​สอนอย่างมือชั้นครู :๑๙. เรียนโดยการตั้งคำถาม



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๑๙ นี้ ตีความจาก Part Four : More Tools : Teaching Real-World Problem Solving มี ๕ บท ตอนที่ ๑๙ ตีความจากบทที่ 18. Inquiry-Guided Learning

สรุปได้ว่า การเรียนโดยตั้งคำถาม หรือโดยให้ความท้าทายนั้น การตั้งคำถามหรือให้ความท้าทายนั้น อาจให้โดยอาจารย์ หรือนักศึกษาให้แก่ตนเองก็ได้ มีเป้าหมายเพื่อฝึกการคิดในระดับสูง (higher-order thinking) จากการที่นักศึกษาเป็นผู้ลงมือทำกิจกรรมเพื่อตอบคำถาม หรือสร้างสรรค์ชิ้นงาน แล้วทบทวนไตร่ตรอง ทำความเข้าใจทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

การเรียนโดยการคำถาม มีคำภาษาอังกฤษ ๔ คำคือ Inquiry-Guided Learning, Inquiry-Based Learning, Inquiry Learning และ Guided Inquiry แต่ละคำมีความหมายที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด


นิยาม

มีนิยามของการเรียนโดยตั้งคำถาม ที่แตกต่างกัน ๓ แนว

  • แนวที่ ๑ นิยามว่า หมายถึง "การค้นหาความเข้าใจ ด้วยตนเอง นำโดยการตั้งคำถาม" เป็นแนวที่เน้นการฝึกทำวิจัย ที่ใช้เวลายาวถึง ๒ ภาคการศึกษา
  • แนวที่ ๒ เริ่มจากการที่นักศึกษาฝึกตั้ง "คำถามที่ดี" แล้วใช้วิธีการเชิงวิทยาศาสตร์ ในการตอบคำถามนั้น โดยมีหลักการที่สำคัญยิ่งคือ คำถามที่ดีสำหรับการเรียนรู้นั้น มักมีหลายคำตอบ การเรียนโดยการตั้งคำถามแนวนี้อาจเกิดขึ้นในห้องบรรยาย ในการอภิปราย ในการทำงานกลุ่ม และในวิธีการสอนทุกแบบที่นักศึกษาเป็นผู้ปฏิบัติ
  • แนวที่ ๓ ไม่เน้นที่การฝึกให้นักศึกษาฝึกตั้งคำถาม แต่อาจารย์ใช้วิธีให้การท้าทาย (challenge) แก่นักศึกษา เช่น คำถาม สมมติฐาน หรือให้ข้อมูลสำหรับนักศึกษาตีความหรือ หาความหมาย นักศึกษาต้องเรียนรู้ เพื่อบรรลุ หรือเอาชนะความท้าทายนั้น โดยอาจต้อง ค้นคว้าและเรียนรู้ในขอบเขตของเนื้อหาวิชา หรือเลยขอบเขตของรายวิชาก็ได้

แนวที่ ๓ นี้ คำท้าทายอาจแคบนิดเดียว ทำได้เสร็จภายในเวลาไม่กี่นาที ไปจนถึงเป็นโจทย์ใหญ่ขนาดต้องทำเป็นโครงงาน ใช้เวลาทั้งเทอม ในแนวนี้ มองการเรียนโดยตั้งคำถาม เป็นร่มใหญ่ของการเรียนอีกหลายแบบ ได้แก่ การเรียนโดยใช้กรณีศึกษาเป็นฐาน (Case-Based Learning), การเรียนแบบค้นพบ (Discovery Learning), การเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning), การเรียนแบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning), และการสอนแบบ ณ เวลานั้น (JiTT – Just-in-time-teaching) ทั้งหมดนี้ รวมเรียกว่า "การสอนแบบอุปนัย" (Inductive Teaching) ซึ่งเป็นการสอนแบบให้ทำงานแก้ปัญหาจริง นักศึกษาต้องหาข้อมูล ความเป็นจริง และหลักการ เพื่อนำมาสังเคราะห์ ใช้แก้ปัญหา

หนังสือเล่มนี้จะเดินเรื่องต่อไปด้วยนิยามแนวที่ ๓


ผลที่ได้รับ

การเรียนโดยตั้งคำถามทุกแบบ มีธรรมชาติเป็นการเรียนแบบอุปนัย (Inductive Learning) ซึ่งนักศึกษาต้องใช้กระบวนการคิดในระดับสูง (higher order thinking) ในกระบวนการรวบรวม และทำความเข้าใจข้อมูล โดยการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินหลักฐาน และนำไปใช้แก้ปัญหาหรือดำเนินการ แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ความเข้าใจในระดับสูง ซึ่งในบางกรณีอาจไปถึงการพัฒนาวิธีการเรียนรู้ (Cognitive Development) หรือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แต่ก็มีผลการวิจัย ที่ชี้ว่าวิธีเรียนโดยการตั้งคำถาม ไม่มีผลดีต่อการเรียนรู้ในวิชาการศึกษาทั่วไป และมีผลดีต่อนักศึกษาที่ผลการเรียนต่ำ น้อยกว่าผลดีต่อนักศึกษาที่ผลการเรียนสูง

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ต่อการเรียนรู้แบบนี้ ก็เหมือนกับผลลัพธ์จากการเรียนรู้แบบอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสอนของอาจารย์ ในการชี้นำ และสร้างโครง (scaffolding) โดยการตั้งคำถาม หรือให้ความท้าทาย

ผลงานวิจัยบอกว่า การเรียนโดยการตั้งคำถาม แบบที่อาจารย์ช่วยน้อยที่สุด ที่เรียกว่า การเรียนแบบ ค้นพบเอง (Discovery Learning) ไม่ได้ผล ซึ่งหมายความว่า การเรียนแบบ Constructivism ไม่ใช่ว่าจะดี ไปเสียทั้งหมด ยังมีส่วนที่เป็นข้อจำกัดด้วย ซึ่งจะแก้ข้อจำกัดได้ด้วยการแนะนำของอาจารย์ ๒ แบบ (๑) ยกตัวอย่างที่ได้ผลดี (๒) เอกสารคำแนะนำกระบวนการ สำหรับเป็นนั่งร้านความคิด


เป้าและวิธี

เป้าสำหรับตั้งคำถาม อาจกำหนดโดยนักศึกษาเอง หรืออาจารย์ตั้งให้ หากจะให้นักศึกษาตั้งเอง ก็ต้องให้เวลาเรียนรู้ยาว หากเวลามีจำกัด อาจารย์น่าจะต้องกำหนดเป้าให้ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเป้า

  • ปรากฏการณ์ เกิดขึ้นหรือไม่ เกิดบ่อยแค่ไหน จากสาเหตุใด เกิดผลอะไร ตัวอย่างเช่น หลุมดำ มะเร็งกระดูก รหัสที่มีสองความหมาย การเลือกตั้งที่มีการโกง แผ่นเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนตัว (plate tectonics) ประสบการณ์ใกล้ตาย การเปลี่ยนแปลงของอัตราอาชญากรรม
  • ไม่เกิดปรากฏการณ์ที่คาดหวัง ปัจจัยใดที่ทำให้ไม่เกิด ตัวอย่าง ไม่เกิดการเพิ่มประชากร ในช่วง ทศวรรษที่ 1960 ประเทศไทยไม่ได้เป็นเสือตัวที่ห้าของเอเซีย
  • ความสัมพันธ์ มีจริงหรือไม่ แน่นแฟ้นแค่ไหน เป็นความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษากับระดับรายได้ ความเคร่งศาสนากับ การฝักใฝ่การเมือง โภชนาการกับมะเร็ง การลงโทษรุนแรงกับอัตราอาชญากรรม
  • ข้อโต้แย้ง มีสาเหตุอะไร ตัวอย่างเช่น ทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงไม่เห็นด้วยกับทฤษฎี the Great Extinction ทำไมหมอจึงไม่เชื่อว่าปัจจัยด้านจิตใจมีผลต่อการหายของแผล ทำไมบางคนจึงเชื่อว่าการลดภาษีเงินปันผลและภาษีดอกเบี้ย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่บางคนไม่เชื่อ
  • ทฤษฎี มีความชัดเจนตามความเป็นจริงและตามข้อสังเกตเพียงใด ใช้อธิบายและทำนาย ปรากฏการณ์ได้แม่นยำเพียงใด มีความสัมพันธ์กับทฤษฎีอื่นอย่างไร ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการทางชีววิทยา ทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ทฤษฎี บิ๊กแบง เป็นต้น
  • หลักการที่ซับซ้อน (a complex concept) สิ่งนี้มีความหมายอย่างไร มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แน่นแฟ้นแค่ไหน เช่น การเสพติด, dark matter, genetic marker, constructivism, cultural drift
  • กระบวนการ มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร ตัวอย่างเช่น โรคลูปัสทำให้ระบบอิมมูนอ่อนแอ อย่างไร พัฒนาการของเศรษฐกิจมีผลลดอัตราการเกิดอย่างไร คนเราตัดสินใจซื้อบ้าน อย่างไร
  • วิธีแก้ปัญหา จะแก้ปัญหานั้นๆ ได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น เราจะลดอัตราการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น ได้อย่างไร จะตรวจได้อย่างไรว่ามนุษย์ โฮโม เซเปี้ยนส์ มี ดีเอ็นเอ ของมนุษย์ นีอันเดอร์ธัล
  • ขั้นตอนการปฏิบัติ เป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การผลิตอาหารตัดต่อยีน กำหนดห้ามขายเหล้าแก่ผู้อายุต่ำกว่า ๒๑ ปี เพิ่มภาษีบุหรี่ขึ้นอีกร้อยละ ๒๐ ให้บริการรักษาพยาบาลฟรีแก่แรงงานต่างชาติ


ในกรณีที่อาจารย์สอนวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ มีแนวทางตั้งคำถาม หรือความท้าทายให้แก่นักศึกษา ดังต่อไปนี้

  • ให้สังเกตปรากฏการณ์ในเชิงคุณภาพ แล้วให้ตีความสิ่งที่พบ โดยให้หา pattern
  • ให้พัฒนาหลักการ (concept) จากข้อสังเกตของตน
  • ให้พัฒนาและทดสอบ โมเดล ที่สะท้อนสิ่งที่สังเกตเห็น และหลักการ
  • ให้ตรวจสอบเครื่องมือชิ้นใหม่ และทำความเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร และใช้ทำอะไร
  • ใช้เครื่องมือชิ้นใหม่ ในการวัด แล้ววิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ และนำเสนอผล
  • แยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างผลการตรวจสอบ กับการนำเสนอและตีความผล
  • ให้ตอบคำถามจี้จุดเกี่ยวกับผลการวิจัย เช่น "รู้ได้อย่างไรว่า...." "ทำไมเราจึงคิดว่า...." "หลักฐานสำหรับ....มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน"
  • ตั้งคำถามนำ เช่น "จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า....." นักศึกษาอาจตอบโดยตั้งสมมติฐาน แล้วทำการทดลองเพื่อหาคำตอบ


ลูกเล่นของวิธีการ

การเรียนโดยการตั้งคำถาม ที่อาจารย์ถามนำไม่มาก ให้นักศึกษาตั้งคำถามเองเป็นส่วนใหญ่ ใช้ได้ดีในนักศึกษาที่มีพื้นความรู้แน่น หรือมีความมานะพยายามสูง ซึ่งก็หมายความว่า มีวิธีลดหรือเพิ่มความยากของความท้าทายได้มากมาย


Just-in-time Teaching

ก่อนเวลาในชั้นเรียนไม่นาน นักศึกษาได้รับคำถามความรู้ในระดับหลักการ (conceptual) เป็นคำถามปรนัยหลายตัวเลือก โดยใช้ course management system (ทางอินเทอร์เน็ต) เมื่ออาจารย์ได้คำตอบ ก็นำมาใช้ออกแบบชั้นเรียนให้เหมาะสม เพื่อตั้งโจทย์ท้าทายที่จะช่วยแก้ความเข้าใจผิดของนักศึกษา ช่วยให้ความรู้เดิมถูกต้อง นำมาต่อยอดความรู้ใหม่ได้

เนื่องจากคำถาม เป็นการถามสิ่งที่ยังไม่ได้เรียนในชั้น การตั้งคำถามจึงถือเป็นกระบวนการอุปนัย (inductive)

มีผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา ที่ให้ผลว่านักศึกษาชอบวิธีนี้ ทำให้นักศึกษาเข้าชั้นเรียนมากขึ้น อย่างชัดเจน แต่ข้อด้อยคือ อาจารย์ต้องทำงานหนักขึ้น ในการคิดโจทย์ก่อนชั้นเรียน


การเรียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning)

การเรียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน กับการเรียนโดยการรับใช้สังคม (Service-learning) จัดอยู่ในกลุ่ม เดียวกัน เป็นการเรียนโดยได้รับมอบหมายให้ทำชิ้นงาน มักเป็นการทำงานกลุ่ม เพื่อออกแบบ หรือสร้างสรรค์ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นเครื่องมือ ออกแบบสถาปัตยกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การนำเสนอแบบมัลติมีเดีย เว็บไซต์ ชิ้นงานศิลปะ การวิจัย

วิธีการเรียนแบบนี้ ทำให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจหลักการ ทักษะแก้ปัญหา และเรียนสนุก กว่าการเรียนแบบเก่าๆ ผลการสอบเนื้อวิชาเท่ากัน หรือดีกว่า

ข้อด้อยคือ หากเป็นโครงงานขนาดใหญ่ ใช้เวลามาก อาจใช้เวลาของวิชาอื่น รบกวนการเรียนตามปกติ นอกจากนั้น การทำงานกลุ่มอาจเกิดความขัดแย้งในกลุ่ม ทำให้นักศึกษาบางคนไม่ชอบ


เทคนิคอื่นๆ

เนื่องจากวิธีเรียนโดยตั้งคำถาม แบบกรณีศึกษา (case method) และแบบปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning) เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาก และมีความซับซ้อนสูง จึงจะเป็นสาระในตอนต่อไปสองตอน

ผมขอแถมความเห็นส่วนตัวว่า การเรียนโดยการตั้งคำถาม หรือโดยการท้าทาย ที่นักศึกษาต้องทำงาน แก้ปัญหาหรือผลิตชิ้นงาน อาจารย์ต้องไม่เข้าใจผิดว่าเมื่อนักศึกษาทำชิ้นงานได้สำเร็จแล้ว ก็หมายความว่า นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างถ่องแท้แล้ว จริงๆ แล้วนักศึกษาอาจยังเรียนรู้เพียงผิวเผินเท่านั้น จะให้เรียนรู้อย่างลึก อาจารย์ต้องชวนนักศึกษาทำกระบวนการทบทวนไตร่ตรอง (reflection / AAR) โดยตั้งคำถามเชิงทฤษฎี ให้นักศึกษาหมุนเวียนกันให้ความเห็น โดยตีความจากประสบการณ์ในการทำชิ้นงาน



วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 580884เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท