หน่วยเติมเต็มหรือหน่วยเสริมความตามหลังและเป็นคำกริยาที่แสดงคุณสมบัติหรือสภาพของคำนามหรือคำบุรุษสรรพนาม เช่น ดี สวย ว่องไว สูง ในตัวอย่างต่อไปนี้

เด็กคนนี้ดี

บ้านแถวนี้สวยทุกหลังเลย

นักกีฬาเหล่านี้ว่องไว

เขาสูงขึ้นมากทีเดียว

คำกริยาคุณศัพท์มีลักษณะคล้ายคลึงกับคำกริยาอกรรมมาก แต่ต่างกับกริยาอกรรม ๒ ประการต่อไปนี้

๑) คำกริยาคุณศัพท์สามารถใช้ร่วมกับคำว่า กว่า ที่สุด ได้ คำว่า กว่า เพื่อเปรียบเทียบระดับว่า ผู้ใดหรือสิ่งใดมีระดับของกริยาคุณศัพท์มากหรือน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ส่วนคำว่า ที่สุด ใช้ระบุว่า ผู้ใดหรือสิ่งใดมีระดับของกริยาคุณศัพท์นั้น ๆ เหนือกว่าผู้อื่นหรือสิ่งอื่นทั้งหมด ส่วนกริยาอกรรมใช้ร่วมกับคำว่า กว่า และ ที่สุด เพื่อเปรียบเทียบอย่างกริยาคุณศัพท์ไม่ได้ เช่น

ม้าตัวนี้สวยกว่าทุกตัว *ม้าตัวนี้วิ่งกว่าทุกตัว

ม้าตัวโน้นสวยที่สุด *ม้าตัวนี้วิ่งที่สุด

วันนี้ฝนดูท่าจะตกหนักกว่าเมื่อวาน *วันนี้ฝนดูท่าจะตกกว่าเมื่อวาน

วันนี้ฝนดูท่าจะตกหนักที่สุด *วันนี้ฝนดูท่าจะตกที่สุด

คำว่า สวยและมากใช้ร่วมกับ กว่า และ ที่สุด ได้จึงวิเคราะห์ให้เป็นคำกริยาคุณศัพทส่วนคำว่า วิ่ง กับ ตก ใช้ร่วมกับ กว่า และที่สุดไม่ได้ จึงวิเคราะห์ให้เป็นคำกริยาอกรรม

๒) คำกริยาคุณศัพท์สามารถปรากฏตามหลังลักษณนามได้ แต่คำกริยาอกรรมไม่สามารถปรากฏหลังคำลักษณนามได้ ต้องมีคำเชื่อมคุณานุประโยค เช่น

หมาตัวอ้วน *หมาตัวนอนอยู่

หมาตัวที่นอนอยู่

น้ำแข็งก้อนละลาย *น้ำแข็งก้อนละลาย

น้ำแข็งก้อนที่ละลาย

คุณแม่คนเก่ง *คุณแม่คนยิ้มอยู่

คุณแม่คนที่ยิ้มอยู่

บ้านหลังใหญ่ *บ้านหลังไฟไหม้

บ้านหลังที่ไฟไหม้

คำว่า อ้วน เก่ง ละลาย ใหญ่ ปรากฏหลังคำลักษณนามได้จึงวิเคราะห์ให้เป็นคำกริยาคุณศัพท์ ส่วนคำว่า นอน ยิ้ม ละลาย ไฟไหม้ ปรากฏหลังคำลักษณนามไม่ได้ จึงวิเคราะห์ให้เป็นคำกริยาอกรรม

๒.๓ คำกริยาต้องเติมเต็ม คือคำกริยาที่ต้องมีนามวลีทำหน้าที่เป็นหน่วยเติมเต็มตามหลังเสมอ ได้แก่ เป็น เหมือน คล้าย เท่า ใช่ มี เกิด ปรากฏ ในตัวอย่างต่อไปนี้

เขาเป็นครูอยู่ชายแดนมาเป็นสิบปี

เขาเหมือนพ่อมาก

สุมนหน้าตาคล้ายแม่

ขันใบนี้ขนาดเท่าใบนั้น

เด็กคนนี้ใช่สมศักดิ์แน่นะ

เขามีบ้านอยู่อุทัยธานี

ปีที่แล้วเกิดภาวะฝนแล้ง

คอยไม่นานเดี๋ยวก็ปรากฏเงาราง ๆขึ้นมา

นามวลี ครู พ่อ แม่ ใบ สมศักดิ์ บ้าน ภาวะฝนแล้ง เงาราง ๆที่ตามหลังคำกริยา เป็น เหมือน คล้าย เท่า ใช่ มี ปรากฏ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรมหรือหน่วยเสริมความบอกสถานที่ แต่ทำหน้าที่เป็นหน่วยเติมเต็มของคำกริยาที่มาข้างหน้า

คำกริยาที่ต้องเติมเต็มมีลักษณะคล้ายกับคำกริยาสกรรม ต่างกันที่คำกริยาต้องเติมเต็มไม่สามารถปรากฏหลังคำว่า ถูก ได้อย่างคำกริยาสกรรม เช่น

*ครูถูกเป็น เปรียบเทียบกับ ครูถูกสัมภาษณ์

*แม่ถูกคล้าย เปรียบเทียบกับ ครูถูกต่อว่า

*สมศักดิ์ถูกใช่ เปรียบเทียบกับ สมศักดิ์ถูกตาม

*ภาวะฝนแล้งถูกเกิด เปรียบเทียบกับ ภาวะฝนแล้งถูกขจัดไป

๒.๔ คำกริยานำ คือ คำกริยาที่ต้องปรากฏหน้าคำกริยาอื่นเสมอ คำกริยานำรวมกับคำกริยาอื่นที่ตามมาปรากฏในโครงสร้างกริยาเรียง เช่น ชอบ พลอย พยายาม อยาก ควร ต้อง ฝืน หัด ตั้งใจ ห้าม ช่วย กรุณา วาน โปรด ในตัวอย่างต่อไปนี้

เขาชอบเป็นหวัด[1]

คนไข้ฝืนกินยาจนหมด

วันนี้เด็กพลอยเปียกฝนด้วย

เราพยายามเตือนเขาแล้ว

ตอนนี้เขาอยากพักผ่อนมาก

นักเรียนควรอ่านหนังสือเล่มนี้

พรุ่งนี้เราต้องตื่นแต่เช้า

เด็กหัดขี่จักรยาน

นักเรียนตั้งใจฟังครู

แถวนี้ห้ามสูบบุหรี่

คุณช่วยขยับไปหน่อยนะคะ

กรุณากดกริ่ง

ผมวานซื้อบัตรโทรศัพท์ให้หน่อย

โปรดเข้าคิว

๒.๕ คำกริยาตาม คำกริยาตาม คือ คำกริยาที่ปรากฏตามหลังคำกริยาอื่นเสมอ อาจปรากฏหลังคำกริยาโดยตรงหรือปรากฏหลังหน่วยกรรมของกริยาก็ได้

คำกริยาตามบางคำมีรูปเหมือนคำกริยาอกรรม เช่น ไป มา ขึ้น ลง เข้า ออก บางคำก็มีรูปเหมือนคำกริยาสกรรม เช่น ให้ ไว้ เสีย เอา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เขาส่งพัสดุไปแล้ว

พวกเรากลับจากเที่ยวกันมา

ลูกโป่งค่อย ๆลอยขึ้น

น้ำลดลงมากแล้ว

พยายามเข้าอย่าได้ย่อท้อ

เขาเก่งออก

แม้จะมีรูปเหมือนคำกริยาอกรรมและคำกริยาสกรรม แต่คำกริยาตามมีความหมายไม่เหมือนกับคำกริยาอกรรมและคำกริยาสกรรมที่เป็นคำกริยาหลัก ความหมายของคำกริยาตามอาจแตกต่างกับความหมายของคำกริยาอกรรมหรือคำกริยาสกรรมที่เป็นคำกริยาหลักมากบ้าง น้อยบ้าง การออกเสียงต่างกันบ้าง ไม่ต่างกันบ้าง กรณีที่ออกเสียงต่างกัน คำกริยาตามมักไม่ออกเสียงหนัก ดังรายละเอียดต่อไปนี้

คำกริยาตาม ไป มา ขึ้น ลง ที่ตามหลังคำกริยาแสดงการเคลื่อนไหว จะแสดงทิศทางของคำกริยาแสดงการเคลื่อนไหวนั้น เช่น

เขาส่งจดหมายไปเมืองนอก

น้องขึ้นมากรุงเทพฯ เมื่อสองวันก่อน

เขานั่งลง

เงยหน้าขึ้นอีกนิด

คำกริยาตาม ขึ้น ลง แสดงความหมายว่า เพิ่มขึ้น หรือน้อยลงจากเดิม เช่น

สุมนอ้วนขึ้นมาก

วัฒนาผอมลงแล้ว

คำกริยาตาม เข้า มีความหมายว่าให้เร่งทำ เช่น

เร่งมือเข้าพวกเรา เวลาเหลือน้อยแล้ว

รีบเข้า ๆจะถึงเส้นชัยอยู่แล้ว

คำกริยาตาม เข้า เอา มีความหมายว่า อาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น

เดี๋ยวใครมาเห็นเข้า

มองซ้ายมองขวาให้ดี ระวังจะถูกรถเฉี่ยวเอา

คำกริยาตาม เสีย ออกเสียงไม่ลงน้ำหนักเป็น /เซี้ย/ หรือ /ซะ/ แสดงการคะยั้นคะยอและแสดงความรำคาญ เช่น

กินเสียหน่อยจะได้มีแรง

ตกลงกันเสียทีสิว่าจะไปเที่ยวไหนกัน

คำกริยาตาม เสีย มักมีคำว่า แล้ว ตามมา แสดงความหมายว่า ผู้พูดไม่คาดว่าจะเป็นเช่นนั้นและไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เช่น

แก้วใบนี้ร้าวเสียแล้ว

ละครกำลังถึงตอนสนุก กลับตัดเข้าโฆษณาเสียได้

คำกริยาตาม เสียมักมีคำว่า เลย ตามมา แสดงความหมายว่า ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไปด้วยความรำคาญหรือขัดใจ เช่น

ฉันรำคาญ จึงลุกออกไปเสียเลย

มีโทรศัพท์เข้ามาไม่หยุด ฉันจึงปิดเครื่องเสียเลย

คำกริยาตาม ออก มีความหมายแสดงการเพิ่มขนาดขึ้นหรือเคลื่อนพ้นไปจากสถานที่ที่เคยอยู่เดิม เช่น

เสื้อยืดออก

ชายฝั่งขยายออกไปมาก

เขาเดินออกนอกประตูไป

คำกริยาตาม ออก ออกเสียงไม่เน้นหนักเสียง จึงมักออกเสียงสระเป็นสระเสียงสั้น คือ /อ๊อก/ ใช้เมื่อต้องการแสดงความเห็นแย้ง เช่น

นักเรียนคนนี้ขยันออก ไม่ได้เกียจคร้านอย่างที่คุณคิด

ดาราคนนี้นิสัยน่ารักออก ไม่เห็นหยิ่งตามที่เป็นข่าวเลย

คำกริยาตาม ดู มีความหมายว่า ตัดสินใจลองทำ เช่น

ลองเล่นดูหน่อยก็ไม่เห็นเสียหายอะไร

ชิมดูก่อนเดี๋ยวจะติดใจ

คำกริยาตาม ให้ แสดงความหมายว่า ทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เช่น

มือบอนแบบนี้ เดี๋ยวตีให้หร๊อก

เขาส่งยิ้มให้ฉัน

คำกริยาตาม ไป แสดงความหมายว่า ได้ทำกริยานั้น ๆ ไปแล้ว เช่น

ฉันเผลองีบหลับไปงีบหนึ่ง

เราคุยกันเพลินไปเลย

คำกริยาตาม ไว้ แสดงความหมายว่า ได้ทำกริยานั้น ๆอยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง เช่น

นิ่งไว้ก็ดีแล้ว

เล็ง ๆไว้ว่าจะออกรถคันใหม่ แต่ยังหาที่ถูกใจไม่ได้

เช่นเดียวกับกริยานำ กริยาตามไม่ปรากฏตามลำพัง แต่ยังต้องปรากฏร่วมกับคำกริยาอื่นและปรากฏในโครงสร้างกริยาเรียงเสมอ

คำช่วยกริยา

คำช่วยกริยา คือคำที่ไม่ใช่คำกริยาและไม่ปรากฏตามลำพัง แต่จะปรากฏร่วมกับคำกริยาและอยู่ข้างหน้าคำกริยาเสมอ เพื่อบอกลักษณะทางไวยากรณ์ของคำกริยา ได้แก่

แสดงความหมายบอกกาลว่าเป็นอดีตหรืออนาคต เช่น

หมอได้ผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกหมดแล้ว

ฉันจะไปหาเขาพรุ่งนี้

แสดงการณ์ลักษณะว่าเกิดเหตุการณ์อยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง เกิดเหตุการณ์เป็นประจำ หรือเหตุการณ์เพิ่งสิ้นสุดไป เช่น

ผมกำลังอาบน้ำอยู่เลยรับโทรศัพท์ไม่ได้

เขามักออกไปวิ่งที่สวนสาธารณะทุกเย็น

นาฬิกาเพิ่งตาย

แสดงมาลาคาดคะเน ขอร้อง บังคับ เช่น

เย็นนี้ฝนคงตกแน่

เราจวนถึงบ้านแล้ว

เขายังรับราชการอยู่มั้ง

คุณต้องคืนเงินผมให้ได้

โปรดงดสูบบุหรี่ในอาคาร

แสดงวาจกว่าเป็นผู้รับการกระทำ เช่น

รถเราถูกรถคันนั้นเฉี่ยวเอา

เจ้าตูบโดนขัง

คำช่วยกริยาบางคำมักใช้ร่วมกับคำว่า ไม่ เพื่อบอกความปฏิเสธ เช่น

เขาไม่ค่อยออกกำลังกาย

งานนี้เขาไม่ยักจะมา

เขาไม่สู้จะแข็งแรงเท่าไรนัก

ใบงาน เรื่อง คำกริยาและคำช่วยกริยา

ชื่อกลุ่ม...............................................................................................

รายชื่อสมาชิกในกลุ่ม

๑...........................................................................ชั้น ม.๕/..........เลขที่.........

๒...........................................................................ชั้น ม.๕/..........เลขที่.........

๓...........................................................................ชั้น ม.๕/..........เลขที่.........

๔...........................................................................ชั้น ม.๕/..........เลขที่.........

๕...........................................................................ชั้น ม.๕/..........เลขที่.........

คำสั่ง นักเรียนจงอภิปรายและสรุปความรู้เพื่อตอบคำถามต่อไปนี้ให้ถูกต้องโดยใช้ความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้ว (๓๐ คะแนน)

๑. คำกริยาคืออะไร (๒ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

๒. นักเรียนจงเลือกว่าคำต่อไปนี้คำใดบ้างเป็นคำกริยา (๔ คะแนน)

พ่อฟังข่าว ……………………………..

อาจารย์ใหญ่อบรมมารยาทนักเรียน ……………………………..

ม้าตัวนี้สวยกว่าทุกตัว ……………………………..

เขาเก่งออก ……………………………..

๓. คำกริยาที่มีหน่วยกรรมคืออะไรมีประเภทย่อยกี่ประเภทอะไรบ้างจงตอบพร้อมยกตัวอย่างประกอบ (๔ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

๔. คำกริยาที่ไม่มีหน่วยกรรมคืออะไรมีประเภทย่อยกี่ประเภทอะไรบ้างจงตอบพร้อมยกตัวอย่างประกอบ (๔ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

๕. นักเรียนจงนำคำกริยาต่อไปนี้ไปแต่งเป็นประโยคให้ถูกต้อง คำ (๘ คะแนน)

๕.๑ ตี (กริยาสกรรม) …………………………………………………….

๕.๒ ให้ (กริยาทวิกรรม) …………………………………………………….

๕.๓ ร้องไห้ (กริยาอกรรม) …………………………………………………….

๕.๔ ช้า (กริยาคุณศัพท์) …………………………………………………….

๕.๕ เหมือน (กริยาต้องเติมเต็ม …………………………………………………….

๕.๖ ฝืน (กริยานำ) …………………………………………………….

๕.๗ ไป (กริยาตาม) …………………………………………………….

๕.๘ อยู่ (กริยาอกรรม) …………………………………………………….

๖. คำช่วยกริยาคืออะไร จงยกตัวอย่างคำช่วยกริยามา ๕ คำ (๔ คะแนน)

..........................................................................................................................................................

..........................................................................................................................................................

๗. นักเรียนจงนำคำต่อไปนี้แต่งเป็นประโยคให้เป็นคำช่วยกริยา (๔ คะแนน)

แล้ว …………………………………………………………………..

จะ …………………………………………………………………..

ค่อย …………………………………………………………………..

ถูก …………………………………………………………………..

แบบทดสอบระหว่างเรียน

เรื่อง คำกริยาและคำช่วยกริยา

นักเรียนจงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด และเลือกคลิกในช่องที่ตรงกับตัว ก ข ค ง ที่นักเรียนเลือกแล้วเพียงข้อละครั้งเดียว

๑. คำกริยาคืออะไร

ก. คำที่ใช้แทนคำนาม

ข. คำที่ใช้เรียกคน สัตว์ สถานที่สิ่งของ

ค. คำที่เป็นชื่อคน สัตว์ สถานที่สิ่งของ

ง. คำที่แสดงการกระทำและสภาพความมีความเป็น

๒. คำที่ขีดเส้นใต้ข้อใดเป็นคำกริยา

ก. พี่เป็นคนภาคใต้

ข. เขามาอย่างรวดเร็ว

ค. มยุราเดินบนถนนสายนี้

ง. ภูเขาสูงแค่ไหนก็ยังวัดได้

๓. "เค้าบอกว่าอาทิตย์หน้าจะมาเยี่ยม"

ประโยคนี้มีคำใดเป็นคำกริยาที่มีหน่วยกรรม

ก. เค้า

ข. บอก

ค. ว่า

ง. มา

๔. ประโยคใดมีกริยาที่ไม่มีหน่วยกรรมประกอบอยู่ด้วย

ก. หนูเป็นสัตว์สกปรก

ข. หนูบางชนิดนำเชื้อโรคมาสู่คน

ค. คนบางกลุ่มตั้งบริษัทกำจัดหนู

ง. หนูเองก็ไม่ชอบหนูเหมือนกัน

๕. ประโยคใดมีคำกริยาคุณสรรพประกอบอยู่ด้วย

ก. พี่กำลังอ่านอะไร

ข. คนอะไรเก่งอย่างนี้

ค. ไหนคนนั้นมานี่หน่อยซิ

ง. อะไรงานแค่นี้ยังทำไม่ได้

๖. คำในข้อใดมีคำกริยาทวิกรรมประกอบอยู่ด้วย

ก. ไหนคนไหนที่สอบได้ที่หนึ่ง

ข. เธอส่งการบ้านให้ครูแล้วหรือยัง

ค. ใครเรียนโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษกบ้าง

ง. ผู้ปกครองทุกคนชอบให้ลูกมาเรียนโรงเรียนนี้

๗. "เรื่องนี้เขาไม่ได้บอกใครเลย"

ประโยคนี้มีคำใดเป็นคำกริยา

ก. นี้

ข. เขา

ค. ไม่ได้

ง. บอก

๘. คำในข้อใดมีคำกริยานำประกอบอยู่ด้วย

ก. กันมาหาแกด้วยความคิดถึง

ข. ตำรวจต้องกันตัวเขาออกเป็นพยาน

ค. นักเรียนทุกคนทำความสะอาดห้องเรียน

ง. เราทุกคนป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดโรคร้าย

๙. "อารีย์เรียนจบไปแล้ว"

คำใดเป็นคำกริยาตาม

ก. เรียน

ข. จบ

ค. ไป

ง. แล้ว

๑๐. ประโยคใดมีคำกริยาต้องเติมเต็ม

ก. นี่เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในอำเภอฉวาง

ข. ใครไม่ได้เรียนโรงเรียนนั่นจะต้องเสียใจ

ค. เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามเรียนให้มาก ๆ เข้าไว้

ง. พวกเราต่างก็เป็นนักเรียนโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก

๑๑. คำช่วยกริยาคืออะไร

ก. คำที่ใช้นำหน้าคำกริยา

ข. คำที่ใช้ตามหลังคำกริยา

ค. คำที่แสดงความเข้มข้นของคำกริยา

ง. คำที่บอกลักษณะทางไวยากรณ์ของคำกริยา

๑๒. คำช่วยกริยามักจะเกิดในตำแหน่งใดของประโยค

ก. หน้าคำกริยา

ข. หลังคำกริยา

ค. หน้าบทกรรม

ง. หลังบทกรรม

๑๓. "เค้าบอกว่าอาทิตย์หน้าจะมาเยี่ยม"

ประโยคนี้มีคำใดเป็นคำช่วยกริยา

ก. เค้า

ข. บอก

ค. จะ

ง. มา

๑๔. ประโยคใดมีคำช่วยกริยาประกอบอยู่ด้วย

ก. หนูเป็นสัตว์สกปรก

ข. หนูบางชนิดนำเชื้อโรคมาสู่คน

ค. คนบางกลุ่มตั้งบริษัทกำจัดหนู

ง. หนูชอบอยู่ในสถานที่ไม่ค่อยสะอาดนัก

๑๖. ประโยคใดมีคำช่วยกริยาประกอบอยู่ด้วย

ก. พี่กำลังอ่านอะไร

ข. คนอะไรเก่งอย่างนี้

ค. อะไรงานแค่นี้ทำไม่ได้

ง. ไหนคนนั้นมานี่หน่อยซิ

๑๖. คำในข้อใดมีคำช่วยกริยาประกอบอยู่ด้วย

ก. ไหนคนไหนที่สอบได้ที่หนึ่ง

ข. เธอเคยทำความดีอะไรมาบ้าง

ค. ใครเรียนโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษกบ้าง

ง. ผู้ปกครองทุกคนชอบให้ลูกมาเรียนโรงเรียนนี้

๑๗. "เรื่องนี้ยังไม่บอกให้ใครรู้"

ประโยคนี้มีคำใดเป็นคำช่วยกริยา

ก. ยัง

ข. ไม่

ค. บอก

ง. รู้

๑๘. คำในข้อใดมีคำช่วยกริยาประกอบอยู่ด้วย

ก. กันมาหาแกด้วยความคิดถึง

ข. ตำรวจกันตัวเขาออกเป็นพยาน

ค. เราทุกคนป้องกันตัวเองจากโรคร้าย

ง. นักเรียนกำลังทำความสะอาดห้องเรียน

๑๙. "เจ้าเก่งถูกนักเรียนรังแก"

คำใดเป็นคำช่วยกริยา

ก. เก่ง

ข. ถูก

ค. นักเรียน

ง. รังแก

๒๐. ประโยคใดมีคำช่วยกริยาประกอบอยู่ด้วย

ก. นี่เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในอำเภอฉวาง

ข. ใครไม่ได้เรียนโรงเรียนนั่นจะต้องเสียใจ

ค. เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามเรียนให้มาก ๆ เข้าไว้

ง. พวกเราต่างก็เป็นนักเรียนโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก


[1] ชอบ เมื่อใช้เป็นกริยานำ หมายถึง มัก

หมายเลขบันทึก: 582328เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอโทษน่ะค่ะ ไม่ทราบว่ามีเฉลยไหมค่ะ

อยากได้เฉลยค่ะอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท