บันทึกอนุทินครั้งที่ 5 เรื่อง กระบวนการในการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process)


บันทึกอนุทิน

ครั้งที่ 5 เรื่อง กระบวนการในการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process)

ชื่อ นางสาวโชติรส เจษฎาสิริ รหัสนักศึกษา 57D0103105

สาขาวิชา หลักสูตรและการสอน (Curriculum and Instruction) ปริญญาโท ภาคพิเศษ

วัน/เวลา วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 เวลา 8.40 น. – 11.00 น.

รายวิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ (102611) อาจารย์ผู้สอน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์

*การเตรียมตัวล่วงหน้าในการเรียนแต่ละครั้ง

จากคำถามที่ท่านอาจารย์ได้ฝากไว้ในตอนท้ายชั่วโมงของสัปดาห์ที่แล้ว ให้กลับไปคิดหา

คำตอบที่ว่า "แล้วเราจะทำ KM (Knowledge Management) อย่างไร" ข้าพเจ้าจึงได้กลับมาพิจารณาคิดหาคำตอบของกระบวนการในการจัดการความรู้ว่าควรจะมีลำดับขั้นตอนอะไรบ้าง ข้าพเจ้าเลือกที่จะไม่สืบค้นจากอินเตอร์เน็ต เนื่องจากข้าพเจ้าอยากที่จะลองฝึกฝนการคิดดูบ้าง จากคำถามนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงความคิดของตนเองขณะที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากข้าพเจ้ามีภูมิลำเนาอยู่ที่นครราชสีมาภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันจึงเป็นภาษาโคราช ในครอบครัวของข้าพเจ้าก็พูดคุยด้วยภาษาโคราชเช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งมีคนเล่าบทสนทนาของคนโคราชให้ข้าพเจ้าฟัง ความว่า... ก.ไก่ "เห็นรองเท้าแตะคู่ที่วางไว้ตรงนี่ไหม" ... ข.ไข่ "เห็นๆ" ...เขาถามข้าพเจ้าว่า คำว่า "เห็นๆ" แปลว่า เห็น หรือ ไม่เห็นกันแน่ แล้วคำว่า "ดา เดิ้ง นี ฯลฯ" เหล่านี้แปลว่าอย่างไร ในขณะนั้นข้าพเจ้าจึงเกิดความคิดที่อยากจะทำพจนานุกรมภาษาโคราชเพื่อรวบรวมคำต่างๆสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาได้นำไปศึกษาหาความรู้ถึงความหมายของคำ การออกเสียงในสำเนียงโคราช และเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวโคราชต่อไป

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงคิดว่า KM (Knowledge Management) หรือการจัดการความรู้ สามารถทำได้โดยการรวบรวมเอาความรู้ต่างๆทั้งข้อมูลที่เป็นข้อความรู้ในตำรา หนังสือเรียนและความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลออกมาจัดเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ใช้งานง่ายและใช้งานได้จริง ผู้ใดสนใจก็สามารถศึกษาได้ไม่สูญหายนั่นเอง

*ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

จากการเรียนการสอนในคาบเรียนนี้ข้าพเจ้าได้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการจัดการความรู้ หรือกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) ว่าเป็นกระบวนการแบบหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงขั้นตอนที่ทำให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้ หรือพัฒนาการของความรู้ที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กรให้คงอยู่และสามารถนำไปใช้ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้

1) การค้นหาความรู้ คำถามที่สามารถช่วยให้เราค้นหาความรู้ได้ ก็คือ ภายในองค์กรมีความรู้อะไรบ้าง ความรู้เหล่านี้อยู่ที่ใดหรืออยู่ที่ใคร ความรู้ที่มีนั้นอยู่ในรูปแบบใด และความรู้เรื่องใดที่องค์กรควรมี

2) การสร้างและแสวงหาความรู้ อย่างเช่นการสร้างความรู้ใหม่ การแสวงหาความรู้จากภายนอก รักษาความรู้เก่า กำจัดความรู้ที่ใช้ไม่ได้แล้ว ในขั้นตอนนี้เราสามารถเขียนให้อยู่ในรูปแบบของ Knowledge Mapping เพื่อพิจารณาความรู้ที่มีอยู่แล้วรวบรวมความรู้จัดให้ตรงกับความต้องการขององค์กร และเพื่อพิจารณาว่าในองค์กรยังขาดความรู้อะไรบ้างที่องค์ควรจะจัดให้มี

3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ เป็นการวางโครงสร้างความรู้ นำความรู้ที่ได้จากขั้นตอนการสร้างและแสวงหาความรู้มีจัดให้เป็นระเบียบ เช่น การทำสารบัญข้อมูล การจัดหมวดหมู่แยกประเภท เพื่อสะดวกในการค้นหาและการนำไปใช้

4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ พิจารณาความถูกต้องและความเหมาะสมของความรู้นั้น ตัวอย่างเช่นการปรับปรุงรูปแบบเอกสารให้เป็นมาตรฐาน ใช้ภาษาเดียวกัน ปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์

5) การเข้าถึงความรู้ เป็นการทำให้ ผู้ใช้ความรู้นั้นเข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายและสะดวก

6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ทำได้หลายวิธีหากเป็น Explicit Knowledgeอาจจัดทำเป็น เอกสาร ฐานความรู้ รายงาน website หากเป็น Tacit Knowledge อาจจัดกิจกรรมกลุ่มให้คนในองค์กรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจัดกิจกรรมในลักษณะเวทีแลกเปลี่ยนความรู้

7) การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับทิศทางและค่านิยมขององค์กร ควรทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เช่นเกิดระบบการเรียนรู้จากสร้างองค์ความรู้ บุคลากรในองค์กรนำความรู้ที่ได้ไปใช้จนเกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ เป็นระบบหมุนเวียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถเขียนเป็นแผนภาพได้ดังนี้

*ความคิดเห็นต่อประเด็นที่เรียน

ข้าพเจ้าคิดว่าความสำเร็จของการจัดการความรู้ไม่ได้วัดที่ปริมาณของความรู้ที่ถูกกลั่นออกมาว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่น่าจะวัดความสำเร็จที่การนำความรู้เหล่านั้นใช้ประโยชน์เสียมากกว่า

*การนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเองและการปฏิบัติงาน

ในความคิดเห็นของข้าพเจ้าการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเตือนและทวนความจำอย่างหนึ่ง ความรู้ที่เป็น Tacit Knowledge นานวันเข้าก็ย่อมหลงลืมไป แต่เมื่อความรู้เหล่านั้นผ่านกระบวนการจัดการความรู้ ก็จะคงอยู่ในรูปของ Explicit Knowledge เราสามารถศึกษาทบทวนได้ รวมทั้งผู้อื่นก็สามารถมาศึกษาได้ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้อย่างไม่สิ้นสุด

*บรรยากาศการเรียน

กิจกรรมการเรียนการสอนในชั่วโมงนี้เป็นกิจกรรมในลักษณะการบรรยาย ท่านอาจารย์ได้อธิบายถึงขั้นตอนการจัดการความรู้แต่ละขั้นว่ามีวิธีการดำเนินการอย่างไร มีการยกตัวอย่างประกอบแต่ละขั้นตอน โดยตัวอย่างง่ายๆของการจัดการความรู้คือ การจัดทำ Story Telling (เรื่องเล่าเร้าพลัง)

คำสำคัญ (Tags): #knowledge management process
หมายเลขบันทึก: 580495เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท